สหรัฐฯ ปรารภที่จะชักชวนประเทศประชาธิปไตยแถวหน้าของเอเชีย และเพื่อนมิตรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จัดตั้งพันธมิตรทางทหาร ทำนองเดียวกับนาโต นักวิเคราะห์มองว่า คงไม่มีใครเอาด้วย เพราะต่างต้องพึ่งพาจีน

ในสัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ไมค์ ปอมเปโอ ออกแรงพยายามอีกครั้งก่อนที่รัฐบาลของโดนัลด์ ทรัมป์จะครบวาระในปลายปีนี้ ผลักดันแนวคิดที่เรียกว่าอินโดแปซิฟิกที่เปิดกว้างและเสรีซึ่งมุ่งสร้างกรอบความร่วมมือใหม่ที่กันจีนไว้นอกวง

ปอมเปโอเดินทางไปยังกรุงโตเกียวเมื่อวันอังคาร (6 ..) พบหารือกับรัฐมนตรีต่างประเทศของญี่ปุ่น อินเดีย และออสเตรเลีย ประเทศเหล่านี้รวมตัวกันในชื่อว่า วงเสวนาจตุภาคีด้านความมั่นคง (Quadrilateral Security Dialogue) หรือเรียกสั้นๆ ว่ากลุ่มควอด

ข้อน่าสังเกตในการพบปะครั้งนี้คือ ฝ่ายสหรัฐฯ พูดโจมตีจีนอยู่คนเดียว ฝ่ายอื่นๆ หลีกเลี่ยงที่จะเอ่ยถึงจีนตรงๆ ภายหลังการเสวนา ไม่มีการแถลงข่าว ไม่มีการออกคำแถลงร่วม 

เหล่านี้ดูจะบ่งชี้ว่า วิสัยทัศน์ของสหรัฐฯ ที่ต้องการแสวงแนวร่วมเพื่อสกัดดาวรุ่ง ยังห่างไกลจากความเป็นไปได้

จวกปักกิ่ง ‘เบียดเบียนบีฑา’

ก่อนเริ่มเวทีพบสนทนาสี่ฝ่าย ปอมเปโอบอกกับนักข่าวว่าในเวลานี้ ประเทศหุ้นส่วนในกลุ่มควอดมีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดกว่าครั้งไหนๆ ที่จะต้องประสานมือกันปกป้องประชาชนและหุ้นส่วนของเราจากการกอบโกย การรับสินบาทคาดสินบน และการขู่เข็ญของพรรคคอมมิวนิสต์จีน

รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ บอกว่า พฤติกรรมเหล่านี้ของจีน มองเห็นได้ในทะเลจีนตะวันออก ทะเลจีนใต้ ลุ่มแม่น้ำโขง เทือกเขาหิมาลัย และช่องแคบไต้หวัน

สหรัฐฯ ดูจะกำลังหาพวกโดยอาศัยประเด็นพิพาทที่จีนมีกับประเทศรายรอบ ทั้งกับญี่ปุ่นในกรณีหมู่เกาะเซนกากุ/เตียวหยู กรณีหมู่เกาะสแปรตลีย์และเกาะปะการังต่างๆ กรณีเขื่อนขนาดใหญ่ และกรณีแคชเมียร์ 

เขาบอกกับหนังสือพิมพ์นิกเกอิว่า เมื่อไรกลุ่มควอดมีการรวมตัวจัดตั้งเป็นองค์การที่มีกฎกติกาและข้อตกลง เมื่อนั้นเราจะเริ่มสร้างกรอบความร่วมมือด้านความมั่นคง และขยายสมาชิกครอบคลุมไปยังประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 

ปอมเปโอไม่ลืมที่จะเชือดเฉือนจีนในเรื่องไวรัสด้วย เขาบอกว่า การปกปิดของพรรคคอมมิวนิสต์จีนเป็นตัวซ้ำเติมให้สถานการณ์โรคระบาดที่มาจากเมืองอู่ฮั่นยิ่งเลวร้าย

อีกสามชาติยังอ้ำอึ้ง

ถึงแม้ญี่ปุ่น อินเดีย และออสเตรเลีย มีประเด็นบาดหมางกับจีนด้วยเรื่องเขตแดน และรู้สึกอึดอัดกับการขยายบทบาทของจีนในภูมิภาคเอเชีย แต่ประเทศทั้งสามดูจะไม่ขานรับอย่างเต็มเสียงนักกับท่าทีเล่นงานจีนของสหรัฐฯ

รัฐมนตรีต่างประเทศญี่ปุ่น โตชิมิตสุ โมเตกิ บอกภายหลังการหารือว่า สมาชิกกลุ่มควอดยืนยันที่จะเดินหน้าพูดคุยกันต่อไปในเรื่องสาธารณูปโภค ความมั่นคงทางไซเบอร์ และความร่วมมือในประเด็นอื่นๆ

รัฐมนตรีต่างประเทศออสเตรเลีย มารีส เพย์น บอกว่า สภาพแวดล้อมทางยุทธศาสตร์ในย่านอินโดแปซิฟิกทวีความสลับซับซ้อนยิ่งขึ้น สถานการณ์ต่างๆ ได้ส่งผลสั่นคลอนกฎกติกาที่ใช้รักษาเสถียรภาพของภูมิภาคนี้ ซึ่งจะบั่นทอนการฟื้นฟูจากโรคระบาดโควิด-19

เธอบอกว่า ประเทศต่างๆ ควรผ่อนคลายความตึงเครียด หลีกเลี่ยงการโหมกระพือข้อพิพาท ขจัดข้อมูลบิดเบือน และละเว้นการใช้งานไซเบอร์สเปซในทางมุ่งร้าย รวมทั้งต้องไม่อ้างกรรมสิทธิ์เขตแดนทางทะเลโดยขัดกับกฎหมายทะเลของสหประชาชาติ

ฝันไกลของอเมริกา

นักสังเกตการณ์บอกว่า ประเทศเอเชียดูจะพยายามหลีกเลี่ยงที่จะสร้างความขุ่นเคืองแก่จีน เหตุเพราะว่าทุกประเทศต้องอาศัยจีนเป็นแหล่งสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจกันทั้งนั้น 

ตามตัวเลขของกองทุนการเงินระหว่างประเทศเมื่อปี 2019 จีนเป็นตลาดส่งออกอันดับหนึ่งของออสเตรเลีย เป็นตลาดอันดับสองของญี่ปุ่น และเป็นอันดับสามสำหรับอินเดีย 

ผู้เชี่ยวชาญมองว่า กลุ่มควอดคงไม่ยกระดับเป็นพันธมิตรทางทหารในแบบเดียวกับการก่อตั้งกลุ่มนาโตขึ้นในยุโรปเพื่อถ่วงดุลอำนาจของสหภาพโซเวียต นอกจากเพราะชาติเอเชียยังไม่อยากผิดใจกับจีนแล้ว ยังเป็นเพราะภูมิภาคนี้มีกลไกอยู่แล้วหลายอย่าง เช่น อาเซียน วงประชุมผู้นำเอเชียตะวันออก เป็นต้น 

ที่สำคัญ ชาติเอเชียแต่ละประเทศต่างมีผลประโยชน์สวนทางกัน เช่น ญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้ ซึ่งควรจะเป็นชาติแรกๆ ที่จับกลุ่มกันเป็นมินินาโตนั้น ยังคงระหองระแหงกันด้วยเรื่องประวัติศาสตร์สมัยสงครามโลก และประเด็นการค้า 

ประเทศอาเซียนเองก็อาจปฏิเสธแนวคิดนาโตฉบับเอเชียเช่นกัน กลุ่มอาเซียนยืนยันมาโดยตลอดว่า อาเซียนจะเล่นบทบาทเป็นศูนย์กลาง กลไกอื่นที่จะเกิดขึ้นในย่านนี้ต้องมีสถานะเป็นซี่ล้อที่มีอาเซียนเป็นดุมล้อ

เหตุผลประการสุดท้ายที่ชาติเอเชียยังคงสงวนท่าที ทุกฝ่ายกำลังรอดูผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ตราบใดที่ยังไม่ชัดเจนว่า รัฐบาลหลังการเลือกตั้งของอเมริกาจะมีนโยบายต่อจีนอย่างไร คงไม่จำเป็นต้องรีบออกตัวแรงให้สุ่มเสี่ยงต่อการเข้าเนื้อตัวเอง 

อ้างอิง:

Reuters, 6 October 2020

AFP via ChannelNewsAsia, 6 October 2020

Japan Times, 7 October 2020

Tags: ,