วันนี้ (14 ธันวาคม 2564) ที่บริษัท อสมท. จำกัด (มหาชน) กระทรวงคมนาคม จัดเปิดรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับอนาคตของสถานีรถไฟหัวลำโพงชื่อว่า ‘อนาคตสถานีหัวลำโพง ประวัติศาสตร์คู่การพัฒนา’ โดยศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ระบุว่า เวทีดังกล่าวจะเป็นเวทีรับฟังข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการพัฒนาพื้นที่บริเวณสถานีหัวลำโพง เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม และข้อสรุปจากเวทีนี้ การรถไฟแห่งประเทศไทยจะใช้เวลาราว 2สัปดาห์ รวบรวมข้อมูล ก่อนส่งให้กระทรวงคมนาคมเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ชี้ชะตาสถานีรถไฟหัวลำโพงต่อไป

โดยมีเงื่อนไขและข้อแม้ว่าจะไม่มีการ ‘ทุบ’ สถานีรถไฟหัวลำโพง ทว่า สถานีจะถูกลดความสำคัญลงไปเรื่อยๆ ด้วยขนาด และความจุของสถานีกลางบางซื่อที่ใหญ่กว่าอย่างเห็นได้ชัด

และนี่คือเนื้อหาบางส่วนจากเวทีการรับฟังความคิดเห็น… 

 

มุมมองฝั่งเจ้าหน้าที่รัฐและเอกชนที่อยากเปลี่ยนแปลงหัวลำโพง

สรพงศ์ ไพทูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม และ ดร.พิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางรางกระทรวงคมนาคม ใช้เวลาราว 1 ชั่วโมง ในการอธิบายให้เข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ มีการกล่าวถึงจุดเด่นและข้อได้เปรียบของสถานีกลางบางซื่อที่จะมาแทนสถานีหัวลำโพง เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระบบรางที่สมบูรณ์แบบที่จะเป็นศูนย์รถไฟความเร็วสูงระหว่างภาค ระหว่างประเทศและรถไฟชานเมือง

การพัฒนาสถานีกลางบางซื่อ รวมถึงรถไฟฟ้าสายสีแดงเป็นโครงการที่รับนโยบายจากรัฐบาล มีการศึกษามาตั้งแต่ปี 2542 เพื่อทำศูนย์กลางระบบขนส่งทางราง โดยใช้เวลาขับเคลื่อนมาเป็นเวลากว่า 20 ปี

สำหรับในแง่ความสะดวกในการเดินทาง การย้ายครั้งนี้จะแก้ปัญหารถติดในย่านชุมชนได้มากกว่า 80% จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเดินรถไฟไปยังสถานีกรุงเทพฯ (หัวลำโพง) อีกต่อไป รวมถึงขนาดของสถานที่ที่รองรับจำนวนประชากร จากเดิม หัวลำโพงรองรับผู้โดยสารได้ราว 6 หมื่นคนต่อวัน แต่สถานีกลางบางซื่อรองรับคนได้มากถึง 2.64 แสนคนต่อวัน เนื่องจากหัวลำโพงมีขนาดเล็กกว่าสถานีกลางบางซื่อ 7 เท่า จำนวนรางไม่เพียงพอกับระบบขนส่งทางรางที่จะพัฒนาต่อ รวมถึงการมีทางเดินรถเข้าแค่ทางเดียว จึงจำเป็นต้องลดทอนกิจกรรมที่หัวลำโพงลง ระหว่างการพูดคุย มีการยืนยันว่าจะ ‘ลดบทบาท’ ของสถานีหัวลำโพงจริง แต่ไม่ได้ทุบ ไม่ได้ยกเลิก

ขณะที่ ไตรทิพย์ ศิวะกฤษณ์กุล คณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทย และรักษาการกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด ระบุว่า มีแนวคิดเบื้องต้นเกี่ยวกับการพัฒนาหัวลำโพงที่ศึกษามาตั้งแต่ปี 2554 แต่จะมีการปรับเพื่อให้เข้ากับวิถีชีวิตของประชาชนในปัจจุบัน โดยจะปรับหัวลำโพงให้เป็นคอมมิวนิตี้ขนาดใหญ่ใจกลางเมือง แบ่งโซนทำพื้นที่สีเขียวให้ประชาชนได้มาร่วมทำกิจกรรม ปรับพื้นที่ให้ความรู้ทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และสถาปัตยกรรม 

“ยืนยันว่าทุกอย่างจะเกิดขึ้นเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก ส่วนรายได้ที่เข้ามาจากการปรับพื้นที่หัวลำโพง จะเป็นการกระตุ้นภาพรวมเศรษฐกิจของกรุงเทพฯ”

 

มุมมองของประชาชนและนักวิชาการที่ตั้งคำถามต่อการเปลี่ยนแปลงหัวลำโพง

ประภัสร์ จงสงวน อดีตผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย ผู้ที่ตั้งคำถามกับการเปลี่ยนแปลงนี้มาตลอดจะตั้งคำถามว่า หากหัวลำโพงไม่มีการเปิดให้เดินรถ แบบนี้หัวลำโพงจะเป็นเพียงแค่ซุ้มทางเข้า และ ‘อาณาจักรที่ขายแต่ของราคาแพง’ และในบริเวณนั้น ยังมีคอมมิวนิตี้มอลล์ไม่มากพออีกหรือ นอกจากนี้ แรกเริ่ม รัฐบาลได้ให้ข่าวว่าจะปิด แต่มาเปลี่ยนเป็นปิดแค่บางสาย ปิดเพื่อพัฒนาพื้นที่หัวลำโพง แต่รูปที่ออกมา กลับกลายเป็นอาคารสูง ด้านหน้ามีแต่ร้านขายของแบรนด์เนม ไม่ได้ตรงกับสิ่งที่เคยพูดเรื่องคอมมูนิตี้หรือพื้นที่สีเขียวเพื่อชุมชนเลย

ประภัสร์มองว่ารัฐบาลจำเป็นต้องชี้แจง ผู้ที่ชี้แจงจะต้องเป็นผู้ว่าการรถไฟ ไม่ใช่การส่งตัวแทนหรือรองผู้ว่าฯ มานั่งในวงเสวนา ทั้งในแง่การเป็นหัวหน้าหน่วยงาน ในแง่ความรับผิดชอบต่อตำแหน่งหน้าที่ ไม่สามารถหลบหน้าสื่อหรือประชาชนได้

ประภัสร์ยังเอ่ยถึงหลายประเทศ ที่มักจะอนุรักษ์สถานที่หรือสิ่งของที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ แต่ไทยกลับสร้างมิกซ์ยูสมาแทนที่หัวลำโพง ทำไมถึงต้องเป็นหัวลำโพง มองทางไหน ก็เต็มไปด้วยคำถาม เนื่องจากในแง่ปัญหาการจราจรที่ทางฝ่ายรัฐบาลชี้แจงว่า สถานีกลางบางซื่อจะแก้ปัญหารถติดนั้นไม่น่าจะเกี่ยวข้องกัน ที่ผ่านมา รัฐบาลไม่เคยชูประเด็นรถติดมาก่อน แต่เพิ่งมาสังเกตเห็นว่ารถติดหลังจากจะปิดหัวลำโพง โดยตัวเขามองว่าสถานีกลางบางซื่อยังไม่พร้อมที่จะรองรับประชาชนผู้ใช้รถไฟ ไหนจะค่าใช้จ่ายของประชาชนที่จะต้องเพิ่มมากขึ้นจากการเดินทางไปยังสถานีกลางบางซื่ออีก

“ท่านเห็นใจประชาชนหน่อย เห็นใจประชาชนที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายมากขึ้น ทุกวันนี้เศรษฐกิจก็แย่ ท่านดูข่าวทุกวัน ท่านไม่รู้สึกแปลกๆ หรือวันนี้ทุกอย่างถูกขโมยไปหมด ใครเผลอก็ขโมยหมด เศรษฐกิจแย่ขนาดนี้ท่านยังจะทำให้ประชาชนเดือดร้อนกันอีกจริงหรือ ท่านบอกมีที่จอดรถ 1,700 คัน ท่านไปดูที่หัวลำโพง คนที่ใช้รถไฟมีกี่คนที่มีรถเก๋ง ท่านพูดความจริงกันหน่อย แล้วอย่ามาโทษว่าเพราะรถไฟทำให้รถติด รถติดมานานแล้ว แล้วรถไฟก็มีมานานแล้วไม่ใช่ว่าเพิ่งจะมี ผมถามว่า ไม่มีประเทศไหนเขาเอาถนนมาตัดรถไฟ เขามีแต่สร้างอุโมงค์หรือสร้างสะพานข้าม มีแต่ไทยนี่แหละ”

ประภัสร์ยังได้กล่าวถึงความสำคัญของรถไฟว่าเป็นสิ่งจำเป็นต่อประชาชนจำนวนมาก โดยเฉพาะประชาชนที่ไม่มีรถยนต์ส่วนตัว รถไฟจะต้องคำนึงถึงการขนคนก่อนขนสินค้า แม้การขนสินค้าจะทำเงินคืนให้กับรถไฟได้มากกว่าก็ตาม เช่นเดียวกับพระราชดำริของรัชกาลที่ 5 ที่ว่า รถไฟจะต้องอำนวยความสะดวกของประชาชนให้ได้มากที่สุด แต่สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้คือความไม่ชัดเจน และทำให้ประชาชนตื่นตระหนกด้วยรูปตึกสูง เอาหัวลำโพงมาด้อยค่าเป็นเพียงทางเดินเข้า-ออกของศูนย์การค้าหรูหรา ตอนนี้หมดยุคที่จะทำอะไรแบบปิดบังและไม่ชัดเจนแล้ว

รสนา โตสิตระกูล อดีต ส.ว. ระบุว่า สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นคือการด้อยค่าหัวลำโพง เธอย้ำถึงประเด็น ประวัติศาสตร์หน้าแรกของการ Modernization ที่ต่างชาติเรียกกันว่า ‘จักรีรีฟอร์ม’ (การปฏิรูปให้ทันสมัย) ของรัชกาลที่ 5 หัวลำโพงคือส่วนสำคัญของประวัติศาสตร์ไทยที่รับใช้ประชาชนจนถึงปัจจุบัน ด้วยเหตุผลเรื่องหนี้สิน หรือเหตุผลใดๆ ก็ตามแต่ ที่จะทำให้หัวลำโพงกลายเป็นเพียงแค่ซุ้มประตูทางเข้าห้างสรรพสินค้า สมควรแล้วหรือกับการเปลี่ยนแปลงแบบนี้

ในแง่ระบบขนส่งที่ต้องแข่งขัน ปัจจุบันมีการเกิดขึ้นมากมายของสายการบินต้นทุนต่ำ ประชาชนมีตัวเลือกในการเดินทางมากขึ้น กรณีนี้ ทำให้ส่วนของการรถไฟเกิดปัญหา ในปี 2552 ผู้โดยสารของการรถไฟอยู่ที่ 45.2 ล้านคน แต่ในปี 2562 หรือสิบปีต่อมา คนเดินทางด้วยรถไฟลดลงเหลือ 37.2 ล้านคน ขณะที่การเดินทางโดยสารการบินในปี 2552 อยู่ที่ 21.5 ล้านคน สิบปีต่อมาในปี 2562 เพิ่มขึ้น 57.8 ล้านคน เมื่อผู้โดยสารลดลง รฟท. ขาดทุนเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม หากศึกษาข้อมูลให้ดี รถไฟยังคงมีข้อได้เปรียบในการแข่งขันในเชิงธุรกิจหลายประการ ทว่าตอนนี้กลับเลือกที่จะเปลี่ยนแปลงโดยที่ไม่ได้คิดวิเคราะห์ให้ดีพอ และการหยุดรถหลายเส้นทาง หยุดขายตั๋วจากหัวเมืองมาถึงหัวลำโพง สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนจำนวนมาก

ที่มา

https://www.facebook.com/tnamcot/videos/293607779370472

 

Tags: , , , , , , , , , ,