สมาชิกรัฐสภาอาเซียน (ASEAN Parliamentarians for Human Rights: APHR) ร่วมกับนานาชาติ และกลุ่มเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน ประณามเหตุสังหาร ลิม กิมยา (Lim Kimya) อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคสงเคราะห์ชาติกัมพูชา (Cambodia National Rescue Party: CNRP) กลางกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2025 พร้อมเรียกร้องความโปร่งใสในกระบวนการสอบสวน
กิมยาอยู่ในวัย 74 ปี สัญชาติฝรั่งเศส-กัมพูชา เขาเป็นที่รู้จักในฐานะนักวิจารณ์รัฐบาลกัมพูชาตัวยง จนทำให้ครั้งหนึ่งสมเด็จ ฮุน เซน (Hun Sen) องคมนตรี และอดีตนายกรัฐมนตรีกัมพูชา เคยออกปากเตือนว่า ตนจะทำให้ชีวิตของอดีต ส.ส.ฝ่ายค้าน เหมือนอยู่ใน ‘นรก’ ซึ่งปรากฏว่า กิมยาถูกยิงเสียชีวิตในวันที่ 7 มกราคมที่ผ่านมา หลังเดินทางจากเสียมเรียบมายังกรุงเทพฯ
APHR ระบุว่า การฆาตกรรมดังกล่าวเต็มไปด้วยความเลือดเย็น เป็นการโจมตีที่มุ่งตรงกลุ่มผู้เห็นต่างทางการเมือง พร้อมกับเรียกร้องให้มีการสอบสวนที่ละเอียด โปร่งใส และเที่ยงธรรม เพื่อให้ผู้ก่อเหตุได้รับผิดอย่างแท้จริง อีกทั้งยังย้ำว่า เหตุการณ์ดังกล่าวบ่อนทำลายประชาธิปไตยและความยุติธรรมของภูมิภาค
“การเสียชีวิตของกิมยาไม่ได้นำมาซึ่งโศกนาฏกรรมของบุคคลคนเดียว แต่ยังละเมิดคุณค่าของกระบวนการทางการเมืองที่เสรีและเป็นธรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วย” เมอร์ซี คริสตี บาเรนดส์ (Mercy Chriesty Barends) ประธานร่วม APHR และสมาชิกรัฐสภาจากอินโดนีเซียระบุว่า การลอบสังหารครั้งนี้คือการโจมตีหลักการประชาธิปไตยและประชาชนที่ปกปักษ์ระบอบ
ขณะที่ หว่อง เฉิน (Wong Chen) สมาชิกรัฐสภามาเลเซีย ย้ำว่า ความรุนแรงทางการเมืองเพื่อหวังคุกคามไม่ได้สร้างผลกระทบต่อฝ่ายต่อต้านในกัมพูชา แต่ยังรวมถึงเครือข่ายผู้ต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน พร้อมกับเรียกร้องให้นานาชาติเร่งดำเนินการว่า ผู้กระทำความผิดจะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมจริงๆ
นอกจากนี้ รังสิมันต์ โรม ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน และสมาชิกรัฐสภาจากประเทศไทย ยังเรียกร้องให้ทางการไทยดำเนินการสอบสวนด้วยความโปร่งใสและเป็นอิสระ เพื่อให้มั่นใจได้ว่า กิมยาและครอบครัวจะได้รับความยุติธรรมอย่างแท้จริง
APHR ยังทิ้งท้ายไปถึงรัฐบาลฝรั่งเศสที่ให้สัญชาติแก่กิมยา ให้เข้าร่วมการสอบสวนและสร้างแรงกดดันให้กับทางการไทย โดยหวังให้กระบวนการสอบสวนเป็นไปอย่างราบรื่น และทำให้ ‘ผู้ที่อยู่เบื้องหลัง’ ได้รับโทษจริงๆ
ปัจจุบันสื่อต่างชาติอย่างสำนักข่าว France 24 รายงานว่า สถานทูตฝรั่งเศสและกัมพูชาในประเทศยังนิ่งเฉยต่อเรื่องที่เกิดขึ้น ท่ามกลางเสียงเรียกร้องของกลุ่มเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนนานาชาติ ทั้ง Human Rights Watch และ Amnesty ที่ประณามเหตุการณ์ดังกล่าว พร้อมเรียกร้องให้ความยุติธรรมให้กับอดีต ส.ส.ฝ่ายค้านกัมพูชา
อ้างอิง:
Tags: กัมพูชา, APHR, ลิม กิมยา