เมื่อวานนี้ (23 มกราคม 2024) สำนักข่าวต่างประเทศหลายแห่งรายงานว่า เกาหลีเหนืออาจทำลาย ‘ประตูชัยแห่งการรวมชาติ’ สัญลักษณ์สำคัญที่แสดงถึงความสัมพันธ์อันดีระหว่างเกาหลีใต้ หลังภาพถ่ายทางดาวเทียมไม่สามารถตรวจจับร่องรอยของอนุสาวรีย์ดังกล่าวได้ ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ปรากฏการณ์ดังกล่าวสะท้อนถึงความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลีที่กำลังคุกรุ่นมากขึ้น

ประตูชัยแห่งการรวมชาตินี้มีชื่อเต็มว่า ‘Monument to the Three Charters for National Reunification’ สร้างขึ้นเนื่องในโอกาสการประชุมสุดยอดเกาหลีปี 2000 ซึ่งเป็นช่วงเวลาแห่งการประนีประนอมระหว่างสองชาติ ในเวลานั้น คิม จองอิล (Kim Jong-il) อดีตผู้นำเกาหลีเหนือ กับคิม แดจุง (Kim Dae-jung) อดีตประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ผู้ครอบครองรางวัลโนเบลสันติภาพปี 2000 ต่างให้คำมั่นสัญญาว่า ทั้งสองเกาหลีจะรวมชาติกันเป็นหนึ่งเดียวให้ได้

นอกจากนี้ อนุสาวรีย์ดังกล่าวยังเป็นสัญลักษณ์แห่งการรำลึกหลักการรวมชาติ 3 ประการของ คิม อิลซุง (Kim Il-sung) ผู้นำคนแรกของเกาหลีเหนือ ได้แก่ การพึ่งพาตนเอง สันติภาพ และการร่วมมือของชาติ ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของกรุงเปียงยาง สูงประมาณ 30 เมตร และมีเอกลักษณ์โดดเด่น คือรูปปั้นใบหน้าของหญิงสาวสองคนหันหน้าเข้าหากัน พร้อมด้วยแผนที่สองเกาหลีที่รวมชาติอย่างสมบูรณ์แบบ

ทว่าเอ็นเคนิวส์ (NKNews) รายงานว่า อนุสาวรีย์ดังกล่าวหายไปในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยอ้างอิงหลักฐานจากภาพถ่ายทางดาวเทียม ปรากฏว่าไม่มีร่องรอยของประตูชัยนี้หลงเหลือแม้แต่น้อย เบื้องต้นคาดว่า อาจถูกทำลายระหว่างวันที่ 19-22 มกราคม 2024 

 ขณะที่สำนักข่าวที่น่าเชื่อถือแห่งอื่น เช่น รอยเตอร์ (Reuters) ไม่สามารถยืนยันได้ว่า ประตูชัยแห่งการรวมชาติถูกทำลายลงจริงหรือไม่

อย่างไรก็ตาม มีความเป็นไปได้สูงที่อนุสาวรีย์นี้จะหายสาบสูญไปตามความต้องการของรัฐบาลเกาหลีเหนือ อ้างอิงจากคำพูดของ คิม จองอึน (Kim Jong-un) ในวันที่ 15 มกราคมที่ผ่านมา เขาแสดงความรู้สึกว่า การคงอยู่ของประตูชัยดังกล่าวเป็นสิ่งที่ ‘น่าละอาย’ ในสมัชชาประชาชนสูงสุด (Supreme People’s Assembly: SPA) ท่ามกลางความคุกรุ่นทางการเมืองระหว่างสองชาติ หลังมีคำสั่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ระบุให้เกาหลีใต้เป็น ‘ศัตรูหมายเลขหนึ่งที่ไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้’

ยังไม่รวมสถานการณ์คุกรุ่นในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา นับตั้งแต่การกล่าวอ้างของเกาหลีเหนือในเรื่องดาวเทียมสอดแนม การทดสอบขีปนาวุธชนิดมีอัตราความเร็วเหนือเสียง (Hypersonic) การปะทะกันบริเวณชายแดน รวมถึงเหตุการณ์ในวันนี้ (24 มกราคม 2024) เมื่อเกาหลีใต้รายงานว่า เกาหลีเหนือยิงขีปนาวุธลงในทะเลหลายลูกในทะเลทางตะวันตกของประเทศ

จอง อึนมี (Jeong Eun-mee) นักวิชาการจากสถาบันเกาหลีเพื่อการรวมชาติ (Korea Institute for National Unification: KINU) ระบุว่า การทำลายอนุสาวรีย์เป็นการสะท้อนคำพูดของคิม จองอึน ที่พยายามจะทำลายมรดกทางความคิดของคิม อิลซุงและคิม จองอิล โดยการรวมชาติของเขาจะใช้กำลังและสงคราม แทนที่จะเป็นการสร้างสันติภาพตามหลักสามประการของคิม อิลซุง 

ขณะที่ ลีฟ เอริก เอสลีย์ (Leif-Eric Easley) ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยอีฮวา (Ewha University) ให้สัมภาษณ์ไปในทิศทางเดียวกันว่า ผู้นำเกาหลีเหนือพยายามทำลายแนวทางสันติของปู่และพ่อของตนเอง และแสดงให้คนทั้งประเทศเห็นว่า ความท้าทายของเกาหลีเหนือเกิดขึ้นจากแรงกดดันภายนอก

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์บางส่วนระบุเพิ่มเติมว่า นโยบายแข็งกร้าวของเกาหลีเหนืออาจมุ่งเป้าไปที่สหรัฐอเมริกา พันธมิตรชาติสำคัญของเกาหลีใต้ในด้านความมั่นคง เนื่องจากสหรัฐฯ อยู่ในช่วงเวลา ‘เปราะบาง’ จากการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2024 ซึ่งกำหนดชะตากรรมของประเทศได้ว่า นโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ ในคาบสมุทรเกาหลีจะเดินหน้าไปทิศทางใด สะท้อนจากรายงานของสำนักข่าวเอ็นเอชเค (NHK) ที่ระบุว่า เกาหลีเหนือรายงานข่าวการเลือกตั้งของสหรัฐฯ เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์

อ้างอิง

https://www.theguardian.com/world/2024/jan/24/north-korea-demolishes-the-arch-of-reunification-monument-south-korea-unity-hopes-kim-jong-un

https://www.forbes.com/sites/zacharyfolk/2024/01/23/north-korean-reunification-monument-goes-missing-as-kim-jong-un-escalates-rivalry-with-south/?sh=37aea1175244

https://www.reuters.com/world/asia-pacific/north-korea-tears-down-monument-symbolizing-union-with-south-report-2024-01-23/

https://edition.cnn.com/2024/01/16/asia/north-korea-kim-unification-arch-intl-hnk/index.html

Tags: , , , , , , , , ,