19 กันยายน 2549

วาสนา นาน่วม ผู้สื่อข่าวสายทหาร เรียกรัฐประหารครั้งนั้นว่า ‘ปฏิวัติปราสาททราย’

สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ทำหนังสือรวมเล่ม เรียกรัฐประหารครั้งนั้นว่า ‘รัฐประหารเพื่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข’

ขณะที่ฝ่ายเชียร์ทหารเรียกรัฐประหารครั้งนั้นว่า เป็นรัฐประหารที่ ‘เสียของ’ เนื่องจากไม่สามารถจัดการกับสิ่งที่เรียกว่า ‘ระบอบทักษิณ’ ได้สำเร็จ

ไม่ว่าจะเรียกอย่างไรก็แล้วแต่ สิ่งที่ต้องยอมรับก็คือ การรัฐประหารวันนั้นเปลี่ยนประเทศไทยเข้าสู่ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ เป็นรัฐประหารที่ทำให้ ‘ทหาร’ กลับมาเป็นผู้เล่นสำคัญในระบบการเมืองไทยอีกครั้ง หลังจากห่างหายไปนานเกินทศวรรษ

“ด้วยเป็นที่ปรากฏความแน่ชัดว่า การบริหารราชการแผ่นดินโดยรัฐบาลรักษาการปัจจุบันได้ก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้ง แบ่งฝ่ายสลายความรู้รักสามัคคีของชนในชาติ อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์ชาติไทย ต่างฝ่ายต่างมุ่งหวังเอาชนะ ด้วยวิธีการหลากหลายรูปแบบ และมีแนวโน้มนับวันจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น โดยประชาชนส่วนใหญ่เคลือบแคลงสงสัยการบริหารราชการแผ่นดิน อันส่อไปในทางทุจริตประพฤติมิชอบอย่างกว้างขวาง หน่วยงาน องค์กรอิสระถูกครอบงำทางการเมือง ไม่สามารถสนองตอบเจตนารมณ์ ตามที่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร

“ทำให้การดำเนินกิจกรรมทางการเมืองเกิดปัญหาและอุปสรรคหลายประการ ตลอดจนหมิ่นเหม่ต่อการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพแห่งองค์พระมหากษัตริย์ ผู้ทรงเป็นที่เคารพเทิดทูนของปวงชนชาวไทยอยู่บ่อยครั้ง แม้หลายภาคส่วนของสังคมจะได้พยายามประนีประนอม คลี่คลายสถานการณ์มาโดยต่อเนื่องแล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถที่จะทำให้สถานการณ์ความขัดแย้งยุติลงได้

“ดังนั้น คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งประกอบด้วยผู้บัญชาการเหล่าทัพ และผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงมีความจำเป็นต้องยึดอำนาจการปกครองแผ่นดิน ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป”

นั่นคือเหตุผลการยึดอำนาจของ ‘คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข’ (คปค.) ซึ่งมี พลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน เป็นหัวหน้า เมื่อช่วงเวลากลางดึก 23.50 น. วันที่ 19 กันยายน 2549

จนถึงวันนี้ ประเทศไทยก็ยังอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งเดิม และการรัฐประหารในวันนั้นก็ดูเหมือนจะแก้ปัญหาวิกฤตการเมืองไทยได้ไม่สำเร็จสักเรื่อง ซ้ำยังซับซ้อนขึ้นอีกเป็นเท่าตัว

The Momentum พาย้อนกลับไปวันนี้เมื่อ 15 ปีก่อนผ่านภาพทั้งหก ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง ก่อนและหลัง 19 กันยายน 2549

ภาพ: AFP

สำรวจเบื้องหลังปฏิวัติ 19 กันยาฯ

คำถามสำคัญที่แวดล้อมการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ก็คือ ‘ใคร’ ที่อยู่เบื้องหลังการรัฐประหารวันนั้นบ้าง และที่สำคัญคือ ‘ทุน’ ที่ใช้ในการรัฐประหารนั้น เอามาจากไหน

หนังสือ ลับ ลวง พราง ปฏิวัติปราสาททราย โดย วาสนา นาน่วม นักข่าวสายทหารจากบางกอกโพสต์ ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อเดือนมีนาคม 2551 บอกว่า ‘ผู้ก่อการ’ สำคัญมีทั้งหมด 9 คน คือ 2 พลเอก ส. พลเอก อ. และ พลเอก พ. รวมถึงพลเรือน 5 คน ได้แก่ 2 ช. 1 จ. 1 ป. และ 1 อ.

ในเวลาต่อมา พลเอก พ. พลเอก พัลลภ ปิ่นมณี หนึ่งใน ‘ผู้ก่อการ’ ซึ่งในเวลาต่อมาย้ายข้างเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้ออกมาแฉหมดเปลือกว่าชื่อที่อยู่ในนั้นมีใครบ้าง

พล็อตของพลเอกพัลลภระบุว่า ก่อนการรัฐประหาร 19 กันยายนไม่นาน ปีย์ มาลากุล เจ้าของนิตยสาร ‘ดิฉัน’ และวิทยุ จส.100 ได้ชวน ‘ผู้ใหญ่’ ในบ้านเมืองมารับประทานอาหารเย็นที่บ้าน ประกอบด้วย พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี, พลเอกพัลลภ, อักขราทร จุฬารัตน ประธานศาลปกครองสูงสุด, ชาญชัย ลิขิตจิตถะ ประธานศาลฎีกา, จรัญ ภักดีธนากุล เลขาธิการประธานศาลฎีกา และปราโมทย์ นาครทรรพ หนึ่งในที่ปรึกษากลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เพื่อวางแผนการรัฐประหาร

ในเวลาต่อมา ปีย์ยอมรับว่าได้เชิญบุคคลเหล่านี้มารับประทานอาหารด้วยกัน แต่ไม่ได้วางแผนรัฐประหาร เป็นเพียงการ ‘พูดคุยทั่วไป’ เท่านั้น

อีกด้านหนึ่ง นายทหารในกองทัพจำนวนหนึ่งสะสมความไม่พอใจในตัว ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มาสักระยะแล้ว โดยเฉพาะการ ‘จัดกำลัง’ ให้อยู่แต่ในเตรียมทหารรุ่น 10 รุ่นเดียวกับทักษิณ การวางตัว พลเอก พรชัย กรานเลิศ ให้เป็นผู้บัญชาการทหารบกต่อจาก พลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน

แต่ทั้งหมดก็ยังไม่หนักหนาสาหัสเท่าการที่ทักษิณไปพาดพิง ‘ผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ’ เมื่อเดือนมิถุนายน และตามมาด้วยการโต้กลับ ของ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ด้วยวาทะรัฐบาลก็เหมือนกับ ‘จ๊อกกี้’ ที่ควบม้าเท่านั้น ไม่ใช่เจ้าของทหาร เจ้าของทหารคือชาติและพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตามมาด้วยการเดินสายปลุกใจทหารของพลเอกเปรมในทุกเหล่าทัพ

นั่นทำให้ทหาร ‘ลูกป๋า’ จำนวนมากที่อยู่นอกราชการเริ่มวางแผน เช็กกำลัง และพยายามโน้มน้าวผู้บัญชาการทหารบกอย่างพลเอกสนธิให้ตัดสินใจว่าจะร่วมด้วยหรือไม่

เพราะการรัฐประหารในปี 2549 ไม่ใช่เรื่องง่าย ฝ่ายคุมกำลังเป็นคนของทักษิณแทบทั้งหมด และการรัฐประหารก็ไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศมานานกว่า 15 ปีแล้ว…

ภาพ: Reuters

ยึดอำนาจเพื่อแก้ ‘ความขัดแย้ง’ 

13 กันยายน 2549

พลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบกในเวลานั้น ให้สัมภาษณ์หลังจากกลับจากพม่า ขอให้ทุกฝ่ายหยุดพูด หยุดถามเรื่องรัฐประหารได้แล้ว เพราะกองทัพไม่มีทางทำ

“คิดว่าสถานการณ์บ้านเมืองถึงเวลาแล้วหรือต้องทำการปฏิวัติ เพราะบ้านเมืองยังไปได้อีกไกล ดังนั้นอยากให้เลิกพูดเรื่องนี้ เพราะมันคงเป็นไปไม่ได้ และข่าวที่ออกมาเป็นลักษณะด้านลวง”

แต่เรื่องนี้ต้องเท้าความไปถึงต้นปี 2549 ในห้วงเวลาที่เริ่มมีความขัดแย้งกันมากขึ้น นอกจากเรื่องภายใน ‘กองทัพ’ และพลเอกเปรมแล้ว ปัจจัยสำคัญอีกเรื่องก็คือบริบททางการเมืองระหว่างรัฐบาลทักษิณ พันธมิตรประชาธิปไตย และพรรคฝ่ายค้านสำคัญอย่างพรรคประชาธิปัตย์

ฝ่ายทักษิณนั้นยุบสภาไปตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2549 และแม้จะมีการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 2 เมษายนปีเดียวกัน แต่ก็ถูกบอยคอตต์จากพรรคฝ่ายค้าน ได้แก่พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทย และพรรคมหาชน

ในเวลาต่อมา ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้การเลือกตั้งครั้งนั้น ‘ไม่ชอบ’ ด้วยรัฐธรรมนูญ เนื่องจากกระบวนการจัดการเลือกตั้งและการหันคูหามิชอบ โดยมีมติ 8 ต่อ 6 ส่งผลให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ทั้งหมดได้รับโทษจำคุกในเวลาต่อมา

รัฐบาลทักษิณจำต้องรักษาการต่อ จนกว่าจะสรรหา กกต. ชุดใหม่ได้ครบ คณะรัฐมนตรีทั้งคณะเป็นคณะรัฐมนตรีรักษาการ ไม่มีสภาผู้แทนราษฎร แต่รัฐบาลทักษิณมีความจำเป็นต้องจัดพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 60 ปี ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งรัฐบาลได้กราบบังคมทูลเชิญพระราชอาคันตุกะทั่วโลกเพื่อร่วมถวายพระพร ทำให้หยุดการเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้ชั่วคราว

หลังพระราชพิธีจบ การสรรหา กกต. ก็เดินต่อ ต้นเดือนกันยายน สว. (ซึ่งมาจากการเลือกตั้ง) ก็สรรหา กกต. จนได้ครบทุกตำแหน่ง พร้อมจัดการเลือกตั้งในวันที่ 15 ตุลาคม 2549

ครั้งแรก ทักษิณตั้งใจจะลงเลือกตั้งอีกครั้ง แต่ก็มีเสียงคัดค้านจากกลุ่มพันธมิตรและฝ่ายต่อต้าน ขอให้เขา ‘เว้นวรรค’ ดังขึ้นเรื่อยๆ

ในเวลานั้น มีข่าวว่าทักษิณจะถอดใจ โดยอาจวางมือจากตำแหน่งนายกฯ พร้อมกับมอบให้มือขวาอย่าง สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์, พลตำรวจเอก ชิดชัย วรรณสถิตย์ รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย หรือสุรเกียรติ์ เสถียรไทย รองนายกฯ เป็นแคนดิเดตนายกฯ คนต่อไป หากพรรคไทยรักไทยชนะการเลือกตั้ง แต่การเลือกตั้งครั้งนั้นก็ไม่ได้เกิดขึ้นจริง…

ย้อนกลับไปต้นปี 2549 อีกเช่นกัน เมื่อทักษิณตัดสินใจขายหุ้นชินคอร์ปให้กับกลุ่มเทมาเส็ก ประเทศสิงคโปร์ การชุมนุมของพันธมิตรฯ จุดติดจนกลายเป็นการ ‘ยุบสภา’ ของทักษิณ แต่พันธมิตรฯ ไม่ได้คิดแค่นั้น แต่คิดไปถึงการเรียกร้อง ‘นายกฯ พระราชทาน’ ตามมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญ 2540 เพื่อให้พระมหากษัตริย์ทรงพระราชทานนายกฯ ลงมาแทนทักษิณ พรรคฝ่ายค้านอย่างพรรคประชาธิปัตย์ในเวลานั้นก็คิดตรงกัน

“ข้อเสนอของพรรคในการขอรัฐบาลพระราชทานตามมาตรา 7 เป็นการพิจารณาตามสถานการณ์บ้านเมืองและรัฐธรรมนูญตามระบอบประชาธิปไตย ไม่ได้เป็นการฉีกรัฐธรรมนูญ หรือเว้นวรรคประชาธิปไตย ตามที่นายกรัฐมนตรีกล่าวหา โดยข้อเสนอของพรรคประชาธิปัตย์นั้นแตกต่างจากกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เพราะต้องการให้นายกรัฐมนตรีมาร่วมกันแก้ไขปัญหา ไม่ต้องการให้มีการตอบโต้กันไปมา” อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แถลงข่าว

แต่การขอนายกฯ มาตรา 7 ก็ไม่ได้เกิดขึ้นจริง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงพระราชทานพระราชดำรัส ปฏิเสธการสรรหานายกฯ ผ่านมาตรา 7 เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2549 และต้นทางจากพระราชดำรัส ซึ่งนักวิชาการเรียกตรงกันว่าเป็น ‘ตุลาการภิวัฒน์’ คือให้ฝ่ายตุลาการเข้ามามีส่วนตัดสิน – แก้วิกฤตการเมือง ก็กลายเป็นต้นทางที่ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้การเลือกตั้ง 2 เมษายน 2549 ที่ไทยรักไทยเป็นพรรคหลักพรรคเดียวในการเลือกตั้ง กลายเป็นโมฆะ

หลังพระราชพิธีในเดือนมิถุนายนจบลง ทุกเส้นทางก็เดินไปหาการเลือกตั้งในเดือนตุลาคม ทว่าก่อนการรัฐประหารราว 1 สัปดาห์ สนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ยังคงนัดชุมนุมใหญ่ในวันที่ 20 กันยายน 2549 และเริ่มมีข่าวหนาหูว่า ‘ยงยุทธ ติยะไพรัช’ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คนใกล้ชิดของทักษิณในเวลานั้น จะนำเจ้าหน้าที่ป่าไม้เข้ามาปะทะกับกลุ่มพันธมิตรฯ

การปะทะกันที่ยังไม่ได้เกิดขึ้นจริง นำไปสู่เหตุผลสำคัญของการรัฐประหารที่ให้เหตุผลว่า เพื่อแก้วิกฤตความขัดแย้งของ ‘คนในชาติ’ ในที่สุด

ภาพ: Reuters

“คำถามบางประการ ถึงตายก็ตอบไม่ได้ ดังนั้น เรื่องบางเรื่องเมื่อถึงเวลาจะปรากฏขึ้นมาเอง”

พลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบก ตอบคำถามกับ พลตรี สนั่น ขจรประศาสน์ ถึงเบื้องหลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ในอีก 6 ปีถัดมา ในห้วงเวลาที่พลเอกสนธิกลายเป็น ส.ส. ผ่านการเลือกตั้ง จากพรรคมาตุภูมิ

ในอดีตนั้น หากผู้บัญชาการทหารบกไม่เอาด้วยกับการรัฐประหาร บรรดาคณะทหารก็ต้องไปหาทุนภายนอก เพราะการให้ผู้บังคับการกองพันนำ ‘รถถัง’ และนำทหารออกมา ‘ยึดอำนาจ’ ย่อมเป็นค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น

วาสนา นาน่วม นักข่าวสายทหาร เขียนไว้ในหนังสือ ‘ลับลวงพราง ปฏิวัติปราสาททราย’ ว่า ในสมัย พลเอก สุจินดา คราประยูร ยึดอำนาจนั้น ตั้งสำรองให้ผู้บังคับการหน่วยระดับกองพันไปสำรองไว้ที่คนละ 5 หมื่นบาท ส่วนระดับกรม คนละ 1 แสนบาท แต่ในวันที่ 19 กันยายนนั้น ตั้งไว้หน่วยละ 1 ล้านบาท ทั้งเพื่อดูแลลูกน้อง ซื้อใจ และเป็นงบฯ สำหรับผู้บังคับบัญชา ที่เมื่อสำเร็จแล้วก็มี ‘โบนัส’ อีก

แต่เมื่อพลเอกสนธิตัดสินใจร่วมด้วย ความมั่นใจว่าจะ ‘สำเร็จ’ ก็มีมากขึ้น และเมื่อยึดอำนาจสำเร็จแล้ว การดึงเงินหลวงมาใช้ก็ไม่ผิด ซ้ำยังดึงเงินมาได้เพิ่ม แจกจ่ายเพิ่มให้บรรดา ผบ.หน่วย

ถึงอย่างนั้นก็ยังมีข่าวลือว่า การรัฐประหาร 19 กันยายน มีแหล่งทุนสำคัญอีก ได้แก่ นายทุนธนาคารใหญ่ 2 แห่ง และบิ๊กในวงการ ‘น้ำเมา’ ที่ใกล้ชิดกับพลเอกเปรม รวมถึง ประชัย เลี่ยวไพรัตน์ เจ้าของ TPI ซึ่งต่อมาปฏิเสธในภายหลังว่า ‘ไม่เกี่ยว’ กับการเป็นเจ้าของทุน

ช่วงแรก พลเอกสนธิปฏิเสธอย่างหนักแน่นว่า การยึดอำนาจไม่ได้มีเบื้องหลังซับซ้อนอะไรขนาดนั้น เขาคิดวางแผนเพียงคนเดียว ร่วมกับเพื่อนไม่กี่คน และอาศัยกลยุทธ์ ‘ลับ ลวง พราง’ เพื่อให้ทักษิณตายใจที่สุด

แต่เมื่อเวลาผ่านไปนานเข้าถึงปี 2555 เรื่องเล่าจากปากพลเอกสนธิว่าด้วย ‘เบื้องหลัง’ ก็เปลี่ยนไป พลเอกสนธิ พูดขึ้นมาเองว่า “คำถามบางประการตายแล้วก็ตอบไม่ได้ ดังนั้นเรื่องบางเรื่อง เมื่อถึงเวลาจะปรากฏขึ้นมาเอง”

นอกจากนี้ ยังมีอีก 2 ทฤษฎี สุริยะใส กตะศิลา แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ให้สัมภาษณ์ในนิตยสาร IMAGE ฉบับเดือนธันวาคม 2549 ว่า

“วันนี้ก็เห็นโดยพฤตินัยได้อย่างชัดเจนว่า พลเอกเปรมใช้อำนาจนั้นผ่าน คปค. ท่านนั่งบัญชาการอยู่ที่บ้านสี่เสาฯ และไม่มีใครคิดว่าท่านจะกล้าทำ หรือไม่มีใครคิดตอนที่นั่งร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 ว่า การรัฐประหารครั้งนี้ องคมนตรีจะมีส่วนเกี่ยวข้องหรือเปิดเผยขนาดนี้”

นอกจากนี้ ในเอกสารของ WikiLeaks ที่เผยแพร่ในช่วงปี 2552 ราล์ฟ บอยซ์ เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย ได้ระบุว่า ‘น่าสังเกต’ ที่คณะรัฐประหารสามารถเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่พระตำหนักสวนจิตรลดาอย่างรวดเร็วในช่วงเที่ยงคืน ซึ่งอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ฝ่ายต่อต้านการยึดอำนาจไม่สามารถทำงานได้

เรื่องนี้ทักษิณให้สัมภาษณ์ดัวยตัวเองภายหลังเช่นเดียวกันว่า ในเมื่อมีพระบรมราชโองการออกมาแล้ว และฝ่ายคณะรัฐประหารสามารถเข้าเฝ้าฯ ได้ การต้านรัฐประหารก็เป็นอันสิ้นสุด…

ภาพ: AFP

รัฐประหารสีเหลือง

ภาพที่เห็นจนชินตาจากการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ก็คือ การที่มีประชาชนสวมเสื้อสีเหลืองพร้อมตราสัญลักษณ์เฉลิมพระเกียรติ รัชกาลที่ 9 มอบดอกไม้ให้กับทหารที่ทำการรัฐประหารเพื่อให้กำลังใจ และรู้สึกว่าการรัฐประหารดังกล่าวนั้นเป็นไปเพื่อปกป้องสถาบันฯ จาก ‘ภัยคุกคาม’

ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีที่ถูกรัฐประหาร เพิ่งพูดในคลับเฮาส์เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2564 ที่ผ่านมาว่า ต้องยอมรับว่าตัวเองเป็นคน ‘ซื่อบื้อ’ ที่ไว้วางใจผู้บัญชาการเหล่าทัพมากเกินไป และในอีกด้านก็มีคน ‘รอบวัง’ ซึ่งทักษิณใช้คำว่า Palace Circle ไม่พอใจเขา จากการปฏิบัติตัวในช่วงพระราชพิธีเฉลิมฉลองครองราชย์ 60 ปี ในช่วงกลางปี 2549

“กองพิธีการของกระทรวงการต่างประเทศและสำนักพระราชวัง กำหนดให้ผมยืนอยู่ข้างล่างเพื่อรับแขก ซึ่งคนไม่รู้ดูเหมือนกับว่าผมไปแย่งรับแขกของพระเจ้าอยู่หัว เพราะผมเป็นเจ้าภาพ และเขาสั่งให้ผมไปยืนอยู่ตรงนั้น ผมก็ไม่รู้เรื่อง ผมทำตามเจ้าหน้าที่บอก และด้วยความที่ผมเดินทางเยอะ ก็รู้จักคนเยอะ ก็ได้ทักทายกัน การเป็นเพื่อนเป็นฝูงกับกษัตริย์ต่างประเทศมันมีอยู่ เจอกันก็ทักทายกันเอง แต่ก็มีคนไปหาว่าผมไปโชว์ดีล ซึ่งเป็นเรื่องของคนในรอบวังอาจจะเข้าใจผมผิด แต่ไม่ใช่พระเจ้าอยู่หัว”

นอกจากนี้ ในช่วงเวลาเดียวกันก็มีหนังสือชื่อ The King Never Smiles โดย พอล แฮนด์ลีย์ (Paul Handley) เขียนวิจารณ์รัชกาลที่ 9 ออกตีพิมพ์พอดี ซึ่งทำให้ฝ่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและฝ่ายไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลออกมาระบุว่า รัฐบาลอยู่เบื้องหลังให้ตีพิมพ์หนังสือดังกล่าว ในช่วงเวลาเดียวกับงานเฉลิมฉลองครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี พอดี

“มีคนเอาหนังสือเล่มนี้มาบอกว่าผมเป็นสปอนเซอร์ ทั้งที่ผมยังไม่รู้จักคนเขียนเลย ไม่เคยอ่านด้วย จนถึงวันนี้ก็ยังไม่เคยอ่าน กระทั่งตอนหลังมาสืบทราบว่า หนังสือดังกล่าวพิมพ์ที่โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยเยล ซึ่งประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู บุช เคยเป็นศิษย์เก่า เราก็เลยไปขอร้องสหรัฐอเมริกาว่างานพระเจ้าอยู่หัวจะมีในเดือนมิถุนายน ขออย่าเพิ่งออกหนังสือนั้นก่อน ซึ่งเขาก็ทำให้ แต่จะบอกให้เขาไม่ออกหนังสือคงทำไม่ได้ เพราะประเทศเขาเป็นเสรีภาพ” ทักษิณระบุในคลับเฮาส์

นอกจากนี้ วิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ในสมัยทักษิณ ก็เขียนลงในหนังสือ ‘โลกนี้คือละคร’ ว่า สาเหตุหนึ่งที่เขาตัดสินใจลาออก เพราะรัฐบาลชุดนี้ไม่สามารถจัดการปัญหา ‘หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ’ ได้ และมีเรื่อง The King Never Smiles รวมอยู่ด้วย ซึ่งวิษณุก็ลาออกจากตำแหน่งรองนายกฯ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2549

“ผมเคยหารือเรื่องนี้กับเลขาธิการนายกรัฐมนตรีว่า ถ้ารัฐบาลยังจับใครไม่ได้ก็จะถูกตำหนิอยู่ตลอดไป จึงต้องแสดงความจงรักภักดีอย่างจริงใจ ขอให้จับผู้กระทำผิดให้ได้ ขอให้คนในรัฐบาลระมัดระวังคำพูดและการกระทำที่ชวนให้ตีความได้ว่าขาดความระวังสังวร เรื่องอื่นคนไทยพอทนได้ แต่เรื่องอย่างนี้ทนกันไม่ได้ และจะเป็นความเสียหายที่ร้ายแรงที่สุดต่อรัฐบาล การที่คนไทยระแวงรัฐบาลเรื่องทุจริตคดโกงนั้นสาหัสพออยู่แล้ว แต่ถ้าระแวงว่ารัฐบาลไม่ปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ทั้งที่เป็นหน้าที่และมีกลไกพร้อม จะอุฉกรรจ์กว่าหลายเท่า” วิษณุระบุไว้ในหนังสือ โลกนี้คือละคร ซึ่งตีพิมพ์ในปี 2554

ภาพ: AFP

Soft Power กับการยึดอำนาจ

ภาพของรถถังที่จอดบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้ากลายเป็นจุดสนใจของประชาชนอย่างต่อเนื่องยาวนาน ในภาพเป็นภาพของการถ่ายมิวสิกวิดีโอเพลงลูกทุ่ง เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2549 เพียง 5 วัน หลังการรัฐประหาร

สิ่งที่แตกต่างชัดเจนในค่ำคืนวันรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ก็คือการเลือกเปลี่ยนเพลง ‘มาร์ช’ หรือเพลงปลุกใจ กลายเป็นเพลงเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 รวมถึงเพลง ต้นไม้ของพ่อ, ของขวัญจากก้อนดิน ซึ่งขับร้องโดย ‘เบิร์ด’ – ธงไชย แมคอินไตย์ หรือเพลงภูมิแผ่นดิน นวมินทร์มหาราชา พร้อมทั้งฉายภาพพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี วนซ้ำไปต่อเนื่องตลอดทั้งคืน

ขณะเดียวกัน ทหารที่ทำรัฐประหารก็ผูกริบบิ้นและโบว์สีเหลืองที่ปลายปืนกลเป็นสัญลักษณ์ว่าอยู่ฝ่ายไหน รวมถึงชื่อ ‘คณะรัฐประหาร’ ก็มีการเติมคำว่า ‘อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข’ ห้อยท้ายไปด้วย ทำให้ถูกตีความว่าสถาบันฯ อยู่เบื้องหลัง

และคำคำนี้เองก็ได้สร้างปัญหาตามมาภายหลัง เพราะชื่อภาษาอังกฤษของ คปค. หรือคณะรัฐประหารนั้นคือ Council for Democratic Reform under Constitutional Monarchy ซึ่งอาจแปลได้อีกนัยหนึ่งว่า ‘สถาบันพระมหากษัตริย์’ ทรงอยู่เบื้องหลังการยึดอำนาจ และข่าวต่างประเทศในเวลานั้นก็เสนอไปในแนวทางเดียวกันหมด เพราะชื่อภาษาอังกฤษได้สื่อความหมายไปในแนวทางนั้น

8 วันหลังรัฐประหาร กระทรวงการต่างประเทศต้องทำหนังสือชี้แจงยกใหญ่ ขอ ‘เปลี่ยนชื่อ’ ภาษาอังกฤษ จาก Council for Democratic Reform under Constitutional Monarchy ให้เหลือเพียง Council for Democratic Reform เท่านั้น พร้อมกับขอความร่วมมือสื่อมวลชน ให้ใช้เฉพาะชื่อสั้นเท่านั้น ส่วนชื่อยาว ให้เลิกใช้

แต่ถามว่าหลังจากนั้น คำว่า ‘อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข’ ยังมีความหมายหรือไม่ในระบอบการเมืองไทย สิ่งสำคัญก็คือ หลังจากการรัฐประหาร 19 กันยายน เราแทบไม่อาจพูดถึง ‘ประชาธิปไตย’ แบบสั้นๆ ห้วนๆ ได้อีก

สิ่งสำคัญนอกจากสะท้อนให้เห็นในวิสัยทัศน์ พันธกิจ กฎหมาย ประกาศ ของหน่วยงานรัฐ ที่ไม่อาจเขียนเฉพาะคำว่า ‘ประชาธิปไตย’ เฉยๆ ได้แล้ว ในการชุมนุมเพื่อขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในปี 2556-2557 ก็ต้องตั้งชื่อองค์กรที่เคลื่อนไหวว่า คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.)

ปัญหาใหญ่ที่สุดเกิดขึ้นเมื่อ ‘ข้อบังคับพรรค’ ของพรรคอนาคตใหม่ ไม่มีคำว่า ‘อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข’ ต่อท้าย ทำให้ ณฐพร โตประยูร ไปร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญว่า พรรคนี้มีเจตนา ‘ล้มล้างการปกครอง’ เพราะไม่มีคำดังกล่าวในขัอบังคับ

แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะไม่ได้ตัดสินยุบพรรคอนาคตใหม่ด้วยเรื่องนี้ แต่ในคำวินิจฉัยก็ระบุชัดเจนว่า ข้อบังคับพรรคที่ไม่มีวรรคดังกล่าวห้อยท้ายมีความ ‘คลุมเครือ’ ซึ่งอาจก่อให้เกิดความแตกแยกจากชนในชาติได้ ดังนั้น กกต. มีอำนาจหน้าที่จะพิจารณาให้เพิกถอนข้อบังคับได้ เพื่อป้องกันความสับสน และให้พรรคอนาคตใหม่ไปแก้ข้อบังคับ เพื่อใส่วรรคท้ายนี้ไปด้วย

ภาพ: Reuters

นวมทอง ไพรวัลย์

รุ่งเช้าวันที่ 30 กันยายน 2549

นวมทอง ไพรวัลย์ คนขับแท็กซี่ อดีตพนักงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ได้ขับรถแท็กซี่ โตโยต้า โคโรลลา สีม่วง พุ่งเข้าชนรถถังเบา รุ่มเอ็ม 41 ที่จอดอยู่ข้างสวนอัมพร บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า โดยบริเวณฝากระโปรงท้ายเขียนคำว่า ‘พลีชีพ’ และบริเวณด้านข้างประตูรถเขียนตัวหนังสือไว้ว่า ‘พวกทำลายประเทศ’ โดยนวมทองได้รับบาดเจ็บสาหัส ซี่โครงซ้ายหัก คางแตก ปากแตก และตาซ้ายบวมเป่ง ก่อนจะอาการดีขึ้นในเวลาต่อมา

นวมทองให้สัมภาษณ์ว่า “กระทำไปเพื่อความถูกต้อง และรู้สึกว่าอยู่ดีๆ ทหารจะนำรถถังออกมาวิ่งแบบนี้ไม่ได้ และการที่ประชาชนนำดอกไม้ไปให้นั้นเป็นเรื่องไร้สาระ”

ในเวลาต่อมา พันเอก อัคร ทิพโรจน์ รองโฆษกคณะปฏิรูปการปกครองฯ ให้สัมภาษณ์ว่า คงไม่มีคนไทยคนใดที่มีอุดมการณ์สูงถึงขนาดที่ต้องทำร้ายตัวเอง โดยการทำลายชีวิต เพื่อประชดหรือเรียกร้องให้ต่อต้าน คปค.

หลังจากนั้น นวมทองได้ให้สัมภาษณ์กับ จอม เพชรประดับ ทางสถานีโทรทัศน์ไอทีวี ยืนยันเจตนาว่าต้องการ ‘พลีชีพ’ เพื่อประชาธิปไตย

“บ้านเมืองมันไปถึงไหนกันแล้ว มันไม่ควรมีการปฏิรูปเกิดขึ้น ระหว่างขับรถแท็กซี่ ผู้โดยสาร 10 กว่าราย ไม่มีใครชอบทั้งนั้น ต่อต้านทั้งนั้น ในใจก็คิดว่า…ลุงต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อต่อต้าน ยิ่งคุณไปปิดข่าวชาวบ้านว่ามีแต่คนสนับสนุน เอามาถ่ายเป็นแบ็กกราวนด์อะไร มันไร้สาระสิ้นดี

“ต้องการให้โลกรู้ ต้องการสร้างประวัติศาสตร์ ว่าปฏิวัติครั้งนี้มีแท็กซี่ชนรถถังจนกระทั่งตัวตาย ลุงบอกตรงๆ ว่า ลุงไม่อยากจะอยู่ใต้อำนาจเผด็จการ แต่ประเทศเรา ถ้าปฏิวัติอีก มันก็เหมือนกับพม่า”

กลางดึกของวันที่ 31 ตุลาคม นวมทองตัดสินใจผูกคอตายที่หน้าสำนักงานหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ริมถนนวิภาวดีรังสิต โดยสวมเสื้อสกรีนข้อความของ กุหลาบ สายประดิษฐ์ (ศรีบูรพา) ข้อความว่า

“อันประชา สามัคคี มีจัดตั้ง เป็นพลัง

แกร่งกล้า มหาศาล แสนอาวุธ แสนศัตรู

หมู่อันธพาล ไม่อาจต้าน แรงมหาประชาชน”

พร้อมกับกระดาษ 1 แผ่น เขียนข้อความไว้บนพื้นว่า “อดีตคนขับรถแท็กซี่พลีชีพเพื่อประชาธิปไตยและลบคำสบประมาท รองโฆษก คปค.ว่าไม่มีใครมีอุดมการณ์มากขนาดยอมพลีชีพได้ (ปราบเผด็จการ) ลงชื่อ นวมทอง ไพรวัลย์”

Tags: , , , , ,