วันนี้ (27 กรกฎาคม 2565) ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (รองผู้ว่าฯ กทม.) แถลงข่าวเปิดตัวงาน ‘บางกอกวิทยา’ โดยกล่าวว่า วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นส่วนสำคัญ ซึ่ง กทม.​ ก็อยากทำให้เข้าถึงง่ายกับทุกคน ‘บางกอกวิทยา’ ในมุมหนึ่งล้อกับชื่อโรงเรียน โดยจะมีกิจกรรมเกี่ยวกับเด็ก และอีกมุมหนึ่งก็จะสื่อสารไปถึงผู้คนในชุมชน และผู้คนต่างๆ ได้มากขึ้น

ทั้งนี้ ได้ร่วมมือกับองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ซึ่งเป็นโฮสต์อยู่แล้ว มาช่วยประชาสัมพันธ์ และหลังจากนั้น กทม. ก็เข้ามาร่วมด้วย เริ่มจากวันที่ 17 สิงหาคม จะมีการจัดงาน Science Carniwow ที่สามย่านมิตรทาวน์ โดยเชิญโรงเรียนของ กทม. มาร่วมงานด้วย

จากนั้น วันที่ 20-21 สิงหาคม สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จะมาช่วย กทม. จัดงาน KIDBRIGHT ที่พิพิธภัณฑ์เด็ก จากนั้น ในวันที่ 19 สิงหาคม และ 23-24 สิงหาคม จะเป็นการจัดงาน Innovation Week มีงาน Techbite 4.0 ที่ KX กรุงธนบุรี, งาน Fight to Web 3.0 ในวันที่ 23 สิงหาคม และ Techsauce จะร่วมจัดงาน Environment the Future ที่เกษรวิลเลจ

ขณะเดียวกันในวันที่ 23-25 สิงหาคม จะจัดงาน Hack BKK และข้าราชการสำนักต่างๆ ของ กทม. จะร่วม Hack กับ ‘สตาร์ทอัพ’ ด้วย ซึ่งจะจัดขึ้นที่ กทม. เอง โดยจะมีโจทย์ต่างๆ เช่น PM2.5 ขยะ และจบด้วย Techsauce Global Summit 2022 ที่ไอคอนสยาม

ด้าน ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) ระบุว่า การจัดกิจกรรมในลักษณะนี้เองเป็นนโยบายของ กทม. ในการทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน ไม่ได้มีแค่มิติดนตรีหรือหนังกลางแปลง แต่วิทยาศาสตร์ก็เป็นเรื่องสนุกได้ อาจสนุกเท่ากับดนตรีเลยก็ได้ 

“เรื่องวิทยาศาสตร์ เราอยากให้เป็นมุมมอง inclusive เป็นส่วนหนึ่งของเมือง เป็นส่วนหนึ่งของทุกคนในเมือง ตอนแรกศานนท์บอก ผมก็ถามว่าทำได้เหรอวะ แต่คิดไปคิดมา วิทยาศาสตร์ก็สนุก มีกิจกรรม และถ้าเราทำเรื่องนี้ให้เป็นประจำ ออกไปตามชุมชน เด็กจะสนใจมากขึ้น คิดเชิงตรรกะ เป็นวิทยาศาสตร์มากขึ้น อาจแก้ปัญหาได้ในหลายเรื่อง ที่อยากทำเพิ่มคือหาเครือข่ายในการจัดกิจกรรม

“จริงๆ เทคโนโลยีทั้งหมดคือวิทยาศาสตร์ เราอาจเชิญผู้ประกอบการมาแสดงว่าวิทยาศาสตร์มันไปถึงไหนแล้ว หรืออย่างรถยนต์อีวีก็เป็นเทคโนโลยีได้ เป็นวิทยาศาสตร์ได้ แค่เดินดูก็สนุกแล้ว 

ชัชชาติยังบอกอีกว่า ตลอด 2 เดือนที่ผ่านมา กิจกรรมเหล่านี้มีหลักการสำคัญคือการแสวงหาพันธมิตร ที่ผ่านมา กทม. เองไม่ได้เก่งเรื่องดนตรี ไม่ได้เก่งเรื่องหนังกลางแปลง แต่ กทม. มีพันธมิตรที่เก่ง ทำให้งานทั้งหมดเดินหน้าได้ หรือยกตัวอย่าง กทม. มีพิพิธภัณฑ์เด็ก แต่ กทม. ไม่ได้เก่งเรื่องเนื้อหา ก็ต้องหาพันธมิตรอย่าง อพวช. อย่าง สวทช. เข้ามาช่วย สำคัญคือต้องตอบโจทย์ประชาชนให้ได้

สำหรับนิทรรศการที่เหลือของ กทม. จนถึงสิ้นปี ในเดือนสิงหาคมเป็นเทศกาลวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เดือนกันยายนเป็นเทศกาลเด็กและเยาวชน เดือนตุลาคมเป็นเทศกาลกีฬากรุงเทพฯ เดือนพฤศจิกายนเป็นเทศกาลศิลปะสร้างสรรค์ และเดือนธันวาคมเป็นเทศกาลแสงสี ซึ่งชัชชาติระบุว่ายังคงปรับเปลี่ยนและเพิ่มเติมได้

Tags: , , , ,