ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เกิดเหตุเรือคว่ำที่ภูเก็ต เป็นเหตุให้มีนักท่องเที่ยวชาวจีนเสียชีวิตและสูญหายจำนวนมาก

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เจ้าของนาฬิกา 20 กว่าเรือน ก็ได้ออกมากล่าววาทะเด็ดว่า “เขาทำตัวของเขาเอง” ซึ่งอาจเป็นคำพูดที่ไม่ทันไตร่ตรองให้ถี่ถ้วนเสียก่อนและสร้างความไม่พอใจแก่นักท่องเที่ยวชาวจีนจนเกิดกระแสต่อต้านและเรียกร้องให้บอยคอตต์ประเทศไทย

สัปดาห์นี้ เราไปดูกันว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้มีสำนวนอะไรในภาษาอังกฤษที่เรานำมาใช้บรรยายได้บ้าง

 

Put your foot in your mouth
ปากพล่อย

สำนวนนี้ถ้าแปลตรงตัวจะหมายถึงว่า ยัดเท้าเข้าปากตัวเอง แต่ความหมายจริงๆ ก็คือ พูดโดยไม่ได้ไตร่ตรองให้ดีเสียก่อนจนสร้างความไม่พอใจให้คนอื่น เรียกอีกอย่างคือ พูดพล่อยๆ นั่นเอง ตัวอย่างเช่น He really put his foot in his mouth when he said that the Chinese tourists had only themselves to blame. ก็จะหมายถึง พลาดแล้วล่ะที่ปากพล่อยว่านักท่องเที่ยวชาวจีนทำตัวเอง

สำนวนนี้ บางทีฝั่งบริติชก็จะพูดแค่ put your foot in it เช่น Every time he opens his mouth, he puts his foot in it. ก็จะหมายถึง เปิดปากทีไรก็พูดแต่อะไรไม่เข้าท่าทุกครั้ง

อีกสำนวนที่โยงกันก็คือ foot-in-mouth disease ซึ่งไม่ใช่โรคมือเท้าปาก แต่เป็นสแลงหมายถึง อาการแกว่งปากหาเสี้ยน พูดอะไรไม่ยั้งคิดออกมา เช่น Poor him. His foot-in-mouth disease strikes again. ก็จะหมายถึง โถ โรคแกว่งปากหาเท้าเล่นงานอีกแล้วสินะ

 

Speak out of turn
พูดผิดกาลเทศะ

คำว่า turn ในสำนวนนี้ไม่ได้แปลว่า หมุน หรือ เลี้ยว แต่อย่างใด แต่หมายถึง ลำดับในการพูด เช่นเวลาที่คนสนทนาโต้ตอบกัน อีกฝ่ายหนึ่งถามแล้วอีกฝ่ายหนึ่งตอบ (แบบที่พบในคำว่า turn-taking ที่หมายถึง การผลัดกันพูด)

ดังนั้น สำนวนนี้ถ้าแปลตรงๆ คือพูดตอนยังไม่ถึงทีตัวเอง พอเป็นสำนวนจึงหมายถึง พูดผิดกาลเทศะ โพล่งอะไรที่ไม่น่าพูดออกมา ตัวอย่างเช่น I apologize if I’ve spoken out of turn. หมายถึง ขอโทษด้วยถ้าพูดอะไรผิดกาลเทศะไป

 

Add insult to injury
ซ้ำเติม

ญาติผู้เสียชีวิตหรือผู้สูญหายที่บอบช้ำจากเหตุการณ์อาจจะรู้สึกว่า คำพูดของรมต. ยิ่งเป็นการซ้ำเติมให้ยิ่งช้ำใจขึ้นไปอีก สำนวนหนึ่งที่บรรยายเหตุการณ์นี้ได้ดี ก็คือ add insult to injury หมายถึง ซ้ำเติม หรือ ทำอะไรให้คนที่เจ็บช้ำอยู่แล้วต้องเจ็บช้ำยิ่งขึ้นไปอีก

ว่ากันว่าสำนวนนี้มีที่มาจากเรื่องเล่าสมัยโรมัน ในเรื่องชายคนหนึ่งพยายามตีแมลงวันที่บินรบกวน พอแมลงวันบินมาเกาะที่หัวจึงตบเข้าที่หัวของตัวเอง แต่แมลงวันดันหนีไปได้ ซ้ำยังพูดเยาะเย้ยทิ้งท้ายอีก ชายคนนี้จึงแค่เจ็บตัวไม่พอ แต่ยังถูกหยามให้อับอายเป็นการซ้ำเติมด้วย

สำนวน add insult to injury นี้จะใช้กับคำพูดก็ได้ เช่น For the relatives of the victims, the thoughtless remarks only added insult to injury. หมายถึง สำหรับญาติของเหยื่อแล้ว คำพูดสิ้นคิดยิ่งเป็นการซ้ำเติม หรือจะใช้บรรยายสถานการณ์ก็ได้ เช่น Her boyfriend broke up with her, and to add insult to injury, it was her archenemy that he left her for. ก็คือ แค่แฟนบอกเลิกก็เจ็บพออยู่แล้ว ที่แย่กว่านั้นคือแฟนเลิกไปคบกับคู่ปรับตัวฉกาจของตัวเอง

อีกสำนวนที่ใกล้กันคือ rub salt into the wound แปลตรงๆ ก็คือ ขยี้เกลือใส่แผล ทำให้ยิ่งแสบขึ้นไปอีก มีความหมายเปรียบเปรยว่า ซ้ำเติม เช่นเดียวกัน

 

Shoot yourself in the foot
ทำตัวเองแท้ๆ

คำพูดของพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในนัยหนึ่งก็นับเป็นการ “ทำตัวเอง” เช่นกัน เพราะเป็นเหตุให้ชาวจีนโกรธแค้นจนหลายคนยกเลิกการเดินทางมาเที่ยวเมืองไทยแล้ว ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจท่องเที่ยวของไทย ซึ่งท้ายที่สุดก็ยิ่งทำให้คนไทยเดือดร้อนและไม่พอใจรัฐบาลยิ่งเข้าไปใหญ่

ในภาษาอังกฤษ เราอาจบรรยายการทำตัวเองแบบนี้ว่า shoot yourself in the foot ซึ่งหากแปลตรงๆ จะหมายถึง ยิงเท้าตัวเอง ว่ากันว่ามีที่มาจากสมัยสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ทหารที่ไม่อยากออกรบก็อาจเลือกยิงเท้าตัวเองเพื่อจะได้ถูกส่งไปพยาบาล

สำนวนนี้หมายถึง สร้างความเดือดร้อนหรือนำพาความซวยมาสู่ตัวเอง เช่น He shot himself in the foot by getting into a fight with the company’s biggest client. หมายถึง เขาทำเอาตัวเองซวยเพราะดันไปทะเลาะกับลูกค้ารายใหญ่ที่สุดของบริษัท

 

Silence is golden.
พูดไปสองไพเบี้ย

บางครั้งการใช้ความสงบสยบความเคลื่อนไหวก็สร้างความฉิบหายน้อยกว่าการปริปากพูดอะไร เหมือนกับสำนวนไทย พูดไปสองไพเบี้ย นิ่งเสียตำลึงทอง

ในภาษาอังกฤษ สุภาษิตที่มีความหมายคล้ายกันก็คือ Silence is golden. เป็นคำที่แปลมาจากสุภาษิตละตินอีกที ทำนองว่าความเงียบมีค่าประดุจทอง ใช้เพื่อสื่อว่าบางครั้งไม่ต้องพูดอะไรนี่แหละดีที่สุด ตัวอย่าง เช่น He knew that silence is golden, so he kept his mouth shut. ก็จะหมายถึง เขารู้ว่านิ่งไว้น่าจะดีกว่า จึงไม่พูดอะไร

 

บรรณานุกรม

  • American Heritage Dictionary of the English Language
  • Ayto, John. Oxford Dictionary of English Idioms. OUP: Oxford, 2009.
  • Brenner, Gail. Webster’s New World American Idiom Handbook. Wiley Publishing: Indianapolis, 2003.
  • Cambridge Advanced Learners’ Dictionary
  • Gulland, Daphne M., and Hinds-Howell, David. The Penguin Dictionary of English Idiom. Penguin Books: London, 2002.
  • Longman Dictionary of Contemporary English
  • Oxford Advanced Learners’ Dictionary
  • Shorter Oxford English Dictionary
  • Speake, Jennifer. Oxford Dictionary of Proverbs. Oxford University Press: Oxford, 2008.
Tags: , , , ,