โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีคนที่ 45 ของสหรัฐอเมริกา
Photo: Mika Segar, Reuters/profile

‘America First’ คือวลีชูโรงของ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีคนที่ 45 ของสหรัฐอเมริกา ในระหว่างที่เขาหาเสียง จนสามารถกวาดชัยชนะได้ในท้ายที่สุด

วันนี้ผ่านมาแล้วร่วมเดือน สิ่งที่โลกต้องรับมือกันต่อไปคือ คำว่า America First หรือ อเมริกามาก่อน ของทรัมป์นั้น จะเปลี่ยนโฉมหน้าของโลกไปอย่างไร และเอเชียจะเดินหน้าเข้าสู่หายนะจริงๆ หรือไม่?

‘นโยบายต่างประเทศ’ คือช่องทางอำนาจอันทรงพลังของประธานาธิบดี

ทันทีที่ทรัมป์ก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ทรัมป์จะมีอีก 2 บทบาทพ่วงมาด้วยคือ หัวหน้าทางการทูต (Chief of Ambassadors) และผู้บัญชาการทหารสูงสุด (Commander-in-Chief) ซึ่งทั้งสองบทบาทนี้จะทำให้ทรัมป์ในฐานะประธานาธิบดีสหรัฐฯ มีอำนาจต่อนโยบายต่างประเทศและนโยบายทางทหารอย่างสำคัญ ‘นโยบายต่างประเทศ’ จะเป็นอีกพื้นที่ที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะได้แสดงแสนยานุภาพมากที่สุด

และนี่คือเหตุผลว่าทำไมเราถึงต้องสนใจว่าใครจะขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีของสหรัฐฯ และแนวคิดของเขาต่อเรื่องต่างประเทศเป็นอย่างไร

อย่างแรก คือ ประธานาธิบดีมีอำนาจในการแต่งตั้งเอกอัครราชทูต และทำสนธิสัญญา (Treaty) กับต่างประเทศได้ แต่ทั้งนี้จะต้องควบคู่กับคำแนะนำและการยินยอมของวุฒิสภา นั่นหมายความว่าประธานาธิบดีมีอำนาจในการ ‘ริเริ่ม’ นโยบายต่างประเทศต่างๆ ได้ และเลือกเอกอัครราชทูตที่มีวิสัยทัศน์ต่อเรื่องต่างประเทศสอดคล้องกับแนวคิดของตัวเอง

ที่น่าสนใจคือ แม้สนธิสัญญากับต่างประเทศจะต้องได้รับการยินยอมจากวุฒิสภา แต่ข้อตกลงระหว่างต่างประเทศ (Executive Agreement) นั้น ประธานาธิบดีสามารถดำเนินการตกลงกับประเทศต่างๆ ได้เองโดยไม่ต้องผ่านวุฒิสภา อย่างเช่นข้อตกลงทางการค้าต่างๆ หรืออย่างที่เราเห็นว่าทรัมป์สามารถให้สหรัฐฯ ถอนตัวจากความร่วมมือทางการค้า Trans-Pacific Partnership (TPP) ได้หากเขาต้องการ

นอกจากนี้ประธานาธิบดียังมีอำนาจยื่นข้อเสนอทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกิจการต่างประเทศต่อรัฐสภา และยังมีอำนาจที่จะยับยั้ง (Veto) กฎหมายที่ประธานาธิบดีคิดว่าขัดต่อผลประโยชน์ของชาติ ซึ่งนับว่าเป็นอำนาจทางกฎหมายที่สำคัญมากของประธานาธิบดี

และเมื่อมาถึงนโยบายทางทหารในฐานะผู้บัญชาการของกองทัพ ประธานาธิบดีมีอำนาจที่จะส่งกองกำลังทางทหารไปยังต่างประเทศ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของชาติ หรือเพื่อเป็นการแสดงอำนาจทางทหารในต่างประเทศ แม้ประธานาธิบดีจะไม่มีอำนาจในการประกาศสงคราม แต่ก็สามารถสั่งให้กองทัพดำเนินการได้ในบางสถานการณ์ โดยไม่ต้องได้รับการอนุญาตจากรัฐสภา ซึ่งครั้งสุดท้ายที่สหรัฐฯ ประกาศสงครามก็คือ สงครามโลกครั้งที่สอง ดังนั้นที่เราเห็นบทบาทของกองทัพสหรัฐฯ ในสงครามต่างๆ หลังจากนั้น เช่น ในอิรัก ก็คืออำนาจของประธานาธิบดี นั่นหมายความว่า ถ้าหากทรัมป์ต้องการถอนหรือเพิ่มกำลังทางทหารในทะเลจีนใต้ ทรัมป์ก็สามารถทำได้เช่นกัน

มิตต์ รอมนีย์ (Mitt Romney) ผู้เคยเป็นตัวแทนลงสมัครตำแหน่งประธานาธิบดี จากพรรครีพับลิกัน ในปี 2012
Photo: Lucas Jackson, Reuters/profile

ทรัมป์จะเลือกศัตรูหรือมิตรมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ?

หลังจากเราได้เห็นหน้าตาของทีมทรัมป์กันไปบ้างแล้ว ทั่วโลกยังคงลุ้นอยู่ว่าสุดท้ายแล้วใครจะมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งเป็นหนึ่งในตำแหน่งที่มีอำนาจสูงสุดในคณะรัฐมนตรี และแน่นอนว่าจะมีผลกระทบต่อโลกมากกว่าตำแหน่งอื่นๆ ซึ่งในวันนี้ (1 ธันวาคม 2016) ทรัมป์ได้คัดเลือกผู้มีสิทธิดำรงตำแหน่งนี้เหลือเพียง 4 คน คือ มิตต์ รอมนีย์ (Mitt Romney) ผู้เคยเป็นตัวแทนลงสมัครตำแหน่งประธานาธิบดี จากพรรครีพับลิกัน ในปี 2012 และ รูดอล์ฟ จูลิอานี (Rudolph Giuliani) อดีตนายกเทศมนตรีนิวยอร์ก ขณะที่อีก 2 คนนั้น ทีมงานของทรัมป์ไม่ได้เปิดเผยชื่อ

ที่น่าสนใจคือ ทั้งสองคนที่ทรัมป์เลือกมานั้น คนหนึ่งคืออดีตศัตรู อีกคนหนึ่งคือมิตรผู้จงรักภักดี

รูดอล์ฟ จูลิอานี อดีตนายกเทศมนตรีนิวยอร์ก คือคนที่ออกตัวแรงสนับสนุนทรัมป์ตลอดช่วงการหาเสียง จึงมีความเป็นไปได้ว่าหากเขาขึ้นมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ เขาจะเดินตามรอยแนวคิดของทรัมป์ที่ประกาศกร้าวไว้ตอนหาเสียง โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับการปราบกลุ่มไอเอสเป็นหลัก เพราะประสบการณ์ขณะเป็นผู้นำแห่งนครนิวยอร์ก ขณะที่ผู้คนยังสะเทือนขวัญหลังจากเหตุการณ์เครื่องบินพุ่งชนตึกเวิร์ดเทรด เมื่อเดือนกันยายน 2011 ทำให้เขายังฝังใจกับกลุ่มก่อการร้าย และต้องการปราบกลุ่มไอเอสเป็นหลัก

ขณะที่ มิตต์ รอมนีย์ คือคนที่เคยวิพากษ์วิจารณ์นโยบายต่างประเทศของทรัมป์อย่างรุนแรง เขาเคยให้สัมภาษณ์กับ CNN ว่า หากทรัมป์ชนะ การเหยียดเชื้อชาติ (Racism) จะกลายเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมายไปเลยในสหรัฐฯ

ซึ่งหากสุดท้ายแล้วรอมนีย์จะคว้าตำแหน่งนี้ไป ก็อาจทำให้กองเชียร์คนผิวขาวของทรัมป์ผิดหวัง แต่อาจจะทำให้หลายประเทศทั่วโลกถอนหายใจกันยาวๆ ด้วยความโล่งอก

เพราะรอมนีย์เป็นที่รู้จักในเวทีต่างชาติดีอยู่แล้ว และเขาต้องการยึดแนวทางนโยบายต่างประเทศเดิมของสหรัฐฯ อย่างเช่น การส่งเสริมเสรีทางการค้า และการสานต่อความร่วมมือกับประเทศอื่นๆ

การที่เขาเป็นหนึ่งในตัวเลือกของทรัมป์ จึงอาจมองได้ว่าทรัมป์ต้องการลดภาพลักษณ์ที่แข็งกร้าวของตัวเองในเวทีต่างชาติ

อย่างไรก็ตาม หากรอมนีย์คว้าตำแหน่งนี้ไปได้ ก็จะมีงานหนักที่รอเขาอยู่เช่นกัน เพราะเขาอาจต้องมาคอยแก้ภาพลักษณ์ให้ทรัมป์ในเวทีต่างชาติ ในกรณีที่คำพูดของทรัมป์ไปกระทบกับความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศอื่นเข้า อีกทั้งจุดยืนของเขาและทรัมป์ต่อรัสเซียก็ต่างกัน จึงอาจทำให้ทำงานด้วยกันลำบาก เพราะเขายืนกรานมาตั้งแต่ปี 2012 ว่ารัสเซียคือภัยคุกคามที่ใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ แต่ในวินาทีนี้ วลาดิเมียร์ ปูติน คือพันธมิตรใหม่ของทรัมป์

ดังนั้นสุดท้ายใครจะมาวินนั้น โลกคงต้องจับตามอง….

จุดยืนของทรัมป์ที่ค้านต่อนโยบายต่างประเทศที่ดี?   

Asia Foundation ได้นำเสนอนโยบายต่างประเทศที่สหรัฐฯ ควรดำเนินการต่อกับทวีปเอเชีย เพื่อรักษาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และความมั่นคงในทวีปเอเชีย อย่างแรกคือ สหรัฐฯ ควรรักษาอำนาจตัวเองในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เพื่อเป็นการถ่วงดุลอำนาจกับจีน ซึ่งสิ่งนี้มีความสำคัญต่อความมั่นคงของประเทศต่างๆ ในเอเชีย อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ ไม่ควรมีนโยบายต่างประเทศที่ทำให้บรรดาประเทศฝั่งเอเชียลำบากใจ หรือทำให้รู้สึกว่าต้องเลือกฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง นอกจากนี้สหรัฐฯ ควรจะเริ่มเจรจากับเกาหลีเหนือเพื่อยับยั้งการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ เพราะที่ผ่านมาเป็นที่ประจักษ์แล้วว่า การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจไม่สามารถยับยั้งเกาหลีเหนือในการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ได้ในระยะยาว และสุดท้ายสหรัฐฯ ควรจะสานต่อการช่วยเหลือทางทหารกับประเทศในทวีปเอเชียด้วย

แต่แนวคิดของทรัมป์ต่อนโยบายต่างประเทศในเอเชียที่เคยประกาศระหว่างหาเสียงนั้นสวนทางกับนโยบายข้างต้นอย่างสิ้นเชิง ทรัมป์เคยพูดไว้ว่า หากประเทศอื่นๆ จะเดินหน้าสู่สงคราม และถ้าไม่ได้เกี่ยวข้องกับสหรัฐฯ นั้น ทรัมป์ก็ขอให้ประเทศเหล่านั้นโชคดี และยังขอให้ญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้จ่ายเงินให้กับกองทัพสหรัฐฯ ที่ส่งกองกำลังไปบริเวณชายแดนของทั้งสองประเทศ มากไปกว่านั้นคือทรัมป์ยังเคยประกาศสนับสนุนให้ทั้งญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ผลิตอาวุธนิวเคลียร์เป็นของตัวเอง เพื่อเอาไว้คานอำนาจกับเกาหลีเหนือ ซึ่งสิ่งนี้ขัดกับสนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ (Non-Proliferation Treaty) ที่ 191 ประเทศเข้าร่วม

อย่างไรก็ตาม ท่าทีของทรัมป์ดีขึ้นหลังจากเขาได้รับเลือกตั้ง ทรัมป์ได้ต่อสายหา ปาร์กกึนเฮ ประธานาธิบดีของเกาหลีใต้ และ ชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่น เพื่อยืนยันว่าเขาจะยังคงส่งกองกำลังทหารไปช่วยบริเวณชายแดนของสองประเทศนี้อยู่

ที่น่าสนใจคือ ทรัมป์ยังได้ยกโทรศัพท์หา สีจิ้นผิง ประธานาธิบดีของจีนเช่นกัน แม้ว่าเขาจะกล่าวหาจีนมาตลอดเรื่องการปั่นป่วนค่าเงิน หรือการปลอมแปลงสินค้า แต่เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2016 ทรัมป์กับสีจิ้นผิงได้ตกลงที่จะกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ ซึ่ง มีรา แรปป์-ฮูเปอร์ (Mira Rapp-Hooper) ได้ให้ความเห็นในเว็บไซต์ Foreign Affairs อย่างน่าสนใจว่า สิ่งที่น่ากลัวมากกว่าการงดการช่วยเหลือทางทหารของสหรัฐฯ คือทรัมป์อาจหันไปผนึกความร่วมมือกับจีน และขยายอำนาจในเอเชีย จนบทบาทของประเทศมหาอำนาจต่อเอเชียจะไร้ซึ่งการถ่วงดุลอีกต่อไป

ด้านความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐฯ กับประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกอย่าง TPP ที่ Asia Foundation เสนอว่า สหรัฐฯ ควรจะสานต่อ เพราะการล้มเลิกนโยบายเสรีทางการค้า และหันไปสู่นโยบายเศรษฐกิจแนวชาตินิยม (Nationalist/Protectionist Policy) ไม่ใช่การแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจที่สหรัฐฯ กำลังเผชิญ แต่ทรัมป์ได้ประกาศตั้งแต่วันแรกที่เข้ารับตำแหน่งแล้วว่า สหรัฐฯ จะถอนตัวออกจาก TPP

แม้ว่า TPP จะยังมีอีก 11 ประเทศเป็นสมาชิก ทว่า ชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นได้ออกมาพูดแล้วว่า หากสหรัฐฯ ซึ่งเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่ถอนตัวออกจาก TPP ก็อาจทำให้ข้อตกลง TPP นั้นไร้ความหมาย และจะกระทบต่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของเอเชียอย่างสำคัญ

รูดอล์ฟ จูลิอานี (Rudolph Giuliani) อดีตนายกเทศมนตรีนิวยอร์ก
Photo: Sebastian Derungs, Reuters/profile

America First ASEAN After? 10 นโยบายต่ออาเซียนที่ทรัมป์อาจไม่ทำ

อาเซียนเป็นภูมิภาคที่มีเขตเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 7 ของโลก และมีประชากรวัยหนุ่มสาวมากที่สุด นโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ เพิ่งจะมาให้ความสำคัญต่อภูมิภาคอาเซียนอย่างเห็นได้ชัดในสมัยของ บารัก โอบามา ซึ่งการที่ทรัมป์เข้ามารับตำแหน่งประธานาธิบดี ทำให้ประเทศในภูมิภาคอาเซียนต่างหวั่นเกรงว่านโยบายความช่วยเหลือทางทหารและเศรษฐกิจจะหยุดชะงัก ตามแนวคิด America First ของทรัมป์

รศ. ดร.ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ได้เสนอ 10 นโยบายต่างประเทศต่ออาเซียน ที่สหรัฐฯ ควรสานต่อ

1. รักษาอำนาจของสหรัฐฯ ในเอเชียแปซิฟิก เพื่อให้เกิดความมั่นคงและสันติภาพในเอเชีย

2. สหรัฐฯ ควรสานต่อการประชุมกับสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทางทะเล เพื่อแก้ปัญหาข้อพิพาทในทะเลจีนใต้

3. สหรัฐฯ ควรสานต่อความร่วมมือทางการค้า TPP เพราะแม้ว่าขณะนี้จะมีเพียง 4 ประเทศในภูมิภาคอาเซียนที่เป็นสมาชิก เนื่องจาก TPP ตั้งมาตรฐานในการเป็นประเทศสมาชิกไว้สูง ประเทศอื่นๆ ที่มีปัญหาด้านความมั่นคงทางการเมืองและเศรษฐกิจจึงยังไม่สามารถเข้าร่วมได้ แต่หากสหรัฐฯ ไม่สานต่อ TPP จะเป็นการตัดโอกาสประเทศอาเซียนอื่นๆ ที่มีแนวโน้มจะเป็นสมาชิกในอนาคตด้วย

4. สหรัฐฯ ควรสนับสนุนการรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียน

5. สหรัฐฯ ควรร่วมมือกับอาเซียน ไม่ใช่เพียงเพราะมองอาเซียนเป็นยุทธศาสตร์ไว้คานอำนาจกับจีน แต่ควรให้ความสำคัญกับประชาคมอาเซียนอย่างแท้จริง

6. สหรัฐฯ ควรสนับสนุนการพัฒนาทรัพยากรบุคคลของอาเซียน และโครงการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน

7. สหรัฐฯ ควรส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับอาเซียนผ่านการศึกษา เช่น การให้ทุนการศึกษา

8. ให้ความช่วยเหลือด้านภัยธรรมชาติ ที่ถือว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงมากที่สุดของประเทศอาเซียน

9. ปกป้องและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในภูมิภาค

10. ส่งเสริมให้นักวิชาการสหรัฐฯ ศึกษาด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น

แต่หากดูจากจุดยืนของทรัมป์ต่อนโยบายต่างประเทศแล้ว มีความเป็นไปได้ว่าอาเซียนจะไม่อยู่ในสายตาของทรัมป์ดังเช่นสมัยโอบามา ทรัมป์อาจไม่ได้ให้ความสำคัญในการช่วยเหลือทางทหารกับอาเซียน อย่างเช่นกับฟิลิปปินส์ที่สหรัฐฯ ช่วยเหลือมาตลอด เพราะทรัมป์ชัดเจนว่าจะทบทวนการใช้จ่ายงบประมาณของกองทัพ และโอกาสที่ประเทศที่ยังไม่ได้เป็นสมาชิก TPP จะได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกก็อาจจะหมดไป หากสหรัฐฯ ถอนตัวจาก TPP และประเทศอื่นๆ ถอนตัวตาม ดังนั้นอาเซียนก็จะไม่ได้รับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากความร่วมมือ TPP

นอกจากนี้ หากสหรัฐฯ ลดบทบาทตัวเองลงในภูมิภาคอาเซียน ก็มีความเป็นไปได้อย่างสูงที่ประเทศที่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับทั้งสหรัฐฯ และจีน จะหันไปพึ่งพาจีนอย่างเต็มตัวมากขึ้น เช่น มาเลเซีย หรือฟิลิปปินส์ ที่ผู้นำอย่าง โรดริโก ดูเตร์เต เริ่มหันไปสานสัมพันธ์กับจีนแล้ว หรือแม้กระทั่งไทยเองที่คบกับจีนอาจทำให้ผู้นำทหารไทยสบายใจกว่า เพราะจีนเองดูจะไม่มีปัญหาที่ไทยปกครองด้วยรัฐทหารดังเช่นสหรัฐฯ นอกจากนี้จีนยังอาจกลับมามีบทบาทต่อเมียนมามากขึ้น เพราะตั้งแต่เมียนมาเปลี่ยนการปกครองจากระบอบทหารเป็นระบอบประชาธิปไตย สหรัฐฯ ก็กลายเป็นพันธมิตรสำคัญของเมียนมา จนความสัมพันธ์กับจีนนั้นแผ่วลงไปในช่วงหนึ่ง ซึ่งก่อนหน้านี้จีนเป็นประเทศที่ยังสานสัมพันธ์กับเมียนมา แม้ในเวลาที่เมียนมาจะถูกคว่ำบาตรจากประชาคมโลก เนื่องจากปกครองด้วยระบอบเผด็จการทหาร

ดังนั้นเป็นไปได้ว่า หลังจากทรัมป์ขึ้นมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี จีนจะมีบทบาทมากขึ้นในอาเซียน และอาเซียนจะขาดการถ่วงดุลอำนาจจากสหรัฐฯ และเรื่องของสิทธิมนุษยชนในอาเซียนที่สมัย บารัก โอบามา เคยส่งเสริมนั้นก็อาจจะไม่ได้รับการสานต่อ ไม่ว่าจะเป็นสิทธิมนุษยชนของชาวโรฮิงญาในเมียนมา ที่สหรัฐฯ ช่วยรับชาวโรฮิงญาบางส่วน หรือสิทธิการแสดงออก หรือเสรีภาพในประเทศอาเซียน รวมถึงความร่วมมือทางด้านนโยบายเศรษฐกิจในระดับประชาคมอาเซียนกับสหรัฐฯ อาจไม่ได้รับความสนใจมากดังเช่นสมัยโอบามา

แม้ตอนนี้เราจะยังไม่เห็นหน้าตานโยบายต่างประเทศของทรัมป์ชัด เพราะต้องรอดูว่าสุดท้ายแล้ว จะเป็นผู้สนับสนุนนโยบายฝั่งขวา หรือ มิตต์ รอมนีย์ ผู้ยังส่งเสริมนโยบายเสรีนิยม จะคว้าตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศไป

แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนในเอเชียและภูมิภาคอาเซียนคือ ความไม่แน่นอนหลังจากนี้ที่รัฐบาลของทุกประเทศต้องตั้งรับกับท่าทีของสหรัฐฯ ที่กำลังจะเปลี่ยนไป

 

ภาพประกอบ: Karin Foxx

อ้างอิง:
– Asia Foundation
– https://www.washingtonpost.com/politics/trump-chooses-key-economic-team-members-says-he-will-step-aside-from-his-business/2016/11/30/9e8e5c28-b5a1-11e6-a677-b608fbb3aaf6_story.html
– https://www.foreignaffairs.com/articles/asia/2016-11-22/deciphering-trumps-asia-policy
– https://www.theguardian.com/us-news/2016/nov/21/donald-trump-100-days-plans-video-trans-pacific-partnership-withdraw
– http://edition.cnn.com/2016/11/19/politics/donald-trump-mitt-romney-secretary-of-state/index.html
– http://edition.cnn.com/2016/06/10/politics/mitt-romney-donald-trump-racism/