ข่าวคราวที่บ่งบอกถึงประสิทธิภาพในการรับมือการระบาดของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ของประเทศเกาหลีใต้ ว่ามีจุดเด่นสำคัญที่การตรวจเชื้อคนที่เข้าข่ายเสี่ยงให้ได้มากที่สุด กลายเป็นคำถามต่อไปยังหลายๆ ประเทศ ว่าทำไมเราถึงไม่ใช้มาตรการเดียวกันบ้าง ทำไมคนที่สงสัยไม่สามารถตรวจเชื้อให้รู้แล้วรู้รอดไปเลย
ในทางการแพทย์ หลายฝ่ายก็คงคิดเห็นไปในทางเดียวกันว่า การคัดกรองตรวจเชื้อให้ได้มากที่สุด น่าจะช่วยจำกัดขอบเขตของโรคระบาดได้ เช่นถ้าเจอใครติดเชื้อก็จะได้รีบไป ‘ตามรอยโรค’ หรือทำ Contact Tracing และรีบควบคุมรักษาโดยเร็ว แต่ที่ผ่านมา ดูเหมือนว่า ยังคงมีข้อจำกัดเรื่องน้ำยาและเครื่องมือที่จะใช้ทดสอบ
จนกระทั่งเร็วๆ นี้เอง มีสัญญาณทางบวกที่ส่งออกมาแล้วว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กำลังเร่งพิจารณาให้ใบการรับรองแก่หน่วยงานจำนวนหนึ่ง ก่อนจะส่งต่อให้องค์การอาหารและยาพิจารณา เพื่อให้สามารถนำชุดทดสอบรวดเร็ว ที่เรียกกันว่า ราพิด เทสต์ (Rapid Test) ออกจำหน่ายในท้องตลาด
อย่างไรก็ดี ยังมีความกังวลเกี่ยวกับการใช้งานราพิดเทสต์ ว่าหากตีความผลผิด ก็จะทำให้เข้าใจผิดไป และอาจไม่เป็นผลดีต่อการควบคุมโรคระบาด
ราพิด เทสต์ มีสองแบบ คือ ตรวจเชื้อ และตรวจภูมิ
นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2563 ว่าทุกวันนี้ การตรวจหาเชื้อไวรัสโควิดนั้น มีการตรวจสองแบบ คือ ตรวจเชื้อไวรัส หรือ แอนตีเจน (Antigen) ที่จะค่อยๆ เพิ่มจำนวนในร่างกายของเรา และการตรวจภูมิคุ้มกัน หรือ แอนตีบอดี (Antibody) ซึ่งร่างกายจะค่อยๆ สร้างภูมิขึ้นมาต่อสู้กับไวรัส
ทั้งนี้ การจะตรวจออกมา ค่าเลือดเป็นบวกหรือลบนั้น ต้องขึ้นอยู่การตรวจในระยะเวลาที่เหมาะสมด้วย นั่นคือ ในการตรวจเชื้อไวรัส หรือ แอนตีเจน เมื่อร่างกายรับเชื้อเข้ามา 3-5 วันแรก เชื้อจะยังมีน้อย ตรวจไปก็อาจจะไม่พบอะไร คนที่ไปตรวจช่วงนี้แล้วได้ผลลบหรือเนกาทีฟ ก็ใช่ว่าจะวางใจได้ทันทีว่าปลอดจากไวรัส อาจต้องรออีกระยะเวลาหนึ่งแล้วไปตรวจซ้ำอีกครั้ง
ขณะที่การตรวจเชื้อไวรัสต้องรอหลังร่างกายเพาะเชื้อไว้สัก 3-5 วัน การตรวจภูมิคุ้มกันต้องใช้เวลานานกว่านั้น เพราะโดยธรรมชาติ เมื่อร่างกายเจอไวรัส ก็จะผลิตภูมิคุ้มกันหรือแอนตีบอดีออกมาต่อสู้กับไวรัส ค่าภูมิคุ้มกันนี้ จะตรวจเจอได้ ก็ต้องเป็นเวลาที่ร่างกายรับเชื้อไวรัสมาระยะหนึ่งแล้ว ซึ่งอาจกินเวลาอย่างน้อย 5 วัน หรือนานถึงสองสัปดาห์ จึงจะตรวจพบค่าภูมิคุ้มกันส่วนนี้
ค่าลบไม่ได้แปลว่าไม่ป่วย ส่วนค่าบวกก็ไม่ได้แปลว่าป่วยเสมอไป
วิธีการตรวจเชื้อที่โรงพยาบาลต่างๆ ใช้ส่วนใหญ่ คือการตรวจเชื้อไวรัส หรือ ตรวจแอนตีเจน
สำหรับราพิด เทสต์ ที่กำลังจะมีขายมากมายในท้องตลาดนั้น ส่วนใหญ่เป็นการตรวจภูมิคุ้มกัน โควิด-19 ซึ่งมันอาจจะไม่เหมาะสมกับวัตถุประสงค์ที่จะเอาไว้ใช้ป้องกันและติดตามโรคสำหรับคนรอบข้าง เพราะในกรณีที่ติดเชื้อ กว่าจะรู้ผลว่าเลือดเป็นบวก ก็ต้องปล่อยให้เวลาผ่านไประยะหนึ่งเสียก่อน
การตรวจภูมิคุ้มกันจึงอาจเหมาะสม สำหรับทำให้รู้ว่า เราเคยติดไวรัสนี้ไปเรียบร้อยแล้ว จนร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันแล้ว
การตรวจเชื้อไวรัสหรือแอนติเจน กับการตรวจภูมิคุ้มกันหรือแอนติบอดีจึงแตกต่างกัน เมื่อเราป่วยจนร่างกายหายดีแล้ว เชื้อแอนติเจนก็จะหายไป ถ้าเราตรวจเชื้อตอนนี้ก็จะไม่พบโคโรนาไวรัส แต่ถ้าเราตรวจภูมิคุ้มกัน เราก็จะพบค่าเป็นบวก เพราะภูมิคุ้มกันจะอยู่ในร่างกายได้นาน อาจจะ 6 – 12 เดือนตามแต่การกลายพันธุ์ของไวรัส
ดังนั้น ถ้าเราตรวจภูมิคุ้มกันแล้วพบออกมาเป็นบวก หรือ โพสิทีฟ แปลว่าร่างกายของเราเคยติดเชื้อโควิด-19 แล้ว เช่น หากติดเชื้อโคโรนาไวรัสเวลานี้ แล้วอีกสองเดือนข้างหน้าไปตรวจภูมิคุ้มกัน ก็จะพบว่า ผลเป็นบวก ร่างกายมีภูมิคุ้มกันแล้ว และร่างกายเราก็ไม่สามารถแพร่เชื้อให้คนอื่นแล้ว เพราะเชื้อไวรัสตายไปหมดแล้ว
หากเราเข้าถึงชุดตรวจ Rapid Test เราต้องดูให้ดี ว่าสิ่งที่เราตรวจนั้น เป็นการตรวจหาเชื้อแบบไหน ตรวจไวรัส หรือตรวจภูมิคุ้มกัน เพื่อที่เราจะได้ทำความเข้าใจผลที่ออกมาได้
สรุปคือ ตรวจเชื้อไวรัส ได้ค่าเป็นลบ ไม่ได้แปลว่าไม่ได้ติดเชื้อ และถ้าตรวจภูมิแล้วพบเชื้อ ก็ไม่ได้แปลว่าเรากำลังป่วยและแพร่เชื้ออยู่ เพราะเราอาจจะติดมาโดยไม่รู้ตัวและร่างกายรักษาตัวเองจนหายแล้ว
โดยเวลานี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กำลังตรวจสอบชุดตรวจ Rapid Test เพื่อขึ้นทะเบียนก่อนออกจำหน่ายในท้องตลาด โดยกรมวิทย์ฯ ให้การรับรองทางเอกสารไปแล้วจำนวนหนึ่ง สำหรับชุดตรวจเชื้อไวรัสนั้น มีผู้ขอใบรับรองทั้งหมด 5 ราย โดยได้ให้การรับรองไป 2 ราย และให้การรับรองแบบมีเงื่อนไขอีก 2 ราย และกรณีชุดตรวจภูมิคุ้มกันนั้น กรมวิทย์ฯ ให้การรับรองไปทั้งหมด 13 รายจาก 17 ราย และขั้นตอนหลังจากนี้ คือเข้าสู่การพิจารณาขององค์การอาหารและยา ก่อนจะนำออกจำหน่ายสู่ท้องตลาดทั่วไป
Tags: ภูมิคุ้มกัน, โควิด-19, rapid test, ชุดตรวจโควิด-19