ข้อพิพาทเรื่องรัสเซียส่งทหารนับแสนนายประชิดพรมแดนยูเครน กำลังจะกลายเป็นเรื่องใหญ่โตขึ้นเรื่อยๆ เมื่อประเด็นดังกล่าวไม่ใช่แค่ความขัดแย้งของสองประเทศ แต่จะทำให้ทั้งทวีปยุโรปรวมถึงสหรัฐอเมริกาต้องเผชิญหน้ากับรัสเซีย ทั้งประเด็นเรื่องการชักชวนยูเครนเข้าเป็นสมาชิกนาโต การแถลงการณ์โต้ตอบกันไปมาของสหรัฐฯ และรัสเซีย รวมถึงข่าวเรื่องการแสดงจุดยืนของหลายชาติ

เหตุขัดแย้งที่เกิดขึ้นในช่วงปลายปี 2021 ส่งผลให้ความตึงเครียดทั่วโลกปีนี้เพิ่มสูงขึ้น เพราะหากยุโรปและสหรัฐทำสงครามกับรัสเซียจริง ประเทศอื่นๆ ในโลกย่อมได้รับผลกระทบ และจำเป็นต้องเลือกข้างอย่างเลี่ยงไม่ได้

 

ปมขัดแย้งหลายเส้าของ รัสเซีย ยูเครน นาโต และสหรัฐอเมริกา

ความขัดแย้งในพื้นที่ยูเครนช่วงปี 2021 เกิดขึ้นจากการทูตที่คลุมเครือ และข้อพิพาทด้านพรมแดนของยูเครนและรัสเซียที่สะสมมานานหลายปี จุดขัดแย้งเกิดขึ้นเมื่อรัฐบาลสองประเทศมีมุมมองต่างกัน รัฐบาลชุดปัจจุบันยูเครนมองว่ารัสเซียพยายามเข้ายึดครองพื้นที่ของยูเครน และมีส่วนสำคัญที่ทำให้หลายพื้นที่ในยูเครนเกิดความระส่ำระสาย

ส่วนรัสเซียแสดงท่าทีชัดเจนว่ายูเครนจำเป็นต้องฟังเสียงของพวกเขา ทั้งการห้ามไม่ให้ยูเครนเข้าร่วมองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือ ‘นาโต’ เพราะเป็นดินแดนที่คั่นกลางระหว่างยุโรปกับรัสเซีย มองว่ายูเครนเป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญใกล้ชิดมาตั้งแต่ยุคสงครามเย็นในช่วงปี 1947-1989 หากยูเครนเข้าร่วมนาโตจริง เท่ากับว่ารัสเซียจะต้องเตรียมเฝ้าระวังมากขึ้นเพราะฐานของนาโตจะอยู่ใกล้มากกว่าเก่า

ย้อนกลับไปในช่วงปี 2013-2015 การเมืองของยูเครนไม่มั่นคงและไร้เสถียรภาพ สมัยประธานาธิบดียูเครน วิกเตอร์ ยากูโนวิช (Viktor Yanukovych) ที่เป็นมิตรกับรัฐบาลรัสเซีย เดินเกมพลาดครั้งใหญ่ด้วยการปฏิเสธแผนการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจกับสหภาพยุโรป จนทำให้ประชาชนจำนวนมากออกมาประท้วงรัฐบาล อดีตประธานาธิบดียากูโนวิชแก้ปัญหาด้วยการสั่งให้กองกำลังความมั่นคงปราบปรามผู้ชุมนุมอย่างรุนแรง จากเดิมที่พอจะควบคุมการประท้วงได้ กลายเป็นชนวนที่ทำให้มวลชนลุกฮือทั่วประเทศกลายเป็นสงครามกลางเมือง จนทำให้เขาต้องลี้ภัยไปรัสเซียเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2014

หลังจากการชุมนุมใหญ่ในปี 2013 ความคิดชาวยูเครนเแบ่งเป็นสองฝั่งอย่างเห็นได้ชัด ฝั่งหนึ่งพอใจที่จะเป็นมิตรกับรัสเซีย ส่วนอีกฝั่งหนึ่งต้องการให้ยูเครนมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสหภาพยุโรปมากขึ้นกว่าเก่า เพื่อหวังว่าเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศจะมั่นคงและมีเสถียรภาพมากขึ้น ขณะเดียวกัน ชาวไครเมียในดินแดนไครเมียที่อยู่ทางตอนใต้ของยูเครน ได้ทำประชามติหาข้อสรุปถึงสถานภาพของตัวเองว่าจะอยู่กับยูเครนต่อไป หรือจะประกาศเอกราชเข้ากับรัสเซีย โดยผลประชามติกว่า 96 เปอร์เซ็นต์เลือกเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย รัฐบาลรัสเซียจึงผนวกดินแดนไครเมียที่อยู่ทางตอนใต้ของยูเครนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของประเทศในปี 2014

กรณีไครเมียทำให้ชนกลุ่มน้อยจำนวนมากที่อยู่ทางภูมิภาคตะวันออกของยูเครน เช่น ชนกลุ่มน้อยในแคว้นโดเนตก์และแคว้นลูฮานสก์ พากันทำประชามติเพื่อประกาศอิสรภาพจากยูเครน แต่การทำประชามติกลับลุกลามกลายเป็นสงครามที่ยืดเยื้อ

เป็นเวลากว่าแปดปีที่เกิดสงครามกลางเมือง ท่ามกลางการรายงานข่าวของสำนักข่าวต่างประเทศที่ระบุชัดเจนว่ารัฐบาลรัสเซียเป็นผู้สนับสนุนกลุ่มกบฏติดอาวุธในหลายพื้นที่ เช่น เมืองคาร์คิฟ เมืองที่มีขนาดใหญ่อันดับสองของยูเครน นอกจากนี้รัสเซียยังเคยต่อว่ายูเครนหลายครั้ง เรื่องการบริหารงานล้มเหลวที่ไม่สามารถฟื้นฟูสันติภาพในภูมิภาคตะวันออกได้ และทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 14,000 คน

ความขัดแย้งที่ดูท่าจะไม่จบลงง่ายๆ ทำให้สองประเทศตัดสินใจลงนามข้อตกลงเพื่อสันติภาพร่วมกันกว่า 20 ฉบับ ใจความสำคัญของสนธิสัญญาคือ ยุติการโจมตี การออกคำสั่งหยุดยิง แต่กลายเป็นว่ารัสเซียได้ละเมิดข้อตกลงหลายครั้ง ตามรายงานขององค์การว่าด้วยความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป (Organization for Security and Co-operation in Europe: OSCE) เปิดเผยว่า ตั้งแต่ปี 2015 มีการละเมิดข้อบังคับหยุดยิงประมาณ 100,000 ครั้ง และช่วงปลายปี 2021 รัสเซียยังเพิ่มจำนวนทหาร รถถัง รถหุ้มเกราะ รวมแล้วกว่าแสนนาย ประจำการกองทัพห่างจากยูเครนเพียง 40 กิโลเมตรเท่านั้น เพื่อกดดันไม่ให้ยูเครนเข้าเป็นสมาชิกนาโต

 

หรือหนทางสู่สันติในยุคใหม่คือการกดดันทางทหาร และการทูตแบบตะโกนใส่โทรโข่ง?

วันที่ 31 มกราคม 2022 เกิดการประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) ที่ถูกจัดขึ้นตามคำเรียกร้องของสหรัฐฯ ที่ระบุว่ารัสเซียกำลังคุกคามสันติภาพและความมั่นคงระดับนานาชาติ ก่อนทูตของทั้งสองประเทศจะโต้เถียงกันกลางที่ประชุม ต่างคนต่างโทษว่าอีกฝ่ายเป็นผู้ยั่วยุและทำให้สถานการณ์ต้องเดินมาถึงจุดนี้ โดย วาสซิลีย์ เนเบนเซีย (Vasily Nebenzya) เอกอัครราชทูตรัสเซีย ยืนยันว่าสหรัฐฯ กล่าวอ้างโดยไม่มีหลักฐานว่ารัสเซียกำลังรุกรานยูเครน และชาวยูเครนกำลังถูกชาติตะวันตกล้างสมองให้หวาดกลัวรัสเซียซึ่งเป็นเพื่อนบ้านที่ดีมาโดยตลอด

ลินดา โทมัส-กรีนฟิลด์ (Linda Thomas-Greenfield) เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำยูเอ็น พูดในวงประชุมว่า รัสเซียกำลังเตรียมการรุกรานชาติอื่น เห็นได้จากการเตรียมกองกำลังครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่ยุโรปเคยพบเห็นในรอบหลายทศวรรษ รวมถึงความพยายามยั่วยุให้เกิดความขัดแย้งอย่างการกดดันชาติอื่นด้วยกำลังทหาร สิ่งที่เกิดขึ้นในตอนนี้ไม่ได้เกิดจากสหรัฐฯ หรือประเทศสมาชิกนาโต แต่เป็นเพราะการระดมกองกำลังทหารของรัสเซียเองต่างหาก

นิโกลาส์ เดอ ริวิแยร์ (Nicolas de Rivière) เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำยูเอ็น แสดงความคิดเห็นในทิศทางเดียวกับสหรัฐฯ โดยเขามองว่าการเพิ่มกำลังทหารของรัสเซียเข้าข่ายคุกคามชาติอื่น และถ้ารัสเซียไม่เคารพกฎหมายระหว่างประเทศ ละเมิดอธิปไตยของยูเครน ก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องรับผลลัพธ์จากสิ่งที่ตัวเองทำ เพราะทุกการกระทำมีราคาที่ต้องจ่าย

ประเทศสมาชิกนาโตหลายแห่งเริ่มแสดงจุดยืนหนักแน่นมากขึ้น นายกรัฐมนตรีอังกฤษ บอริส จอห์นสัน (Boris Johnson) เดินทางเยือนกรุงเคียฟ เมืองหลวงของยูเครน เพื่อหารือกับประธานาธิบดียูเครน โวโลดีมีร์ เซเลนสกี (Volodymyr Zelensky) และประกาศสนับสนุนทางการเงินเป็นจำนวน 8 ล้านปอนด์ (ประมาณ 3,900 ล้านบาท) ก่อนให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า หากรัฐบาลยูเครนถูกรุกราน พวกเขาจะต่อสู้อย่างเต็มกำลัง จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าประธานาธิบดีรัสเซียจะยอมถอนกำลังทหารและหันมาเจรจาทางการทูตแทน

“ประเทศประชาธิปไตยในยุโรปทุกแห่ง มีสิทธิที่จะปรารถนาเข้าเป็นสมาชิกนาโต”

– บอริส จอห์นสัน

ส่วน จาง จวิน (Zhang Jun) เอกอัครราชทูตจีนประจำยูเอ็น ยังคงไม่แสดงท่าทีที่ชัดเจนว่าเลือกข้างใดข้างหนึ่ง และกล่าวเตือนเหล่านักการทูตและผู้นำประเทศทั้งหลายว่า “สิ่งที่จำเป็นมากที่สุดในเวลานี้คือการพูดคุยแบบเงียบๆ ไม่ใช่การทูตแบบตะโกนใส่เครื่องขยายเสียง”

หากวิเคราะห์จากความเคลื่อนไหวของหลายชาติที่เกี่ยวข้อง การกดดันของสองฝั่งเริ่มชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ เห็นได้จากการที่สหรัฐฯ ส่งอาวุธไปยูเครนสองครั้งรวมแล้วกว่า 90 ตัน หลังจากนั้นไม่นาน สหรัฐฯ แถลงข่าวว่าจะส่งทหาร 2,000 นาย จากรัฐนอร์ทแคโรไลนา มุ่งหน้าไปประจำการยังโปแลนด์และเยอรมนี และจะส่งทหาร 1,000 นายไปโรมาเนีย รวมถึงยกระดับการเตือนการท่องเที่ยวเป็นระดับ 4 ซึ่งเป็นระดับสูงสุด สั่งห้ามประชาชนในประเทศเดินทางไปยังยูเครน นอกจากนี้ สหรัฐฯ และอังกฤษยังมีคำสั่งให้นักการทูตของตัวเองเดินทางออกจากกรุงเคียฟแล้ว  

ขณะที่กำลังทหารของรัสเซียยังคงจับตาดูความเคลื่อนไหวในยูเครนอย่างใกล้ชิด ทหารรัสเซียกระจายตัวประจำการทั้งเขตชายแดนรัสเซีย-ยูเครน นอกจากนี้ยังมีการส่งกำลังทหารไปยังประเทศเบลารุส เพื่อซ้อมรบร่วมกัน กรณีนี้สร้างความตึงเครียดแก่ยูเครนพอสมควร เนื่องจากพื้นที่ฝั่งตะวันออกของประเทศมีอาณาเขตติดกับรัสเซีย ส่วนทางตอนเหนือมีอาณาเขตติดกับเบรารุส หากประเทศเพื่อนบ้านทั้งสองซ้อมรบร่วมกัน จะเกิดการล้อมกรอบทางทหารแก่ยูเครนอย่างแน่นอน  

 

แถลงการณ์ที่ขัดแย้งกันทุกประการของสหรัฐฯ และรัสเซีย

ในตอนนี้รัสเซียยังคงปฏิเสธข้อกล่าวหาของชาติตะวันตกอย่างหนักแน่น เซอร์เก ลาฟรอฟ (Sergey Lavrov) รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศรัสเซีย ยืนยันว่าไม่ได้พยายามเข้ายึดครองยูเครน เพียงแค่เฝ้าระวังในพื้นที่ชายแดนของตัวเองเท่านั้น ก่อนเอ่ยถึงประเด็นหลักที่ทำให้เกิดความขัดแย้งว่า รัสเซียต้องการ ‘ข้อตกลงอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร’ ว่านาโตจะไม่รับยูเครนเข้าเป็นสมาชิก และยกเลิกข้อตกลงปี 2008 ที่นาโตเคยทำไว้กับยูเครนและจอร์เจีย ในการให้คำมั่นสัญญาว่าในอนาคตทั้งสองจะได้รับการยอมรับเข้าเป็นสมาชิกนาโต

ประเด็นนาโตกลายเป็นเรื่องใหญ่กว่าที่คิด ยิ่งยูเครนแสดงท่าทีว่าสนใจจะเข้าร่วมนาโตมากเท่าไร ความตึงเครียดยิ่งเพิ่มสูงขึ้นเท่านั้น เนื่องจากข้อกำหนดในสนธิสัญญานาโตระบุว่า หากประเทศพันธมิตรนาโตถูกรุกรานหรือโจมตีโดยประเทศนอกกลุ่มสมาชิก ประเทศพันธมิตรทั้งหมดต้องยื่นมือเข้าปกป้อง

ไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐบาลสหรัฐฯ ยื่นข้อเสนอพร้อมหารือต่อมาตรการควบคุมอาวุธร่วมกับรัสเซีย โดย แอนโทนี บลิงเคน (Antony Blinken) รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุว่าได้พูดคุยกับ เซอร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศรัสเซียเพื่อลดความตึงเครียดแล้ว

สหรัฐฯ เรียกร้องให้รัสเซียถอนทหารออกจากพื้นที่ชายแดนทันที และยินดีที่จะให้สิทธิตรวจสอบว่าสหรัฐฯ ไม่ได้นำโทมาฮอว์ก (BGM-109 Tomahawk) ขีปนาวุธนำวิถีระยะไกล ไปประจำการที่ฐานนาโตในประเทศโรมาเนียและโปแลนด์ และรัสเซียจะต้องแบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับขีปนาวุธที่ประจำการอยู่ในฐานทัพด้วย แต่รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศรัสเซียยังไม่มีท่าทีตอบรับข้อเสนอดังกล่าว และกล่าวเพียงแค่ว่า ประเทศตะวันตกต้องยึดมั่นในข้อตกลงปี 2002 ที่ทุกชาติจะต้องไม่เสริมสร้างความมั่นคงทางทหารเพื่อคุกคามชาติอื่น

ท่ามกลางสถานการณ์ไม่สู้ดี วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2022 ประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดีมีร์ ปูติน (Vladimir Putin) ออกแถลงการณ์ถึงความขัดแย้งในยูเครน หลังจากที่เขาเงียบหายไปนานกว่าหนึ่งเดือน ระบุว่า อยากให้การเจรจาทางการทูตดำเนินต่อไป ตอนนี้ยูเครนเป็นแค่เครื่องมือที่สหรัฐฯ จะดึงรัสเซียเข้าสู่ความขัดแย้ง สหรัฐฯ ต้องการให้ทหารสองฝ่ายเผชิญหน้ากันในสมรภูมิ และเป็นชาติที่เพิกเฉยต่อความมั่นคงของยูเครน เพราะภารกิจหลักของสหรัฐฯ คือการหาเหตุผลคว่ำบาตรรัสเซียอีกครั้ง มีเจตนาขัดขวางการพัฒนาด้านความมั่นคงทางทหารและเทคโนโลยีของรัสเซีย

ประธานาธิบดีปูตินกำลังศึกษาท่าทีของสหรัฐฯ และนาโต โดยระบุว่า “พวกเขาเพิกเฉยต่อความกังวลของรัสเซียที่เคยขอให้รับประกันความมั่นคงที่มีผลผูกพันทางกฎหมาย ห้ามนาโตขยายประเทศสมาชิกในยุโรปตะวันออก และคำขอให้ถอนอาวุธออกจากพื้นที่ใกล้พรมแดนรัสเซีย” และทิ้งท้ายไว้ว่า หากยูเครนเข้าเป็นสมาชิกนาโตเมื่อไร เมื่อนั้นสมาชิกอื่นๆ จะถูกลากมาทำสงครามกับรัสเซียอย่างเลี่ยงไม่ได้

การแถลงข่าวโยนกันไปมาของสองประเทศสร้างความสับสนแก่ประชาคมโลก แม้ประธานาธิบดีปูตินจะออกมาแถลงข่าวว่าต้องการสานสัมพันธ์ทางการทูต เรียกร้องให้สหรัฐฯ รับฟัง แต่รัฐบาลสหรัฐฯ กลับกล่าวว่า รัสเซียไม่ได้ตอบสนองข้อเสนอทางการทูตที่ยื่นไปเลยแม้แต่น้อย จนทำให้ อเล็กซานเดอร์ กรุชโค (Alexander Grushko) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย ต้องรีบออกมาปฏิเสธข่าวดังกล่าวว่า “ไม่เป็นความจริง”

สถานการณ์ยืดเยื้อนี้จะส่งผลกระทบต่อทั่วโลกทีละน้อย ทั้งความผันผวนในตลาดการลงทุน ราคาอาหารและพลังงานที่กำลังปรับตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ยูเครนเป็นประเทศที่ส่งออกพืชผลการเกษตรที่สำคัญอันดับต้นๆ ของโลก จากการคาดการณ์ของนักวิชาการระบุว่า ระหว่างปี 2021-2022 ยูเครนส่งออกข้าวโพดเป็นอันดับ 3 ของโลก ส่งออกข้าวสาลีเป็นอันดับ 4 ของโลก วัดจากตัวเลขในปี 2020 ที่ประมาณการว่ายูเครนส่งออกข้าวสาลีไม่น้อยกว่า 18 ล้านเมตริกตัน จากที่เก็บเกี่ยวได้ทั้งประเทศราว 24 ล้านตัน และไม่ได้มีลูกค้าหลักแค่ยุโรปเท่านั้น แต่ยังรวมถึงจีนกับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียและแอฟริกา ความตึงเครียดทางการเมืองจะทำให้สินค้าเกษตรมีราคาเพิ่มสูง

ในตอนนี้การใช้พลังงานต่างๆ เพื่อทดสอบอาวุธเริ่มเกิดขึ้นบ่อยครั้งขึ้น มีการใช้เรือ รถบรรทุก เครื่องบินบรรทุกสินค้าและอาวุธ เดินทางไปทั่วยุโรป รวมถึงอุปสรรคด้านการส่งออกสินค้าเกษตรในยูเครน จะทำให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวขึ้นถึงระดับ 150 ดอลลาร์ฯ ต่อบาร์เรล และเป็นส่วนสำคัญทำให้เกิดเงินเฟ้อทั่วโลก ไม่เพียงเท่านั้น วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2022 ตลาดหุ้นในเอเชียเกิดความผันผวนตั้งแต่เช้าตรู่ ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่นปิดภาคเช้าที่ 27,330.96 จุด ลดลง 202.64 จุด

สิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้ แสดงให้เห็นว่าปัญหาในยูเครนอาจไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป

 

อ่านความขัดแย้งของรัสเซียและยูเครนเพิ่มเติมได้ทาง ความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน 2: เมื่อต่างฝ่ายยืนยันจะ ‘สู้เพื่อปกป้องประเทศ’ 

 

อ้างอิง

https://www.reuters.com/world/europe/ukraine-announces-plan-boost-army-foreign-leaders-rally-2022-02-01/?taid=61f9d08e2bf414000112cf02&utm_campaign=trueAnthem:+Trending+Content&utm_medium=trueAnthem&utm_source=twitter

https://www.aljazeera.com/news/2022/1/30/russia-ukraine-crisis-uk-sanctions-liveblog

https://www.theguardian.com/world/2022/jan/31/russia-ukraine-united-nations-security-council

https://www.bbc.com/news/world-europe-60203208

https://www.bbc.com/news/world-europe-60238869

Tags: , , , , , , , ,