งานวิจัยของ เบน แครีย์ (Ben Carey) ที่ทำการศึกษาพร้อมทีมวิจัยอีก 21 คน จากมหาวิทยาลัยซัสแคตเชวัน (University of Saskatchewan) ในเมืองซัสคาทูน ประเทศแคนาดา พบว่า หนึ่งในวิธีช่วยบรรเทาความเจ็บป่วยให้คนไข้ในโรงพยาบาลและสร้างกำลังใจในการรักษาต่อไปได้ คือการได้ลูบคลำและหยอกล้อกับสัตว์เลี้ยงอย่างสุนัข
งานวิจัยดังกล่าวมีชื่อว่า ‘Outcomes of a controlled trial with visiting therapy dog teams on pain in adults in an emergency department’ ซึ่งพยายามหาความสัมพันธ์ระหว่างสุนัขกับคนไข้ในโรงพยาบาล การทดลองได้สำรวจแผนกฉุกเฉินในโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยซัสแคตเชวัน กับผู้ร่วมทดลอง 97 คน ซึ่งเป็นคนไข้ที่ได้เล่นกับสุนัขระหว่างรอรับการรักษาในห้องฉุกเฉิน และคนไข้อีก 101 คน ที่จะไม่ได้พบเจอสุนัขในการรักษา โดยผู้ร่วมทดลองทั้งหมดต้องประเมินความรู้สึกเจ็บปวดของตัวเองทั้งก่อนรักษาและหลังรักษา
ผลปรากฏว่า ผู้ป่วยที่ได้พบเจอสุนัขก่อนทำการรักษา มีความวิตกกังวลและภาวะซึมเศร้าลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และความรู้สึกโดยรวมของพวกเขาดีขึ้น โดยผู้ป่วย 43 เปอร์เซ็นต์ รู้สึกว่าความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นในตอนแรกบรรเทาลงไปอย่างมาก (เกินกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ของความเจ็บปวดในตอนแรก) และ 17 เปอร์เซ็นต์ รู้สึกว่าความเจ็บปวดลดลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น อ้างอิงจากงานวิจัย ‘Short-Term Interaction between Dogs and Their Owners: Effects on Oxytocin, Cortisol, Insulin and Heart Rate—An Exploratory Study’ ระบุว่า การได้ลูบคลำ หยอกล้อ หรือเล่นกับสุนัขช่วงเวลาหนึ่ง จะทำให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) ในเลือด ซึ่งช่วยลดความเครียดที่เกิดขึ้นในร่างกาย และเพิ่มความเข้มข้นของฮอร์โมน ออกซิโทซิน (Oxytocin) กระตุ้นอารมณ์ในเชิงบวก จึงทำให้ผู้ป่วยรู้สึกว่า ความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นนั้นลดลง แม้ในความเป็นจริงอาการเจ็บปวดทางร่างกายจะยังอยู่เช่นเดิมก็ตาม
ดังนั้น ‘ฮอร์โมน’ จึงเป็นบทสรุปของคำถามในงานวิจัย ซึ่งถือเป็นเรื่องน่าสนใจไม่น้อยว่า ต่อไปในอนาคตข้างหน้า ขั้นตอนรับการรักษาของผู้ป่วย โดยเฉพาะในโรงพยาบาลที่มีการรอคิวรักษานั้น การควบคุมระดับฮอร์โมนและอารมณ์อาจกลายเป็นวิธีในการรักษาเบื้องต้น ก่อนเข้ารับการรักษาทางร่างกายต่อไปได้
ที่มา
https://www.psychologytoday.com/…/can-few-minutes…
https://journals.plos.org/plosone/article?id=10.1371/journal.pone.0262599
https://www.tandfonline.com/…/175303711X13045914865385
Tags: หมา, สุนัข, Phenomena, Psychology