ผนังห้องด้านหนึ่งของสำนักงานใหญ่พรรค Indonesian Solidarity Party (PSI) มีโปสเตอร์ ‘Make Art, Not War’ แปะอยู่ หัวหน้าพรรคนุ่งกางเกงยีนส์ขาดๆ นี่เป็นอีกพรรคการเมืองในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่เจาะกลุ่มเป้าหมายเป็นคนหนุ่มสาวในอินโดนีเซีย
ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ปี 2019 มีพรรคการเมืองที่จะลงสนามเลือกตั้งเป็นครั้งแรกจำนวน 4 พรรค ได้แก่ The United Indonesia Party (Perindo) นำโดยนักธุรกิจที่เป็นคู่ค้ากับธุรกิจของทรัมป์ และพรรค Berkaya Party ที่มีลูกชายคนสุดท้องของซูฮาร์โตเป็นหัวหน้าพรรค ขณะที่พรรค The Garuda Indonesia Movement Party มีหัวหน้าพรรคเคยทำงานกับลูกสาวของซูฮาร์โต และเคยเป็นสมาชิกพรรค Gerindra มาก่อน
ส่วนพรรค Indonesian Solidarity Party (PSI) ถือเป็นพรรคใหม่ล่าสุดที่หวังว่าจะดึงดูดผู้ลงคะแนนที่เป็นคนรุ่นใหม่ นำโดย เกรซ นาตาลี (Grace Natalie) หัวหน้าพรรค PSI ซึ่งเป็นอดีตนักข่าวโทรทัศน์
เกรซ นาตาลี
(ที่มาภาพ: FB-Partai Solidaritas Indonesia)
นาตาลี อายุ 35 ปี เป็นแม่ของลูกที่ยังแบเบาะ 2 คน ก่อตั้งพรรคขึ้นเมื่อปี 2014 เธอเชื่อว่านี่เป็นเวลาของนักการเมืองรุ่นใหม่ที่รับผิดชอบต่อประชาชนอย่างแท้จริงแล้ว
สมาชิกพรรคจำนวนสองในสามมีประมาณ 400,000 คน อายุต่ำกว่า 35 ปี ขณะที่ผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งที่อายุระหว่าง 17-25 ปี มีสัดส่วน 30% ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด
PSI ใช้การระดมทุนและบริจาคเพื่อดำเนินงานทั่วอินโดนีเซีย ลดต้นทุนโดยให้สมาชิกทำงานจากบ้าน ใช้ยานพาหนะที่ได้รับบริจาคมา
“ด้วยวิธีนี้ ไม่มีใครอ้างได้ว่าเป็นเจ้าของพรรค ทุกคนมีส่วนในการสร้างอะไรสักอย่างหนึ่ง” นาตาลีซึ่งจบการศึกษาจากอินโดนีเซียและเนเธอร์แลนด์กล่าวเป็นภาษาอังกฤษอย่างคล่องแคล่ว
พรรคของเธอใช้วิธีสัมภาษณ์สมาชิกเพื่อหาผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และถ่ายทอดสดทางอินเทอร์เน็ต ผ่านโซเชียลมีเดียอย่างเฟซบุ๊กและยูทูบ ผู้ที่ถูกสัมภาษณ์ไปแล้ว เช่น ครู ทนายความในบริษัทเอกชน แพทย์ นักการเงิน
“ไม่มีพรรคไหนเสนอความโปร่งใสแบบที่เราทำอยู่” นาตาลีให้สัมภาษณ์กับรอยเตอร์
PSI ระดมเงินได้ประมาณ 2,600 ล้านรูเปีย (£128,516) ถือว่าน้อยมากๆ เมื่อเทียบกับพรรคใหญ่ นอกจากนี้การทำงานกับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นคนหนุ่มสาวไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะพวกเขาเห็นว่าสภาผู้แทนราษฎรไม่ใช่ตัวแทนของพวกเขา แล้วจะเลือกตั้งไปทำไม
ข้อมูลจากคณะกรรมการการเลือกตั้งแสดงให้เห็นว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่มีอายุระหว่าง 17-29 ปีออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งต่ำกว่าครึ่ง ส่วนคนที่อายุ 30 ปีขึ้นไปออกไปลงคะแนนถึง 90% ทั้งที่จำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เป็นเยาวชนคิดเป็นสัดส่วน 30% ของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด
ความท้าทายอีกอย่างหนึ่งมาจากประเด็นทางศาสนาและชาติพันธุ์ นาตาลีเป็นคนอินโดนีเซียเชื้อสายจีน ขณะที่สังคมอินโดนีเซียตอนนี้มีทิศทางที่จะกลายเป็นรัฐศาสนามากขึ้น
นาตาลีวางแผนที่จะเข้าสู่สภาในปีหน้า แต่การเข้าถึงพื้นที่ในชนบท ซึ่งคิดเป็นครึ่งหนึ่งของประชาชนอินโดนีเซียทั้งหมด ต้องการเงินทุนสนับสนุนในการเลือกตั้งอีกมากมาย พรรคของเธอจะสนับสนุนวิโดโดให้เป็นประธานาธิบดีอีกครั้งมากกว่าลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีเอง
นักศึกษาวัย 20 ปีคนหนึ่งให้สัมภาษณ์ว่า คนหนุ่มสาวไม่กระตือรือล้นเพราะพวกเขาไม่ศรัทธาระบบการเมือง พรรค PSI อาจจะปลุกคนรุ่นพวกเขาได้ แต่ตอนนี้ก็ยังไม่เชื่อมโยงกับพรรค เพราะเป็นพรรคการเมืองใหม่
ที่มา:
https://uk.reuters.com/article/uk-indonesia-politics-youth/a-millennials-party-dares-to-break-indonesias-political-mould-idUKKBN1GX013
https://www.channelnewsasia.com/news/asiapacific/soeharto-s-son-s-party-among-4-new-parties-that-will-participate-9970584
Tags: PSI, เกรซ นาตาลี, Grace Natalie, Indonesian Solidarity Party