ความหวังของไทยที่ต้องการให้กลุ่ม RCEP เขตการค้าเสรีที่ครอบคลุมประชากรเกือบครึ่งโลก ประกาศจัดตั้งในกรุงเทพฯ ในสัปดาห์นี้ วืดเสียแล้ว คาดว่าพิธีลงนามอาจเกิดขึ้นในปีหน้า (2020) หลังจากเวียดนามรับไม้ประธานอาเซียนต่อจากไทย
ไทยพยายามผลักดันให้การเจรจาจัดตั้ง RCEP (Regional Comprehensive Economic Partnership) บรรลุผลในช่วงที่ไทยเป็นประธานอาเซียน และมีพิธีลงนามจัดตั้งกลุ่มการค้าที่ประกอบด้วยชาติสมาชิกอาเซียน บวกด้วยพี่เบิ้มเอเชียอีก 6 ประเทศที่ว่านี้ ในเมืองหลวงของไทย
แต่ดูเหมือนหนึ่งในเขตเศรษฐกิจยักษ์ใหญ่ คือ อินเดีย ยังคงมีข้อเกี่ยงงอนในการเจรจา จึงต้องใช้เวลาต่อรองกันอีกพักใหญ่ ดังนั้น พิธีลงนามในเอกสาร ‘ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค’ อาจมีขึ้นในกรุงฮานอย
เดิมที คาดกันว่าในวันจันทร์ (4 พ.ย.) หลังเสร็จสิ้นการประชุมในกรุงเทพฯ ประเทศที่เข้าร่วมในกลุ่ม RCEP จะออกแถลงการณ์ร่วม ยืนยันเจตจำนงที่จะจัดตั้งเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลกภายในปี 2020 หากเจรจาสำเร็จก RCEP จะส่งผลสะเทือนอย่างไรต่อสถานะผู้นำของสหรัฐฯ ในเอเชีย ขณะที่จีนกลายเป็นพี่ใหญ่ในทางเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้ ต้องคอยดูกันต่อไป
ข้อต่อรองของอินเดีย
ถ้าจัดตั้งสำเร็จ RCEP จะเป็นหนึ่งในกลุ่มการค้าขนาดใหญ่ที่สุด ครอบคลุมประชากร 45% มีจีดีพีรวมกันคิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 3 และคาดว่ามูลค่าการค้าจะสูงเกือบ 30% ของโลก หรือกว่า 10.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
ความพยายามที่จะจัดตั้งกลุ่ม RCEP ซึ่งมีจีนเป็นหัวขบวนใหญ่ ร่วมกับอินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ กับชาติอาเซียน 10 ประเทศ มีการเจรจาแบบมาราธอนมานานร่วม 7 ปีนับแต่ปี 2012
นอกจากกฎกติกาทั่วไปเกี่ยวกับความร่วมมือด้านการค้าแล้ว ประเด็นที่ต้องถกกันมาก ดูจะมี 2 หัวข้อใหญ่
หัวข้อแรกเป็นข้อเรียกร้องของออสเตรเลียกับนิวซีแลนด์ ซึ่งต้องการให้ RCEP บรรจุเรื่องการปกป้องสภาพแวดล้อมและการคุ้มครองแรงงานไว้ในข้อตกลงด้วย เพราะต้องการเห็นการค้าในเอเชียมีมาตรฐานแบบสากล
ส่วนอีกหัวข้อมาจากอินเดีย ซึ่งต้องการให้เกิดการยื่นหมูยื่นแมว ระหว่างเรื่องการเข้าถึงตลาดกับการเปิดเสรีภาคบริการและแรงงาน
นโยบายของรัฐบาลอินเดียที่จะเข้าร่วมกลุ่ม RCEP เผชิญแรงต้านจากพลังทางเศรษฐกิจการเมืองภายในอยู่ไม่ใช่น้อย เพราะภาคเกษตรกรรรมและภาคอุตสาหกรรมหวั่นเกรงกันว่า การเปิดเสรีจะทำให้สินค้าราคาถูกจากจีนไหล่บ่าท่วมท้นเข้าไปแย่งชิงตลาด โดยเฉพาะกลุ่มโลหะ สิ่งทอ และนมเนย
เกษตรกรอินเดียนัดหมายจัดการประท้วงขึ้นทั่วประเทศในวันจันทร์ (4 พ.ย.) ซึ่งเดิมคาดกันว่าอาจมีการลงนามจัดตั้งกลุ่ม RCEP
มีรายงานว่า ก่อนหน้านี้ อินเดียทำท่าจะตกลงกับกฎกติกาของความตกลงฉบับนี้แล้ว แต่รัฐบาลนิวเดลียื่นข้อแลกเปลี่ยนใหม่ในนาทีสุดท้ายว่า ถ้าเปิดให้ชาติอื่นเข้าถึงตลาดอินเดียซึ่งมีประชากร 1,000 ล้านคน อินเดียก็ขอเข้าถึงภาคบริการของประเทศอื่น และขอให้แรงงานอินเดียเคลื่อนย้ายโดยเสรีเข้าไปทำงานในประเทศสมาชิกRCEP
แหล่งข่าวรายหนึ่งบอกกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า ข้อเรียกร้องใหม่ของอินเดียเป็นประเด็นที่เจรจายาก ดูเหมือนว่าจุดสะดุดนี้เองที่ทำให้กำหนดการแถลงข่าวของบรรดารัฐมนตรีการค้าภายหลังการเจรจานับชั่วโมงเมื่อวันศุกร์ต้องยกเลิก
รัฐมนตรีการค้าของฟิลิปปินส์ รามอน โลเปซ บอกกับนักข่าวว่า การเจรจาจัดตั้ง RCEP คงจะใช้เวลาไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ เพราะ “ประเทศสำคัญประเทศหนึ่งยังไม่พร้อม” โดยประเด็นหลักที่จะเจรจากันในระยะข้างหน้าคือเรื่องการเข้าถึงตลาด
สหรัฐฯ ถอยไป จีนมาแล้ว!
สงครามการค้า สหรัฐฯ-จีน ส่งผลฉุดรั้งการขยายตัวทั่วทั้งภูมิภาค คาดว่าจีดีพีของประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเติบโตในอัตราต่ำสุดในช่วงเวลา 5 ปี ขณะที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศเตือนว่า ศึกตอบโต้ครั้งนี้อาจถ่วงดึงอัตราการเจริญเติบโตของโลกลงมาถึงระนาบต่ำสุดในช่วงเวลากว่าหนึ่งทศวรรษ
ถ้า RCEP เกิดขึ้นในปี 2020 ปักกิ่งจะกลายเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจในเอเชีย ขณะที่วอชิงตันดูจะถอยห่างออกไปหลังจากรัฐบาลของโดนัลด์ ทรัมป์ นำสหรัฐฯ ถอนตัวออกจากการเจรจาจัดตั้งกลุ่มการค้าเสรีอีกกลุ่มไปแล้วเมื่อเดือนมกราคม 2017 นั่นคือ กลุ่ม TPP (Trans-Pacific Partnership)
อดีตกลุ่ม TPP ซึ่งเวลานี้กำลังก่อตัวขึ้นใหม่ในชื่อ CPTPP (Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership) มีญี่ปุ่นเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญ ด้วยความพยายามที่จะเชื่อมการค้าบนสองฟากสมุทรแปซิฟิก
กลุ่มการค้า CPTPP ไม่มีจีนเข้าร่วมตั้งแต่ต้นเพราะถูกอเมริกากีดกัน ถ้าจัดตั้งสำเร็จ กลุ่มนี้จะมีขนาดเป็นอันดับสามรองจากกลุ่มการค้าเสรีนาฟตาและกลุ่มยุโรปตลาดเดียว
ในยุคทรัมป์ มองกันว่า อเมริกาทำตัวเหินห่างจากเอเชียยิ่งขึ้นทุกที เห็นได้จากการเข้าร่วมการประชุมอาเซียน ซึ่งเป็นกลุ่มที่ประกาศตัวที่จะเป็นศูนย์กลางขับเคลื่อนกิจการของเอเชีย
ทรัมป์มาร่วมวงประชุมอาเซียนด้วยตัวเองเพียงครั้งเดียวเมื่อปี 2017 ที่ฟิลิปปินส์ เมื่อปีที่แล้ว ทำเนียบขาวส่งรองประธานาธิบดี ไมค์ เพนซ์ ไปร่วมที่สิงคโปร์ สำหรับในปีนี้ ตอนแรกมีข่าวว่า ผู้แทนผู้นำสหรัฐฯ จะมีแค่ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศ แต่ท้ายที่สุดก็เขยิบขึ้นเป็นระดับรัฐมนตรี คือ รัฐมนตรีพาณิชย์ วิลเบอร์ รอส กับที่ปรึกษาด้านความมั่นคง โรเบิร์ต โอ’เบรียน
กลุ่ม RCEP ไม่มีสหรัฐฯ ตั้งแต่ต้นเนื่องจากก่อตัวขึ้นจากอาเซียนกับประเทศคู่เจรจาในเอเชีย คือ ประเทศอาเซียนบวกสาม (จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้) กับอาเซียนบวกหก (อาเซียนบวกสาม เพิ่มด้วยอินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์)
ในวันข้างหน้า เมื่อเกิดกลุ่ม RCEP และกลุ่ม CPTPP บทบาทของสหรัฐฯ ในการค้าแบบหลายฝ่ายในเอเชียจะถูกจีนบดบังรัศมี เมื่อถึงตอนนั้น เราอาจได้เห็นแรงเสียดทานระลอกใหม่ระหว่างมหาอำนาจเดิมกับดาวรุ่งพุ่งแรง
สำหรับไทย ถึงแม้ชวดโอกาสที่จะสร้างเกียรติภูมิครั้งใหม่ ด้วยการเป็นเวทีประกาศจัดตั้งกลุ่มการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุด หลังจากเคยมีผลงานด้านการทูตอันโดดเด่นด้วยการเป็นเวทีก่อตั้งกลุ่มอาเซียนเมื่อปี 1967 แต่ไทยยังคงมีบทบาทได้อีกมากในเกมประชันขันแข่งของเศรษฐกิจการเมืองโลกในระยะต่อจากนี้ไป.
อ้างอิง:
AFP via Yahoo! News, 2 November 2019
AFP via Yahoo! News, 3 November 2019
ภาพ: Lillian SUWANRUMPHA / AFP
Tags: TPP, อินเดีย, อาเซียน, CPTPP, RCEP