1
ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา การ ‘ยื้อแย่ง’ เสียงจากบรรดาพรรคเล็ก ระหว่างฝั่งของร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า กับพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลายเป็นเรื่องใหญ่ที่สุดในบรรดาข่าวการเมือง
เหตุที่เป็นเรื่องใหญ่ เพราะพรรคเล็กเหล่านี้เมื่อรวมกันแล้ว จะมีเสียงมากกว่า 10 เสียง และหากรวมกับ ‘พรรคเศรษฐกิจไทย’ ของร้อยเอกธรรมนัส จะมีเสียงมากกว่า 28 เสียง ซึ่งถือเป็นอำนาจต่อรองขั้นสูง เพียงพอต่อการล้มพลเอกประยุทธ์ และล้มรัฐบาลกลางที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในการโหวตอภิปรายไม่ไว้วางใจ ที่จะเกิดขึ้นช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน นี้ได้
ว่าด้วยคณิตศาสตร์การเมืองขณะนี้ ปัจจุบัน จำนวน ส.ส. ทั้งหมดในสภาฯ อยู่ที่ 476 เสียง บวกลบราว 2-3 คน จากการที่ศาลสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ และที่รอคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รับรอง โดยเสียงเกินกึ่งหนึ่งของ ส.ส. ต้องอยู่ที่ 238 เสียง ซึ่งปัจจุบันเสียงรัฐบาล (รวมเสียงจาก ‘งูเห่า’ และพรรคเล็กพรรคน้อย) อยู่ที่ 256 เสียง เสียงของฝ่ายค้านอยู่ที่ 200 เสียง (หลังหักลบ ’งูเห่า’) โดยทั้งหมดยังเหลือพรรคเศรษฐกิจไทยของร้อยเอกธรรมนัส 18 เสียง ที่เป็นรัฐอิสระ เป็น ‘ตัวแปร’ ว่าจะอยู่ข้างไหน
หากเสียงของร้อยเอกธรรมนัสย้ายไปอยู่กับฝ่ายค้านทั้งหมด เสียงของรัฐบาลจะเหลือเพียง 238 เสียง ซึ่ง ‘ไม่รอด’ หากต้องโหวตอภิปรายไม่ไว้วางใจ เพราะประธานฯ และรองประธานฯ จะไม่สามารถโหวตได้ แต่ก็ยังเป็นไปได้หากหา ‘งูเห่า’ มาช่วยเติม
วิธีเดียวที่จะ ‘ตอกฝาโลง’ พลเอกประยุทธ์ได้ คือการหาเสียงจาก ‘พรรคเล็ก’ ซึ่งมี ส.ส. 1-2 คน ที่ขณะนี้มีราว10 เสียง ให้ย้ายข้างมาเติมเสียงฝ่ายค้านให้มากพอ ถล่มรัฐบาลจนพลเอกประยุทธ์ต้องลาออกกลางสภา
ด้วยเหตุนี้ การชักเย่อแย่งชิงพรรคเล็กที่มีอยู่ 10 เสียง จึงกลายเป็นเรื่องใหญ่ เพราะในเวลานี้ แม้เพียง 10 เสียงก็มีความสำคัญ ชี้เป็นชี้ตายอนาคตของรัฐบาลได้
2
เรื่องยื้อแย่งพรรคเล็กปัดเศษเหล่านี้เริ่มต้นขึ้นได้อย่างไร? เรื่องนี้ต้องเท้าความถึงการ ‘แผลงฤทธิ์’ ของร้อยเอกธรรมนัส ตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้งที่จังหวัดสงขลา และจังหวัดชุมพร ในเวลาที่ร้อยเอกธรรมนัสยังคงเป็นเลขาธิการพรรค และกลายเป็น ‘แม่ทัพจำเป็น’ ในช่วงท้าย หลังจากไม่มีใครทั้ง ‘ออกแรง’ และ ‘ออกเงิน’
ผลการเลือกตั้งทั้ง 2 เขต กลายเป็นความพ่ายแพ้ของพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งจนบัดนี้ หลายคนกังขาว่าเป็นความ ‘ตั้งใจ’ ของร้อยเอกธรรมนัสที่จะแพ้เพื่อให้พรรคพลังประชารัฐขับตัวเองออก และไปสร้างดาวดวงใหม่ที่ชื่อว่าพรรคเศรษฐกิจไทย
เป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่า ร้อยเอกธรรมนัสมีศัตรูคนสำคัญที่ชื่อว่าพลเอกประยุทธ์ จากความพยายาม ‘รัฐประหารเงียบ’ ท่ามกลางการอภิปรายไม่ไว้วางใจรอบก่อนหน้าเมื่อเดือนกันยายน 2564 จนในที่สุด พลเอกประยุทธ์ต้องปลดร้อยเอกธรรมนัสจากตำแหน่งรัฐมนตรี
แต่ในตอนนั้น ร้อยเอกธรรมนัส ยังมี ‘ลูกพี่’ คนสำคัญที่ชื่อ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่แม้ว่าความสัมพันธ์ 3 ป. จะแนบแน่นเพียงใด ก็ไม่สามารถปลดร้อยเอกธรรมนัสออกจากตำแหน่งเลขาธิการพรรคได้ ด้วยทั้งอำนาจเงิน และเสียง ส.ส. ที่อยู่ในมือ
กระทั่งหลังการเลือกตั้งที่สงขลาและชุมพร พลเอกประยุทธ์ออกแรงมากขึ้น ร้อยเอกธรรมนัสจึงมาด้วยลูกไม้ใหม่ ให้พรรคพลังประชารัฐขับตัวเองออกแบบงงๆ แล้วก็ไม่ได้ไปตัวคนเดียว แต่ยังขน ส.ส.ไปรวม 18 เสียง โดยมี ‘เงา’ ของ พลเอกประวิตร ปกคลุมพรรคเศรษฐกิจไทยด้วย จากการส่ง พลเอก วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา เป็นหัวหน้าพรรค
เดิมทีเดียวนั้น หาก ‘ดีล’ สำเร็จ พรรคเศรษฐกิจไทยจะได้กระทรวงใหญ่อย่างกระทรวงมหาดไทย หรือกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมาไว้ในมือ แต่หลังจากต่อรองกันไปมา หัวเด็ดตีนขาดอย่างไร พลเอกประยุทธ์ก็ไม่ยอมปรับคณะรัฐมนตรี ไม่ยอมเอาก๊วนร้อยเอกธรรมนัสมาอยู่ร่วมชายคา ซึ่งก็หมายความว่า หากมีการโหวตเมื่อไร ย่อมมีความสุ่มเสี่ยงที่กฎหมายจะไม่ผ่าน หรือเสียงไว้วางใจจะไม่ถึงกึ่งหนึ่ง
ด้วยเหตุนี้ จึงมีเสียงแผ่วๆ ที่บอกว่า ‘หนู ช่วยด้วย’ ออกมาจากตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล จนเป็นที่มาของการที่ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ต้องหยิบกระดาษขึ้นมาทดเลข ยืนยันแน่นอนว่ารัฐบาลจะมีเสียงถึง 260 เสียง หากมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ
3
แต่เรื่องนี้ยังไม่จบ สภาฯ ปิดมาแล้ว 3 สัปดาห์ พรรคเศรษฐกิจไทยเริ่มเคลื่อนไหวหนักข้อขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่ ป.ประวิตร ก็ดูจะทิ้งห่างกับร้อยเอกธรรมนัสมากขึ้น จากเดิมที่พูดเสียงแข็งว่าสามารถ ‘คุม’ ร้อยเอกธรรมนัส และคุมพรรคเศรษฐกิจไทยได้ รวมถึงมั่นใจว่าพรรคเศรษฐกิจไทยจะอยู่ฝั่งรัฐบาล สุดท้าย เมื่อเวลาผ่านไป เสียงนั้นก็ค่อยๆ หายไป ร้อยเอกธรรมนัสยอมรับว่า ไม่ค่อยได้คุยกับพลเอกประวิตร ส่วนพลเอกประวิตรก็ยอมรับว่า ไม่สามารถคุมร้อยเอกธรรมนัสได้แล้ว
ด้วยเหตุนี้ พรรคเล็ก 10 เสียงจึงกลายเป็นมีความหมายขึ้นมาทันที ว่าสุดท้ายจะเลือกข้างไหน จะยังอยู่กับรัฐบาลซึ่งอุดมสมบูรณ์กว่า หรือจะหันไปอยู่กับร้อยเอกธรรมนัส
สิ่งที่ต้องยอมรับก็คือ ร้อยเอกธรรมนัสนั้นได้รับมอบหมายจากพลเอกประวิตรมาตั้งแต่ต้นว่าให้ช่วยคุมเสียงจากบรรดาพรรค ‘ปัดเศษ’ เหล่านี้ เพราะในช่วงแรก ก่อนที่จะมีการยุบพรรคอนาคตใหม่ และก่อนที่งูเห่าจะแสดงตัว เสียงรัฐบาลและฝ่ายค้านห่างกันไม่ถึง 10 เสียง
วลี ‘แจกกล้วย’ จึงเกิดขึ้นจากปากของร้อยเอกธรรมนัสเอง เพราะในเวลานั้น ร้อยเอกธรรมนัสทั้งลงแรง และลงเงิน เพื่อรวบรวมเสียง จนเรียบร้อย ไม่มีใครแตกแถว ในเวลาที่ไม่มีใครยอมไปคุยกับพรรคเล็ก
เมื่อถึงเวลาจำเป็น ภารกิจสำคัญของร้อยเอกธรรมนัสเป็นไปเพื่อล้มพลเอกประยุทธ์ ร้อยเอกธรรมนัสจึงต้องหวนกลับมาฟื้นสัมพันธ์กับบรรดาพรรคปัดเศษอีกครั้ง เพราะรู้ดีว่าพรรคปัดเศษเหล่านี้ก็เป็น ‘กล่องดวงใจ’ หนึ่งที่สำคัญของรัฐบาล
ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลจึงยอมไม่ได้ หากพรรคปัดเศษย้ายขั้ว เปลี่ยนข้าง เมื่อร้อยเอกธรรมนัสนัดกินข้าวแล้วรอบหนึ่ง รัฐบาลก็ต้องนัดซ้อนเพิ่มขึ้นอีกรอบ และพร้อม ‘เปย์’ ไม่อั้น จน ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ต้องออกมาพูดผ่านคลับเฮาส์เมื่อคืนวันที่ 15 มีนาคม ที่ผ่านมาว่า มื้ออาหารระหว่างรัฐบาลกับพรรคเล็กนั้น น่าจะอุดมสมบูรณ์มาก
นำมาซึ่งเสียงต่อรองจากพรรคเล็กว่า เมื่อรวมกันได้เกิน 10 เสียง ก็ต้องได้ ‘เก้าอี้รัฐมนตรี’ สักตัว เพราะในเมื่อพรรคเศรษฐกิจไทยไม่ได้ตำแหน่งรัฐมนตรีแล้ว ก็ขอให้พรรคเล็กปัดเศษเหล่านี้ ได้เก้าอี้สักหนึ่งที่นั่ง พรรคเล็กก็พร้อมจะยกมือโหวตให้รัฐบาลได้อย่างสบายใจ
ทั้งหมดนี้ ไม่ใช่ด้วยปัจจัยอะไร แต่ก็เพื่อรักษาพลเอกประยุทธ์ให้อยู่ต่อไปจนถึงการประชุมเอเปค ที่จะเกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายนนี้ หรืออยู่ให้ครบวาระเท่านั้น
4
คำถามสำคัญในเวลานี้ก็คือ แล้วจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป หากสภาฯ กลับมาเปิดสมัยประชุมอีกครั้งในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม
สิ่งที่เกิดขึ้นแน่ๆ ตอนนี้ก็คือ พรรคฝ่ายค้านพร้อมยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจทันทีที่มีการเปิดประชุมสภาฯ โดยรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่า หากยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจแล้ว รัฐบาลจะไม่สามารถยุบสภาฯ ได้อีก ต้องไปสู้กันดาบหน้าในการโหวตไม่ไว้วางใจเท่านั้น
ถึงวันนี้ พลเอกประยุทธ์ยืนยันว่าจะไม่มีการปรับคณะรัฐมนตรี เพราะถ้าเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีก็จะมีแรงกระเพื่อมอีกหลายกลุ่ม หลายพรรค และยังคงเสียงแข็งยืนยันว่าจะไม่ยอมยุบสภาฯ ซึ่งเมื่อออกมาในรูปนี้ ก็มีความเป็นไปได้สูงที่ก๊วนธรรมนัสจะย้ายไปนั่งอยู่กับฝ่ายค้านในศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ
นั่นหมายความว่า แรงปะทะจะเกิดขึ้นอย่างรุนแรงในศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ นั่นหมายความว่า พลเอกประยุทธ์ก็ยังเชื่อในตัวเลข 260 จาก ‘หนู’ และนั่นหมายความว่า พลเอกประยุทธ์ยังมั่นใจว่าทั้งพระเดชและพระคุณ ทั้งอำนาจและบารมี จะยังใช้ได้อยู่ในการจัดการกับพรรคร่วมรัฐบาล จัดการกับพรรคปัดเศษ จนสามารถทำให้การอภิปรายไม่ไว้วางใจนั้นลุล่วงไปด้วยดี
แต่การเมืองไทยนั้น ไม่เคยมีมิตรแท้ และไม่เคยมีใครจริงใจ ในเวลาเดียวกัน รัฐบาลนี้ก็จัดตั้งขึ้นมาด้วยผลประโยชน์ และการ ‘แบ่งเค้ก’ ให้แต่ละพรรค ในขวบปีสุดท้ายของรัฐบาล แน่นอนว่าทุกคนต่างต้องการสร้างผลงาน สร้าง ‘ดาว’ ของตัวเอง เพื่อเตรียมรับการเลือกตั้งรอบต่อไป
คำถามสำคัญที่ยังไม่มีใครรู้ก็คือ พลเอกประยุทธ์ยังเหลือกระสุนอยู่มากมายแค่ไหน บรรดาอำนาจบารมีที่เคยหนุนหลังพลเอกประยุทธ์นั้น ยังหนุนอยู่หรือไม่ และในเวลาเช่นนี้ คนอย่างร้อยเอกธรรมนัสคนเดียวที่สร้างความปั่นป่วนให้กับพลเอกประยุทธ์ได้มากกว่าพรรคฝ่ายค้านทุกพรรครวมกัน ยังเหลือไพ่อะไรอีกที่ยังเก็บไว้ และเหลืออะไรอีกในการเป็น ‘ไม้ตาย’ สำหรับจัดการกับรัฐบาลชุดนี้
ทั้งหมดนี้ เป็นเรื่องของการต่อสู้กันระหว่าง ‘คนกันเอง’ ที่มีแผลเต็มตัว และล้วนมีเป้าหมายเฉพาะตัว
ทั้งหมดนี้ เป็นเรื่องที่ประชาชนไม่ได้อะไร และไม่ได้มีส่วนร่วมเลยแม้แต่น้อย
Tags: ประยุทธ์ จันทร์โอชา, ธรรมนัส พรหมเผ่า, Analysis, The Momentum ANALYSIS, พรรคเศรษฐกิจไทย, สภา