ทันทีที่เท้าเหยียบยังพื้นท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ อะไรคือความรู้สึกแรก?
บางคนอาจจะบอกว่า เป็นความรู้สึกตื่นเต้นของการเดินทางเพื่อไปท่องเที่ยว ขณะที่บางคนอาจรู้สึกถึงเพียงความเย็นที่ออกมาจากอาคารผู้โดยสาร หรือว่าบางคนอาจได้กลิ่นควัน ‘บุหรี่’ ลอยเข้ามาเตะจมูก เป็นการต้อนรับสำหรับการเดินทางที่จะมาถึง
เมื่อวานนี้ (6 มิถุนายน 2567) ทีมช่างภาพ The Momentum ลงพื้นที่สำรวจท่าอากาศสุวรรณภูมิในฐานะ ‘ประตูบานแรก’ ของประเทศไทยอีกครั้งหนึ่ง ภายหลังที่สำรวจจุดชมเครื่องบิน (Observation Deck) และป้ายบอกทางที่สร้างความสับสนแก่นักเดินทางมาแล้ว ครานี้ปัญหาที่เกิดขึ้นที่ท่าอากาศยานแห่งนี้ เป็นปัญหาที่กวนใจใครหลายคนไม่มากก็น้อย สำหรับการสูบบุหรี่ ‘ไม่เป็นที่’
หากอ้างอิงตามพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 ระบุชัดเจนว่า ‘ท่าอากาศยาน’ เป็นสถานที่ปลอดบุหรี่ทั้งหมด แต่สามารถมี ‘เขตเฉพาะ’ ได้ เช่น พื้นที่นอกอาคาร ซึ่งทางท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มีการจัดพื้นที่ดังกล่าวอยู่บริเวณประตูทางเข้าอาคารผู้โดยสาร (Terminal) ที่ 1 รองรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการสูบบุหรี่
อย่างไรก็ตาม ใช่ว่านักท่องเที่ยวจะปฏิบัติตามกฎระเบียบที่ว่าทั้งหมด เพราะนักท่องเที่ยวบางส่วนยังสูบบุหรี่นอกจุดบริการที่ท่าอากาศยานจัดให้ ไม่ว่าจะเป็นชั้น 3 สำหรับผู้โดยสารขาออก หรือชั้น 2 สำหรับผู้โดยสารขาเข้า ขณะเดียวกัน สิ่งที่ไม่ชัดเจนก็คือป้ายบอกสถานที่สูบบุหรี่ ที่นักท่องเที่ยวที่ลงเครื่องบินมา ผ่านพิธีการตรวจคนเข้าเมืองที่ใช้เวลานาน หวังจะได้สูบบุหรี่ แต่เมื่อถึงบริเวณ ‘ขาออก’ กลับไม่พบจุดสูบบุหรี่ใดๆ
การไม่มีที่สูบบุหรี่ชัดเจน จึงทำให้นักท่องเที่ยว นักเดินทาง เลือก ‘จุดอื่นๆ’ เพื่อสูบบุหรี่แทน อีกทั้งยังทิ้งก้นบุหรี่ รวมไปถึงซองบุหรี่ลงพื้นถนน โดยไม่สนใจว่าจะเป็นการทำลายทัศนียภาพหรือภาพลักษณ์ของท่าอากาศยานหรือไม่
จากปัญหาที่เกิดขึ้นมา ดูเหมือนมีสาเหตุมาจากการที่ท่าอากาศยานมี ‘จุดเฉพาะ’ สำหรับการสูบบุหรี่ไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้งาน และรวมไปถึงความเข้มงวดในการดูแลและควบคุมพฤติกรรมผู้สูบบุหรี่
ย้อนกลับไปดูที่ พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 ก็ยังระบุไว้ชัดเจนอีกว่า หากผู้ดำเนินการให้บริการ ซึ่งหมายถึงท่าอากาศยาน ไม่เข้ามาตักเตือน ควบคุมดูแล ผู้สูบบุหรี่นอกจุดเฉพาะ จะมีโทษปรับ 3,000 บาท
ดังนั้น การท่าอากาศยานไทยในฐานะผู้มีอำนาจเต็มในการบริหารงาน จะต้องหาทางออกที่ดีสุดเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น มิเช่นนั้นท่าอากาศยานที่เปรียบดัง ‘ประตูบานแรก’ ของนักท่องเที่ยว อาจถูกมองในแง่ลบไปตลอดกาล
Tags: ท่าอากาศยานไทย, AOT, สุวรรณภูมิ, บุหรี่, คมนาคม, สนามบินสุวรรณภูมิ