เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2567 สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (Thailand Development Research Institute: TDRI) ร่วมกับ สภาอุตสาหกรรมฯ จัดงานสัมมนาสาธารณะ ‘ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จุดสมดุลเพื่อสังคมและเศรษฐกิจ’ พร้อมเสนอผลการศึกษามาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กับการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจของประเทศไทย พบว่า พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ปี 2551 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เป็นกฎหมายล้าหลัง และควรแก้ไขอย่างเร่งด่วน เนื่องจากเป็นกฎหมายที่ไม่สามารถลดจำนวนนักดื่มหน้าใหม่และอุบัติเหตุจากการเมาแล้วขับ ซ้ำยังมีช่องว่างทางกฎหมายที่ไม่เอื้อต่อธุรกิจแอลกอฮอล์ขนาดเล็กที่สร้างอาชีพและมูลค่าทางเศรษฐกิจแก่ประเทศ
รองศาสตราจารย์ ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอ ระบุว่า อุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สร้างรายได้ให้กับเศรษฐกิจไทยกว่า 6 แสนล้านบาท และภาครัฐมีรายได้จากภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปีละ 1.5 แสนล้านบาท อย่างไรก็ตาม ธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็ได้สร้างนักดื่มหน้าใหม่ที่มีจำนวนตัวเลขมากขึ้นทุกๆ ปี, ปัญหาด้านสุขภาพ, อุบัติเหตุบนท้องถนน จนถึงปัญหาอาชญากรรม รวมเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจที่ต้องจ่ายไม่ต่ำกว่าปีละ 1.7 แสนล้านบาท ซึ่งสาเหตุหลักมาจากการกำกับดูแลที่ไม่ตรงจุดของรัฐโดยเฉพาะในเรื่องของข้อกฎหมาย
ทั้งนี้ ทีมวิจัยทีดีอาร์ไอเสนอให้มีการปรับปรุงข้อกฏหมายที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ใน 3 ประเด็น ได้แก่
1.มุ่งเน้นปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งพบว่า มีกลุ่มของนักดื่มหน้าใหม่กว่าร้อยละ 30 สามารถหาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ไม่ยาก ทำให้ต้องมีการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว โดยเฉพาะในเรื่อง ‘การเพิ่มบทลงโทษ’ ให้กับร้านค้าหรือสถานกิจการที่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี โดยมีทั้งมาตรการระงับกิจการชั่วคราว แต่หากพบว่ามีการกระทำผิดซ้ำ ควรพิจารณายกเลิกใบอนุญาตประกอบกิจการ รวมทั้งเพิ่มมาตรการเฝ้าระวังการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี และเพิ่มช่องทางการรับแจ้งออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชันเพื่อให้ประชาชนช่วยกับจับตาเฝ้าระวัง
2.การบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เอื้อต่อธุรกิจน้ำเมาในโรงเรือนขนาดเล็ก โดยเฉพาะใน ‘มาตรา 32’ ว่าด้วยการโฆษณาประชาสัมพันธ์ ซึ่งกฎหมายดังกล่าวยังคลุมเครือและอยู่ในการตีความดุลยพินิจของผู้ใช้กฎหมาย รวมถึงปัญหาเรื่อง ‘สินบนรางวัลผู้นำจับ’ ทำให้กลายเป็นช่องโหว่ที่ผู้มีอำนาจทางกฎหมายสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในทางที่ผิด
โดยจากสถิติการดำเนินคดีตั้งแต่ปี 2561-2565 ส่วนมากเป็นการฝ่าฝืนโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งในหลายรายเป็นผู้ที่ไม่ได้มีส่วนได้เสียกับธุรกิจน้ำเมา แต่เป็นการลงภาพพร้อมเครื่องดื่มในสื่อออนไลน์ ทำให้ถูกเจ้าหน้าที่ตีความว่าเป็นการประชาสัมพันธ์ ทำให้โทษการจับ-ปรับ มีมูลค่าสูงกว่าโทษเมาแล้วขับ และโทษการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้กับเยาวชน นับเป็นการแก้ปัญหาไม่ตรงจุด นอกจากนี้ยังเป็นการกีดกันผู้ค้ารายเล็กที่ไม่สามารถเผยแพร่สินค้าออกสู่ท้องตลาดได้ รวมถึงผู้ผลิตสินค้าไม่สามารถบอกถึงส่วนประกอบในเครื่องดื่มที่ผู้ดื่มพึงระวัง เช่น นมหรือถั่ว
3.มุ่งเน้นการลดผลกระทบเชิงลบทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นการปรับเกณฑ์ลงโทษผู้มีพฤติกรรม ‘เมาแล้วขับ’ เพื่อป้องปรามการและคัดกรองผู้ที่ดื่มขับออกจากท้องถนน รวมถึงการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากอุบัติเหตุการดื่มบนท้องถนน
ขณะเดียวกันทบทวนมาตรการเปิดผับถึงตี 4 โดยทีมวิจัยนำเสนอข้อมูลอุบัติเหตุในช่วงเวลาดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2566 พบว่า มีสัดส่วนที่เพิ่มมากขึ้นถึงร้อยละ 16 และเกิดความเสี่ยงเพิ่มขึ้นต่อประชาชนทั่วไปที่เริ่มทำกิจกรรมทางสังคมในช่วงเวลาเช้ามืด ดังนั้น การขยายเวลาโดยไม่มีการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวดพอ มีโอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุจากการดื่มแล้วขับที่ทำให้เกิดความสูญเสียสูง และควรมีการทบทวนมาตรการดังกล่าวในทันที
ทั้งนี้ เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ส.ส.พรรคก้าวไกล ผู้เสนอร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า เห็นด้วยในการเสนอแก้กฎหมายใน 3 ประเด็นดังกล่าว พร้อมเสริมว่า การบังคับใช้ มาตรา 32 คือปัญหาหลักในขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็นการปรับ-บังคับใช้กฎหมาย ที่มีมาตรการลงโทษหนักกว่าการกำกับดูแลด้านอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเมาแล้วขับ ไปจนถึงการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เด็กและเยาวชนไม่เกิน 20 ปี สิ่งเหล่านี้สะท้อนว่ากฎหมายดังกล่าวไม่ได้สนใจดูแลเยาวชนและลดอุบัติเหตุอย่างแท้จริง ส่วนการเสนอว่ากฎหมายเรื่องน้ำเมาอยู่ในจุดที่สมดุลเพื่อสังคมและเศรษฐกิจนั้น ขึ้นอยู่กับว่าเป็นมุมมองจากด้านไหน จึงต้องชั่งน้ำหนักระหว่างผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยแล้วนำมาหาจุดตรงกลางอย่างลงตัว
Tags: TDRI, แอลกอฮอล์, สุราก้าวหน้า