จากเหตุการณ์ชายฉกรรจ์ชาวอินเดีย 6 คนรุมข่มขืนนักศึกษาหญิงอินเดียวัย 23 ปีบนรถบัส แล้วโยนออกมาจากรถโดยสาร ในกรุงเดลี เมื่อปี 2012 ประเด็นเรื่องสิทธิผู้หญิงในอินเดียได้รับการพูดถึงมากขึ้น สองปีหลังจากนั้นมีการสร้างการ์ตูนขึ้นมาโดยใช้ตัวละครหญิงในแนวซูเปอร์ฮีโร่ ชื่อ ‘ไปรยา จักติ’ มาพร้อมเสือพาหนะและสัตว์คู่ใจของเธอ สร้างเป็นเรื่องราวการต่อสู้กับความรุนแรงทางเพศที่เกิดขึ้นกับผู้หญิง เพื่อสร้างการตระหนักรู้ในเรื่องความรุนแรงทางเพศที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงในสังคมอินเดีย 

และไปรยาก็กลับมาอีกครั้งในการ์ตูนตอนที่สอง Priya and the Lost Girls

เรื่องราวของไปรยาเขียนขึ้นโดย นักแสดงและนักเขียวชาวอินเดีย-อเมริกันนาม ดิปตี เมห์ตา ซึ่งเป็นผู้เขียนสคริปต์ทั้งหมดในการ์ตูนเล่มนี้ โดยนำเอาตำนานอินเดียมาใช้ในการสร้างสรรค์เรื่องราวผสมผสานความแฟนตาซีในแบบการ์ตูนซูเปอร์ฮีโร่ เพียงแต่ซูเปอร์ฮีโร่หญิงอินเดียผู้นี้ไม่ได้ต่อกรกับปีศาจร้ายที่จะมาครองโลกที่ไหน แต่เธอต่อสู้เพื่อแสดงให้เห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงอินเดีย 

โดยในตอนที่สอง Priya and the Lost Girls เป็นเรื่องราวของไปรยาที่เดินทางกลับมายังหมู่บ้านแล้วพบว่าหญิงสาวในหมู่บ้านของเธอทั้งหมดถูกปีศาจร้ายนาม ราหู จับตัวไปไว้ในซ่องของเมืองใต้พิภพ รวมไปถึงน้องสาวของเธอที่ชื่อลักษมีอีกด้วย เธอและเสือคู่ใจนามสหัส จึงต้องเดินทางไปช่วย

หญิงที่ทำงานให้กับราหูพยายามหลอกล่อให้ไปรยามาทำงานด้วยกันในซ่องของเมืองใต้พิภพแห่งนี้ โดยกล่าวว่า “มาทำงานกับเราสิ เธอรับแขกเพียงวันละ 5-6 คนเท่านั้น ไม่ถึง 20 คนหรอก แค่นั้นก็สบายแล้ว” แต่ไปรยาไม่หลงกล สามารถปราบราหูและช่วยผู้หญิงทั้งหมดออกมาได้ 

แน่นอนว่าเรื่องราวของไปรยาสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาเรื่องการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะการค้าประเวณีหญิงในอินเดีย ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นกับเด็กหญิงในประเทศอินเดีย แต่เรื่องราว (ในการ์ตูน) ไม่จบง่ายๆ เพียงแค่นั้น ผู้เขียนกล่าวว่า “การ์ตูนเรื่อง The Lost Girls ไม่ใช่แค่การ์ตูนเพียงแค่แล้วคนดีก็ชนะคนร้าย มันไม่ใช่เรื่องราวแบบนั้น ชีวิตจริงก็ไม่ใช่แบบนั้น” 

หลังจากไปรยาช่วยผู้หญิงออกมาจากซ่องได้แล้ว หญิงเหล่านั้นได้กลับสู่หมู่บ้านและครอบครัว แต่แล้วครอบครัวกลับปฏิเสธที่จะรับพวกเธอกลับเข้ามาเป็นสมาชิกครอบครัว เพราะสำหรับสังคมอินเดีย หญิงเหล่านี้คือหญิงงามเมืองที่ถูกสังคมปฏิเสธ ดูหมิ่นราวกับเป็นโรคเรื้อน นี่คืออีกหนึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นจริงๆ ทั้งในการ์ตูนและในสังคมอินเดีย

ราม เทวัญณี อีกหนึ่งผู้ร่วมสร้างสรรค์การ์ตูนชุดนี้กล่าวว่าเขาได้แรงบันดาลใจในการสร้างรื่องราวในตอนที่สองนี้มาจาก โสนาคาฉิ ย่านโคมแดงที่ใหญ่ที่สุดในโกลกาตา ประเทศอินเดีย และใหญ่ที่สุดในเอเชียก็ว่าได้ ซึ่งหญิงขายบริการในนั้นหลายคนบอกว่าพวกเธอถุกล่อลวงมาขายตัว ในขณะที่อีกกว่าครึ่งก็บอกว่ายินยอมพร้อมใจมาทำอาชีพนี้ด้วยความจน

จากรายงานขององค์กร Apne Aap Women Worldwide กล่าวว่าทั้งโลกมีผู้คนที่ถูกล่องลวงไปสู่การค้ามนุษย์ประมาณ 100 ล้านคน โดย 27 ล้านคนนั้นอยู่ในประเทศอินเดีย ซึ่งส่วนมากเป็นผู้หญิงและเด็กผู้หญิง

ผู้จัดทำการ์ตูนไปรยา จักติ กล่าวว่า พวกเขามีแผนการที่จะทำการ์ตูนเล่มนี้เป็นหนังสือและแจกจ่ายไปยังโรงเรียนต่างๆ ทั่วอินเดีย (ปัจจุบันมีให้ดาวน์โหลดอ่านฟรีในรูปแบบอีบุ๊ก) และในอนาคตจะทำออกมาเป็นภาพยนตร์การ์ตูน เพื่อสร้างความตระหนักรู้ในเรื่องความรุนแรงทางเพศที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงในสังคมอินเดีย โดยเฉพาะกับเด็กผู้หญิงเพื่อให้เห็นว่าวิถีที่มันเกิดขึ้นในสังคมอินเดียในปัจจุบันนี้มันไม่ใช่เรื่องปกติ 

อ้างอิง

https://www.bbc.com/news/world-asia-india-50406618

https://www.reuters.com/article/us-india-trafficking-comic/female-comic-superhero-fights-indias-sex-traffickers-challenges-stigma

https://www.priyashakti.com/priya-lost-girls

ภาพ : www.priyashakti.com

 

Tags: , , ,