เมื่อวานนี้ (17 สิงหาคม 2565) ที่ประชุมเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ในสัดส่วนของงบประมาณกระทรวงกลาโหม การตั้งคำถามเกี่ยวกับการจัดซื้อรถเมอร์เซเดส-เบนซ์ เอสคลาส S400 และ S500 จำนวนกว่า 30 คัน ในงบประมาณ 554 ล้านบาท เพื่อนำมาเป็น ‘รถประจำตำแหน่ง’ ซึ่งภายหลังกองทัพออกมาชี้แจงว่าเป็น ‘รถควบคุมสั่งการ’ ยังคงเป็นไปอย่างกว้างขวาง
เป็นช่วงเวลา 1 เดือนพอดิบพอดี หลังจากที่มีการเปิดเรื่องดังกล่าวออกมาครั้งแรก ทว่ากลับไม่มีคำอธิบายของกระทรวงกลาโหม ทั้งในเรื่องของ ‘ความจำเป็น’ ที่ต้องใช้รถหรูเป็นรถควบคุมสั่งการ และ ‘จำนวน’ นายพลที่มีสิทธินั่งรถเบนซ์หรู ว่าถึงที่สุดแล้วมีจำนวนกี่คน และหากย้อนหลังกลับไป มีการใช้งบประมาณในลักษณะนี้มากน้อยขนาดไหน
คืนวานนี้ สมชัย ศรีสุทธิยากร ในฐานะกรรมาธิการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายปี 2566 ในสัดส่วนพรรคเสรีรวมไทย ชี้แจง ณ ที่ประชุมรัฐสภา อภิปรายถึงประเด็นดังกล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงกลาโหมมีการกำหนดอัตราค่าตอบแทนเหมาจ่ายเพื่อจัดซื้อรถประจำตำแหน่ง ในอัตราที่มากกว่าข้าราชการในกระทรวงอื่นๆ อย่างมาก ประกอบด้วย
– สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม 51.9 ล้านบาท
– กองทัพบก 240.3 ล้านบาท
– กองทัพเรือ 116.3 ล้านบาท
– กองทัพอากาศ 75.1 ล้านบาท
– กองบัญชาการกองทัพไทย 70.7 ล้านบาท
รวมแล้วกระทรวงกลาโหมมีงบประมาณเฉพาะส่วนนี้มากถึง 554.3 ล้านบาท
ตัวเลขข้างต้น หากเทียบกับกระทรวงอื่นๆ กระทรวงกลาโหมกระทรวงเดียวมีอัตราค่าตอบแทนเหมาจ่ายเพื่อจัดหารถประจำตำแหน่งมากถึง 70 เปอร์เซ็นต์ของงบจัดหารถประตำแหน่งในหน่วยงานรัฐอื่นๆ ในขณะที่กระทรวงอื่นๆ รวมกันแล้วยังไม่ถึง 30 เปอร์เซ็นต์
“ผมได้ตัวเลขมาว่า กองทัพมีรถประจำตำแหน่งเพื่อควบคุมสั่งการราว 30 คัน ซึ่งตำแหน่งที่ได้รับประกอบด้วย ปลัดกระทรวงกลาโหม รองปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด เสนาธิการทหาร ผู้บัญชาการทหารบก ประธานคณะที่ปรึกษากองทัพบก รองผู้บัญชาการทหารบก ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก เสนาธิการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ประธานที่ปรึกษากองทัพเรือ รองผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารเรือ เสนาธิการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ ประธานคณะที่ปรึกษากองทัพอากาศ รองผู้บัญชาการกองทัพอากาศ ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารอากาศ เสนาธิการทหารอากาศ ทั้งหมดมีประมาณ 30 นายที่ได้รับ”
ด้าน ณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวในช่วงเช้าของการอภิปรายว่า ในปัจจุบัน เงินจำนวนมากไม่ได้ถูกจัดสรรเพื่อผลประโยชน์ในภาพใหญ่ของประเทศในอนาคต แต่กลับไปอยู่ในส่วนของงบฯ บุคลากร งบฯ ผูกพัน และงบฯ สวัสดิการ
“โดยเฉพาะอย่างยิ่ง งบฯ สวัสดิการที่ถูกตั้งคำถามอย่างกว้างขวางว่า ในสถานการณ์ของประเทศที่อยู่ในวิกฤตเช่นนี้ ประเทศไทยยังจำเป็นต้องมีสวัสดิการในรูปแบบจำเพาะเจาะจงให้กลุ่มคนบางกลุ่มมากน้อยเพียงใด และงบประมาณในการจัดซื้อ ‘รถควบคุมสั่งการ’ หรือรถประจำตำแหน่งในหน่วยราชการอื่นนั้น เป็นงบสวัสดิการที่จำเป็นต้องมีหรือไม่”
สำหรับลำดับเวลาของการจัดหา ‘รถควบคุมสั่งการ’ เมอร์เซเดส-เบนซ์ เอสคลาส ดังกล่าว มีดังนี้
1
เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา สมชัยตั้งคำถามในที่ประชุมกรรมาธิการ วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณฯ โดยเฉพาะเกี่ยวกับ ‘งบฯ ลับ’ ของแต่ละกองทัพที่มีมูลค่าราว 500 ล้านบาท เจาะจงไปที่ค่าใช้จ่ายของ ‘รถประจำตำแหน่ง’ ของกระทรวงกลาโหมทั้งหมด 36 คัน ซึ่งเป็นรถยนต์เมอร์เซเดส-เบนซ์ S400 และ S500 ซึ่งมีมาตรฐานเกินจากรถประจำตำแหน่งทั่วไป
2
ต่อมาในวันเดียวกัน สมชัยเผยแพร่ข้อความลงในสื่อสังคมออนไลน์ส่วนตัวถึงคำถามเกี่ยวกับงบฯ ของกองทัพ 4 ข้อ โดย 3 ข้อแรกมีความเกี่ยวข้องกับประเด็นเรื่องรถประจำตำแหน่ง คือ
1. อยากทราบอัตรากำลังระดับนายพลขึ้นไปว่ามีจำนวนเท่าใด และมีนายพลที่ไม่มีหน่วยงานบริหาร (ตำแหน่งลอย) เช่น ตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิและผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษมีจำนวนเท่าใด และจากแผนการลดอัตรากำลังพลระดับสูงของกองทัพให้เหลือ 50 เปอร์เซ็นต์ ภายในปี 2570 กองทัพมีการกำหนดเป้าหมายเป็นรายปีอย่างไร
2. การที่กองทัพมีตำแหน่ง ‘นายพล’ จำนวนมาก มีผลต่อรายการงบประมาณค่าตอบแทนเหมาจ่าย แผนการจัดหารถประจำตำแหน่งรวมทุกเหล่าทัพ เป็นเงินมากกว่า 553 ล้านบาท ทั้งหมดเป็นการจ่ายค่าตอบแทนให้แก่นายทหารชั้นยศใดขึ้นไปบ้าง และเป็นเงินเท่าไรต่อเดือน
3. จริงหรือไม่ที่มีนายทหารระดับสูง เช่น ผู้บัญชาการเหล่าทัพ และตำแหน่งอื่นๆ ในกองทัพมากกว่า 30 ตำแหน่ง ที่มีรถประจำตำแหน่งซึ่งมีมาตรฐานเกินไปกว่ารถประจำตำแหน่งทั่วไป เช่น รถเบนซ์ S400 และ S500 ราคาคันละ 5-6 ล้านบาท ผ่านการใช้งบประมาณส่วนอื่นมาจัดหา
3
ในช่วงหนึ่งของการอภิปราย สมชัยยังกล่าวด้วยว่า ถ้าเปรียบเทียบกับส่วนราชการอื่นอย่างข้าราชการพลเรือน ข้าราชการที่มีสิทธิได้ใช้รถยนต์ประจำตำแหน่งในระดับนี้จะต้องเป็นปลัดกระทรวงเท่านั้น ซึ่งมีเพียง 1 คน แต่เกณฑ์การเทียบตำแหน่งของกองทัพกับข้าราชการพลเรือนกลับแตกต่างกัน จนทำให้กองทัพมีจำนวนตำแหน่งที่ต้องจ่ายงบประมาณฯ เกี่ยวกับรถประจำตำแหน่งมากกว่า เช่น ในขณะที่ข้าราชการพลเรือนมีปลัดกระทรวงได้ 1 คน แต่กองทัพกลับพิจารณาเทียบ ‘ปลัดกระทรวง’ เท่ากับนายทหารยศ ‘พลโท’ ขึ้นไป ซึ่งก็หมายความว่ากองทัพจะสามารถเบิกงบฯ ในอัตราเทียบเท่าปลัดกระทรวงได้หลายร้อยคน ถือเป็นความเหลื่อมล้ำในระบบราชการอย่างมาก
ในตอนท้าย สมชัยยังได้ร้องขอให้กองทัพเปิดเผยตัวเลขกำลังพลที่อยู่ในตำแหน่ง พลตรี พลโท พลเอก ในปัจจุบัน โดยแยกเป็นตำแหน่งที่มีหน่วยงานรับรองและข้าราชการที่มีตำแหน่งลอย เช่น ผู้ทรงคุณวุฒิและผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ
4
ในที่ประชุมเดียวกัน พลเอก วรเกียรติ รัตนานนท์ ปลัดกระทรวงกลาโหม ชี้แจงประเด็นเรื่องรถยนต์ของกองทัพว่า รายละเอียดเรื่องรถยนต์ที่เห็นไม่ใช่รถประจำตำแหน่ง แต่ต้องเรียกว่า ‘รถควบคุมและสั่งการ’ ซึ่งคือรถที่ใช้ปฏิบัติงานด้านยุทธการ ทำหน้าที่เป็นศูนย์ประสานงาน และเสริมการปฏิบัติงานให้กับศูนย์ปฏิบัติการกระทรวงกลาโหม ศูนย์ปฏิบัติการกองทัพไทย และศูนย์ปฏิบัติการของเหล่าทัพ
รถดังกล่าวมีการติดตั้งอุปกรณ์สื่อสาร ดังนั้นจึงสามารถควบคุมสั่งการและรายงานการปฏิบัติงานของกองกำลังป้องกันชายแดน รวมไปถึงตอบสนองภารกิจเร่งด่วนอื่นๆ ตามนโยบายของรัฐบาลได้ เช่น ใช้ต้อนรับแขกของรัฐบาล ทั้งหมดจึงนำมาสู่ข้อสรุปที่ว่า เหตุใดกองทัพจึงต้องนำรถที่มีสมรรถนะสูงในการรองรับภารกิจดังกล่าว พร้อมกับยืนยันว่าทั้งหมดไม่ใช่งบประมาณลับและต้องมีการตกลงกับสำนักงบประมาณอยู่เป็นประจำ”
จากคำชี้แจงข้างต้นของกองทัพ นำมาซึ่งคำถามของสมชัยว่า “นายทหารระดับสูงในกองทัพจะมีรถทั้งหมด 2 คัน ประกอบด้วย รถประจำตำแหน่ง 1 คัน และรถหรูซึ่งใช้ควบคุมสั่งการอีก 1 คัน ดังนั้นจึงขอให้กองทัพส่งจำนวนรถควบคุมสั่งการทั้งหมดที่มี และให้แจ้งว่าจัดซื้อโดยเปลี่ยนแปลงรายการงบประมาณใดบ้าง”
วันที่ 16 สิงหาคม 2565 สมชัยเผยแพร่ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า หลังจากขอข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับการจัดซื้อรถหรูเพื่อควบคุมสั่งการจากกองทัพ แต่ผ่านมาราว 1 เดือน ยังไม่ได้รับการตอบรับใดๆ
5
จนถึงวันนี้ สมชัยกลับมาอภิปรายอีกครั้งในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายปี 2566 ว่า จนถึงวันนี้ เวลาผ่านมาเป็นเดือน แต่ก็ยังไม่ได้รับข้อมูลเพิ่มเติมใดๆ จากกองทัพ
ขณะที่ ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ยืนยันว่า ข้อมูลเรื่องงบประมาณของกระทรวงกลาโหมขอรายละเอียดได้ยากมากขึ้นเรื่อยๆ จากเดิมที่เคยให้รายละเอียดงบประมาณ แต่ตอนนี้ก็ขอให้อ่านในห้องประชุมกรรมาธิการเท่านั้น และเก็บกลับคืนทันที ขณะที่ในบางเรื่อง กรรมาธิการฯ ยื่นขอรายละเอียด มานานกว่า 3 ปีแล้ว ก็ยังไม่ได้รับข้อมูลใดๆ โดยกระทรวงกลาโหมให้ข้อมูลว่าเป็น ‘ความลับ’ และเกี่ยวข้องกับเรื่องความมั่นคง
คำถามสำคัญถึงเรื่องรถควบคุมสั่งการที่เป็นรถเบนซ์หรูราคาคันละ 6 ล้านบาท จึงยังคงอยู่ว่า ‘ความจำเป็น’ ในเรื่องนี้มีมากน้อยขนาดไหน ภาษีทุกบาททุกสตางค์ จะต้องนำไปจ่ายเพื่อซื้อรถประจำตำแหน่งให้นายทหารเหล่านี้อีกนานไหม และจะมากขึ้นหรือน้อยลง
เป็นคำถามที่วันนี้ แม้แต่กระทรวงกลาโหมก็ยังตอบไม่ได้
Tags: Report, สมชัย ศรีสุทธิยากร, กระทรวงกลาโหม, งบประมาณกระทรวงกลาโหม