ถือว่าเข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายแล้วกับ ‘Bangkok’s 25th International Festival of Dance & Music’ หรือมหกรรมศิลปะการแสดงและดนตรีนานาชาติ กรุงเทพฯ ครั้งที่ 25 ที่บริษัท อินเตอร์เนชันแนล คัลเจอรัล โปรโมชัน จำกัด (International Cultural Promotion Ltd.) ขนนักแสดงยอดฝีมือและนักดนตรีคลาสสิกระดับพระกาฬจากทั่วทุกมุมโลกกว่า 900 ชีวิต มาเปิดการแสดง ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ตั้งแต่ปลายเดือนมิถุนายน
Lucerne Symphony Orchestra วงออร์เคสตราเก่าแก่จากเมืองลูเซิร์น ประเทศสวิตเซอร์แลนด์, สุบิน เมห์ธา (Zubin Metha) วาทยากรระดับโลกชาวอินเดีย กับการทิ้งทวนผลงานกว่า 5 ทศวรรษ พร้อมวงออร์เคสตราคู่บุญ จากเมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี, DANCE FOR ME Granada Flamenco Ballet โชว์ระบำฟลาเมงโก จากคณะกรานาดา ฟลาเมงโก บัลเลต์ ที่ร่วมออกแบบท่าเต้นกับแพทริเซีย เกร์เรโร (Patricia Guerrero) นักเต้นระดับโลกชาวสเปน, SWAN LAKE Les Ballet de Monte Carlo โชว์สวอนเลค บัลเลต์ จากราชรัฐโมนาโก ที่มาพร้อมท่วงทำนองดนตรีจากบทประพันธ์ของไชคอฟสกี คีตกวีชาวรัสเซีย ฯลฯ
ข้างต้นเป็นเพียงโชว์ส่วนหนึ่งที่ทำให้ Bangkok’s 25th International Festival of Dance & Music พิเศษกว่าครั้งไหน ถึงขั้นที่นักท่องเที่ยวจากทั่วโลกตั้งหมุดหมายในใจ ว่า จะต้องมาดูการแสดงเหล่านี้กับตาตนเองสักครั้ง เพราะต่อให้บรรยายหรือดูวิดีโอก็คงอิ่มเอมกับการแสดงไม่เท่าถึง
เบื้องหลังความสำเร็จดังกล่าวต้องยกความดีความชอบให้กับ ราซีนาร์ อูเบรอย บาจาจ (Rasina Uberoi Bajaj) กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินเตอร์เนชันแนล คัลเจอรัล โปรโมชัน จำกัด ที่อยู่เบื้องหลังโปรเจกต์ดังกล่าว โดยเธอรับไม้ต่อจาก เจเอส อูเบรอย (J.S. Uberoi) ผู้ก่อตั้งบริษัทและผู้ริเริ่มโปรเจกต์ Bangkok’s International Festival of Dance and Music มาเป็นระยะ 8 ปี ซึ่งพ่อของเธอหลงใหลในศาสตร์การแสดงแขนงต่างๆ จากทั่วโลก ก่อนจะตั้งเป้าหมายที่จะนำโชว์การแสดงระดับโลกมาจัดแสดงให้คนไทยดู เพื่อไม่ต้องลำบากข้ามน้ำข้ามทะเลไปไกล
ทั้งนี้ ราซีนาร์เผยกับเราว่า การจัดโปรเจกต์การแสดงที่ทำมาต่อเนื่องกว่า 25 ปี ไม่ใช่แค่การเชิญวงดนตรีหรือคณะนักแสดงระดับโลกมาเพื่อให้คนดูตื่นตาตื่นใจ แต่ต้องคัดสรรโชว์ที่แปลกใหม่ พร้อมกับแนะนำวัฒนธรรมการแสดงจากชาตินั้นๆ ได้ด้วย
“กระบวนการเลือกโชว์ถือเป็นการทำงานที่ทำกันต่อเนื่องยาวนานมาก เราไม่ได้เลือกโชว์สำหรับปีนั้นๆ จบแล้วถือว่าจบงาน แต่ต้องคิดล่วงหน้ายาวไปถึงปีถัดๆ ไป หลายครั้งเราต้องวางแผนงานปีหน้าพร้อมกับดำเนินการจัดโชว์ของปีนี้ เพราะความรับผิดชอบหลักที่จะละเลยไม่ได้คือการสรรหาโชว์ที่ ‘แปลกใหม่’ อยู่เสมอ ยกตัวอย่างละครบรอดเวย์ ‘West Side Story’ ที่เพิ่งจัดแสดงไป ปีนี้มีคนเดินทางมาชมโชว์นี้โดยเฉพาะมากถึง 8,000 คน แต่แน่นอนว่ากลุ่มผู้ชมเป้าหมายกลุ่มนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเลยแบบปุบปับ แต่ต้องผ่านกระบวนการแนะนำและให้ความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมการชมละครเวทีกับผู้ชม โดยการนำโชว์บรอดเวย์มาจัดแสดงต่อเนื่องกันหลายปี
“ไม่ใช่เพียงผู้ชมเท่านั้นที่จะต้องปรับตัวเข้าหาโชว์ แต่โชว์เองก็ต้องปรับเข้าหาผู้ชมด้วยเช่นกัน อย่างซับไตเติล หากไปดูโอเปราหรือละครที่ต่างประเทศ อาจจะไม่มีให้แบบนี้เสมอไป แต่เพราะเราเข้าใจธรรมชาติของคนไทยว่า เขาไม่ได้ต้องการเสพเพียงแค่สุนทรียภาพ เขามีความสงสัยใคร่รู้ว่านักแสดงกำลังพูดอะไรกัน เนื้อเรื่องดำเนินไปถึงไหนแล้ว” ราซีนาร์ระบุ
อีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจ คือเหตุใดบริษัท อินเตอร์เนชันแนลฯ ถึงเชื่อมั่นว่า ประเทศไทยจะเป็นฐานการจัดแสดงสำคัญ ทั้งที่วัฒนธรรมการดูละครเวที การเต้นรำ หรือแม้แต่ละครบรอดเวย์ ยังไม่แพร่หลายและได้รับความนิยมเท่าที่ควร อย่างไรก็ดี ราซีนาร์ยืนยันว่า นั่นเป็นเพียงมุมมองจากคนภายนอก เพราะความจริงยังมีกลุ่มคนดูที่พร้อมให้การสนับสนุนเรื่อยมา
“เราเริ่มจัดจากบัลเลต์ก่อนแค่โชว์เดียว ปีแรกจัดที่ศูนย์วัฒนธรรมฯ มีทั้งหมด 6 รอบ ปรากฏว่าบัตรขายหมดเกลี้ยง เรายังจำได้แม่นว่าปีนั้นต้องเป็นคนขึ้นเวทีไปประกาศในคืนที่ 6 ว่าพรุ่งนี้จะจัดโชว์พิเศษเพิ่มอีก 1 รอบ ประกาศวันนี้แล้วจัดพรุ่งนี้เลยอย่างค่อนข้างกะทันหัน แต่บัตรก็ยังขายได้ถึง 70% เหตุการณ์นี้คือข้อพิสูจน์ว่า คนไทยมีความกระหายที่จะดูโชว์แบบนี้ แม้จะเป็นโชว์ในแบบที่เขาไม่คุ้นเคย ไม่เคยเห็นมาก่อนก็ตาม เราจึงมุ่งมั่นจัดหาโชว์ที่คิดว่าคนไทยจะชอบมาแสดง
“ตลอด 25 ปีที่ผ่านมา ไม่ใช่แค่งานมหกรรมของเราเท่านั้นที่เติบโต แต่คนดูก็เติบโตไปพร้อมกันกับเรา จากช่วงแรกที่มีคนดูแค่ประมาณปีละ 3,000 คน จนปัจจุบันนี้มีผู้ชมเข้ามาดูโชว์ของเรามากถึง 40,000 คน นอกจากนี้กลุ่มเป้าหมายของเรายังหลากหลายขึ้นทุกปี จากเดิมที่ส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติ ตอนนี้ก็มีคนไทยมากขึ้น จากเดิมที่ตีได้แค่ตลาดกลุ่มวัยกลางคนอายุประมาณ 50-60 เป็นหลัก จนปัจจุบันนี้เรามีผู้ชมทุกเพศทุกวัย ตั้งแต่เด็กเล็กๆ ไปจนถึงผู้สูงอายุวัย 70-80 ปี”
ในบทสนทนาสั้นๆ ระหว่างเรากับราซีนาร์ เธอฝากข้อเสนอแนะถึงสิ่งที่ภาครัฐสามารถเข้ามาสนับสนุนได้ หากต้องการพลิกโฉมให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองแห่งศิลปะและวัฒนธรรม ที่สามารถเชื้อเชิญต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวเพื่อสร้างมูลค่าให้กับประเทศ
“ถ้าต้องคุยถึงขั้นพลิกโฉมกรุงเทพฯ ทั้งเมืองนี่ พูดกันสามวันไม่หยุดแน่นอน (หัวเราะ) แต่ถ้าเอาแค่ระดับเทศกาลศิลปวัฒนธรรมที่จัดขึ้นที่ศูนย์วัฒนธรรมฯ เราพอมีไอเดีย 2-3 ข้อ ที่คิดว่าภาครัฐสามารถเข้ามามีบทบาทในการช่วยสนับสนุนได้
“ข้อแรก ขอยกตัวอย่างบัลเลต์ที่กำลังจะจัดแสดงเป็นโชว์ส่งท้ายงานมหกรรมประจำปีนี้ในอีก 1 สัปดาห์ข้างหน้า (21-22 ตุลาคม 2566) ทีมงานไม่สามารถเอาฉากเข้ามาในโรงละครได้ครบ เพราะขนาดของเวทีไม่ลึกพอ เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเลยว่าเรายังขาดโรงละครหรือเวทีที่สามารถรองรับการแสดงสเกลใหญ่ๆ หากต้องการให้คนไทยมีโอกาสได้สัมผัสประสบการณ์เต็มรูปแบบจริงๆ ภาครัฐอาจต้องเข้ามาลงทุนตรงนี้อีกสักหน่อย
“ข้อที่สอง คือเรื่องของระบบขนส่งสาธารณะที่มีประสิทธิภาพ ปัจจุบันนี้มีสถานีรถไฟใต้ดินที่ชื่อว่า ‘ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย’ แต่ระยะทางจากสถานีถึงศูนย์วัฒนธรรมฯ ไกลในระยะที่คนเดินไม่ไหว ทำให้ผู้ชมที่เดินทางด้วยระบบสาธารณะเข้าถึงสถานที่จัดแสดงได้ยากกว่าผู้ชมที่ใช้รถส่วนตัวอยู่มาก
“ข้อที่สาม คือการประชาสัมพันธ์ กทม.ควรหันมาการโปรโมตภาพลักษณ์ที่หลากหลาย เพื่อให้กรุงเทพฯ มีมุมที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวระดับ Hi-End ด้วย หากเป็นการท่องเที่ยวแนวแบ็คแพ็กกิ้ง เที่ยวสังสรรค์ตามสถานเริงรมย์และสตรีตฟู้ด กรุงเทพฯ ในปัจจุบันมีศักยภาพในการดึงดูดนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้อยู่แล้ว แต่เรายังขาดการโปรโมตการท่องเที่ยวที่มีความรุ่มรวยในด้านวัฒนธรรมอยู่
“และข้อสุดท้ายคือการศึกษา ศิลปวัฒนธรรมเป็นสิ่งที่เราต้องเริ่มปลูกฝังให้กับเยาวชนตั้งแต่อายุน้อยๆ ไม่ต้องถึงขั้นให้ทุกคนมาเรียนดนตรี เรียนเต้นรำ เรียนการแสดง แต่อย่างน้อยควรมีเนื้อหาที่แนะนำให้พวกเขาได้รู้จักศิลปะเหล่านี้ หรือมีการอุดหนุนให้เด็กๆ ได้ออกมาเปิดหูเปิดตาและได้รู้จักว่าคำว่า ‘วัฒนธรรม’ ไม่ได้มีแต่เรื่องน่าเบื่อ” ราซีนาร์กล่าวทิ้งท้ายด้วยรอยยิ้ม
น่าสนใจว่าอนาคตของ Bangkok’s International Festival of Dance & Music ในมือของราซีนาร์จะเป็นไปในทิศทางใด แต่เชื่อว่าทุกๆ ปี ต่อจากนี้ เราจะยังได้ดูการแสดงโชว์สุดพิเศษดังที่ประจักษ์แก่สายตาใน Bangkok’s International Festival of Dance & Music ครั้งที่ 25 และที่สำคัญโปรเจกต์ดังกล่าวจะยังคงเป็นฟันเฟืองสำคัญ ในการเผยแพร่วัฒนธรรมการแสดงจากชาติตะวันตก รวมถึงหล่อหลอมให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองแห่งศิลปะและวัฒนธรรม ที่อุดมด้วยแสงสีเสียงสมดังฉายา ‘มหานครที่ไม่มีวันหลับใหล’
Tags: Bangkok’s International Festival of Dance and Music, BIFDM