เป็นความจริงที่ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ‘สิทธิมนุษยชน’ ไม่ว่าเป็นสิทธิการชุมนุมเพื่อเรียกร้อง สิทธิสตรีและความหลากหลายทางเพศ สิทธิแรงงาน หรือสิทธิเด็ก เป็นประเด็นสำคัญที่ทั่วโลกให้ความสำคัญและพยายามผลักดันให้เกิดขึ้น

แต่อย่างไรก็ตาม ปีที่ผ่านมาดูเหมือนความก้าวหน้าทางสิทธิมนุษยชนในหลายประเทศ จะถูกสั่นคลอนจากประเด็นความขัดแย้งระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ความรุนแรงในรัสเซีย-ยูเครน ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ความรุนแรงในตะวันออกกลาง หรือแม้แต่ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในภูมิภาคอาเซียน จนทำให้ภาคประชาชนมีแนวโน้มที่จะตกเป็นเหยื่อจากความรุนแรงที่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก

วันนี้ (24 เมษายน 2567) องค์กรที่ทำงานเพื่อคุ้มครองสิทธิมนุษยชนอย่าง Amnesty Internation Thailand ได้ออกรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนทั่วโลกประจำปี 2566/67 ออกมา โดยมี ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย, พุทธณี กางกั้น ประธานกรรมการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย, หมิง ยู่ ฮา รองผู้อำนวยการ ด้านรณรงค์ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล และชนาธิป ตติยการุณวงศ์ นักวิจัยระดับภูมิภาคประจำประเทศไทย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เป็นผู้เข้าร่วมงานเสวนา

The Momentum สรุปสาระสำคัญไว้ดังนี้

(1)

พุทธณีระบุให้ฟังถึง 5 ประเด็นหลักที่เป็นข้อท้าทายต่อสิทธิมนุษยชนทั่วโลกในปี 2567 จนทำให้แนวโน้มพัฒนาการสิทธิมนุษยชนในไทยติดลบมากขึ้นเรื่อยๆ ได้แก่

1. การปฏิบัติต่อพลเรือนในระหว่างการขัดแย้งกันด้วยอาวุธ ที่ละเมิดกฎหมายสงครามในหลายพื้นที่กองกำลังติดอาวุธใช้ปฏิบัติการโจมตีทางอากาศ สร้างผลกระทบเป็นวงกว้าง ส่งผลให้ประชาชนบาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก เช่น กองกำลังของเมียนมาก็เลือกที่จะโจมตีโดยไม่เลือกเป้าหมาย จนทำให้ประชาชนกว่า 1,000 รายเสียชีวิต เช่นเดียวกันกับกองทัพของอิสราเอลที่ได้สังหารชาวปาเลสไตน์กว่า 2.16 หมื่นราย อีกทั้งยังทิ้งระเบิดใส่ค่ายผู้ลี้ภัย โรงพยาบาล และอาคารที่อยู่อาศัย จนเป็นเหตุให้มีผู้ลี้ภัยกว่า 1.9 ล้านคน

2. การเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติและชาติพันธุ์ ยังปรากฏในมาตรการตอบโต้ความขัดแย้ง เกิดสภาวะ ‘เลือกปฏิบัติ’ หลายประเทศ โดยออกคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายจำกัดสิทธิการชุมนุมประท้วง เพื่อแสดงความเป็นเอกภาพกับชาวปาเลสไตน์ ไม่ว่าจะเป็นออสเตรีย, ฝรั่งเศส, เยอรมนี และสวิตเซอร์แลนด์ โดยอ้างเหตุว่า อาจเกิดความเสี่ยงต่อความมั่นคงของรัฐ

3. การตอบโต้ความยุติธรรมทางเพศ ที่ในหลายประเทศมีพัฒนาการในทางที่ดีมากขึ้น เช่น ญี่ปุ่นมีการคุ้มครองด้านกฎหมายเพื่อป้องกันและแก้ปัญหาความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ รวมทั้งความรุนแรงในครอบครัว หรือในไต้หวันและเม็กซิโก ที่ให้การรองรับการสมรสในเพศเดียวกันได้ อย่างไรก็ตามในหลายประเทศก็ยังมีการกีดกันทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์อยู่ เช่น กว่า 15 รัฐในสหรัฐอเมริกามีการดำเนินการเพื่อห้ามการทำแท้งอย่างสิ้นเชิง และในฝรั่งเศสห้ามไม่ให้ผู้หญิงและเด็กหญิงใส่เสื้อผ้าที่เป็นสัญลักษณ์ทางศาสนาในโรงเรียนและระหว่างการเล่นกีฬา

4. ผลกระทบต่อวิกฤตเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม จากการรายงานของสหประชาชาติ (United Nations: UN) 2566 เผยว่า จากประมาณ 140 ประเทศมีการดำเนินการตามเป้าหมายพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) เพียง 12% เท่านั้น ทำให้ประชากรกว่า 575 ล้านคน มีความยากจนสุดโต่งภายในปี 2573

5. ภัยคุกคามจากเทคโนโลยีใหม่และที่มีอยู่ในปัจจุบัน กล่าวคือมีหลายประเทศล้มเหลวในการบังคับใช้กฎหมายกำกับสปายแวร์ (Spyware) จนทำให้เกิดการคุมคามความเป็นส่วนตัว นอกจากนั้นปัญหาอัลกอริทึมของแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ ยังนำเสนอคอนเทนต์ที่ทำให้เกิดอันตรายต่อผู้ใช้งาน เช่น ปัญหาโรคซึมเศร้าและการฆ่าตัวตายในหมู่เยาวชน

(2)

สำหรับรายงานความคืบหน้าสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็มีแนวโน้มที่จะถดถอยเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นประเทศลาว, เมียนมา หรือกัมพูชา

โดยประเทศลาว กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ระบุว่า หนี้สินของประเทศอยู่ที่ 121.7% ของขนาดเศรษฐกิจในปี 2566 ถูกจัดว่าเป็นประเทศที่ประสบปัญหาหนี้ ส่งผลให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อ ค่าเงินอ่อนค่า และสินค้าอุปโภคบริโภคในประเทศเพิ่มสูงขึ้น 

นอกจากปัญหาด้านเศรษฐกิจแล้ว ลาวก็ยังมีปัญหาในรูปแบบของการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรงอีกด้วย กล่าวคือมีเหตุการณ์ที่นักสิทธิมนุษยชนวัย 25 ปีถูกยิงจนได้รับบาดเจ็บสาหัส ภายหลังที่วิพากย์วิจารณ์ถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และการเมืองภายในประเทศ อย่างไรก็ตาม ทางการลาวอ้างว่า เป็นเพียงความขัดแย้งเชิงชู้สาวหรือธุรกิจเท่านั้น

ด้านประเทศกัมพูชา ประชาชนกว่า 1 หมื่นครอบครัวถูกทางการรื้อถอนที่อยู่อาศัยออกจากนครวัด แหล่งมรดกโลก โดยอ้างว่าพวกเขาอยู่อย่างผิดกฎหมาย อย่างไรก็ดีผู้ที่ถูกย้ายหลายคนตกเป็นเป้าหมายในการข่มขู่และคุกคาม อีกทั้งยังไม่ได้รับการชดเชยอย่างเหมาะสมอีกด้วย 

ในด้านเสรีภาพการแสดงออกและเสรีภาพในการคบค้าสมาคม กัมพูชาก็ยังถูกมองว่ามีปัญหา เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สำนักข่าวเสียงประชาธิปไตย (Voice of Democracy: VOD) ถูกเพิกถอนใบอนุญาต ภายหลังการรายงานข่าวที่อาจเป็นการดูหมิ่นต่อ สมเด็จ ฮุน เซน นายกรัฐมนตรี ณ เวลานั้น หลังมีรายงานว่าเห็นชอบให้เงินช่วยเหลือกับตุรกี และในเดือนพฤษภาคมของปีที่แล้ว คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ของกัมพูชาได้เพิกถอนการรับสมัครเลือกตั้งของพรรคสงเคราะห์ชาติ (The Cambodian National Rescue Party) ในความผิดล้มล้างการปกครอง ส่งผลให้หัวหน้าพรรคถูกสั่งจำคุกเป็นเวลา 27 ปี

ขณะที่ประเทศเมียนมา ภายหลังการรัฐประหารของมิน อ่อง หลาย (Min Aung Hlaing) มีประชาชนกว่า 1,345 ราย เสียชีวิตจากการโจมตีทางอากาศและทางบกของกองทัพ และในวันที่ 11 เมษายน ที่ผ่านมากองทัพได้ทิ้งระเบิดใส่ประชาชนที่มาร่วมพิธีเปิดสำนักงานใหม่ของหน่วยงานท้องถิ่น ในเมืองกันบูลู ส่งผลให้พลเรือนกว่า 100 รายเสียชีวิต นับเป็นการโจมตีทางอากาศที่ร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่ง

จากข้อมูลของ OCHA ระบุว่ามีผู้พลัดถิ่นภายในประเทศแล้วกว่า 2.6 ล้านคน ผู้คนเหล่านั้นต้องใช้ชีวิตในสภาพที่ลำบาก ขาดแคลนข้าวของที่จำเป็น และเสี่ยงตกเป็นเหยื่อของการโจมตีทางอากาศอยู่ตลอดเวลา

(3)

มองย้อนกลับมาที่ประเทศไทย แม้ว่าจะได้รัฐบาลพลเรือน นำโดยพรรคเพื่อไทยและมี เศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรีแล้วนั้น ปิยนุชกล่าวว่า หลายสถานการณ์ในประเด็นสิทธิมนุษยชนก็ยังไม่ดีขึ้น ยังคงมีการปราบปรามการชุมนุม และยังมีเด็กที่ถูกดำเนินคดีอาญาอยู่

อิงตามข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุว่า มีบุคคลกว่า 1,938 รายที่ถูกดำเนินคดีจากการร่วมชุมนุมเมื่อปี 2563 และในปี 2565 มีหลายร้อยคนถูกดำเนินคดีตามกฎหมายอาญา มาตรา 112 อีกทั้งแกนนำคนสำคัญอย่าง อานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชน ยังถูกสั่งจำคุกเป็นเวลา 4 ปีหลังเรียกร้องให้มีการอภิปรายกับบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ และมีเด็กกว่า 286 คนถูกดำเนินคดีอาญานับตั้งแต่การชุมนุมปี 2563 มาจนถึงเดือนตุลาคม 2566 

ทั้งนี้ หากพิจารณาในแง่ของกฎหมายประเทศไทยก็ยังมีความก้าวหน้าของสิทธิมนุษชนให้เห็นอยู่ ไม่ว่าจะเป็นพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย และกฎหมายสมรสเท่าเทียม 

อย่างไรก็ตาม Amnesty International Thailand มีข้อเรียกร้องเรื่องสิทธิมนุษยชนถึงทางการไทยทั้งหมด 8 ประเด็น ดังต่อไปนี้

ประเด็นที่ 1 สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมประท้วงโดยสงบ – โดยยกเลิกการฟ้องร้องดำเนินคดีอาญาต่อบุคคลที่เข้าร่วมการชุมนุมโดยสงบ และสอบสวนเจ้าหน้าที่ใช้กำลังในการสลายการชุมนุม รวมไปถึงแก้ไขหรือยกเลิกข้อบทบัญญัติที่เป็นปัญหาในกฎหมายที่ใช้เพื่อปราบปรามประชาชน เช่น มาตรา 112, มาตรา 116 หรือพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์

ประเด็นที่ 2 สิทธิเด็ก – โดยให้รับประกันวิธีปฏิบัติการที่สอดคล้องกับการคุ้มครอง เคารพ และเติมเต็มสิทธิเด็ก เพื่อส่งเสริมความสามารถในการมีส่วนร่วมการชุมนุมสาธารณะ และรับประกันว่าเด็กจะได้รับการคุ้มครองเชิงรุกจากภัยอันตรายใดๆ จากการชุมนุม รวมไปถึงเยียวยากับกลุ่มเด็กที่ได้รับผลกระทบจากการใช้กำลังโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือการถูกคุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐ

ประเด็นที่ 3 นักปกป้องสิทธิมนุษยชน – ให้ดำเนินการสอบสวนกรณีที่เกี่ยวข้องกับการคุกคามทุกกรณีด้วยความเป็นธรรม และรับประกันสิทธิในการเข้าถึงการเยียวยา ความยุติธรรม และบังคับใช้หลักจรรยาบรรณว่าด้วยการสื่อสารสาธารณะของเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อรับประกันว่าเจ้าหน้าที่รัฐจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการคุกคามทางออนไลน์

ประเด็นที่ 4 สิทธิความเป็นส่วนตัว – ภาครัฐจะต้องดำเนินการตรวจสอบ กรณีที่มีการใช้เครื่องมือดิจิทัลสอดแนม ติดตาม โดยเฉพาะสปายแวร์ที่รุกล้ำความเป็นส่วนตัวสูงอย่าง เพกาซัส (Pegasus) และดำเนินการเชิงรุกเปิดเผยข้อมูลสัญญาระหว่างรัฐบาลและหน่วยงานต่างๆ ของรัฐทุกฉบับ

ประเด็นที่ 5 การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายอื่นๆ และการบังคับให้บุคคลสูญหาย – โดยสอบสวนทันทีต่อกรณีที่เกิดขึ้น โดยที่ภาระการพิสูจน์จะต้องไม่เป็นของผู้เสียหาย และรัฐจะต้องให้สัตยาบันรับรองพิธีสารเลือกรับของอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน และการกระทำอื่นๆ ที่โหดร้าย โดยปราศจากข้อสงวนใดๆ

ประเด็นที่ 6 สิทธิของผู้ลี้ภัยและผู้เข้าเมือง – โดยเข้าร่วมภาคีอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย พ.ศ. 2549 และพิธีสารเลือกรับ พ.ศ. 2510 และรับประกันว่าผู้ลี้ภัยจะไม่ถูกเนรเทศกลับหรือบังคับให้เดินทางกลับบ้านเกิด หากเผชิญการประหัตประหาร การทรมาน ความรุนแรง หรือการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรง

ประเด็นที่ 7 สิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศ – ยกระดับสิทธิมนุษยชนผ่านผ่านร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมอย่างเร่งด่วน

ประเด็นที่ 8 การลอยนวลพ้นผิด – ภาครัฐจะต้องรับประกันสิทธิการเยียวยาที่มีประสิทธิผล และผู้ที่ได้รับความเสียหายหรือเสียชีวิตจากเหตุการณ์ตากใบปี 2547 ให้เข้าถึงความยุติธรรม รวมไปถึงยุติการบังคับใช้กฎอัยการศึก กฎหมายรักษาความมั่นคงภายใน และพระราชกำหนดการบริหารราชการสถานการณ์ฉุกเฉิน ในสามจังหวัดชายแดนภายใต้

“เราเห็นการทำงานเชิงบวกของรัฐบาลไทย แต่เราก็อยากให้รัฐบาลยกระดับสิทธิมนุษยชนให้ทัดเทียมนานาประเทศมากขึ้น” ปิยนุชกล่าวทิ้งท้าย

Tags: , ,