วันนี้ (24 ตุลาคม 2567) แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จัดงานเสวนาพิเศษในวาระการจัดทำรายงานคู่ขนาน (Shadow Report) ของภาคประชาสังคม ตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือลงโทษที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี ในการการประชุมคณะกรรมการต่อต้านการทรมานแห่งสหประชาชาติสมัยที่ 81 ณ นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
ตอนหนึ่งระหว่างการเสวนา อัญชนา หีมมิหน๊ะ ตัวแทนจากกลุ่มด้วยใจ เล่าชุดข้อมูลความรุนแรงทรมานที่เกิดขึ้นกับกลุ่มผู้ถูกคุมตัวใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จากกฎหมายพิเศษ ทั้งพระราชบัญญัติกฎอัยการศึกและพระราชกำหนดบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐสามารถเข้าควบคุมตัวผู้ต้องหาได้ 37 วัน ว่าข้อเรียกร้องกรณีถูกกระทำทรมานกว่า 119 เรื่อง ตั้งแต่ปี 2555 มาจนถึงปัจจุบัน
อัญชนาระบุว่า รูปแบบการทรมานผู้ถูกคุมตัวส่วนใหญ่มีทั้งการทรมานทางร่างกายและจิตใจ ในด้านร่างกายสามารถแบ่งออกเป็นหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการทำให้ขาดอากาศหายใจ หรือสร้างความหวาดกลัวผ่านการให้ผู้ถูกคุมตัวเปลือยกายแช่ในถังน้ำแข็ง และติดตั้งสายไฟที่ผู้ถูกควบคุมตัวไม่ทราบว่ามีการปล่อยกระแสไฟหรือไม่
ขณะที่การทรมานด้านจิตใจ ตัวแทนจากกลุ่มด้วยเผยว่า การทรมานผู้ถูกคุมตัวมีพัฒนาการมากขึ้น ภายหลังประเทศไทยมีการประกาศบังคับใช้ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ไม่ว่าจะเป็นการบังคับไม่ให้นอนจนทำให้สูญเสียสติ หรือการล่วงละเมิดทางเพศต่อผู้ถูกคุมตัว
หรือหากถ้าไม่สามารถทรมานได้ก็จะถูกสังหาร อัญชนาระบุว่า ภายหลังปี 2562 มีผู้ที่ถูกวิสามัญฆาตกรรมแล้วกว่า 100 ราย เพราะไม่สามารถนำตัวผู้ถูกคุมตัวด้วยวิธีการที่เจ้าหน้าที่ทำได้ โดยอาศัยปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เหตุการณ์นี้คือ ‘กฎหมายพิเศษ’ ที่ล่าสุดได้มีการต่ออายุ พ.ร.ก.บริหารสถานการณ์ฉุกเฉินครั้งที่ 78 เมื่อวันที่ 19 ตุลาคมที่ผ่านมา
“ถามว่าการต่ออายุ ตัวชี้วัดคืออะไรที่เจ้าหน้าที่ใช้ต่อ พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉิน โดยการอ้างผลการศึกษาของสถานบันการศึกษา แต่ไม่เคยเปิดดผยต่อสาธารณะ และทุกครั้งที่จะต่ออายุก็จะมีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้น ทำให้มีความชอบธรรมในการต่ออายุ” อัญชนาตั้งข้อสังเกต
ขณะเดียวกัน อูเซ็ง ดอเลาะ ทนายความประจำศูนย์ทนายมุสลิมประจำจังหวัดนราธิวาส ชวนมองวัตถุประสงค์ของกฎหมายพิเศษที่บังคับใช้ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า เดิมทีแล้วกฎหมายพิเศษจะใช้คลี่คลายหรือแก้ไขปัญหาความรุนแรงในพื้นที่ แต่ความเป็นจริงนั้นเป็นเพียงกฎหมายที่มอบอำนาจให้เจ้าหน้าที่ในการกระทำความรุนแรง
ซึ่งอูเซ็งยังระบุไปในทิศทางเดียวกับอัญชนาว่า รูปแบบการทรมานนั้นได้มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบไปจากอดีตที่มีการทรมานทางจิตใจมากขึ้น เช่นบังคับไม่ให้นอนหลับ ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ถูกคุมตัวมักไม่ทราบว่าเป็นการทรมาน
อูเซ็งยังกล่าวถึง ‘คดีตากใบ’ ว่า เป็นหลักฐานชั้นดีของวัฒนธรรม ‘พ้นผิดลอยนวล’ ของรัฐที่ ณ ปัจจุบันยังไม่สามารถนำตัวผู้ต้องหาในคดีมาดำเนินการได้ ซึ่งคดีจะสิ้นสุดภายในวันที่ 25 ตุลาคม 2567 เวลา 23.59 น. และหลังจากเวลานั้นก็จะไม่สามารถเอาผิดได้
ทางทนายความประจำศูนย์ทนายมุสลิมประจำจังหวัดนราธิวาส เผยว่า ณ ขณะนี้ ทางกลุ่มทนายกำลังดำเนินการเตรียมสำนวนดำเนินคดีกับสถานีตำรวจภูธรหนองจิกและตากใบ จังหวัดปัตตานี ว่าสามารถเอาผิดต่อผู้เกี่ยวข้องต่อได้หรือไม่
ขณะที่ สัณหวรรณ ศรีสด คณะกรรมการนิติศาสตร์สากล (ICJ) เสนอข้อเสนอแนะที่เกี่ยวข้องกับกรณีชายแดนภาคใต้ในเวทีเสวนาครั้งนี้ไว้ทั้งหมด 4 ข้อ ดังนี้
-
แก้ไขหรือยกเลิกกฎหมายพิเศษ ทั้ง พ.ร.บ.กฎอัยการศึก, พ.ร.ก.บริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน และ พ.ร.บ.ความมั่นคงในประเทศ ทั้งนี้ถ้ามีการต่ออายุต้องเป็นไปตามความจำเป็นอย่างเคร่งครัด
-
ยุติการควบคุมตัวภายใต้กฎหมายพิเศษในค่ายทหาร โดยไม่มีการนำตัวผู้ถูกคุมตัวไปศาล ไม่ได้รับอนุญาตให้พบทนาย ไม่ได้พบญาติอย่างอิสระ ไม่ถูกตรวจสอบร่างกายโดยแพทย์อิสระ และไม่ให้นำคำสารภาพในขั้นตอนนี้ไปใช้ในการดำเนินคดี
-
ให้มีการสอบสวนกรณีที่มีการกล่าวหาว่า มีการทรมาน การปฏิบัติที่โหดร้าย และกรณีที่เสียชีวิตในระหว่างการควบคุมตัว และนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ
-
สอบสวนกรณีการที่นักปกป้องสิทธิมนุษยชนเสียชีวิต อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นอิสระ และยุติการคุกคามนักปกป้องสิทธิมนุษยชน