หากพูดถึงชื่อเสียงและความวางใจที่มีให้โรงพยาบาลรามาธิบดี คงต้องบอกว่าเป็นโรงพยาบาลอันดับต้นๆ ที่ทุกคนรู้จัก เพราะปัจจุบันโรงพยาบาลรามาธิบดีต้องรองรับผู้ป่วยมากถึงสองล้านคนต่อปี หรือเท่ากับหนึ่งใน 35 ของประชากรไทยทั้งประเทศ
แต่สิ่งที่ใครหลายคนอาจไม่ค่อยได้นึกถึงก็คือ โรงพยาบาลรามาธิบดีไม่ได้เป็นเพียงแค่โรงพยาบาล เพราะนอกจากจะเริ่มต้นให้เป็นสถานรักษาพยาบาลแล้ว ยังก่อตั้งขึ้นในฐานะคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี สังกัดมหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อปี 2508 เพื่อเป็นคณะแพทย์ฯ ที่เน้นความเป็นเลิศทาง ‘วิชาการและการวิจัย’ โดยเฉพาะ
นั่นหมายความว่า ในขณะที่มีคนไข้จำนวนมากรอต่อคิวรอรับการรักษา ผู้คนเดินสวนกัน และรถเข็นที่ผ่านไปมาดูขวักไขว่ แต่ในอีกด้านหนึ่ง คือโรงเรียนแพทย์และห้องแล็บที่กำลังพัฒนาสร้างสรรค์วิธีการใหม่ๆ อย่างไม่หยุดยั้งเพื่อรับมือโรคร้ายเหล่านั้น
นวัตกรรม คือ วิธีคิด
“นวัตกรรม ไม่ได้หมายถึงเฉพาะอุปกรณ์หรือสิ่งของไฮเทคหรือไม่ไฮเทค แต่หมายรวมไปถึงเรื่องวิธีคิดและกระบวนการจัดการที่เป็นของใหม่ แตกต่างจากเดิมหรืออาจนำสิ่งที่มีอยู่แล้วมาดัดแปลงให้ดีขึ้น เพื่อตอบโจทย์ หรือเพื่อแก้ปัญหานั้นๆ” ผศ. นท. นพ. สรยุทธ ชำนาญเวช อาจารย์แพทย์สาขาวิชาประสาทศัลยศาสตร์ ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าว พร้อมยกตัวอย่างงานวิจัยที่เกิดขึ้นภายใต้ภาควิชาศัลยศาสตร์ ซึ่งเน้นไปที่นวัตกรรมที่นำไปใช้ได้จริง เช่น อุปกรณ์ช่วยผ่าตัด เทคนิคการผ่าตัด ได้แก่ อุปกรณ์ที่ช่วยในการพยุงลำไส้ของเด็กที่เกิดมาแล้วผนังหน้าท้องไม่ปิด ยาขยายหลอดเลือดสมองเพื่อรักษาภาวะหลอดเลือดตีบตัวที่เกิดขึ้นหลังจากการผ่าตัดหลอดเลือดสมองโป่งพองแตกสมอง เป็นต้น
“ในส่วนของสาขาวิชาประสาทศัลยศาสตร์ ผมเป็นหมอผ่าตัดสมอง ไขสันหลัง และกระดูกสันหลัง ที่ผมทำคือนวัตกรรมเกี่ยวกับ ‘เนื้อเยื่อเทียม’ ที่เราเอามาทดแทนเยื่อหุ้มสมองเทียม หรือเยื่อบุอวัยวะอื่น ๆ ก็ได้ ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนการจดสิทธิบัตร และกำลังจะทำการทดลองให้สามารถนำมาใช้กับมนุษย์ได้จริงๆ ซึ่งคงต้องใช้เวลาและงบประมาณส่วนหนึ่ง”
นวัตกรรม ไม่ได้หมายถึงเฉพาะอุปกรณ์หรือสิ่งของไฮเทคหรือไม่ไฮเทค แต่หมายรวมไปถึงเรื่องวิธีคิดและกระบวนการจัดการที่เป็นของใหม่
นอกจากนวัตกรรมที่คิดค้นขึ้นเองแล้ว อีกส่วนหนึ่งคือนวัตกรรมที่นำเข้าจากต่างประเทศมาใช้งาน ทั้งเพื่อการรักษาและเพื่อการศึกษาของบุคลากรทางการแพทย์เอง ยกตัวอย่างเช่น หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดสมองและกระดูกสันหลัง หรือ ‘หุ่นยนต์เรเนซอง (Renaissance)’ ซึ่งสาขาวิชาประสาทศัลยศาสตร์ ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้นำเข้ามาใช้เป็นที่แรกในประเทศไทย และนำมาใช้ช่วยผ่าตัดสมองไปแล้วจำนวน 2 ราย ผ่าตัดกระดูกสันหลังจำนวน 40 ราย และได้เผยแพร่ความสำเร็จไปในช่วงเดือนพฤษภาคม ปี 2560 โดย ผศ.นท.นพ.สรยุทธ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า หุ่นยนต์จะเข้ามาช่วยเสริมเรื่องความแม่นยำ สามารถทำงานซ้ำๆ ได้โดยที่ยังมีความแม่นยำสูง คือแม่นยำถึง 99.7% เพื่อความปลอดภัยสูงสุดของผู้ป่วย และนอกจากนี้ยังเป็นต้นแบบในการศึกษาของคณะแพทย์เพื่อต่อยอดต่อไปในการสร้างนวัตกรรมต่อไป
ทั้งนี้การสร้างนวัตกรรมสำหรับด้านการแพทย์นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องอาศัยงบประมาณจำนวนมาก มีความจำเป็นต้องลงทุนหากอยากให้การแพทย์ไทยพัฒนาไปข้างหน้า
“การคิดค้นอะไรขึ้นมาเพื่อให้ตอบโจทย์ปัญหาของเราก็ทั้งยากและใช้เวลานานแล้ว แต่ยิ่งเราต้องยกระดับเป็นนวัตกรรมที่คนในกลุ่มสาขาวิชาของเรายอมรับ ทั้งระดับประเทศและระดับโลก ก็ยิ่งเป็นเรื่องท้าทาย ซึ่งนั่นต้องใช้เวลาเป็นสิบๆ ปี”
สาขาใหม่ เพื่อความปลอดภัยอีกขั้นของชีวิต
นอกจากงานวิจัย คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ยังไม่หยุดพัฒนาการผลิตบุคลากรในสาขาใหม่ที่จำเป็น อย่าง ‘หลักสูตรนักปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์’
เราอาจพอจะนึกภาพห้องฉุกเฉินในโรงพยาบาลได้ มีแพทย์คอยดูแลผู้ป่วยอยู่ในนั้นตลอด 24 ชั่วโมง แต่รู้ไหมว่า นอกจากแพทย์ในห้องฉุกเฉินแล้ว บุคลากรที่สำคัญอีกตำแหน่งหนึ่งในเวชศาสตร์ฉุกเฉิน คือ นักปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์หรือพาราเมดิก (paramedic)
รศ. พญ.ยุวเรศมคฐ์ สิทธิชาญบัญชา หัวหน้าภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน กล่าวว่า “การพัฒนาเวชศาสตร์ฉุกเฉินเป็นการสะท้อนการพัฒนาของประเทศอย่างแท้จริง ในต่างประเทศจะมีผู้ดูแลผู้ป่วยในจุดเกิดเหตุหรือที่บ้าน และแม้เราฝึกหัดอบรมแพทย์ประจำบ้านมาตั้งแต่ปี 2547 แต่ยังขาดแคลนบุคลากรในสายนี้อีกสาขา นั่นคือ ‘พาราเมดิก’ ที่จะออกไปกับรถกู้ชีพเพื่อดูแลคนไข้ ณ จุดเกิดเหตุ และสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยในเบื้องต้นได้ “
“ปัจจุบันนักปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์เป็นอาชีพที่เป็นที่เชื่อถือของบุคลากรทางการแพทย์ทั่วโลก แต่สำหรับประเทศไทย การแพทย์ฉุกเฉินที่มีคุณภาพนั้นเพิ่งเริ่มต้นที่ห้องฉุกเฉิน แม้แพทย์พยาบาลมีคุณภาพแล้ว แต่บุคลากรที่มีคุณภาพสำหรับออกไปยังจุดเกิดเหตุ ก็เป็นสิ่งสำคัญที่เรายังขาดอยู่” ผศ. นพ.ไชยพร ยุกเซ็น อาจารย์แพทย์ ภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวในคลิปแนะนำหลักสูตรนักปฏิบัติการฉุกเฉินทางการแพทย์ (นฉพ.) ซึ่งเป็นหลักสูตรใหม่ของภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน เปิดขึ้นมาเมื่อปี 2559 และเป็นหลักสูตร 4 ปี เพื่อสร้างบุคลากรที่ทำงานด้านปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ที่ทัดเทียมต่างประเทศ
สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ ความหวังแห่งใหม่ของคนไทย
ทั้งความจำเป็นในการขยายบริการทางการรักษาพยาบาล และเพื่อความก้าวหน้าในการผลิตแพทย์รุ่นใหม่ พร้อมทั้งนวัตกรรมทางการแพทย์ที่ล้ำสมัย คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี จึงมีโครงการสร้างสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งจะเป็นทั้งโรงพยาบาล โรงเรียนสอนแพทย์ และสถาบันอบรมให้ความรู้ด้านการสร้างเสริมสุขภาพ ที่เปิดให้บริการรองรับประชาชน และมีการพัฒนาพื้นที่บริเวณนั้นขึ้นมาหลายอย่าง เช่น สถานดูแลผู้สูงอายุ นอกจากนี้ในด้านการวิจัย ทางโรงพยาบาลกำลังพิจารณาโครงการอาคารทำงานวิจัยในรูปแบบการประยุกต์สาขาวิชาแพทย์และวิศวกรรมชีวการแพทย์ เพื่อสร้างแพทย์แนวใหม่ ที่มีความรู้ ความสามารถรองรับนวัตกรรมใหม่ๆ ในการช่วยเหลือผู้ป่วย
ด้วยเหตุนี้ มูลนิธิรามาธิบดี ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่รับหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการระดมทุน สนับสนุนการทำงานของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มุ่งหวังที่จะทำให้เรื่อง ‘การให้’ เป็นเรื่องง่าย ๆ ที่ไม่ว่าใครก็ทำได้ ด้วยการร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาเพื่อขับเคลื่อนวงการแพทย์ของไทย สามารถร่วมบริจาคสมทบทุน มูลนิธิรามาธิบดี ได้ที่ธนาคารไทยพาณิชย์ บัญชีกระแสรายวัน สาขารามาธิบดี เลขที่บัญชี 026-3-05216-3 เพราะ “คำว่าให้ ไม่สิ้นสุด”
Tags: แพทยศาสตร์, สุขภาพ, เวชศาสตร์ฉุกเฉิน, การแพทย์, ประสาทศัลยศาสตร์, มูลนิธิรามาธิบดี, RAMATHIBODI FOUNDATION, โรงพยาบาลรามาธิบดี, สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์, หลักสูตรนักปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์, หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด, โรงพยาบาล, โรงเรียนแพทย์