การทำเพลงให้ถูกใจคนฟังในยุคสมัยที่มีตัวเลือกมากมาย อาจดูเป็นเรื่องยาก และหนึ่งในมาตรวัดความนิยมคือตัวเลขยอดวิวในยูทูบและโซเชียลมีเดียอื่นๆ แต่ค่ายเพลงป๊อปชั้นดีอย่าง White Music ในเครือแกรมมี่ กลับสามารถปล่อยเพลงป๊อปที่โดนใจคนฟังหลายต่อหลายเพลง มียอดวิวแตะร้อยล้านวิวจนเกือบจะเป็นเรื่องธรรมดา 

เบื้องหลังที่อาจไม่มีสูตรสำเร็จของการทำเพลง ส่วนหนึ่งต้องยกให้ อาม-รัฐการ น้อยประสิทธิ์ ผู้บริหารค่ายเพลง White Music ที่ได้วางคอนเซปต์ของค่ายให้เป็นค่ายเพลงป๊อปที่ฟังง่าย เข้าถึงคนฟัง แต่มีรสนิยมที่ดี พร้อมกับสร้างความสัมพันธ์กับศิลปินแบบพี่น้อง อยู่กันแบบครอบครัว เพื่อค้นหาตัวตนของศิลปินและดึงศักยภาพออกมาให้ได้มากที่สุด 

ค่ายเพลงที่เป็นมากกว่าค่ายเพลง

White Music เป็นค่ายเพลงที่เปรียบเสมือนคอมมูนิตี้ให้ศิลปินได้เข้ามาทำงาน โดยมีสโลแกนว่า Canvas of Sound หมายความว่าศิลปินคือสีสันต่างๆ ที่จะเข้ามาแต่งเติมในผ้าแคนวาสสีขาวผืนนี้

เราเป็นคนที่ซัพพอร์ตศิลปิน ให้เดินเข้ามาคุยกับเรา มาทำงานด้วยกัน เราไม่ได้ครอบศิลปิน เราคุยกับเขาเพื่อหาตัวตนว่าจะเดินไปในทิศทางไหน เราก็จะพาเขาไป เป็นจุดยืนตั้งแต่ต้นว่าเราต้องการทำงานกับศิลปินที่ให้เขาเป็นตัวของตัวเองได้มากที่สุด”

แต่การทำงานด้วยกัน การหาจุดพอดีระหว่างค่ายกับศิลปิน ผู้บริหารค่ายเพลงมาดเซอร์คนนี้ยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องง่าย เขาใช้วิธีคือเปิดใจคุยกับศิลปินเยอะๆ เหมือนเป็นพี่น้อง คุยกันได้ทุกเรื่องทั้งเรื่องงานและชีวิตส่วนตัว

“เราและศิลปินต้องเป็นเนื้อเดียวกัน แต่การจะหาจุดที่พอดีและลงตัวคือเราต้องคุยกันเยอะๆ ที่นี่จะเหมือนบ้านอยู่กันแบบพี่น้อง ความสนิทจะเป็นแบบนั้น เพราะบางทีศิลปินเขาไม่รู้ว่าต้องการอะไร การพูดคุยจะทำให้เราเจอ แล้วไปต่อได้ไม่ยาก

“บางทีอยู่ๆ ศิลปินก็ไปที่บ้านเรา โผล่ไปบ้านพี่เลยนะ กว่าจะทำให้มันดังได้แต่ละคน ตับแทบแข็ง (หัวเราะ) บางครั้งไม่ใช่แค่การพูดคุยกันในที่ทำงานเท่านั้น ออกไปข้างนอก เรากินข้าว นั่งดื่มด้วยกัน”

“คือเราให้ความสำคัญเรื่องความสัมพันธ์กับศิลปิน พี่ว่ามันสำคัญที่สุดแล้วในการทำงานเพลงหรืองานศิลปะ เราว่ามันต้องใจถึงใจ เราไม่ได้ทำโรงงานสับปะรดกระป๋องที่มีสูตรสำเร็จ เพราะเพลงไม่ได้มีสูตรสำเร็จอะไรเลย ยิ่งทุกวันนี้คนฟังเพลงเป็นเซกเมนต์ด้วยซ้ำ ใครชอบอะไร แบบไหน มันก็ต้องคุยกันเยอะหน่อย”

“แต่ยืนยันว่าไม่ง่าย อาจเจอในบางจังหวะ และไม่เจอในบางจังหวะ แม้เจอแล้วก็ใช่ว่าจะอยู่ตลอดไป เราต้องค้นคว้าและทดลองกันไปเรื่อยๆ เพราะคนมันมีความคิดที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา อย่าง Getsunova, ลุลาเมื่อ 5-10 ปีที่แล้ว กับวันนี้ก็ไม่เหมือนกัน คนเปลี่ยนแปลงตลอด มันต้องอัปเดตกันไปเรื่อยๆ เราต้องร่วมพัฒนาไปด้วยกัน”

เขาบอกว่าการรับศิลปินที่เข้ามาอยู่ในค่าย จะดูจากนิสัยใจคอและทัศนคติเป็นหลัก และจิตวิญญาณที่มีความเป็นศิลปินมากกว่าแค่นักร้องทั่วไปที่หาได้ในยูทูบหรือโซเชียลมีเดีย

“เราไม่ได้อยากทำ ‘นักร้อง’ เราอยากทำ ‘ศิลปิน’ คนที่เป็นศิลปินคือข้างในเขาจะชอบงานศิลปะ มีความคิดสร้างสรรค์ เป็นสิ่งที่เราคุยแล้วสนุก ทำให้เราอยากทำงานกับเขา บางคนคุยสนุก แต่ไม่มีเรื่องแบบนี้ เขาอาจเป็นแค่นักร้องที่เสียงดี ร้องชนะหมดทุกเวที แต่อาจไม่ใช่ศิลปิน

“เราให้ความสำคัญกับเรื่องพวกนี้มาก เพียงแต่ไม่ทุกคน บางคนมีมากมีน้อย ส่วนใหญ่เราขุดคุ้ยตรงนั้น เพราะคนที่เป็นโปรโมเตอร์ต้องรอบรู้ประมาณหนึ่ง รสนิยมในการดูหนัง ฟังเพลง ชอบอ่านหนังสือแบบไหน เป็นความหลากหลายที่เอาไว้คุยกับศิลปิน และสิ่งเหล่านี้ก็จะเป็นวัตถุดิบในการสร้างสรรค์ผลงาน”

เพลงป๊อปที่เคี้ยวง่าย แตะใจคนฟัง อย่างมีรสนิยม

อาม-รัฐการ ยืนยันว่า White Music คือค่ายที่ทำเพลงป๊อปที่เคี้ยวง่าย แตะใจคนฟัง แต่ต้องมีคุณภาพและรสนิยมที่ดี 

เราทำเพลงป๊อปที่เข้าไปสู่คนฟังแต่ละกลุ่ม เช่น อะตอม-ชนกันต์, ลุลา, Getsunova ป๊อป-ปองกูล ซึ่งแต่ละเพลงกว่าจะออกมาได้ก็ทำกันเอาเป็นเอาตาย”

“เราทำงานไปด้วยกันกับศิลปิน บางคนคือมีความคิดของเขาเอง เช่น เพลงภาพจำของป๊อป-ปองกูล เขามีคำนี้มาเลยในหัว อยากได้มิวสิกวิดีโอแบบนี้ เราก็ต้องมานั่งคุยกัน หาในสิ่งที่ใกล้เคียงกับความคิดในสมองของเขาให้ได้มากที่สุด”

“มันไม่มีสูตรสำเร็จ แต่เป็นเรื่องของเซนส์และยุคสมัยของการฟังเพลง ที่เราอาจมาถูกที่ถูกเวลา รสนิยมแบบไวท์มิวสิคมันถูกใจคนยุคนี้ ในแง่ของเนื้อหาต้องเป็นเพลงที่ฟังแล้วคนเอาไปใช้ได้ คือรู้สึกว่าเป็นเพลงของเขา มีประสบการณ์ร่วม”

“แต่อีกแบบคือเราทำเพลงที่อาจไม่โดนใจคนวงกว้าง แต่ทดลองบางอย่างขึ้นมาเพื่อบอกถึงวิธีคิด ทัศนคติ เช่นเพลงของลุลา ที่ตอนแรกปล่อยออกมาสองเพลงคือเรื่องที่ขอกับจม แต่เราปล่อยเพลง เรื่องระหว่างทาง

ที่ฟีเจอร์ริงกับชาติ-สุชาติ และทำมิวสิกวิดีโอแบบสารคดี นั่นก็เป็นอีกแบบหนึ่ง”

แล้วเพลงที่ไม่ดังล่ะ เราสงสัย เขาบอกว่าศิลปินคงรู้สึกแย่บ้าง แต่ก็ปลอมประโลมกันไป และกลับมานั่งคุยวิเคราะห์ว่าเพราะอะไร แล้วเริ่มต้นกันใหม่ ทั้งนี้เขายอมรับว่าขึ้นอยู่กับความคาดหวังของศิลปินด้วย

“บางคนคาดหวังสูง แต่เพลงไปไม่ถึง ก็ผิดหวัง แต่บางคนแค่มีเพลงที่สื่อสารออกไป คาดหวังน้อยก็มี บางเพลงศิลปินรักมาก เราก็คุยกับศิลปินตรงๆ เลยว่ามันจะไม่ดังนะ อาจจะได้ประมาณหนึ่ง แต่ถารักก็ทำไปด้วยกัน แต่อย่ารู้สึกผิดหวังตอนมันไม่ดัง”

เพลงที่มีโอกาสประสบความสำเร็จในมุมมองของรัฐการคือเพลงนั้นต้องมาจากศิลปิน และรู้สึกว่าเป็นเพลงของเขา โดยที่เนื้อหาต้องสื่อสารไปยังแฟนเพลงได้ง่าย ซึ่งถ้าไม่ รัฐการนิยามเพลงแบบนี้ว่า ‘เพลงที่ไม่ได้ยิน’ 

“เรามีคำที่บอกว่าเพลงนี้ ‘ไม่ได้ยิน’ เลยว่ะ หมายความว่าไม่ได้ยินอารมณ์และความรู้สึกในเพลงว่ากำลังบอกอะไรกับเรา” ผู้บริหารค่ายไวท์มิวสิคพูดทิ้งท้าย

Fact Box

  • White Music เป็นค่ายเพลงป๊อปในเครือแกรมมี่ ที่มีศิลปินดังๆ อยู่ในค่ายมากถึง 18 ศิลปินด้วยกัน เช่น เป๊ก ผลิตโชค, อะตอม ชนกันต์, ป๊อบ ปองกูล, โอ๊ต ปราโมทย์, Getsunova, ลุลา และ Jetset'er เป็นต้น
  • White Music กำลังจะมีคอมมิวนิตี้คอนเสิร์ต ชื่อ WHITEHAUS # 3 : TIME TRAVELLERCONCERT ที่ศิลปินทุกคนในค่ายจะมาสร้างความสุขให้กับแฟนเพลงในวันเสาร์ที่ 21 และ อาทิตย์ที่ 22 กันยายน 2562 ที่รอยัล พารากอนฮอลล์ ชั้น 5 สยามพารากอน สามารถซื้อบัตรได้ที่ ThaiTicketMajor ทุกสาขา และ www.thaiticketmajor.com บัตรราคา : 5,000 / 4,500 / 4,000 / 3,500 / 3,000 / 2,500 / 2,000 / 1,500 www.facebook.com/ideafactgmm และ www.facebook.com/whitemusicrecord 

 

 

Tags: ,