สหรัฐฯ เปิดเผยถึงยุทธศาสตร์ใหม่ ‘Prosper Africa’ ด้วยคำโฆษณาว่า อเมริกาจะให้ความช่วยเหลือด้านการพัฒนา และทำการค้าอย่างรับผิดชอบ แตกต่างจากจีนและรัสเซียซึ่งเข้าไปในกาฬทวีปอย่าง ‘นักล่า’
แอฟริกานับเป็นพื้นที่ล่าสุดที่รัฐบาลของโดนัลด์ ทรัมป์ มั่นหมายขยายอิทธิพลแข่งกับจีนและรัสเซีย หลังจากเพิ่งเสนอแผน ‘Indo-Pacific Initiative’ สำหรับเอเชียเมื่อเดือนสิงหาคม
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 13 ธันวาคม จอห์น โบลตัน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของประธานาธิบดีสหรัฐฯ นำเสนอแนวคิด ‘Prosper Africa’ ในงานสัมมนาที่จัดโดยมูลนินิเฮอริเทจ หน่วยงานคลังสมองสายอนุรักษนิยม
ถึงแม้ยังไม่ได้ขยายความอย่างเป็นรูปธรรม ที่ปรึกษาสายเหยี่ยวของทรัมป์รายนี้นำเสนอไอเดียหลักว่า สหรัฐฯ จะสกัดกั้นการแผ่อิทธิพลของปักกิ่งกับมอสโกในทวีปแอฟริกา ด้วยการส่งเสริมให้เอกชนอเมริกันค้าขายกับประเทศเหล่านั้นอย่างมีความรับผิดชอบ ไม่ใช่เข้าไป ‘ล่าเหยื่อ’ อย่างจีนกับรัสเซีย
‘จักรวรรดินิยมน้อยกว่าใครในโลก’
คนสนิทของผู้นำทำเนียบขาวผู้นี้เน้นว่า อเมริกาจะคบหากับแอฟริกาด้วยหลักผลประโยชน์ร่วมกัน ภาคเอกชนของสหรัฐฯ จะเข้าไปลงทุนทั่วทั้งทวีป ค้าขายกันอย่างโปร่งใส ไม่ปิดกั้น และเสนอสินค้าคุณภาพสูง โดยบอกว่า แนวทางนี้สะท้อนว่า “สหรัฐฯ มีความเป็นจักรวรรดินิยมน้อยกว่าใครในประวัติศาสตร์โลก”
แม้ไม่ได้โจมตีจีนกับรัสเซียด้วยคำใหญ่อย่างจักรววรดินิยม แต่เขาก็วิจารณ์ประเทศทั้งสองอย่างหนัก หลังจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงของปักกิ่งกับมอสโกวิ่งรอกเข้าออกแอฟริกาเป็นว่าเล่นตลอดปี 2018
โบลตันจวกจีนว่า เข้าไปตักตวงกอบโกยทรัพยากรธรรมชาติ และขยายบทบาททางทหารและทางทะเลในย่านแหลมแอฟริกา (Horn of Africa) ทางตะวันออกสุดของทวีป
แหลมแอฟริกาเป็นที่ตั้งของเอริเทรีย จิบูติ เอธิโอเปีย และโซมาเลีย มีความสำคัญทางภูมิรัฐศาสตร์ เพราะตั้งอยู่ในเส้นทางเดินเรือระหว่างทะเลอาหรับ ทะเลแดง ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน การมีฐานทัพบนคาบสมุทรแห่งนี้สามารถคุมเส้นทางเข้าออกคลองสุเอซได้ จึงกลายเป็นพื้นที่ช่วงชิงอิทธิพลระหว่างมหาอำนาจ
โบลตันวิจารณ์อย่างดุเดือดว่า “พฤติกรรมล่าเหยื่อของจีนกับรัสเซียขัดขวางการเติบโตทางเศรษฐกิจของแอฟริกา คุกคามความเป็นอิสระทางการเงินของชาติแอฟริกัน สกัดกั้นโอกาสการลงทุนของสหรัฐฯ แทรกแซงปฏิบัติการของทหารอเมริกัน และคุกคามผลประโยชน์ด้านความมั่นคงของอเมริกา”
เขาประณามจีนว่า จ่ายสินบนใต้โต๊ะ ทำข้อตกลงที่คลุมเครือ ก่อภาระหนี้สิน กดบรรดาประเทศแอฟริกาให้ยอมตามความต้องการของปักกิ่ง พร้อมกับโฆษณาสรรพคุณของทุนอเมริกัน “ในข้อตกลงทางเศรษฐกิจกับสหรัฐฯ เราขอเพียงผลประโยชน์ต่างตอบแทน ไม่เคยเรียกร้องการหมอบราบคาบแก้ว”
สำหรับรัสเซีย โบลตันกล่าวหาว่ามอสโกขายอาวุธและพลังงานให้แอฟริกาเพื่อแลกกับเสียงโหวตสนับสนุนในสหประชาชาติ และบอกว่า ความช่วยเหลือของรัสเซีย ซึ่งแทบไม่มีเงื่อนไขเช่นเดียวกับจีน เป็นตัวค้ำจุนบัลลังก์ของเผด็จการ สวนทางกับผลประโยชน์ของประชาชนชาวแอฟริกัน
แผน ‘แอฟริการุ่งเรือง’ ของโบลตันสอดคล้องกับทิศทางนโยบายของรัฐบาลทรัมป์ เมื่อเดือนตุลาคม ทรัมป์ลงนามกฎหมายจัดตั้งหน่วยงานด้านการปล่อยเงินกู้ในชื่อ U.S. International Development Finance Corp ด้วยเงินทุน 60,000 ล้านดอลลาร์ฯ จุดประสงค์หลักคือ แข่งกับจีนในสนามของการพัฒนาระหว่างประเทศ
จีน-รัสเซียหยิบชิ้นปลามัน
จีนเริ่มสยายปีกเข้าไปในแอฟริกาอย่างจริงจังนับแต่ปี 2000 ผ่านกลไกความร่วมมือที่เรียกว่า Forum on China-Africa Cooperation (Focac) ซึ่งมีการประชุมกันทุก 3 ปีระหว่างจีนกับชาติแอฟริกากว่า 50 ประเทศ
ในการประชุมเมื่อเดือนกันยายน 2018 ที่แอฟริกาใต้ ซึ่งเป็นการประชุมครั้งที่ 7 ของเวทีนี้ ประธานาธิบดีสีจิ้นผิง กล่าวในสุนทรพจน์ว่า ซัมมิตครั้งนี้ ซึ่งมีผู้นำสูงสุดของจีนเข้าร่วมเป็นครั้งที่สาม ถือเป็น “จุดเริ่มต้นของความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างจีนกับแอฟริกา”
จีนเริ่มสยายปีกเข้าไปในแอฟริกาอย่างจริงจังนับแต่ปี 2000 ผ่านกลไกความร่วมมือที่เรียกว่า Forum on China-Africa Cooperation (Focac) ซึ่งมีการประชุมกันทุก 3 ปีระหว่างจีนกับชาติแอฟริกากว่า 50 ประเทศ
ที่ประชุมให้ความเห็นชอบแผนงานความร่วมมือ 8 ด้าน เช่น การส่งเสริมอุตสาหกรรม การเชื่อมโยงสาธารณูปโภค การอำนวยความสะดวกด้านการค้า
ประเด็นที่ชาติแอฟริกันเรียกร้องคือ ขอให้จีนถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยี เพราะที่ผ่านมา แอฟริกาได้แต่ขายวัตถุดิบ แล้วซื้อสินค้าสำเร็จรูปจากจีน จึงอยากให้จีนช่วยพัฒนาอุตสาหกรรม แอฟริกาจะได้ผลิตสินค้าส่งไปขายจีนบ้าง เพื่อลดการขาดดุลการค้ากับจีน
ความเคลื่อนไหวของจีนในแอฟริกาที่ถูกจับตามากที่สุด คือ กรณีจีนจัดตั้งฐานทัพนอกประเทศแห่งแรกที่จิบูติ ซึ่งประเทศพี่เบิ้มอย่างสหรัฐฯ ฝรั่งเศส ก็เข้าไปตั้งฐานทัพเช่นเดียวกัน รวมทั้งอิตาลีกับญี่ปุ่นด้วย โดยทั้งหมดจ่ายค่าเช่าให้ประเทศเจ้าบ้าน
ส่วนรัสเซียก็มีแผนจะจัดตั้งฐานลอจิสติกในเอริเทรีย ไม่นับเรื่องการค้าอาวุธและความร่วมมือทางทหาร รวมทั้งข้อตกลงซื้อขายทรัพยากรธรรมชาติต่างๆ ในหลายประเทศแถบนั้น
กรณีที่ถูกวิจารณ์มากสำหรับรัสเซีย คือ การที่มอสโกยื่นมือเข้าช่วยไกล่เกลี่ยความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลของสาธารณรัฐแอฟริกากลางกับฝ่ายกบฏ ซึ่งกำลังเจรจากันที่ซูดาน ว่ากันว่างานนี้รัสเซียหมายมั่นปั้นมือที่จะได้สัมปทานเข้าไปทำเหมืองเพชร ทองคำ และยูเรเนียม ในพื้นที่ยึดครองของฝ่ายกบฏ
มอสโกยื่นมือเข้าช่วยไกล่เกลี่ยความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลของสาธารณรัฐแอฟริกากลางกับฝ่ายกบฏ ซึ่งกำลังเจรจากันที่ซูดาน ว่ากันว่างานนี้รัสเซียหมายมั่นปั้นมือที่จะได้สัมปทานเข้าไปทำเหมืองเพชร ทองคำ และยูเรเนียม ในพื้นที่ยึดครองของฝ่ายกบฏ
ในปีนี้ มอสโกบุกหนักในแอฟริกา เมื่อเดือนมีนาคม รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย เซอร์เก ลาฟรอฟ ตระเวนเยือนอังโกลา นามิเบีย โมซัมบิก เอธิโอเปีย และซิมบับเว ลงนามข้อตกลงหลายฉบับว่าด้วยเขตเศรษฐกิจ การสำรวจแร่ธาตุ และความร่วมมือทางทหาร
ผู้เชี่ยวชาญอธิบายว่า เหตุที่รัสเซียเร่งกระชับสัมพันธ์กับแอฟริกาก็เพราะต้องการเสียงสนับสนุนจากประเทศเหล่านั้นในเวทีสหประชาชาติเมื่อมีข้อมติเกี่ยวกับซีเรียและยูเครน ซึ่งสหรัฐฯ กับยุโรปผลักดันให้รัสเซียถอนตัวจากการแทรกแซงต่อซีเรียและยูเครน
ในเรื่องแผนการ Prosper Africa นี้ นักสังเกตการณ์เตือนว่า สหรัฐฯ ไม่ควรปฏิบัติต่อแอฟริกาเหมือนเป็นตัวเบี้ย เพราะนั่นจะยิ่งผลักให้ชาวแอฟริกันหันหน้าเข้าหาจีนมากขึ้น
เอบ เดนมาร์ก อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ปัจจุบันเป็นนักวิชาการที่ Woodrow Wilson International Center for Scholars ให้ความเห็นว่า อเมริกาควรมีไมตรีกับแอฟริกาเพราะเหตุว่าเป็นแอฟริกา ไม่ใช่ถือเอาแอฟริกาเป็นหมากตัวหนึ่งบนกระดานหมากรุกระหว่างสหรัฐฯกับจีน
อีกไม่นาน แนวคิด แอฟริการุ่งเรือง คงมีรายละเอียดตามมา
อ้างอิง:
- The Straits Times, 5 September 2018
- The Guardian, 11 September 2018
- AFP via News24, 14 December 2018
- Reuters, 14 December 2018
ที่มาภาพ: Kevin Lamarque / Reuters
Tags: แอฟริกา, Prosper Africa, John Bolton, จอห์น บอลตัน, แหลมแอฟริกา