วันนี้ (17 กันยายน 2024) แอมะซอน (Amazon) บริษัทอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่สัญชาติอเมริกัน ประกาศบังคับใช้นโยบาย ‘ทำงานในออฟฟิศทุกวัน’ นับเป็นบริษัทไอทีขนาดใหญ่ที่ใช้นโยบายนี้เป็นแห่งแรก ขณะที่องค์กรอื่นในแวดวงเดียวกัน เริ่มหันมาใช้มาตรการเดียวกันแบบค่อยเป็นค่อยไป ท่ามกลางเสียงประท้วงของพนักงาน
แอนดี แจสซี (Andy Jassy) ผู้บริหารระดับสูงของแอมะซอน ประกาศเมื่อวานนี้ว่า พนักงานทุกคนต้องปฏิบัติตามนโยบายเข้าออฟฟิศ 5 วัน ซึ่งจะเริ่มขึ้นในเดือนมกราคม 2025 โดยเขาระบุสาเหตุที่มีนโยบายดังกล่าวว่า การอยู่ในออฟฟิศจะเป็นประโยชน์กับเพื่อนร่วมงาน ทั้งในแง่ของการเรียนรู้ ระดมความคิด และเสริมสร้างวัฒนธรรมขององค์กรให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม แอมะซอนกล่าวว่า หากพนักงานจะไม่เข้าออฟฟิศภายใต้เงื่อนไขพิเศษคือ เกิดจากเหตุขัดข้องและได้รับอนุญาตจากหัวหน้างาน ซึ่งนโยบายดังกล่าวถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ จากเดิมที่ทุกคนต้องทำงานในออฟฟิศ 3 วันต่อสัปดาห์
ทว่าแจสซีระบุหมายเหตุสั้นๆ ว่า ไม่มีนโยบายให้ทำงานทางไกล 2 วันต่อสัปดาห์ก่อนเกิดโรคระบาด และความคาดหวังขององค์กร คือพนักงานจะอยู่ในออฟฟิศโดยไม่มีเหตุสุดวิสัย
ย้อนรอยมหากาพย์ Work From Home ของแอมะซอน
นโยบาย Work From Home ของแอมะซอน ถือเป็นเรื่องถกเถียงมาช้านานนับตั้งแต่การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ช่วงแรก เพราะพนักงานและผู้บริหารต่างถกเถียงว่า บุคลากรต้องเข้าออฟฟิศอย่างน้อยกี่วันจนถึงปัจจุบัน
ข้อถกเถียงดังกล่าวสะท้อนจากเหตุการณ์ในเดือนพฤษภาคม 2023 หลังพนักงานแอมะซอนออกมาประท้วงหน้าสำนักงานใหญ่ในซีแอตเทิล (Seattle) เพื่อเรียกร้องนโยบายให้องค์กรลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และต่อต้านการบังคับกลับเข้าออฟฟิศ ด้วยการไม่เข้าทำงาน รวมถึงตั้งสถานะในโปรแกรมสแล็ก (Slack) ด้วยคำว่า ‘WALKOUT’ พร้อมกับปิดคอมพิวเตอร์เพื่อไม่ทำงานถึง 1 ชั่วโมงเต็ม
แอมะซอนถือเป็นบริษัท Big Tech แรกที่ใช้นโยบายดังกล่าว โดยวอชิงตันโพสต์ (Washington Post) เผยว่า แนวโน้มขององค์กรในแวดวงเดียวกันกำลังเริ่มปรับใช้นโยบายอย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งนับเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจ เพราะผลสำรวจจาก Flex Index เคยระบุว่า ปกติแล้วบริษัทเทคโนโลยีมักใช้นโยบายทำงานแบบยืดหยุ่นถึง 79% มีเพียง 3% เท่านั้นที่บังคับให้เข้าออฟฟิศ
ในอีกแง่หนึ่ง บริษัทที่ใช้นโยบายเคร่งครัดอย่าง SAP, Dell หรือ AT&T ก็ทำให้เกิดการปะทะกับพนักงาน เช่น การประท้วงจนถึงขั้น ‘ลาออก’ เพื่อหางานใหม่ที่ไม่บังคับให้เข้าออฟฟิศ ซึ่งตรงกับผลสำรวจของมหาวิทยาลัยชิคาโก (University of Chicago) ว่า นโยบายดังกล่าวมักทำให้บุคลากรระดับสูงในองค์กรตัดสินใจลาออกเป็นจำนวนมากที่สุด
จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้พนักงานหลายคนเชื่อว่า แอมะซอนกำลังใช้นโยบายลดจำนวนพนักงานอย่างเงียบๆ โดยเดอะวอลล์สตรีตเจอร์นัล (The Wall Street Journal) ให้ข้อมูลที่คล้ายคลึงกับสถานการณ์ปัจจุบันว่า ครั้งหนึ่งในต้นปี 2023 บริษัทเคยเลย์ออฟพนักงาน 2.7 หมื่นคนทั่วโลก ก่อนบังคับให้เข้าออฟฟิศในอีก 3 วันถัดมา
ขณะเดียวกัน คริสทัล ฟารห์ (Crystal Farh) ศาสตราจารย์ด้านการบริหารและจัดการจาก UW Foster School of Business ให้ความคิดเห็นอีกด้านผ่าน Geekwire ว่า สถานการณ์ข้างต้นอาจส่ง ‘ผลเสีย’ ให้กับองค์กรมากกว่าผลดี ด้วยความเชื่อที่ว่า วัฒนธรรมแบบพบปะกันในองค์กรจะทำให้ทุกคนก้าวหน้า
“บางคนมีประสิทธิภาพในการทำงานมากกว่า หากพวกเขาทำงานจากทางไกล” ฟารห์ระบุ
ในช่วงที่ผ่านมา ผลวิจัยจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (Stanford University) ในสหรัฐฯ เผยว่า การทำงานแบบยืดหยุ่นด้วยการไม่เข้าออฟฟิศ 2 วัน ไม่ได้กระทบต่อศักยภาพการทำงานของพนักงาน โดย นิโคลัส บลูม (Nicholas Bloom) ศาสตราจารย์หนึ่งในผู้ทำวิจัยเผยว่า มาตรการดังกล่าวถือเป็นข้อได้เปรียบของพนักงาน ทั้งในแง่ประสิทธิภาพ และยังทำให้ทุกอย่างต่อเนื่องหรือไม่เกิดปัญหาตามมา
อ้างอิง
https://www.theguardian.com/technology/2024/sep/16/amazon-in-person-office-policy
https://www.washingtonpost.com/business/2024/09/16/amazon-return-to-office-five-days-week/
Tags: Amazon, เทคโนโลยี, การทำงาน, แอมะซอน, พนักงานออฟฟิศ, บริษัท, Work From Home, ออฟฟิศ, Big Tech