“คนปลูกถ่ายหัวใจคนแรกของโลกอยู่ได้แค่ 18 วัน เขาทรมาน นั่นแปลว่า (การทดลอง) มันผิดหรือเปล่า”
Replicas เป็นเรื่องของนักวิทยาศาสตร์นามว่าวิลเลียม ฟอสเตอร์ ผู้ทำการทดลองปลุกคนตายให้ฟื้นคืนชีพ เขาทำการทดลองไม่สำเร็จในทีแรก แต่ก็มีเหตุให้ต้องใช้ความรู้ทั้งหมดที่มีเพื่อพาครอบครัวของเขากลับมาจากความตายหลังประสบอุบัติเหตุรถยนต์ พล็อตเรื่องของหนังไม่ซับซ้อนนัก แต่ก็มีคำถามทางศีลธรรม และอภิปรัชญา (ปรัชญาว่าด้วยความจริงสูงสุด เช่นเรื่องตัวตน วิญญาณ และพระเจ้า) ให้ขบคิดอยู่ไม่น้อยหลังจากดูจบ
ตั้งแต่ช่วงต้น หนังพาเราไปจ้องมองวิลเลียมที่พยายามจะเชื่อมต่อสมองของคนที่ตายไปแล้วเข้ากับหุ่นยนต์ แต่ก็พบว่าหุ่นยนต์ตัวนั้นฟื้นคืนชีพได้ไม่นานก่อนจะฉีกทึ้งร่างกายตัวเอง จนเขาต้องปิดการทำงานของมันในที่สุด ภรรยาของเขาไม่เห็นด้วยกับการทดลองนี้ โดยอ้างว่ามันอาจทำให้คนที่ถูกนำมาทดลองทุกข์ทรมาน แต่วิลเลียมอ้างว่ามันอาจช่วยคนได้มากมาย เช่น ทหาร เหยื่ออุบัติเหตุ และผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ ซึ่งหากมองในแง่ปรัชญาแล้ว เราอาจนำทฤษฎีทางจริยศาสตร์สองทฤษฎีมาอธิบายมุมมองที่แตกต่างกันนี้ได้
ทฤษฎีแรกคือทฤษฎีประโยชน์นิยม (Utilitarian) ซึ่งเชื่อว่า การกระทำที่ดีคือการทำประโยชน์ต่อคนจำนวนมากที่สุด คือ ทำให้ผู้คนมีความสุขหรือความพึงพอใจมากที่สุด ตัวชี้วัดว่าการกระทำใดดีหรือไม่ดีอยู่ที่ปริมาณความสุขที่เกิดขึ้นจากการกระทำของเรา นักปรัชญาคนสำคัญที่สนับสนุนแนวคิดนี้คือ จอห์น สจ๊วต มิลล์ (John Stuart Mill 1806-1873) ซึ่งได้กล่าวไว้ว่า
“ความถูกต้องของการกระทำขึ้นอยู่กับแนวโน้มที่การกระทำนั้นจะก่อให้เกิดความสุข ความผิดขึ้นอยู่กับแนวโน้มที่จะก่อให้เกิดสิ่งที่สวนทางกับความสุข”
ปรัชญานี้สนับสนุนให้คนทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวม และวางตัวเป็นกลาง ไม่เข้าข้างใคร เช่น หากเราขับรถไฟที่เบรกแตกไปบนรางแล้วต้องเลือกชนระหว่างพ่อของเรา หรือคนสิบคนที่เราไม่รู้จัก เราควรเลือกชนพ่อของเรา เพราะการชนคนสิบคนจะทำให้เกิดความทุกข์ของคนจำนวนมากกว่า
ปรัชญาอีกสายหนึ่งที่ขัดแย้งกับประโยชน์นิยม ก็คือ หน้าที่นิยม (formalism) ของค้านท์ (Immanuel Kant) แนวคิดนี้เชื่อในหลักความเป็นสากล โดยอิงหลักการที่ว่า เมื่อคิดจากหลักเหตุผลแล้ว เราสามารถให้ทุกคนกระทำในสิ่งที่เรากำลังจะกระทำได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้ การกระทำนั้นก็ถือว่าผิด จากหลักการนี้ การโกหกไม่เคยเป็นสิ่งถูกต้อง แม้จะโกหกเพื่อปกป้องคนที่เรารัก หรือเป็นการโกหกสีขาว (White lie) ที่ทำไปเพื่อให้เกิดประโยชน์สุขกับคนอื่นๆ เพราะหากเรายอมให้ทุกคนโกหกได้ สังคมก็จะวุ่นวาย สำหรับค้านท์นั้น ตัวการกระทำสำคัญกว่าเนื้อหาหรือผลของการกระทำ ค้านท์เชื่อว่าความดีเชิงศีลธรรมเป็นสิ่งที่คนรู้ได้เองจากการใช้เหตุผล โดยที่ไม่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาหรือสภาพสังคม
ถ้าพิจารณาจากสองมุมนี้ วิลเลียมอาจอ้างว่าการกระทำของเขาถูกต้องตามหลักประโยชน์นิยม เพราะมันจะช่วยรักษาชีวิตของคนอีกจำนวนมากไว้ได้ แต่ถ้ามองจากมุมมองหน้าที่นิยม การกระทำของวิลเลียมจะเป็นการกระทำที่ผิดไปทันที เพราะการทรมานคนคนหนึ่ง ไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดก็ตาม เป็นสิ่งที่เรายอมให้คนทั้งโลกทำไม่ได้ แม้จะมีข้ออ้างว่าทำประโยชน์ให้ผู้คนมากขนาดไหนก็ตาม
สุดท้ายแล้วหนังดูจะสนับสนุนแนวคิดแบบประโยชน์นิยมมากกว่า เพราะที่สุดแล้วหนังทำให้การทดลองของวิลเลียมชอบธรรม และยังดำเนินต่อไปแม้วิลเลียมจะวางมือจากวงการไปใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวแล้ว การทดลองนี้ยังเป็นตัวคลี่คลายปมหลายๆ อย่างและพาตัวเอกออกจากปัญหาในเรื่อง อย่างไรก็ตาม หนังได้ทำให้พื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่สีเทาด้วยการใส่เงื่อนไขมาว่า คนที่จะเข้าถึงเทคโนโลยีระดับนี้ได้ต้องเป็นคนร่ำรวยเท่านั้น…
“มันอาจจะมีอะไรมากกว่าในตัวมนุษย์ เช่นวิญญาณ”
“นั่นเป็นทั้งหมดที่ฉันเป็นหรือ ลูกๆ ของคุณ เป็นแค่การเชื่อมต่อทางประสาท สัญญาณไฟฟ้า และสารเคมีอย่างนั้นหรือ”
อีกหนึ่งประเด็นที่ได้จากหนังเรื่องนี้คือประเด็นทางอภิปรัชญา ว่าด้วยการมีอยู่ของจิต และความสัมพันธ์ระหว่างจิตกับร่างกาย ในการพาครอบครัวเขากลับมาจากความตายนั้น วิลเลียมไม่ได้ดาวน์โหลดข้อมูลจากสมองลงไปในร่างหุ่นยนต์ แต่ใช้วิธีการโคลนร่างของสมาชิกในครอบครัวขึ้นมาใหม่ โดยใช้ข้อมูลจากจิตสำนึกที่ดาวน์โหลดลงในฮาร์ดไดรฟ์
เขาคิดหนักอยู่นาน ว่าจะไม่สามารถเชื่อมต่อข้อมูลทุกอย่างในสมองเข้ากับร่างกายได้ แต่เขาก็ค้นพบว่า เมื่อใช้ร่างกายมนุษย์จริงๆ สมองของเจ้าของร่างสามารถรับรู้ว่าตัวเองมีร่างกายได้ เขาจึงดำเนินการทดลองต่ออย่างไม่รีรอ ผลปรากฎว่า ร่างกายสามารถเชื่อมต่อกับข้อมูลสมองที่ดาวน์โหลดลงมาอย่างน่าทึ่ง
อาจกล่าวได้ว่า แนวคิดเกี่ยวกับจิตและร่างกายของหนังเรื่องนี้เป็นแนวคิดแบบสสารนิยม (Materialism) ที่ถือว่าสสารเท่านั้นที่เป็นของจริง จิตสำนึก (consciousness) เป็นเพียงข้อมูลทางสมองชุดหนึ่งที่ดาวน์โหลดลงในฮาร์ดไดรฟ์ และส่งต่อไปยังร่างกายได้ และร่างกายที่จับต้องได้ทางกายภาพเป็นสิ่งเดียวที่จริงแท้ ความทรงจำเป็นเพียงการเชื่อมโยงทางประสาทที่เกิดขึ้นในสมอง และมีเพียงปรากฏการณ์ของสารเคมีในสมองเท่านั้นที่เป็นจริง การมีอยู่ของร่างกายมีขึ้นก่อนที่จิตจะกำเนิดขึ้น และหากปราศจากสมอง จิตก็ไม่มีอยู่
คำอธิบายที่เป็นวิทยาศาสตร์นี้ออกจะแย้งกับความเชื่อเรื่องจิตวิญญาณ หรือกระทั่งผู้ศึกษาปรัชญาเรื่องวิญญาณนิยม (Animism) หรือจิตนิยม (Idealism) ซึ่งเชื่อว่าจิตมีขึ้นก่อนร่างกายทางวัตถุสสาร และเป็นตัวบงการร่างกาย เราเห็นสรรพสิ่งเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับจิตเป็นตัวกำหนด และจิตยังเป็นองค์ประกอบที่สูงส่งกว่าร่างกาย เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดการระลึกรู้ตัวได้ เช่น เมื่อเราถูกมีดบาด เลือดที่ออกจากบาดแผลเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับร่างกาย แต่ความเจ็บปวดเป็นสิ่งที่ประทับลงในจิต
อย่างไรก็ตาม คำอธิบายนี้ไม่ได้ถูกนำมาใช้เป็นครั้งแรก เพราะช่วงศตวรรษที่ 17 เรอเน เดส์การ์ตส์ นักคณิตศาสตร์และนักปรัชญาชาวฝรั่งเศส ก็เสนอทฤษฎีว่าการรู้ตัวเกิดขึ้นที่ต่อมไพเนียล ซึ่งเป็นต่อมขนาดเท่าเม็ดถั่วเขียวที่อยู่ตรงกลางของสมอง ในปัจจุบัน ความลับของสมองก็ยังจุดประกายทฤษฎีและข้อถกเถียงใหม่ๆ เกี่ยวกับจิตอย่างไม่รู้จบ
อย่างไรก็ดี ร่างกาย และจิต (หรือสมอง) อาจสัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ได้ เราอาจสังเกตว่าเมื่อเราแตะโดนของร้อน ร่างกายเราจะสะดุ้งและบังคับให้เราเอามือออกมาจากจุดที่สัมผัสโดนของร้อนโดยอัตโนมัติ เราไม่อาจบอกได้แน่ชัดว่าเป็นการบงการของสมองหรือจิตกันแน่ที่ทำให้ร่างกายเราปกป้องตนเอง เพราะจะว่าไป ความอยากดำรงอยู่สืบต่อไปก็เป็นแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นได้กับทั้งสมองและจิต ในเรื่องนี้เราอาจต้องดูคำอธิบายทางศาสนาและคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์ที่มีอยู่เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับมันต่อไป
อย่างไรก็ดี หนังดูจะให้ค่ากับมุมมองทางวิทยาศาสตร์ ที่เชื่อในแนวคิดสสารนิยมเป็นหลัก แม้จะใส่ปมให้ตัวละครตั้งคำถามว่าจิตอาจไม่ได้เป็นเพียงสมอง หรือให้ตัวเอกถามขึ้นมาว่า “เราดาวน์โหลดจิตสำนึกได้ไหม” แต่น่าเสียดายที่ก็ไม่ได้ต่อยอดประเด็นนี้ต่อไป ความขัดแย้งในการดาวน์โหลดข้อมูลในสมองมาใส่ร่างกายหุ่นยนต์สามารถแก้ได้ด้วยการเขียนโค้ด ซึ่งก็ยังคงตีความปรากฏการณ์ของสมองในฐานะชุดข้อมูลชุดหนึ่ง หนังย้ำเตือนว่า ในขณะที่ชาวตะวันตกหันมาสนใจศึกษา ‘จิต’ ในฐานะสิ่งที่จับต้องไม่ได้ และอธิบายจากมุมมองทางศาสนามากขึ้น ก็ยังมีความพยายามจะตีความปรากฏการณ์ทางจิตในแบบวิทยาศาสตร์ ซึ่งทำให้จิตเป็นข้อมูลชนิดหนึ่งที่ชั่งตวงวัด เปลี่ยนแปลงค่าได้ ไม่ต่างจากสารเคมีทางวิทยาศาสตร์อยู่ด้วยเช่นกัน
อ้างอิง
https://adaymagazine.com/science-of-consciousness/
Tags: film, Replicas