วันนี้ (25 กรกฎาคม 2567) ที่อาคารรัฐสภา ชูศักดิ์ ศิรินิล ส.ส.พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม พร้อมด้วยนิกร จำนง เลขาธิการกรรมาธิการ จัดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนว่า กรณีที่ทางคณะกรรมาธิการมีมติรับรองรายงานการประชุม พร้อมนำเสนอต่อการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรเป็นที่เรียบร้อย
ชูศักดิ์กล่าวถึงข้อสรุปสำคัญที่จะถูกใส่ลงไปในรายงานของทางคณะกรรมาธิการฯ ไว้ 3 ประเด็น ดังต่อไปนี้
- ให้มีการนิรโทษกรรมคดีที่มีมูลเหตุทางการเมืองตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปัจจุบัน โดยการนิรโทษกรรมจะใช้รูปแบบของการตั้งคณะกรรมการมาพิจารณา โดยมีบัญชีแนบท้ายว่า คดีประเภทใดเข้าข่ายได้รับการนิรโทษกรรม
- คดีที่เป็นความผิดต่อชีวิต ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288 และมาตรา 289 ที่เป็นคดีละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรง จะไม่เข้าข่ายการได้รับการนิรโทษกรรม
- คดีที่มีความอ่อนไหวทางการเมือง อย่างคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 110 และมาตรา 112 ในรายงานจะมีการนำเสนอต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรว่า จะมีความเห็นเป็นอย่างไร โดยในรายงานจะประกอบไปด้วย 3 กลุ่มย่อย ดังต่อไปนี้
– กลุ่มแรก ‘ไม่ควรนิรโทษกรรม’ พร้อมทั้งแนบเหตุผลว่า เหตุใดจึงไม่ควรนิรโทษกรรม
– กลุ่มสอง ‘ควรนิรโทษกรรม’ พร้อมทั้งแนบเหตุผลว่า เหตุใดจึงควรนิรโทษกรรม
– กลุ่มสาม ‘ควรนิรโทษกรรมแบบมีเงื่อนไข’ เช่น ให้คณะกรรมการเป็นผู้พิจารณาว่า ผู้ต้องหา จำเลย มีเหตุจูงใจอย่างไร โดยจะมีการสอบถามเพิ่มเติม ในเหตุจูงใจและแถลงข้อเท็จจริงดังกล่าว หรือหากได้รับการนิรโทษกรรม จะต้องมีเงื่อนไขอื่นเพื่อป้องกันการกระทำผิดซ้ำ โดยคณะกรรมการจะเป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์นั้นๆ
ประธานคณะกรรมาธิการฯ ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ทาง กมธ.มีข้อสังเกตเพิ่มเติมอีกว่า การนิรโทษกรรมนั้นจะเป็นไปได้มากที่สุด รัฐบาลควรเป็นเจ้าภาพในการเร่งรัดให้เกิดการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เพื่อนำพาความปกติสุขคืนสู่สังคมต่อไป
สำหรับขั้นตอนถัดไปนิกรเผยว่า ในวันพรุ่งนี้ (26 กรกฎาคม 2567) กมธ.จะส่งรายงานทั้ง 3 ฉบับต่อ วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร และ ส.ส.ทั้ง 500 คน จะได้รับรายงานของ กมธ. หลังจากการจัดทำเป็นหนังสือคาดว่า ประมาณ 20 วัน เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาต่อไป
Tags: นิรโทษกรรม, ชูศักดิ์