วันนี้ (1 เมษายน 2568) เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (Migrant Working Group: MWG) เปิดเผยว่า กลุ่มแรงงานข้ามชาติเผชิญปัญหา ‘ไร้ความช่วยเหลือ’ จากภาครัฐ หลังเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวแมกนิจูด 7.7 จนทำให้โศกนาฏกรรมอย่างเหตุการณ์อาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ถล่ม เมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา 

ทู ซาร์ (Thu Zar) แรงงานก่อสร้างชาวเมียนมาที่ทำงานให้กับบริษัทเอสเอ หนึ่งในผู้จ้างเหมาช่วงให้สัมภาษณ์ว่า เธอกำลังตามหาเพื่อนร่วมงานที่หายไป 4 รายจากเหตุการณ์ตึกถล่มครั้งนี้ ได้แก่ ชาวเมียนมา 3 รายและเพื่อนชาวไทย 1 ราย โดยที่เธอไม่ได้รับความช่วยเหลือใดๆ จากรัฐไทย มีเพียงการเปิดลงชื่อแจ้งคนสูญหายเท่านั้น ขณะที่ทำได้แค่เพียงขอนายจ้างลา โดย ‘ไม่ได้รับค่าจ้าง’ และติดตามข่าวสารด้วยการเดินทางมาดูสถานการณ์ที่ซากอาคาร โดยใช้ค่าแรง 300 บาทที่มีอยู่ใช้บริการแท็กซี่ 3 วันติดกัน 

“ตอนนี้เราไม่รู้ข้อมูลอะไรเลย และไม่รู้ว่าต้องไปหาใครที่ไหนอย่างไร” ทูซาร์ระบุ

ขณะที่ ซาย ทุน ส่วย ล่ามและตัวแทนแรงงานข้ามชาติชาวเมียนมา ที่อยู่ในพื้นที่อาคารถล่มทั้ง 3 วันระบุว่า ความเป็นอยู่ของแรงงานข้ามชาติน่ากังวลมาก ทั้งความเป็นห่วงเรื่องการตามหาญาติตนเองไม่พบ และการขาดตัวกลางประสานงานกับรัฐอย่างโรงพยาบาล กลายเป็นทุกคนไร้ที่พึ่ง และค่าแรงยังไม่ได้รับ

แรงงานก่อสร้างส่วนใหญ่ในเหตุตึกถล่มเดินทางมาจากหลายไซต์งาน เช่น ห้วยขวาง ดอนเมือง เจริญกรุง บางแค หรือคลองเตย สถานการณ์ดังกล่าวทำให้ยากต่อการช่วยเหลือ หลังพบว่า มีนายจ้างรับเหมาไม่ติดต่อลูกจ้าง ขณะที่กระทรวงแรงงานไม่ทำงานร่วมกับนายจ้าง โดยล่ามชาวเมียนมายืนยันว่า แรงงานข้ามชาติทุกคนควรได้รับสิทธิประกันสังคมทั้งหมด

นอกจากนี้ข้อมูลจากเครือข่ายด้านองค์กรประชากรข้ามชาติ ยังเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวข้องกับอาคาร สตง. โดยพบว่า มี ‘ผู้รับผิดชอบ’ หลายฝ่าย ได้แก่ ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 และอิตาเลียนไทยในฐานะบริษัทคู่สัญญารับเหมาก่อสร้าง ขณะที่มีผู้จ้างเหมาช่วงและมีแรงงานจากบริษัทอื่นๆ อีก 15 บริษัท ทำให้ยากต่อการตรวจสอบสถานะแรงงานและสิทธิการรักษาพยาบาล โดยรายชื่อทั้งหมดมีดังต่อไปนี้

  1. บริษัท 9 พีเค 

  2. ทีมงานช่างสำรวจที่ถูกจ้างเป็นทีมสำรวจงานสถาปัตย์

  3. บริษัทยูนิค 

  4. บริษัทเอสเอ 

  5. บริษัท TTSW

  6. บริษัท CN progress 

  7. บริษัท P&J

  8. บริษัทก้องเก้า

  9. ผู้รับเหมาส่วนบุคคล

  10. บริษัทภูมิสเคป

  11. ผู้รับเหมานอก

12-15. ผู้รับเหมานอกที่ บริษัทไชน่า เรลเวย์ 10 จ้าง

สำหรับวิธีการแก้ไขปัญหา อดิศร เกิดมงคล ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ เสนอให้กระทรวงแรงงานปฏิบัติตาม 4 ข้อ โดยต้องประกาศภาวะฉุกเฉินสำหรับแรงงานจากเหตุการณ์ตึกถล่มครั้งนี้ดังต่อไปนี้

  1. กระทรวงแรงงานต้องเรียกบริษัทไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 และอิตาเลียนไทย ส่งชื่อบริษัทรับเหมา รายชื่อลูกจ้างแต่ละคน และหลักฐานการนำส่งประกันสังคมและกองทุนทดแทน เพื่อประเมินความเสียหายของแรงงาน โดยเฉพาะจำนวนผู้สูญหายที่อาจมากกว่าการประเมิน

  1. กระทรวงแรงงานควรเป็นผู้ประสานงานหลักระหว่างแรงงานข้ามชาติกับหน่วยงานรัฐ เนื่องจากปัจจุบันพบว่า การสื่อสารไร้ความชัดเจน ขณะที่แรงงานข้ามชาติไม่สามารถสื่อสารกับเจ้าหน้าที่รัฐไทยได้

  1. การเยียวยาความผิดต้องใช้กฎหมายคุ้มครองแรงงาน นายจ้างชั้นต้นคือ บริษัทคู่สัญญารับเหมาสร้างตึกต้องร่วมรับผิดชอบค่าชดเชย ไม่ผลักภาระไปที่ผู้รับเหมารายย่อย

  1. รัฐไทยควรมีหน่วยงานประสานเอกสารและการพิสูจน์ตัวตนของแรงงานข้ามชาติ เพื่อตรวจสอบและดูแลผู้ที่ได้รับผลกระทบทั้งหมด

ปัจจุบัน พิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทวงแรงงาน เผยว่า ขณะนี้กำลังหารือกับบริษัทผู้รับเหมาเพื่อตรวจสอบสิทธิประกันสังคมแรงงานผู้เสียชีวิต 18 ราย ซึ่งหากอยู่ใน ‘ระบบประกันสังคม’ ต้องได้รับเงินเยียวยา 2 ล้านบาท แต่หากไม่ได้อยู่ตามเงื่อนไข บริษัทรับเหมาต้องรับผิดชอบ ขณะที่กระทรวงแรงงานเริ่มตั้งศูนย์ประสานตลอด 24 ชั่วโมง และอำนวยความสะดวกด้วยการนำล่ามภาษากัมพูชาและเมียนมา เพื่อติดต่อประสานงานแจ้งคนหาย

อ้างอิง:

– เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ

Tags: , , , , ,