วันนี้ (22 สิงหาคม 2024) ผลการศึกษาใหม่จากวารสารวิทยาศาสตร์ Global Change Biology พบว่า ระบบนิเวศของแอนตาร์ติก (Antarctic) ในขั้วโลกใต้ กำลังได้รับผลกระทบจากสัตว์ โรคระบาด และขยะจากทวีปอื่น หลังอุณหภูมิสูงขึ้นจากภาวะโลกรวน เป็นเหตุทำให้น้ำแข็งที่ทำหน้าที่เป็นเกราะป้องกันละลาย

สำนักข่าวเดอะการ์เดียน (The Guardian) รายงานว่า วารสารดังกล่าวทดลองสถานการณ์ข้างต้น ด้วยการจำลองทิศทางการไหลของกระแสน้ำในมหาสมุทรไปยังสถานที่ต่างๆ บนโลก ปรากฏว่า ขยะหรือสิ่งของจากทวีปอื่น เช่น ออสเตรเลีย แอฟริกาใต้ และอเมริกาใต้ กำลังลอยไปแอนตาร์กติกเพิ่มขึ้นในทุกปี 

ฮันนาห์ ดอว์สัน (Hannah Dawson) ศาสตราจารย์ผู้ทำการทดลอง รายงานผลว่า ตลอด 1,000 ปีที่ผ่านมา มักมีวัตถุลอยพัดพาไปตามกระแสน้ำสู่ขั้วโลกใต้มากกว่าที่คิด ทว่าปรากฏการณ์นี้เกิดบ่อยขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เพราะน้ำแข็งที่ทำหน้าที่ดังกำแพงเริ่มละลายลง 

ขณะที่พืชหรือสัตว์ที่ลอยเข้ามาอาศัยอยู่ในแอนตาร์กติกยังอยู่ในภาวะเปราะบาง หลังถูกซากน้ำแข็งทับถมบริเวณชายฝั่ง จนไม่อาจต้านทานความหนาวเย็นของพื้นที่ได้ ขณะที่พลาสติกยังกลายเป็นพาหะนำโรคอย่างไข้หวัดนก และนำสัตว์ต่างถิ่นเข้ามาในทวีป เช่น ปู ปลาดาว และทาก 

ความน่าสนใจอีกอย่างของปรากฏการณ์นี้คือ จำนวนปริมาณพลาสติกที่เพิ่มขึ้น โดยนักวิทยาศาสตร์จาก 5 Gyres Institute องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่มุ่งเน้นการลดมลภาวะจากพลาสติก คำนวณในปี 2023 ว่า มีอนุภาคพลาสติกมากกว่า 170 ล้านล้านชิ้น ลอยอยู่ทั่วมหาสมุทรของโลก หลังอุตสาหกรรมผลิตพลาสติกล้มเหลวในการจัดการวัสดุดังกล่าว

ผลวิจัยยังพบว่า สิ่งมีชีวิตพื้นเมืองในแอนตาร์กติกอาจสูญพันธ์ หากอุณหภูมิเพิ่มขึ้นและน้ำแข็งละลายลง นำมาสู่การตั้งถิ่นฐานของสัตว์สปีชีส์ต่างถิ่น ซึ่งสถิติของ UN National Snow and Ice Data Center ระบุว่า ปริมาณน้ำแข็งในบริเวณดังกล่าวลดลงถึง 2 ตารางเมตร เป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน นับเป็นตัวเลขต่ำที่สุดตั้งแต่ปี 1979 ที่เริ่มมีการตรวจสอบด้วยดาวเทียม

จอร์แดน พิตต์ (Jordan Pitt) ผู้เชี่ยวชาญด้านการคำนวณพื้นที่ในมหาสมุทร จากมหาวิทยาลัยซิดนีย์ (The University of Sydney) ประเทศออสเตรเลีย ระบุว่า พื้นที่เสี่ยงของแอนตาร์กติกอยู่บริเวณชายฝั่งตอนใต้ของคาบสมุทร เพราะไม่มีน้ำแข็งในช่วงฤดูร้อน โดยนักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญต้องจับตาการมาถึงของสิ่งมีชีวิตต่างถิ่นในพื้นที่นี้เป็นสำคัญ

ก่อนหน้านี้มีการค้นพบว่า แอนตาร์กติกกำลังร้อนขึ้น 2 เท่า ซึ่งรวดเร็วกว่าที่คำนวณผ่านแบบจำลองการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ สะท้อนให้เห็นจากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล หลังได้รับผลกระทบจากภาวะโลกรวน

อ้างอิง

https://www.theguardian.com/world/article/2024/aug/22/antarctica-ice-buffers-melt-study-rubbish-disease

https://www.theguardian.com/environment/2023/mar/08/plastic-particles-oceans-marine-pollution-production

https://www.theguardian.com/world/2024/feb/24/antarctica-sea-ice-reaches-alarming-low-for-third-year-in-a-row

https://www.theguardian.com/world/2023/sep/08/antarctica-warming-much-faster-than-models-predicted-in-deeply-concerning-sign-for-sea-levels

Tags: , , , ,