วันที่ 5 ธันวาคม 2542 กรุงเทพฯ เปิดให้บริการรถไฟลอยฟ้าบีทีเอสสายสุขุมวิท (สถานีหมอชิต–อ่อนนุช) และรถไฟฟ้าบีทีเอสสายสีลม (สถานีสนามกีฬาแห่งชาติ–สะพานตากสิน) เป็นครั้งแรก จากนั้นอีก 5 ปี ก็เปิดให้บริการรถไฟฟ้ามหานคร (MRT) สายเฉลิมรัชมงคล (สถานีบางซื่อ – หัวลำโพง) รวมไปถึงรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงค์โครงการระบบขนส่งทางรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและสถานีขนส่งผู้โดยสารอากาศยานในเมือง ที่เปิดให้บริการครั้งแรกเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2549
แต่ถึงอย่างนั้นผู้โดยสารที่ต้องใช้บริการรถไฟลอยฟ้าบีทีเอส รถไฟฟ้าใต้ดินเอ็มอาร์ที และรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงค์ ก็ยังไม่สามารถเชื่อมต่อกันได้ด้วยบัตรโดยสารใบเดียว ในขณะที่มีการเปิดบริการส่วนขยายรถไฟฟ้าประเภทต่างๆ ทั้งบนดินและใต้ดินเชื่อมต่อกันไปทั่วกรุงเทพฯ ล่าสุดในเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา กับส่วนต่อขยาย รถไฟฟ้าบีทีเอส สายสุขุมวิท (สถานีห้าแยกลาดพร้าว–มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์) ส่วนต่อขยาย รถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (สถานีเตาปูน–สิรินธร) และส่วนต่อขยาย รถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (สถานีสิรินธร–ท่าพระ)
ความพยายามในการจะสร้างเครือข่ายการขนส่งมวลชนให้เชื่อมต่อกันด้วยการใช้บัตรใบเดียว ทั้งรถไฟฟ้าบนดิน ใต้ดิน แอร์พอร์ตเรลลิงค์ รวมไปถึงขสมก. ด้วยนั้น มีการพูดถึงกันมาร่วม 10 ปี ภายใต้ชื่อ ‘บัตรแมงมุม’
หลังจากการเปิดให้ใช้บริการรถไฟฟ้าในรูปแบบต่างๆ รัฐบาลได้ประกาศโครงการบัตรร่วม หรือรู้จักกันในชื่อของ ‘บัตรแมงมุม’ ที่ใช้เวลาในการจัดทำโครงการร่วม 10 ปี โดยสามารถใช้ได้จริงในวันที่ 23 มิถุนายน 2561 สำหรับรถไฟฟ้าเอ็มอาร์ที สายสีน้ำเงินเเละสายสีม่วง และใช้ขึ้นรถเมล์ ขสมก. รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงค์ ได้ในเดือนตุลาคม 2561 ซึ่งในโครงการบัตรแมงมุมนี้ไม่มีรถไฟฟ้าบีทีเอส เข้าร่วมด้วย
โดยในขณะนั้นบีทีเอสไม่ได้ออกมาชี้เเจงใดๆ ถึงสาเหตุที่ไม่ร่วมในโครงการบัตรแมงมุม แต่มีข่าวปรากฏว่า บีทีเอสมีรายได้จากดอกเบี้ยจำนวนมากจากการที่ประชาชนเติมเงินในบัตร Rabbit ซึ่งเป็นบัตรโดยสารของบีทีเอสเอง ซึ่งมียอดกว่า 1 หมื่นล้านบาทต่อปี โดยฝ่ายประชาสัมพันธ์บีเอส ให้เหตุผลว่า ผู้บริหารอยู่ต่างประเทศ ทำให้โครงการบัตรแมงมุม ที่ร่วมคิดมาร่วม 10 ปี ยังไม่สามารถเกิดขึ้นได้ แม้ว่าจะเคยมีการลงนามความร่วมมือระหว่าง BTS และ BEM ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส และรถไฟฟ้าใต้ดินเอ็มอาร์ที ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ปี 2550 ก็ตาม
และหลังจากนั้นแม้จะมีการประกาศใช้บัตรแมงมุม ที่เป็นบัตรร่วมระว่างรถไฟฟ้าใต้ดินเอ็มอาร์ที รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงค์ และรถเมล์ขสมก. แต่ระบบของรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เป็นสองหน่วยงานที่มีความล่าช้าในการนำระบบบัตรแมงมุมเวอร์ชั่น 2.5 มาใช้ และการเกิดปัญหาในการใช้บัตร E-Ticket กับระบบของขสมก. จนในที่สุดก็มีการยกเลิกระบบ E-Ticket นี้ไป และใช้ระบบเครื่องรับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ EDC (Electronic Data Capture) ของธนาคารกรุงไทย ซึ่งรองรับบัตรผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐแบบบัตรแมงมุมด้วย (ซึ่งบัตรสวัสดิการแห่งรัฐแบบบัตรแมงมุม ยังสามารถใช้ได้กับ MRT อีกด้วย) แต่ถึงอย่างนั้น ความต้องการที่จะเชื่อมต่อการขนส่งทุกระบบในกรุงเทพฯ ทั้งบีทีเอส เอ็มอาร์ที แอร์พอร์ตเรลลิงก์ และขสมก. ก็ยังไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริง กลับกลายเป็นแต่ละภาคส่วนก็มีบัตรและระบบเป็นของตนเอง และเชื่อมกันได้เพียงไม่กี่ระบบเท่านั้น ยังไม่อาจเชื่อมกันได้ทั้งหมด
ล่าสุด ปลัดกระทรวงคมนาคมได้ออกมาเปิดเผยว่ากำลังเร่งรัดการไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ผู้ให้บริการระบบรถไฟฟ้า MRT, บริษัท รถไฟฟ้ารฟท. จำกัด ผู้ให้บริการระบบรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ และบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ผู้ให้บริการระบบรถไฟฟ้าบีทีเอส พัฒนา ‘ระบบหัวอ่าน’ ให้สามารถอ่านข้อมูลของบัตรรถไฟฟ้าให้มีความหลากหลายและครอบคลุมทุกรูปแบบเหมือนกันทุกระบบ เพื่อให้ผู้ถือบัตรใช้เดินทางข้ามระบบกันได้ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนพฤษภาคมนี้ และจะสามารถใช้ได้ในเดือนมิถุนายนนี้หากไม่มีข้อผิดพลาด
โดยค่าใช้จ่ายในการพัฒนาระบบอยู่ที่ประมาณ 385 ล้านบาท และการทดสอบการใช้งาน ปัจจุบันมีผู้ถือบัตรแรบบิท ที่ใช้กับรถไฟฟ้าบีทีเอส 12 ล้านใบ, บัตรแมงมุมและบัตร MRT plus ที่ใช้กับรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง/สายสีน้ำเงิน 2.2 ล้านใบ และบัตร Smart Pass ที่ใช้กับรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ 4 แสนใบ รวมทั้งสิ้น 14.6 ล้านใบ
เราคงต้องรอติดตามว่า ในเดือนมิถุนายน 2563 นี้ นโยบายพัฒนา ‘ระบบหัวอ่าน’ เพื่อให้บัตรโดยสารแต่ละระบบสามารถใช้ร่วมกันได้ในแบบ ‘บัตรร่วม’ ที่ใช้เวลาในการดำเนินโครงการกว่า 10 ปีที่ผ่านมา จะสำเร็จและบรรลุวัตถุประสงค์พื้นฐานของการถือบัตรเดียวขึ้นขนส่งมวลชนทุกประเภทได้หรือไม่ และระบบหัวอ่านนี้จะรวมไปถึงรถเมล์ขสมก. หรือไม่ กับระบบการชำระเงินแบบ EDC เพราะได้มีการยกเลิก E-Ticket และเครื่องเก็บเงิน Cash Box ไปแล้ว และมีการฟ้องร้องกันอยู่เป็นเงินจำนวน 1,556 .07 ล้านบาท
อ้างอิง
https://www.gqthailand.com/toys/article/spider-card-for-travel-everyline
https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=2064445530437505&substory_index=0&id=1721313428084052
https://www.thebangkokinsight.com/231651/
http://www.srtet.co.th/index.php/th/about-history/2015-12-03-10-51-24
https://www.bts.co.th/info/info-history.html
https://www.khaosod.co.th/economics/news_3362914
Tags: รถไฟฟ้า, BTS, MRT, ขนส่งมวลชน, แอร์พอร์ตลิงก์, รถไฟใต้ดิน, รถไฟฟ้าบีทีเอส, รถไฟฟ้าเอ็มอาร์ที, แอร์พอร์ตเรลลิงก์, ขสมก.