“ผลประโยชน์และความมั่นคงของรัสเซีย ถือเป็นสิ่งที่ไม่สามารถต่อรองได้”

ประโยคที่ออกจากปากของประธานาธิบดีปูติน กลายเป็นอีกหนึ่งคำขวัญที่ถูกพูดถึงมากที่สุดในช่วงเวลานี้ เพราะดูเหมือนว่าการเจรจาทางการทูตอาจจะใช้ไม่ได้ผลไปอีกพักใหญ่ หลังรัฐบาลรัสเซียอนุมัติให้ประธานาธิบดีแห่งรัสเซียออกคำสั่งปฏิบัติการพิเศษทางทหารรุกเข้าไปยังเขตแดนของยูเครน โดยให้เหตุผลว่าจำเป็นต้องทำเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน และความมั่นคงของรัสเซีย

หลัง The Momentum เคยเล่าถึงจุดเริ่มต้นของทุกอย่างไปแล้วใน ‘ความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน 1: เมื่อปูตินมองว่ายุโรปและสหรัฐฯ หลอกล่อสองชาติสู่สงครามใหญ่ ตอนนี้สถานการณ์มาไกลจากเดิมมาก ต่างฝ่ายต่างยืนยันจะปกป้องประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากรัสเซียรับรองเอกราชให้กับเมืองดอแนสก์และลูฮานสก์ ตามมาด้วยการโต้ตอบทางการทหารแทนการเจรจา ท่ามกลางประชาคมโลกที่แสดงความวิตกกังวลต่อสิ่งที่เกิดขึ้น 

เมื่อสงครามทำให้ทุกฝ่ายต้องเกิดความสูญเสีย ความขัดแย้งแผ่ขยายส่งผลกระทบต่อทุกพื้นที่บนโลก ทุกคนต่างได้รับผลจากเรื่องนี้ ไม่ว่าจะในทางตรงหรือทางอ้อมก็ตามที

 

การที่ปูตินมอบเอกราชให้ดอแนสก์และลูฮานสก์ ถือเป็นการละเมิดอธิปไตยต่างชาติหรือไม่?

วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2022 วลาดีมีร์ ปูติน (Vladimir Putin) ประธานาธิบดีรัสเซีย ประกาศรับรองว่าเมืองดอแนสก์และลูฮานสก์ ทางภาคตะวันออกของยูเครน ที่ถูกยึดครองโดยกลุ่มกบฏแบ่งแยกดินแดนมานานเกือบ 8 ปี เป็นเอกราชจากยูเครนแล้ว การรับรองครั้งนี้ถือเป็นหนึ่งในจุดเปลี่ยนทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญยิ่ง เพราะผลที่ตามมาสามารถเรียกได้ว่า ทำให้สถานการณ์ที่คุกรุ่น บานปลายง่ายดายยิ่งกว่าเดิม

ในคืนเดียวกัน คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) เรียกประชุมฉุกเฉินในเวลา 21.00 น. ตามเวลานิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา หลังจากหลายประเทศเรียกร้องให้เร่งหารือเกี่ยวกับการรับรองเอกราชของดอแนสก์และลูฮานสก์ ในการประชุมด่วนครั้งนี้มียูเครนที่ไม่ได้เป็นหนึ่งในชาติสมาชิก 15 ประเทศของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติร่วมด้วย อย่างไรก็ตาม แม้ยูเครนจะได้เข้าประชุม แต่รัสเซียซึ่งเป็นหนึ่งใน 5 สมาชิกถาวร มีสิทธิคัดค้าน (วีโต้) จึงทำให้การประชุมฉุกเฉินครั้งนี้ไม่ส่งผลอะไรเป็นรูปธรรมมากนัก

ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โจ ไบเดน (Joe Biden) และ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ บอริส จอห์นสัน (Boris Johnson) สั่งคว่ำบาตรนักการเมืองและรัฐมนตรีรัสเซียหลายคนทันที แม้ทั้งสองจะไม่ได้แถลงข่าวร่วมกัน แต่ใจความสำคัญนั้นมีความหมายเดียวกัน คือการกล่าวโทษว่าการกระทำของรัสเซียถือเป็นการละเมิดเอกราชและอธิปไตยของยูเครนอย่างชัดเจน ซ้ำยังละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ เป็นเรื่องที่ไม่สามารถยอมรับได้

ไม่นานหลังรัสเซียรับรองสถานภาพของดอแนสก์และลูฮานสก์ มีรายงานว่าราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ ราคาขายน้ำมันดิบสูงสุดในรอบ 7 ปี อ้างอิงจากสัญญาซื้อขายล่วงหน้าน้ำมันเบรนท์ (Brent) นักเศรษฐศาสตร์จำนวนมากเริ่มกังวลว่า จากเดิมที่ความขัดแย้งในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ก็ทำให้ราคาน้ำมันสูงขึ้นจากเดิมอยู่แล้ว เหตุการณ์ปัจจุบันที่ตึงเครียดกว่าเดิมทุกวัน จะยิ่งทำให้ห่วงโซ่อุปทานการผลิตน้ำมันปั่นป่วนไปทั่วโลก

 

รัสเซียยืนยันทำเพื่อสันติภาพ ส่วนยูเครนเตรียมพร้อมให้ผู้คนจับอาวุธลุกขึ้นสู้

หลังรัสเซียรับรองการแยกดินแดนของดอแนสก์และลูฮานสก์ได้ไม่นาน วุฒิสภาของรัสเซียลงมติเห็นชอบด้วยคะแนนเสียง 153 เสียง อนุมัติให้ประธานาธิบดีปูตินมีสิทธิสั่งการให้ใช้กำลังทหารนอกประเทศ เพื่อสนับสนุนกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในยูเครน ส่งทหารกับรถถังเข้าไปยัง ‘ดอนบาสก์’ ซึ่งเป็นพื้นที่บริเวณภาคตะวันออกของยูเครน โดยให้เหตุผลว่าจำเป็นต้องทำ ‘เพื่อรักษาสันติภาพ’

ขณะเดียวกัน ประธานาธิบดีปูตินยังคงย้ำเสมอว่า รัสเซียพร้อมเปิดกว้างสำหรับการเจรจา และยังคงเชื่อมั่นในการหาคำตอบทางการทูตร่วมกัน แต่ถึงอย่างนั้น ผลประโยชน์และความมั่นคงปลอดภัยของพลเมืองรัสเซีย เป็นสิ่งที่ไม่อาจต่อรองได้ เวลานี้มีทางออกเดียว มีคำตอบเดียวเท่านั้นที่จะยุติความขัดแย้ง คือรัฐบาลยูเครนต้องปฏิเสธการเข้าร่วมเป็นสมาชิกนาโต เพื่อรักษาไว้ซึ่งความเป็นกลาง

ทางด้านยูเครนก็มีความเคลื่อนไหวน่าสนใจไม่แพ้กัน เมื่อสภาแห่งชาติยูเครนมีมติเสียงข้างมาก อนุญาตให้ประชาชนในประเทศสามารถครอบครองอาวุธ และใช้อาวุธในการปกป้องตนเองและปกป้องประเทศ ก่อนจะประกาศคว่ำบาตรสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรัสเซียทั้งหมด 351 คน โดยทั้งหมดเป็นผู้ลงมติรับรองการเป็นเอกราชของดอแนสก์และลูฮานสก์

นักการเมืองยูเครนหลายคนยังเรียกร้องให้ โวโลดีมีร์ เซเลนสกี (Volodymyr Zelensky) ประธานาธิบดียูเครน ยุติความสัมพันธ์ทางการทูตกับรัฐบาลรัสเซีย และออกคำสั่งให้อุปทูตยูเครนประจำรัสเซียเดินทางกลับบ้านเกิดทันที ซึ่งกระทรวงต่างประเทศรัสเซียได้โต้ตอบข้อเสนอแนะดังกล่าวด้วยการออกคำสั่งให้ถอนนักการทูตออกจากยูเครนเช่นกัน

ท้ายที่สุด ประธานาธิบดีเซเลนสกีได้จัดแถลงข่าวแบบถ่ายทอดสด อ่านประกาศกฤษฎีกาให้พลเมืองชายชาวยูเครนที่มีอายุระหว่าง 18-60 ปี ซึ่งเคยผ่านคลาสฝึกทหาร มาขึ้นทะเบียนเป็นทหารกองหนุนโดยด่วน รวมถึงประกาศใช้สถานการณ์ฉุกเฉินเป็นเวลา 30 วัน อนุญาตให้รัฐบาลดำเนินมาตรการต่างๆ ตามความเหมาะสมเพื่อรับมือกับวิกฤตการณ์ใหญ่ที่เกิดขึ้น เช่น คำสั่งอนุญาตให้เจ้าหน้าที่สามารถเรียกตรวจรถยนต์ต้องสงสัย จำกัดการให้บริการขนส่งสาธารณะ ห้ามจัดการชุมนุม จำกัดเวลาออกนอกเคหสถาน

พลเมืองที่ถูกรัฐบาลเรียกตัวคือ ‘กองกำลังสำรอง’ ที่ได้รับการฝึกจากครูฝึกสอนทหาร พวกเขาจะผ่านการเรียนการสอนเกี่ยวกับการใช้อาวุธขั้นพื้นฐาน ช่วงแรกเริ่มจะให้ใช้ปืนจำลอง AK-47 ทำจากไม้อัด เมื่อระดับสูงขึ้นจะได้จับอาวุธจริง รวมถึงสอนเรื่องการหลบหลีก ซ่อนตัว การปฐมพยาบาล และการเดินทางไกลในพื้นที่รกร้างท่ามกลางหิมะ ประชาชนเหล่านี้จะทำหน้าที่เสริมทัพเมื่อประเทศถูกโจมตี

ในเวลาไล่เลี่ยกัน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ออกแถลงการณ์ว่าจะสนับสนุนอาวุธในการป้องกันประเทศให้กับยูเครน และจะจัดสรรวางกำลังทหารในยุโรปตะวันออกใหม่ทั้งหมด ส่วน แอนโทนี บลิงเคน (Antony Blinken) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ และ ฌอง-อีฟว์ เลอ ดริยอง (Jean-Yves Le Drian) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศฝรั่งเศส ประกาศยกเลิกนัดหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศรัสเซีย เนื่องจากเล็งเห็นว่าสถานการณ์ตอนนี้อยู่ในช่วงสุ่มเสี่ยงจะเกิดสงคราม ประกอบกับรัฐบาลรัสเซียมีท่าทีปฏิเสธสัมพันธ์ทางการทูตทุกรูปแบบ

วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2022 ประธานาธิบดีเซเลนสกี ประกาศใช้กฎอัยการศึก สั่งปิดน่านฟ้า ห้ามเครื่องบินพาณิชย์เดินทางเข้า-ออก เป็นคำสั่งที่ออกมาหนึ่งวันก่อนเกิดเหตุการณ์ใหญ่ที่จะถูกจารึกบนหน้าประวัติศาสตร์สมัยใหม่

 

การประกาศโจมตีในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2022

วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2022 ประธานาธิบดีปูตินออกแถลงการณ์ผ่านโทรทัศน์ ระบุว่าตนได้อนุมัติปฏิบัติการพิเศษทางทหารบุกไปยังภูมิภาคดอนบาสก์ของยูเครน เรียกร้องให้ทหารยูเครนวางอาวุธและกลับบ้าน รัสเซียไม่มีแผนการจะครอบครองยูเครน แต่อยากให้ชาวยูเครนมีสิทธิเลือกว่าอยากให้ใครเป็นผู้บริหารประเทศ การกระทำของรัสเซียถือเป็นการป้องกันตนเองทั้งสิ้น

“ผมต้องกล่าวถึงกองทัพยูเครน ปู่ของคุณ พ่อของคุณ พี่ของคุณ ที่ได้ต่อสู้เพื่อป้องกันประเทศจากลัทธินาซี ตอนนี้พวกคุณจะต้องไม่ยอมให้นีโอนาซีเข้ายึดอำนาจในเคียฟ พวกคุณสาบานจะปกป้องประชาชน ไม่ใช่ปกป้องรัฐบาลทหารที่ทำร้ายประชาชน อย่าทำตามคำสั่งอาชญากร ผมขอให้ทหารในกองทัพทุกคนวางอาวุธแล้วกลับบ้าน พวกคุณจะได้กลับบ้าน เหตุการณ์ครั้งนี้จะนองเลือดหรือไม่ ล้วนขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของรัฐบาลยูเครน”

ถ้อยแถลงครั้งประวัติศาสตร์แสดงให้เห็นบางอย่าง ประธานาธิบดีปูตินอ้างความชอบธรรมในการเข้าไปปกป้องเอกราช ชีวิต และทรัพย์สินของสองแคว้นที่เพิ่งแยกตัวจากยูเครน รวมถึงการยืนยันว่าจำเป็นต้องทำเพื่อป้องกันการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวรัสเซีย โดยรัสเซียมองว่ารัฐบาลยูเครนกลายเป็นหุ่นเชิดของชาติตะวันตก และการถูกควบคุมนี้ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของรัสเซีย

หลังแถลงการณ์เปิดฉากโจมตีของประธานาธิบดีปูตินจบลงได้ไม่นาน นักข่าวภาคสนามของสำนักข่าวหลายเจ้าที่ประจำการอยู่ในยูเครน ต่างรายงานข่าวตรงกันว่าได้ยินเสียงระเบิด เสียงปืน และเสียงไซเรนเตือนการโจมตีทางอากาศ บางสำนักข่าวรายงานว่ามีระเบิดในกรุงเคียฟ ก่อนที่กระทรวงมหาดไทยยูเครนจะยืนยันว่า รัสเซียยิงขีปนาวุธถล่มศูนย์อำนวยการทางทหารและสนามบินในกรุงเคียฟ คาร์คิฟ และดนีโปร สวนทางกับประกาศของผู้นำรัสเซียที่ระบุว่าจะโจมตีในเขตพื้นที่ฝั่งตะวันออกของยูเครน

เมื่อสถานการณ์ถึงจุดปะทุ ประธานาธิบดีเซเลนสกี ตัดสินใจออกแถลงการณ์อีกครั้ง คราวนี้เขาพูดทั้งภาษายูเครนและภาษารัสเซีย มีใจความสำคัญว่า เขาได้พยายามติดต่อไปยังประธานาธิบดีปูตินเพื่อเรียกร้องให้จัดการเจรจาฉุกเฉิน แต่ประธานาธิบดีปูตินไม่ตอบรับ และอนุมัติคำสั่งโจมตียูเครนแล้ว

แถลงการณ์ความยาวประมาณ 10 นาที ถูกเผยแพร่ทุกช่องทาง รวมถึงแอพพลิเคชันสำหรับสื่อสารสัญชาติรัสเซียอย่าง ‘เทเลแกรม’ เพราะประธานาธิบดียูเครนต้องการให้ชาวรัสเซียได้ร่วมชมคลิปดังกล่าว เพื่อตั้งคำถามร่วมกันว่า ชาวรัสเซียพร้อมก้าวสู่สงครามไปพร้อมกับประธานาธิบดีปูตินจริงหรือ

 

“เราจะสู้เพื่อประเทศของเรา”

วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2022 ดมิโทร คูเลบา (Dmytro Kuleba) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศยูเครนทวีตข้อความว่า เวลานี้รัสเซียเปิดฉากโจมตียูเครนอย่างเต็มรูปแบบแล้ว ขอเรียกร้องให้ประชาคมโลกช่วยกันหยุดยั้งการกระทำของรัสเซีย เพราะทุกคนต่างอยู่ในความเสี่ยงจากการรุกรานครั้งนี้ และระบุข้อเรียกร้อง 5 อย่างจากประชาคมโลก ได้แก่

1. คว่ำบาตรรัสเซีย รวมถึงตัดรัสเซียออกจากระบบการเงินโลกทันที

2. โดดเดี่ยวรัสเซียทุกรูปแบบ

3. ส่งอาวุธยุทโธปกรณ์ให้แก่ยูเครน

4. ให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ยูเครน

5. ให้ความช่วยเหลือด้านสิทธิมนุษยชน

แถลงการณ์เปิดฉากโจมตีของปูตินทำให้ผู้นำหลายประเทศมีปฏิกิริยาต่อต้านออกสื่ออย่างชัดเจน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ออกแถลงการณ์ประณามการกระทำดังกล่าว ชี้ว่าประธานาธิบดีปูตินเลือกทำสงครามโดยไตร่ตรองไว้ล่วงหน้า สหรัฐฯ และสหภาพยุโรปจะเตรียมรับมือกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และรัสเซียจะต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของตัวเอง

ไม่กี่ชั่วโมงถัดมา สหประชาชาติได้จัดประชุมฉุกเฉินคณะมนตรีความมั่นคง โดย อันโตนิโอ กูเตอร์เรส (Antonio Guterres) เลขาธิการสหประชาชาติ เรียกร้องให้รัสเซียและยูเครนยุติการดำเนินการใดๆ ที่ยั่วยุและคุกคาม ขอให้จัดการเจรจาเพื่อคลี่คลายความขัดแย้งทันที โดยสหประชาชาติมองว่า การส่งกองกำลังเข้ายูเครน ‘ไม่ถือเป็นการกระทำที่มุ่งหวังจะรักษาสันติภาพ’ ส่วนข้ออ้างที่ประธานาธิบดีปูตินกล่าวไว้ว่า เกิดการสังหารหมู่ชาวรัสเซียในภูมิภาคตะวันออก ก็ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด

ประธานาธิบดีเซเลนสกีออกแถลงการณ์อีกครั้ง ยืนยันว่ายูเครนจะต่อสู้อย่างสุดกำลังเพื่อป้องกันประเทศ ระบุว่าความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างยูเครนและรัสเซียได้เดินทางมาถึงจุดสิ้นสุดแล้ว ก่อนเรียกร้องให้กองกำลังทุกฝ่ายเตรียมรับมือกับสงคราม ระดมทหารและกองหนุนทั่วประเทศ รวมถึงออกคำสั่งห้ามชายอายุระหว่าง 18-60 ปี เดินทางออกนอกประเทศ จึงทำให้โซเชียลมีเดียได้เห็นภาพหรือคลิปวิดีโอที่พ่อกำลังร่ำลาลูกสาว ผู้ชายกำลังกอดกับคนรักอยู่ที่ท่ารถ เพราะพวกเขาต้องอยู่ในยูเครนต่อเพื่อต่อสู้กับกองทัพรัสเซีย

ทางด้าน เวียเชสลาฟ โวโลดิน (Vyacheslav Volodin) ประธานสภาผู้แทนราษฎรรัสเซีย แสดงความคิดเห็นว่า ทางเดียวที่จะทำให้ไม่เกิดสงครามในยุโรปคือการปลดอาวุธทหารในยูเครน ย้ำให้เห็นว่าการเจรจาเพื่อสันติภาพของสองประเทศอาจจะไม่เกิดขึ้นในวันสองวันนี้

ช่วงค่ำของวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2022 กระทรวงมหาดไทยยูเครนระบุว่า การโจมตีของรัสเซียทั้งทางบกและทางอากาศ โจมตีพร้อมกันหลายเมือง ทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายร้อยคน และกองทัพยูเครนได้ใช้ระบบปฏิบัติการปกป้องน่านฟ้ายิงสกัดขีปนาวุธของรัสเซียได้หลายลูก ยิงเครื่องบินรบตกไปแล้ว 5 ลำ และยิงเฮลิคอปเตอร์ได้อีก 1 ลำ ขณะเดียวกัน มีประชาชนจำนวนมากพยายามเดินทางออกนอกประเทศ หลีกเลี่ยงลูกหลงจากสงคราม โดยมีรายงานว่าชาวยูเครนส่วนใหญ่เลือกข้ามเขตแดนไปยังประเทศโปแลนด์ และมีผู้เสียชีวิตในวันแรกทั้งหมด 137 ราย

ล่าสุดมีรายงานว่า ประธานาธิบดีเซเลนสกีได้ตั้งคำถามต่อผู้นำชาติยุโรป 27 ชาติ ว่า ยูเครนจะเข้าร่วมเป็นสมาชิกนาโตได้หรือไม่ แต่ไม่มีใครตอบ และทางนาโตจะไม่ส่งทหารเข้าไปยังยูเครน แม้การรุกรานทางทหารของรัสเซียจะถือเป็นการละเมิดเอกราชครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ตาม เนื่องจากยูเครนไม่ได้เป็นสมาชิกของนาโต อย่างไรก็ตามจะดำเนินนโยบายป้องปราม ส่งกำลังเคลื่อนพลเร็วไปยังกลุ่มประเทศสมาชิกในยุโรปตะวันออกแทน

“อาจเพราะทุกคนหวาดกลัว แต่เราไม่ เราไม่กลัวอะไรทั้งนั้น เราไม่กลัวรัสเซีย เราไม่กลัวที่จะปกป้องประเทศ” – โวโลดีมีร์ เซเลนสกี

ช่วงสายของวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2022 กองกำลังของรัสเซียสามารถบุกประชิดกรุงเคียฟ เกิดการปะทะกันในกองทัพอากาศใกล้เมืองหลวง และตอนนี้รัสเซียสามารถยึดโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลได้แล้ว เมื่อผู้สื่อข่าวรอการแถลงข่าวของประธานาธิบดีปูติน มีการถามว่ารัสเซียจะใช้อาวุธนิวเคลียร์โจมตีสหรัฐอเมริกาหรือไม่ เขาตอบเพียงแค่ว่า “I have no idea”

หนึ่งวันหลังประธานาธิบดีปูตินประกาศโจมตี มีชาวรัสเซียจำนวนมากออกมาประท้วงการกระทำของรัฐบาลตัวเอง ทั้งในเมืองใหญ่อย่างเซนต์ปีเตอร์เบิร์ก หรือที่บริเวณจตุรัสแดงในกรุงมอสโก เมืองหลวงของรัสเซีย เนื่องจากครอบครัวชาวรัสเซียหลายคนมีญาติและคนรู้จักอยู่ที่ยูเครน ประชาชนส่วนมากไม่ต้องการสงคราม ก่อนถูกสลายการชุมนุม และมีประชาชนถูกจับกุมประมาณพันคน

“ต้องจับปูตินสิ ไม่ใช่จับพวกเรา!” หนึ่งในผู้ชุมนุมตะโกนขึ้น ก่อนถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวไป

 

ความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ไม่ใช่เรื่องไกลตัวสำหรับคนไทย

จุดเริ่มต้นของสงครามทำให้ราคาหุ้นทั่วโลกรวมถึงตลาดคริปโตฯ ร่วงหนัก เห็นได้จากตัวเลขตลาดหุ้นไทยช่วงเช้าก่อนปูตินประกาศปฏิบัติการพิเศษทางทหาร มีดัชนีอยู่ที่ 1,696.45 จุด แต่หลังจากจบแถลงการณ์ หุ้นไทยปรับตัดลดลงเรื่อยๆ ก่อนปิดตลาดช่วงเช้าที่ 1,669.44 จุด หรือลด 27.01 จุด ส่วนราคาบิตคอยน์อยู่ที่ 5,009.17 ดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 7.84 เปอร์เซ็นต์

อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระบุว่า ทั้งรัสเซียและยูเครนต่างเป็นคู่ค้าสำคัญของไทย ความขัดแย้งครั้งนี้จะส่งผลต่อราคาน้ำมันในไทยอย่างแน่นอน

ส่วนทองคำที่ถือเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีรายงานว่าเกิดการปรับราคาทองคำมากถึง 18 ครั้ง ส่วนสมาคมค้าทองคำในไทยได้รับปรับขึ้นราคาทองคำประมาณ 13 ครั้ง จากเวลา 09.30 น. ทองคำแท่งรับซื้อบาทละ 29,150 ขายออกบาทละ 29,250 บาท และทองรูปพรรณรับซื้อบาทละ 28,622.08 ขายออกบาทละ 29,750 บาท ต่อมาเวลา 15.05 น. ในการขยับขึ้นราคาครั้งที่ 13 ทองคำแท่งรับซื้อบาทละ 29,650 ขายออกบาทละ 29,750 บาท และทองรูปพรรณรับซื้อบาทละ 29,122.36 ขายออกบาทละ 30,250 บาท

นอกจากนี้ ยูเครนเป็นประเทศที่ส่งออกพืชผลการเกษตรที่สำคัญอันดับต้นๆ ของโลก ความขัดแย้งครั้งนี้จะทำให้การส่งออกผลิตผลหยุดชะงัก ราคาอาหารสัตว์ทั่วโลกรวมถึงไทยจะเพิ่มสูงขึ้น จึงทำให้อนุมานได้ว่า อีกไม่นานราคาสินค้าบางประเภทในตลาดจะแพงขึ้น ขณะที่รายได้รวมของประชาชนคงตัวอยู่เท่าเดิม เพราะไทยจะได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม

ในแง่ความคิดเห็นของนายกรัฐมนตรีไทย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ระบุว่า ได้กำหนดแผนอพยพคนไทยไว้แล้ว หากเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินจะใช้เครื่องบินเช่าเหมาลำ แต่หากมีการปิดน่านฟ้าจะจัดรถรับคนไทยข้ามแดนไปยัง กรุงวอร์ซอ ประเทศโปแลนด์ ซึ่งยูเครนสั่งปิดน่านฟ้าไปตั้งแต่วันที่ 23 กุมภาพันธ์ แล้ว  

 

อ้างอิง

https://themomentum.co/report-analysis-russia-ukraine-2022/

https://time.com/6150679/russia-ukraine-war/?utm_source=twitter&utm_medium=social&utm_campaign=editorial&utm_term=world_&linkId=153626457

https://www.dailymail.co.uk/news/article-10545389/BREAKING-NEWS-Explosions-heard-Ukraine-port-city-Mariupol.html

https://twitter.com/RT_com/status/1496821150541885440

Tags: , , , , , , , , ,