วันนี้ (21 กรกฎาคม 2565) ที่รัฐสภา เกียกกาย อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายไม่ไว้วางใจ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ถึงความผิดปกติในการประมูลโครงการที่เกี่ยวข้องกับการทำลายอนุสาวรีย์ที่มีความเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ปี 2475 หลายโครงการภายใต้การดูแลของกองทัพ ที่ชัดเจนว่าเป็นการล็อกผลการประมูลให้กับผู้รับเหมาบางราย
ทั้งนี้ ได้ยกตัวอย่างโครงการรื้อถอนอนุสาวรีย์พระยาพหลพลพยุหเสนา และจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่กองทัพบกเป็นผู้จัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีการคัดเลือก ซึ่งผู้ที่ได้รับการคัดเลือกได้แก่ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ภูวเนศ โดยเสนอราคา 1,173,000 บาท จากราคากลาง 1.2 ล้านบาท ต่ำกว่าราคากลางเพียง 2.7 หมื่นบาท พร้อมกันนี้ กองทัพบกได้ประกาศผู้ชนะการเสนอราคาในวันที่ 23 เมษายน 2564 แต่ปรากฏชัดเจนว่าผู้รับเหมาได้เข้าไปทำการรื้อถอนอนุสาวรีย์ก่อนแล้วตั้งแต่เดือนมกราคม 2563 หรือได้เริ่มทำงานก่อนที่จะประกาศตัวผู้ชนะการเสนอราคาถึง 15 เดือน
นอกจากนี้ยังมีโครงการสร้างแท่นประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 9 และงานปรับปรุงภูมิทัศน์ที่จะนำมาแทนที่อนุสาวรีย์พระยาพหลฯ ที่เพิ่งทำการรื้อถอนออกไป โดยกรมยุทธโยธาทหารบกเป็นผู้จัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีการคัดเลือก ซึ่งบริษัท ไอยเรศ จำกัด ชนะการคัดเลือก ด้วยการเสนอราคา 59,873,500 บาท จากราคากลาง 59,993,500 บาท โดยโครงการนี้ได้มีการประกาศตัวผู้ชนะการเสนอราคาในวันที่ 14 กรกฎาคม 2564 และเซ็นสัญญากันในวันที่ 27 สิงหาคม 2564
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจากแผนที่ทางดาวเทียมกลับพบว่า กองทัพได้ให้ผู้รับเหมาเริ่มทำงานไปล่วงหน้าแล้วตั้งแต่เดือนธันวาคม 2563 โดยภาพถ่ายทางดาวเทียมแสดงให้เห็นว่าในช่วงเดือนเมษายน 2564 โครงการนี้ได้คืบหน้าไปมาก จนโครงสร้างรากฐานของแท่นพระบรมราชานุสาวรีย์ใกล้สมบูรณ์ มองเห็นได้ชัดจากภาพถ่ายดาวเทียม ทำให้เห็นว่าทั้งสองกรณีมีการเริ่มก่อสร้างตั้งแต่ยังไม่ได้ประกาศราคากลาง ยังไม่ได้ประกวดราคา และยังไม่มีการทำสัญญา เป็นการล็อกผู้รับเหมาก่อน แล้วให้เข้าไปทำงานล่วงหน้า
อมรัตน์ยังได้พบพิรุธว่า บริษัท ไอยเรศ และบริษัท เบญจมาศ เป็นบริษัทรับเหมา 2 ราย ที่ชนะการประมูลงานจากกองทัพอย่างต่อเนื่อง และเป็นผู้รับเหมาตั้งแต่โครงการในหลักหมื่นไปจนถึงโครงการระดับหลายพันล้านบาท
ทั้งนี้ อมรัตน์กล่าวทิ้งท้ายว่า “แท้จริงแล้วเวลาที่มีโครงการก่อสร้างในกองทัพนั้น ได้มีการแอบล็อกผู้ชนะการประมูลกันก่อนเรียบร้อยแล้วว่างานใดเป็นของใคร งานนั้นเป็นของใคร จากนั้นก็จ่ายค่าน้ำร้อนน้ำชาให้พวกนายพลไปตามลำดับชั้น แล้วค่อยทำการการประมูลหลอกๆ กันอย่างที่เห็น
Tags: Report, กองทัพบก, อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล