วันนี้ (7 พฤษภาคม 2568) ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) นำทีมผู้บริหารกรุงเทพมหานคร แถลงผลงานพร้อมจัดเสวนาก้าวสู่ปีที่ 4 ขับเคลื่อนกรุงเทพฯ สู่เมืองแห่งโอกาสและความหวัง ในวาระการทำงานครบรอบ 3 ปี ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เขตพระนคร พร้อมตอบคำถามสื่อมวลชนว่า ตนจะลงสมัครผู้ว่าฯ กทม.สมัยหน้าหรือไม่นั้น ให้เป็นเรื่องของอนาคตว่า ยังมีพลังทำอะไรให้คนกรุงเทพฯ หรือไม่ โดยปัจจุบันขอทำงานเป็นผู้ว่าฯ กทม.ให้ครบวาระก่อน
“การขับเคลื่อนเมืองไม่สามารถทำได้โดยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือคนใดคนหนึ่ง ต้องเกิดจากการร่วมมือกัน” ผู้ว่าฯ กทม.ระบุต่อว่า ตลอดเวลา 3 ปีที่ผ่านมา กทม.ดำเนินนโยบายที่จับต้องได้ในทุกมิติ ซึ่งสะท้อนผลลัพธ์เป็นรูปธรรมภายใต้นโยบาย ‘9 ดี’ ผ่านหลักการทำงาน 5 ข้อ คือ 1. การร่วมมือร่วมใจ 2. ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม 3. พลังของคนรุ่นใหม่ ร่วมกับคนที่มีประสบการณ์และมีพลังช่วยสร้างเมือง 4. ความมีน้ำใจ ความเป็นมิตร พหุวัฒนธรรม และการช่วยเหลือ และ 5. การเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส
ชัชชาติอธิบายว่า การพัฒนาเมืองนอกจากภาครัฐแล้ว ต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายประชาชนจากทุกช่วงวัย ผลักดัน ‘สภาเมืองคนรุ่นใหม่’ นำนโยบายจากคนรุ่นใหม่มาพัฒนาเมือง รวมถึงแต่งตั้ง ‘ทูตสื่อสารเมือง’ เสริมพลังเครือข่ายสื่อสารภารกิจกรุงเทพมหานครสู่ประชาชน
“ถ้าเกิดผมให้ก็คงให้แค่ 5 คะแนนแหละ เพราะว่ายังมีเรื่องอีกเยอะที่ต้องปรับปรุง เรื่องที่ทำได้ดีก็มี แต่ว่าเรื่องให้คะแนนก็ให้คนอื่นให้เราดีกว่า” ชัชชาติตอบคำถาม หลังถูกถามว่า จะให้คะแนนการทำงานตัวเองเท่าไร
สำหรับผลงานตามนโยบายโดยสรุป 9 ดี 9 ด้าน ตลอด 3 ปีที่ผ่านมามีดังนี้
โปร่งใสดี
1. Traffy Fondue: รับเรื่องร้องเรียนแล้วมากกว่า 9 แสนเคส แก้ไขแล้วเสร็จกว่า 7.5 แสนเคส เฉลี่ยเวลาในการแก้ไขปัญหา 3.5 วันต่อเคส ประชาชนพึงพอใจการให้บริการมากกว่า 80% พร้อมกล่าวต่อว่า การแจ้งปัญหาผ่าน Traffy Fondue เป็นการสร้างการมีส่วนร่วมโดยให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง เป็นการแก้ไขระบบราชการที่ล่าช้าได้ โดยไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนกฎหมาย
2. เปิดเผยข้อมูล Open Bangkok: เปิดข้อมูลงบประมาณแบบ Machine Readable ให้ติดตามความคืบหน้าการเบิกจ่าย งบประมาณ Open Budgeting โดยมีประชาชนใช้งาน Open Data Bangkok มากกว่า 4 ล้านครั้ง
3. ปรับระบบการขออนุญาต: ยกตัวอย่างการขออนุญาตก่อสร้างออนไลน์ ทราบผลภายใน 14 วัน ซึ่งประชาชนสามารถติดตามความคืบหน้าคำขออนุญาตได้ผ่าน LineOA กรุงเทพฯ
4. แก้ปัญหาทุจริตร่วมกับตำรวจและหน่วยงานรัฐต่างๆ: ดำเนินการกับข้าราชการทุจริตแล้วกว่า 28 ราย
เดินทางดี
1. แก้ไขปัญหาน้ำท่วม: แก้ไขจุดเสี่ยงน้ำท่วมกว่า 516 จุดจาก 737 จุด และเตรียมความพร้อมลอกท่อ ลอกคลอง เปิดทางน้ำไหล เฉลี่ยทั้งหมด 70% พร้อมกับกล่าวต่อว่า ในวันที่ฝนตกหนัก กทม.ได้รับคำตำหนิมากมาย ทว่าไม่ได้ปล่อยข้อตำหนินั้นไปเฉยๆ โดยไม่ปรับตัว
2. ส่งเสริมขนส่งสาธารณะ: ยกตัวอย่างการสร้างศาลารอรถเมล์ใหม่มากกว่า 100 แห่ง พร้อมตั้งเป้าสร้างศาลาใหม่ ป้ายบอกทาง และชำระหนี้สิน BTS ค่า E&M และค่าเดินรถบางส่วน รวมแล้วกว่า 3.7 หมื่นล้านบาท
3. แก้ไขปัญหาจราจร: ยกตัวอย่างการปรับสัญญาณไฟจราจรเป็นแบบ Adaptive ซึ่งสามารถลดความล่าช้าได้ 15% ต่อแยก
สิ่งแวดล้อมดี
1. เพิ่มพื้นที่สีเขียว: ปลูกต้นไม้มากกว่า 1.8 ล้านต้น พัฒนาสวน 15 นาทีที่ได้มาตรฐานเกือบ 200 สวน พร้อมกับขยายเวลาเปิด-ปิดสวนสาธารณะ และขยายการบริการ Pet Park
2. ลดและคัดแยกขยะ: สามารถลดปริมาณขยะเมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิด-19 มากกว่า 1,000 ตันต่อวัน ประหยัดค่ากำจัดขยะ 1,000 ล้านบาท และค่าเก็บขนและขยะ 2,000 ล้านบาท
สังคมดี
1. ดูแลชุมชนและกลุ่มเปราะบาง
2. จัดสรรงบประมาณแบ่งสัดส่วน: เน้นปรับปรุงกายภาพแทนการจัดกิจกรรม
สุขภาพดี
1. บริการสาธารณสุขเชิงรุก: เดินหน้าตรวจสุขภาพแล้วกว่า 7.8 แสนคน
2. เพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกสาธารณะ: เพิ่มตู้กดน้ำดื่มฟรี เข้าตรวจสุขอนามัยของห้องน้ำสาธารณะ และติดตั้งเครื่อง AED ในพื้นที่สาธารณะและชุมชนมากกว่า 330 แห่ง
เศรษฐกิจดี
1. บริหารจัดการผู้ค้าหาบเร่แผงลอย: จัดระเบียบหาบเร่นอกจุดผ่อนผันมากกว่า 400 จุด ดำเนินการพัฒนาระบบ Check-in ช่วยยืนยันตัวตนผู้ค้าในจุดผ่อนผัน และจัดหา Hawker Center รองรับผู้ค้าที่ได้รับผลกระทบ
2. จัดหาพื้นที่ขายของ: เปิดจองแผงค้าออนไลน์ในตลาด กทม.ไปมากกว่า 500 แผงค้า และจัดถนนคนเดินกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างรายได้มากกว่า 19 ล้านบาท
บริหารจัดการดี
1. ประหยัดงบประมาณจัดซื้อจัดจ้าง จากการจัดซื้อจัดจ้างปี 2567 กว่า 30,275 ล้านบาท
ปลอดภัยดี
1. ปรับปรุงไฟฟ้าส่องสว่างมากกว่า 1.15 แสนดวง, ติดตั้งกล้อง AI CCTV ตรวจจับมอเตอร์ไซค์บนทางเท้า ปรับปรุงทางม้าลายไปแล้วกว่า 2,100 แห่ง และปรับลดความเร็วสูงสุดบนถนนเหลือ 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งสามารถลดการเสียชีวิตบนท้องถนนไปกว่า 9%
2. เพิ่มขีดความสามารถจัดการสาธารณภัย
เรียนดี
1. การจัดการเรียนการสอนแบบดิจิทัลคลาสรูม โดยนักเรียน กทม.สามารถเรียนผ่านโครมบุ๊ก ทำให้คะแนนเฉลี่ยของนักเรียนเพิ่มขึ้น 28%
2. นำเทคโนโลยีช่วยสอนในห้องเรียนดิจิทัล ปี 2567 พร้อมขยายอีก 10 โรงเรียน ส่งผลให้นักเรียนมีการเรียนดีขึ้นทุกวิชา และในปี 2568 จะขยายอีก 437 โรงเรียน
3. ใช้ AI ช่วยฝึกเด็กพูด เขียน ส่งผลให้ภาษาอังกฤษดีขึ้น 37%
ทั้งนี้ชัชชาติยังกล่าวทิ้งท้ายในเสวนาก้าวสู่ปีที่ 4 ขับเคลื่อนกรุงเทพฯ สู่เมืองแห่งโอกาสและความหวัง ในวาระการทำงานครบรอบ 3 ปี ไว้ว่า
“หัวใจในการทำงานคือ การสร้างความเชื่อมั่นซึ่งกันและกัน ระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน โดยความเชื่อมั่นจะเกิดขึ้นได้ จากการทำงานที่ต้องมี 3 ส่วน คือ 1. ความรู้และเทคโนโลยี 2. ความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และ 3. ความเข้าอกเข้าใจ (Empathy) โดยต่อจากนี้ก็พร้อมจะนำทีมงานก้าวสู่ปีที่ 4 ขับเคลื่อนกรุงเทพฯ สู่เมืองแห่งโอกาสและความหวัง เป็นเมืองที่มุ่งหน้าไปสู่อนาคตโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”