“โรคพิษสุนัขบ้า: ติดเชื้อถึงตาย ป้องกันได้ด้วยวัคซีน” หรือ Rabies: Vaccinate to Eliminate” เป็นคำขวัญวันป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าโลกในปี 2562 นี้ ซึ่งตรงกับวันที่ 28 กันยายนของทุกปี โดยมีที่มาจากวันครบรอบการเสียชีวิตของ ‘หลุยส์ ปาสเตอร์’ นักวิทยาศาสตร์ชาวฝรั่งเศสผู้ยืนยันว่าเชื้อโรคมีอยู่จริง และทำให้เรามีนม ‘พาสเจอร์ไรซ์’ ดื่มจนถึงทุกวันนี้ ว่าแต่เขาเกี่ยวอะไรกับโรคพิษสุนัขบ้าใช่ไหมครับ?

นั่นก็เพราะเขาเป็นผู้คิดค้นวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าได้สำเร็จเป็นคนแรก

ย้อนกลับไป ก่อนหน้าวันที่ 6 กรกฎาคม 2428 (ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 5) เป็นที่รู้กันว่าใครก็ตามที่ถูกสุนัขบ้ากัดจะต้องเสียชีวิตทุกราย แต่ในวันนั้นเองแพทย์ผู้รักษาเด็กชายวัย 9 ขวบซึ่งถูกสุนัขกัดที่มือ ขา และสะโพกเป็นแผลฉกรรจ์ได้ร้องขอให้ปาสเตอร์ทดลองวัคซีนที่เขากำลังคิดค้นอยู่และใช้ได้ผลกับสัตว์ทดลองอื่นของเขามาแล้ว

“ถึงอย่างไรเด็กคนนี้ก็ต้องตาย” ผมกล่าวแทนแพทย์ท่านนั้นเอง (ฮา)

ในวันถัดมา ปาสเตอร์จึงได้ฉีดเชื้อพิษสุนัขบ้าที่เขาเพาะเลี้ยงในไขสันหลังกระต่ายแล้วทำให้อ่อนฤทธิ์ลงด้วยการผึ่งให้แห้งเป็นเวลา 14 วันเข้าไปในชั้นใต้ผิวหนังของเด็กคนนั้นทั้งหมด 12 เข็ม จากนั้นในวันที่ 16 กรกฎาคมเขาก็ได้ฉีดเชื้อให้กับเด็กชายอีกครั้ง แต่คราวนี้เป็นเชื้อจากไขสันหลังกระต่ายโดยตรง ปรากฏว่าเด็กชายรอดชีวิตราวกับปาฏิหาริย์! 

ชื่อเสียงของปาสเตอร์โด่งดังจนในถัดมาผู้ป่วยมากถึง 2,490 รายได้รับการฉีดวัคซีนที่ห้องทดลองของเขา โดยมีผู้ป่วยชาวฝรั่งเศสเสียชีวิตเพียง 10 รายเท่านั้น

 

ตัดกลับมาที่ประเทศไทย

ในอีก 130 ปีต่อมา เมื่อปีที่แล้ว เกิดโรคพิษสุนัขบ้าระบาดในคน มีผู้เสียชีวิตมากถึง 18 ราย กระจายตัวอยู่ทั่วทุกภูมิภาค ยกเว้นภาคเหนือตอนบน ได้แก่ ตาก บุรีรัมย์ ระยอง และสงขลาจังหวัดละ 2 ราย หนองคาย กาฬสินธุ์ มุกดาหาร ยโสธร นครราชสีมา สุรินทร์ ประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี ตรัง และพัทลุงจังหวัดละ 1 ราย 

และถึงแม้ปีนี้มีผู้เสียชีวิตลดลงเหลือ 2 รายที่สุรินทร์ และนครศรีธรรมราชจังหวัดละ 1 ราย

แต่สาเหตุเหมือนกันคือผู้ป่วยไม่ได้ไปรับการฉีดวัคซีนหลังโดนสุนัขกัด

การกำหนดให้วันครบรอบการเสียชีวิตของปาสเตอร์เป็นวันป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าโลกจึงเป็นการเน้นย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของวัคซีนที่สามารถช่วยเด็กชายคนนั้นที่รอดชีวิตจากสุนัขบ้าได้เป็นคนแรก

โดยปกติระยะฟักตัวของเชื้อพิษสุนัขบ้าใช้เวลานาน 2-3 เดือนกว่าจะลามเข้าไปที่ไขสันหลังและสมองจนแสดงอาการออกมา แต่ก็พบว่าบางรายใช้เวลาเร็วสุด 1 สัปดาห์ ยังไม่ทันที่คนถูกกัดจะชะล่าใจก็เสียชีวิตแล้ว และนานที่สุดถึง 1 ปีเลยก็ได้ จนกระทั่งคนที่เป็นโรคก็อาจลืมไปแล้วว่าเคยโดนกัดตอนไหน ดังนั้นวิธีการป้องกันที่ดีที่สุดคือรีบไปฉีดวัคซีนทันทีหลังโดนกัด

ตัดไปที่โรงพยาบาล

ในปัจจุบันไม่ได้เป็นการฉีดรอบสะดืออย่างที่ผู้ใหญ่เคยโดนฉีดเมื่อก่อนแล้ว (ตอนนี้คนสมัยนั้นก็น่าจะเป็นผู้สูงอายุแล้ว) ทว่าเป็นการฉีดวัคซีนที่ต้นแขน 1-2 เข็มแทน แต่อาจจิ้มตื้นแค่ชั้นผิวหนังหรือลึกถึงชั้นกล้ามเนื้อก็ขึ้นกับชนิดของวัคซีน ซึ่งหลังจากฉีดวัคซีนครั้งแรกแล้ว จะต้องมาฉีดกระตุ้นอีก 3-4 ครั้งตามใบนัดของโรงพยาบาล 

อย่าลืมนัดนะครับ! เพราะอาจทำให้สร้างภูมิคุ้มกันไม่เพียงพอที่จะป้องกันโรคได้ 

แต่ในวันที่มาโรงพยาบาลครั้งแรกนั้น ถ้าแผลลักษณะรุนแรงหรือมีเลือดออก แพทย์ก็จะพิจารณาฉีดวัคซีนอีกประเภทหนึ่งตรงรอบแผลเพิ่มให้ด้วย คล้ายกับเซรุ่มต้านพิษงู เพราะร่างกายอาจสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาไม่ได้ แต่เนื่องจากมีราคาแพง ผู้ป่วยหลายคนมักจะได้รับคำแนะนำให้ฉีดที่โรงพยาบาลที่ตนเองมีสิทธิ์การรักษาอยู่

เปรียบเทียบให้เห็นภาพคือวัคซีนแบบแรกเป็นเหมือนทหารเกณฑ์หรือทหารใหม่ต้องได้รับการฝึกก่อนถึงจะเข้าร่วมการบได้ ในขณะที่วัคซีนแบบหลังเหมือนเป็นทหารที่มีประสบการณ์มาก่อนแล้วสามารถสู้รบกับเชื้อโรคได้ทันที

ตัดสินใจ “ไม่ฉีดวัคซีนได้ไหม?” 

คุยกันมาขนาดนี้แล้ว แต่ผมก็เคยเจอคนไข้ถามเหมือนกัน คงเพราะต้องโดนฉีดหลายเข็ม (ถ้ายังไม่เคยฉีดบาดทะยัก หรือเคยฉีดเกิน 10 ปีแล้วจะต้องโดนฉีดอีก 1-2 เข็ม!) ซึ่งก็ไม่ถึงกับไม่มีทางเลือกเลย แต่สัตว์ที่กัดจะต้องไม่มีอาการป่วยและเข้าเกณฑ์ทั้ง 3 ข้อต่อไปนี้ด้วย ได้แก่ 

  1. ได้รับการเลี้ยงดูอย่างดี มีการกักบริเวณ มีโอกาสสัมผัสสัตว์อื่นน้อย (รวมถึงแมว หรือหนูที่อาจปีนกำแพงเข้ามากัดสุนัขในบ้านได้) ถ้ามั่นใจก็ ‘ติ๊ก’ ครับ…

  2. ได้รับวัคซีนมาก่อนอย่างน้อย 2 ครั้ง และครั้งสุดท้ายไม่เกิน 1 ปี (สำหรับลูกสุนัขต้องฉีดเข็มแรกที่อายุ 2-4 เดือน และฉีดซ้ำอีกครั้งภายใน 1-3 เดือน หลังจากนั้นถึงจะฉีดกระตุ้นทุกปี) ‘ติ๊ก’ ไหมครับ…

  3. มีสาเหตุจูงใจในการกัด เช่น แหย่หรือรังแกสัตว์ก่อน เพราะสัตว์ที่ป่วยเป็นโรคพิษสุนัขบ้ามักจะดุร้าย กัดทุกคนที่ขวางหน้า ‘ติ๊ก’ รึเปล่าครับ… เน้นว่าต้องครบทั้ง 3 ข้อ แพทย์ถึงจะอนุญาตให้สังเกตอาการสัตว์ 10 วันหลังกัดได้นะครับ ซึ่งถ้าอาการยังปกติก็ไม่ต้องฉีดวัคซีน แต่ถ้ามีอาการป่วยหรือเสียชีวิตก็ต้องรีบกลับมาที่โรงพยาบาลอีกครั้ง

ทั้งนี้โรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรคที่มีความรุนแรงสูง ถ้าป่วยแล้วจะไม่มียารักษาและเสียชีวิต ดังนั้นถ้าถูกสุนัข แมว หรือสัตว์อื่นกัดมาก็อย่าลังเลที่จะมาปรึกษาแพทย์ที่โรงพยาบาล เพราะการรักษาไม่ใช่แค่การทำแผลเพียงอย่างเดียว และที่สำคัญโรคนี้สามารถป้องกันได้ด้วยความรู้เมื่อร้อยกว่าปีก่อนนั่นคือ ‘วัคซีน’ ครับ

Tags: ,