วันนี้ (7 สิงหาคม 2024) กลุ่มสมาชิกรัฐสภาอาเซียน (ASEAN Parliamentarians for Human Rights: APHR) ออกแถลงการณ์แสดงความกังวลต่อประชาธิปไตยของประเทศไทย หลังศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 9-0 ยุบพรรคก้าวไกลและตัดสิทธิกรรมการพรรคเป็นระยะเวลา 10 ปี
เมอร์ซี บาเรนด์ (Mercy Chriesty Barends) ประธานสมาชิกรัฐสภาอาเซียน และสมาชิกรัฐสภาอินโดนีเซีย ระบุผ่านแถลงการณ์ในนามของ APHR ว่า รู้สึกตกใจกับคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญไทย โดยเป็นเรื่องไม่สมเหตุสมผลและบ่อนทำลายกระบวนการในรัฐสภา
“ชัดเจนว่า ศาลรัฐธรรมนูญส่งข้อความที่มีนัยสำคัญว่า การปฏิรูปบางประเด็นจะไม่มีทางเกิดขึ้นในรัฐสภาไทย ที่ซึ่งเต็มไปด้วยข้อถกเถียงทางการเมือง โดยมีจุดมุ่งหมายถ่วงดุลอำนาจและตรวจสอบความชอบธรรม
“อำนาจตุลาการที่ล้นพ้นไม่เพียงแต่บ่อนทำลายเสถียรภาพทางการเมืองของประเทศไทย แต่ยังทำลายชื่อเสียงในโลกนานาชาติ เมื่อเสียงของประชาชนถูกพรากสิทธิ เราในนามของ APHR เริ่มรู้สึกหมดความไว้วางใจต่อบูรณภาพทางประชาธิปไตยของประเทศไทย
“ไม่มีประชาธิปไตยหากปราศจากเสรีภาพในการแสดงออก รวมถึงการมีผู้เห็นต่างทางการเมืองที่มีเสรีภาพและเติบโตได้”
นอกจากนี้ แถลงการณ์ยังระบุต่อว่า พรรคก้าวไกลเป็นพรรคที่ชนะการเลือกตั้งในปี 2023 แต่ถูกขัดขวางไม่ให้จัดตั้งรัฐบาลด้วยกลไกที่ต้านเสียงส่วนใหญ่ของประเทศ โดย APHR กังวลว่า เหตุการณ์ดังกล่าวอาจนำไปสู่ข้อถกเถียงในประเทศไทยถึงข้อจำกัดทางรัฐธรรมนูญ
ขณะที่ ชาร์ลส์ ซานติอาโก (Charles Santiago) ประธานร่วมของ APHR และสมาชิกรัฐสภามาเลเซีย ระบุว่า จะขอยืนเคียงข้างร่วมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกล และเชื่อมั่นว่า ไม่ว่าการยุบพรรคจะปราศจากความยุติธรรมเช่นไร แต่พรรคก้าวไกล จะต่อสู้ร่วมกับประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย
APHR ทิ้งท้ายว่า ต้องการให้รัฐบาลไทยทำตามสัญญาเพื่อการเปลี่ยนแปลง และการันตีการมีอยู่ของประชาธิปไตย โดยขอให้พิจารณาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ที่จัดทำขึ้นโดยรัฐบาลทหาร พร้อมทั้งย้ำว่า การยุบพรรคก้าวไกลไม่ได้นำมาซึ่งความสุข และพาประเทศไทยเข้าสู่ประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ก่อนทิ้งท้ายว่า การบังคับใช้กฎหมายในทางที่ผิดอย่างโจ่งแจ้งของประเทศ อาจเป็นภัยต่อประชาธิปไตยของภูมิภาคอาเซียน
อ้างอิง
Tags: การเมืองไทย, ประชาธิปไตย, อาเซียน, ศาลรัฐธรรมนูญ, ยุบพรรค, พิธา ลิ้มเจริญรัตน์, รัฐธรรมนูญ 60, พรรคก้าวไกล, APHR, สมาชิกรัฐสภาอาเซียน