วันนี้ (9 กันยายน 2567) ที่ทำการพรรคประชาชน อาคารอนาคตใหม่ มีการแถลงข่าวความคืบหน้าร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) นำโดย ณัฐพงศ์ เปรมพูลสวัสดิ์, ศุภณัฐ มีนชัยนันท์ และธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.กรุงเทพฯ พรรคประชาชน ภายหลังการรับฟังความเห็นประชาชนแล้วเสร็จ เมื่อวันที่ 30 สิงหาคมที่ผ่านมา

ระหว่างการแถลงตอนหนึ่ง ศุภณัฐระบุว่า หลังจากนี้สิ่งที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ต้องดำเนินการคือ การเปิดเผยความคิดเห็นของประชาชนทั้งหมดว่า กทม.เห็นด้วยหรือไม่ หาก ‘เห็นด้วย’ กทม.ได้ดำเนินการตามความเห็นนั้นหรือไม่ แต่หาก ‘ไม่เห็นด้วย’ ทาง กทม.จะต้องชี้แจงข้อเห็นต่างต่อไป

ศุภณัฐยังกล่าวอีกว่า กทม.ต้องนำร่างผังเมืองใหม่มาให้ประชาชนพิจารณาอีกครั้ง ก่อนจะส่งร่างไปยังกระทรวงมหาดไทย เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนได้พิจารณาและแสดงความเห็นอย่างถี่ถ้วนเสียก่อน เพราะหากส่งไปยังหน่วยงานต่อไปแล้ว การดำเนินการแก้ไขอาจไม่สามารถทำได้

ทั้งนี้พรรคประชาชนยังมีข้อกังวลในหลักการจัดทำผังเมืองกรุงเทพฯ ทั้งหมด 9 ประเด็น ดังนี้

  1. ‘ผังสีขาว’ ที่ดินทหารที่ไม่มีกฎหมายผังเมืองกำกับ กล่าวอย่างง่ายคือ พื้นที่ของทหารเสมือนเป็นรัฐอิสระที่สามารถดำเนินการใดๆ เกี่ยวข้องกับการใช้ประโยชน์ที่ดิน ต่างจากพื้นที่ของประชาชนที่มีกฎหมายกำกับ อย่างไรก็ตาม พรรคประชาชนทราบมาว่า ทางทหารไม่ได้มีปัญหาอะไร หากมีกฎหมายมากำกับที่ดิน จึงเป็นที่มาของข้อสงสัยที่ต้องให้ทาง กทม.ชี้แจงเพื่อความกระจ่าง

  1. ‘ผังที่โล่ง’ ถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่สาธารณประโยชน์ เพื่อนันทนาการและการรักษาสิ่งแวดล้อม ทว่ามีการนำพื้นที่สนามกอล์ฟของเอกชนมาใส่อยู่ในผังนี้ด้วย ซึ่งพรรคประชาชนมองว่า เป็นการขัดต่อเจตนารมณ์ของการใช้ผังเมือง

  1. ‘ผังเขียวลาย’ ถูกวางไว้เป็นทางน้ำไหลผ่าน (Flood Way) แม้ว่า กทม.จะลดสัดส่วนการใช้สอยพื้นที่ลักษณะนี้ แต่ยังมีบางส่วนของพื้นที่ที่ยังมีการใช้สอยเช่นนี้อยู่ ดังนั้นแล้วทาง กทม.จะมีกลไกดูแลประชาชนที่ถูกลิดรอนสิทธิในพื้นที่อย่างไร

  1. การปรับผังเมืองสีแดงแบบเฉพาะเจาะจง ให้มีอัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมต่อพื้นที่ดิน (Floor to Area Ratio: FAR) สูงขึ้น แม้ว่าจะมีการนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ (ป.ป.ช.) ให้ กทม.ชี้แจงเรียบร้อยแล้ว แต่คำชี้แจงดังกล่าว พรรคประชาชนมองว่า ‘ยังไม่ชัดเจน’ เพราะไม่สามารถบอกได้ว่า เหตุใดในแปลงที่ดินที่มีคุณลักษณะคล้ายคลึงกัน ถึงมีค่า FAR ไม่เท่ากัน

“เนื่องจากที่ดินบางแปลงบังเอิญไปตรงกับที่ดินของกลุ่มทุนขนาดใหญ่ จึงอดคิดไม่ได้ว่า จะมีรายการคุณขอมาหรือไม่ หรือเป็นการตอบสนองต่อกลุ่มทุนในการผ่านร่างผังเมืองหรือไม่” ศุภณัฐกล่าว

  1. การปรับ ‘ผังสีน้ำเงิน’ ซึ่งสงวนไว้ใช้เป็นสถานที่ราชการ เพื่อการใช้ประโยชน์ทางสาธารณูปโภค ให้เป็น ‘ผังสีแดง’ เพื่อเตรียมนำที่ดินของรัฐไปให้เอกชนทำกิจการหรือไม่ แม้ว่าพรรคประชาชนไม่ได้คัดค้านการปรับผัง แต่อยากให้ กทม.แจงสาเหตุของการปรับเปลี่ยนการใช้สอยที่ดิน อีกทั้งยังต้องแจ้งให้ประชาชนรับทราบโดยชัดเจน

“ที่น่าสงสัยต้องบอกว่า กลุ่มทุนบางกลุ่มเริ่มขยับตัวเรียบร้อยแล้วต่อพื้นที่ที่เตรียมการลงทุน เพราะฉะนั้น เป็นสิ่งที่เราต้องคิดต่อว่า ทำไมกลุ่มทุนถึงรู้ล่วงหน้าว่า ทาง กทม.จะปรับที่ดินราชการให้เป็นที่ดินเชิงพาณิชย์อย่างแน่นอน”

  1. โครงการก่อสร้างถนนหลายทางเส้นที่อยู่ในผังเมือง ซึ่งปัจจุบันทาง กทม.ยังไม่นำไปพัฒนา เนื่องจากติดปัญหางบประมาณหรือการเรียงลำดับความสำคัญ ซึ่งแนวดังกล่าวกระทบต่อประชาชนที่เป็นเจ้าของที่ดินในแนวการพัฒนา เพราะไม่รู้ว่าจะถูกเวนคืนเมื่อใด ทำให้ประชาชนไม่กล้าพัฒนาหรือขายต่อ เพราะฉะนั้น พรรคประชาชนจึงร้องขอความชัดเจนจาก กทม.ว่า จะพัฒนาต่อหรือไม่

  1.  FAR Bonus ในแต่ละพื้นที่ควรแตกต่างกันตามสภาพปัญหาของพื้นที่ ซึ่ง กทม.ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะปรับ FAR Bonus ให้มีความหลากหลายในแต่ละพื้นที่ เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนในพื้นที่หรือไม่

  1. พรรคประชาชนมีความกังวลต่อข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินแต่ละประเภทว่า จะมีความไม่ปกติเพิ่มขึ้น เช่น การสร้างโรงแรมและสำนักงานในผังเมืองสีน้ำตาล (ที่ดินประเภทคลังสินค้า) หรือการสร้างโรงขยะในพื้นที่ผังเมืองสีเหลือง (ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย)

  1. การกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินของกิจการหรืออาคารบางประเภท เนื่องจากมีหลายกิจการระบุว่า เป็นกิจการเชิงพาณิชย์ ซึ่งพรรคประชาชนมองว่า จะต้องแยกประเภทกิจการให้ชัดเจนในการทำผังเมือง มิเช่นนั้นจะเป็นการ ‘ตีขลุม’ จนประชาชนไม่อาจทราบได้ว่า เป็นกิจการพาณิชย์อะไร เช่น กิจการสถานบริการ ที่ท่องเที่ยวกลางคืน การตั้ง Data Center

ทั้งนี้ศุภณัฐต้องการให้ทาง กทม.ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานรัฐต่างๆ เพื่อทราบว่าจะมีการอนุญาตกิจการต่างๆ หรือไม่ หากมีการอนุญาตให้ทำกิจการเหล่านี้ ต้องระบุในร่างผังเมืองให้เรียบร้อย เพื่อป้องกันความขัดแย้งของประชาชนในพื้นที่

“9 เรื่องนี้ ผมหวังว่าทาง กทม.จะสร้างความชัดเจนผ่านร่างผังเมืองฉบับใหม่ที่มีการจัดทำขึ้น และขอให้ประชาชนร่วมกันจับตามองร่างผังเมืองฉบับใหม่นี้” ส.ส.พรรคประชาชนกล่าวทิ้งท้าย

Tags: , , ,