“น้ำหนักแห่งอดีตโคจรรายรอบวิญญาณของฉันในขณะนี้ มันไม่มีจุดสิ้นสุด”
ส่วนหนึ่งจากบทกวี  All Our Yesterdays โดยลุยส์ บอร์เฆส

แม้เหตุการณ์จะเกิดขึ้นเป็นล้านๆ ปีมาแล้ว กระนั้นคอนเซปต์ รวมไปถึงคำเรียกของ ‘ยุคก่อนประวัติศาสตร์’ (prehistory) ก็เพิ่งเริ่มต้นขึ้นเมื่อร้อยกว่าปีมานี้เอง ในยุคสมัยที่นิยามศิลปะวิทยาการในขณะนั้นว่าเป็น ‘ยุคสมัยใหม่’ นั่นเป็นต้นทศวรรษ 1860s ที่ซึ่งโลกตื่นตัวกับการค้นคว้าทางโบราณคดี ทั้งจากฟอสซิลที่ค้นพบ เครื่องไม้เครื่องมือหรือซากปรักของมนุษย์ยุคหินและสำริด รวมไปถึงภาพเขียนบนผนังถ้ำ 

ไม่ใช่เพียงในแวดวงวิทยาศาสตร์ หากในแวดวงศิลปะที่ขณะนั้นนิยามของคำว่า ‘โมเดิร์น’ เพิ่งเริ่มก่อร่าง โลกยุคดึกดำบรรพ์ก็ได้กลายมาเป็นสิ่งใหม่ น่าตื่นตา และกระตุ้นให้ใคร่รู้ในหมู่ศิลปิน จะเรียกว่าเป็นเทรนด์ก็ได้ และ ‘prehistory’ ก็ถือเป็นหัวข้อรวมถึงแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ที่สำคัญประการหนึ่ง จนทำให้ศิลปะยุคโมเดิร์นเป็นที่จดจำจวบจนปัจจุบัน

นอกจากเป็นพิพิธภัณฑ์ที่เป็นที่รู้จักในฐานะสถานที่จัดแสดงงานศิลปะในยุคโมเดิร์นของยุโรปที่ดีที่สุดในโลก อาคารที่ถูกออกแบบมาให้ไส้ในของสถาปัตยกรรมถูกรื้อออกมาอวดโชว์อยู่บนผิวนอกอย่าง Centre Pompidou ในปารีส ยังมักจัดนิทรรศการศิลปะหมุนเวียนที่คัดสรรผลงานจากยุคโมเดิร์นมาจัดแสดงภายใต้ธีมที่แตกต่างกันออกไป โดยหนึ่งในนิทรรศการหมุนเวียนล่าสุดซึ่งจัดแสดงระหว่างเดือนพฤษภาคมไปจนถึง 16 กันยายนนี้ คือเรื่องที่ผู้เขียนเพิ่งเกริ่นไป   

‘ยุคก่อนประวัติศาสตร์: ปริศนาแห่งยุคโมเดิร์น’ (Prehistory: A Modern Enigma) คือหัวข้อนิทรรศการดังกล่าว โดยภัณฑารักษ์ Cécile Debray, Rémi Labrusse และ Maria Stavrinaki ร่วมกันคัดสรรผลงานกว่า 500 ชิ้น ทั้งจากในคอลเลกชั่นของ Centre Pompidou และจากคอลเลกชั่นของพิพิธภัณฑ์และแกลเลอรี่แห่งอื่นๆ สร้างภูมิทัศน์แห่งความฉงนฉงายอันเกิดจากการมองโลกก่อนอารยธรรมโดยเหล่าศิลปินดังเมื่อศตวรรษที่แล้ว

แสงสว่างภายในถ้ำ

นิทรรศการเริ่มต้นจากการจำลองโถงส่วนแรกคล้ายให้ผู้ชมเดินเข้าไปในถ้ำ ในความมืด ถ้ำต้อนรับเราด้วยแสงสว่างที่ทาบบนประโยคหนึ่งจากบทกวีของบอร์เฆส พอให้เราอ่านออก —“Around the ghost of myself now orbits the weight of the past. It is infinite.” มีวัตถุจัดแสดงภายในห้องส่วนนี้เพียงสองชิ้น ซึ่งผู้เขียนคิดว่าเป็นการเลือกสรรมาเปิดนิทรรศการได้อย่างชาญฉลาด 

สิ่งแรกคือกะโหลกมนุษย์โฮโมเซเปียนส์อายุกว่า 28,000 ปีที่ถูกค้นพบในเมือง Dordonge ทางตะวันตกเฉียงใต้ของฝรั่งเศส (คอลเลกชั่นของพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติปารีส) ขณะที่งานอีกชิ้นคือภาพจิตรกรรมนามธรรม ชื่อ Le Temps (Time) ที่ Paul Klee เขียนขึ้นในปี ค.ศ. 1933

แม้ไม่ใช่งานศิลปะ หากกะโหลกจริงของสิ่งมีชีวิตที่มีวิวัฒนาการขั้นสุดจนเป็นมนุษย์อย่างพวกเรา ไม่เพียงสะท้อนถึงหนึ่งในมรดกแห่งยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่ตกทอดมาถึงทุกวันนี้ หากยังถูกนำเสนอในฐานะบรรจุภัณฑ์ของสมอง อันเป็นที่มาของความคิด การประดิษฐ์ทฤษฎี ความใคร่รู้ในข้อเท็จจริงของอดีต รวมไปถึงจินตนาการที่นำมาซึ่งการสร้างสรรค์งานศิลปะอย่างไม่จบไม่สิ้นด้วย ขณะที่ภาพจิตรกรรมที่ดูคล้ายผ้าพันแผลสีเอิร์ธโทนที่ซ้อนทับกันหลายชั้นโดยผืนบนสุดมีรูปเส้นทะแยงมุมสีดำ สื่อสารถึงการซ้อนทับกันของชั้นดินแห่งอดีต โดยมีเส้นสีดำที่ดูเหมือนลูกศรชี้ไปทางขวาประหนึ่งเป็นการชี้ไปยังอนาคต

น่าจะเป็นความตั้งใจของภัณฑารักษ์ที่ยิ่งเดินเข้าไป ความมืดที่เคยเข้มข้นจากโถงถ้ำในห้องแรกก็ค่อยๆ ลดลง และเป็นเช่นนั้นในห้องถัดๆ ไป นิทรรศการในห้องที่ 2 มีผลงานของ Paul Cézanne และ Odilon Redon ซึ่งทั้งคู่ต่างตื่นใจและใคร่รู้ในกระแสการค้นพบยุคก่อนประวัติศาสตร์เช่นกัน (พวกเขาต่างมีเพื่อนเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ช่วยตระเตรียมข้อมูลที่เป็นแรงบันดาลใจในการสร้างงานศิลปะด้วย) เซซานตอบสนองความใคร่รู้นี้ด้วยการสร้างสรรค์ภาพอิมเพรสชั่นทิวทัศน์ของหินผาและภูเขาดึกดำบรรพ์ ส่วนเรอดงสร้างสรรค์งานวาดเส้นที่เล่าเรื่องของการอุบัติขึ้นของโลกและมนุษย์  

Paul Cézanne

Odilon Redon

สัตว์ประหลาดดึกดำบรรพ์

การค้นคว้าที่ยังคลุมเครือในข้อเท็จจริงในปลายศตวรรษที่ 19 ถึงต้นศตวรรษที่ 20 เปิดพื้นที่ให้ศิลปินจินตนาการถึงโลกที่ไร้มนุษย์อันหลากหลาย โดย ‘ฟอสซิล’ ถือเป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจที่ทำให้ศิลปินอย่าง Max Ernst, Eugèn Gabritschevsky, Alberto Savinio ไปจนถึง Giorgio De Chirico พยายามค้นหารูปลักษณ์ของซากดึกดำบรรพ์เหล่านั้นเมื่อครั้นยังมีชีวิต เกิดเป็นจิตรกรรมและประติมากรรมสรรพสัตว์และภูมิทัศน์ทั้งในทิศทางของอิมเพรสชั่นนิสม์และเซอร์เรียลลิสต์ 

Max Ernst

Eugèn Gabritschevsky

ที่ผู้เขียนชอบเป็นพิเศษคือภาพพิมพ์ The Crystal Palace and Gardens ของ George Baxter ซึ่งมีทิวทัศน์ของคริสตัลพาเลซในลอนดอนเป็นฉากหลัง ขณะที่ภาพในมุมใกล้เป็นเหล่าสัตว์ประหลาดที่ยืนอยู่ในสวน และมีผู้คนกำลังจับจ้อง ราวกับมาเดินเล่นในสวนสัตว์เปิด ส่วน Levi Fisher Ames สร้างสรรค์ประติมากรรมไม้รูปไดโนเสาร์ขนาดจิ๋วบรรจุอยู่ในกล่องไม้ ส่วนหนึ่งจากงานทั้งหมดกว่า 600 ชิ้นที่ศิลปินชาวอเมริกันผู้นี้ทำไว้ตลอด 30 ปี เขาตระเวนนำกล่องไดโนเสาร์เหล่านี้ไปจัดแสดงทั่วรัฐวิสคอนซิน พร้อมกับเล่าเรื่องกึ่งนิทานถึงโลกในยุคไดโนเสาร์ให้ผู้ชมฟัง 

George Baxter

Levi Fisher Ames

วีนัสแห่งยุคหินเก่า 

ร่วมสมัยไปกับยุคสมัยแห่งการศึกษาฟอสซิล ช่วงกลางศตวรรษที่ 19 ยังมีการค้นพบประติมากรรมจากยุคหินเก่ารูปผู้หญิงร่างอวบในหลายสถานที่ทั่วภูมิภาคยูเรเซีย ประติมากรรมที่ถูกตั้งชื่อตามเทพโรมัน ‘วีนัส’ คล้ายเป็นเครื่องรางหรือสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ บันดาลใจให้ Alberto Giacometti, Henry Moore, Louis Bourgeois และ Pablo Picasso สร้างสรรค์ผลงานรูปปั้นวีนัสแห่งยุคหินเก่าภายใต้การตีความใหม่ ซึ่งมีทั้งการคงรูปฟอร์มแบบผู้หญิงไว้ ไปจนถึงการผสานวีนัสเข้ากับสรรพสัตว์ หรือรูปฟอร์มอันแปลกประหลาดออกไปจนห่างไกลจากต้นฉบับ     

Louis Bourgeois

Pablo Picasso

ส่วนศิลปินเยอรมันในยุคต่อมาอย่าง Joseph Beuys ก็ยังนำแรงบันดาลใจจากทรวดทรงอันอวบอัดของเธอมาวาดเป็นงานจิตรกรรมสีน้ำ Zwei Frauen  (1955) เช่นเดียวกับ Yves Klein ที่นำสีน้ำเงินอันเป็นซิกเนเจอร์ของเขามาวาด Anthropométrie sans tire (1961) งานนามธรรมที่เชื่อมโยงไปกับเส้นสายแห่งความอุดมสมบูรณ์แต่โบราณ

Joseph Beuys

Yves Klein

จิตรกรรมบนผนัง 

ภาพเขียนสีบนผนังถ้ำที่ทยอยกันถูกค้นพบตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 19 เรื่อยมา ยังเป็นอีกหนึ่งแรงบันดาลใจชั้นเยี่ยม ส่งต่อให้เกิดงานศิลปะมาสเตอร์พีซหลายชิ้นในยุคโมเดิร์น เช่นที่ปิกัสโซรับแรงบันดาลใจจากภาพวัวกระทิงบนผนังถ้ำอัลตามิรา (Altamira) ในประเทศสเปน จนทำให้เขาสร้างสรรค์วัวกระทิงคิวบิสม์อันเป็นเอกลักษณ์ รวมไปถึงศิลปินชาวสเปนอีกรายอย่าง Jaun Miro ที่ซึ่งลายเส้นและรูปทรงอันแปลกประหลาดและชุลมุนอย่างน่าอัศจรรย์ของเขา ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นมาจากแรงบันดาลใจจากลายเส้นดึกดำบรรพ์ในถ้ำแห่งเดียวกัน 

Jaun Miro

ทั้งนี้ภาพจิตรกรรมที่จำลองมาจากภาพเขียนบนผนังถ้ำอัลตามิราของ Paul Rattier y Josse ก็ยังถูกนำมาจัดแสดงที่นี่ด้วย นี่ถือเป็นการ reproduction งานศิลปะในยุคก่อนประวัติศาสตร์โดยศิลปินในยุคโมเดิร์นชิ้นแรกของโลก (โดยพอลได้รับการจ้างวานจากนักโบราณคดีสมัครเล่นผู้ค้นพบภาพเขียนสีดังกล่าวให้จำลองภาพจิตรกรรมนี้ไว้ หากต่อมาพอลก็กลับถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้วาดภาพบนผนังถ้ำนั้นเสียเอง เพื่อนำมาอุปโลกน์ว่าเป็นงานจากมนุษย์โบราณ กระนั้นความที่ศิลปินเป็นใบ้ เขาเลยไม่ได้โต้แย้งข้อกล่าวหานี้)  

นอกจากศิลปินในยุคโมเดิร์น นิทรรศการยังจัดแสดงผลงานบางส่วนของศิลปินในยุคถัดมาและศิลปินร่วมสมัยด้วย หนึ่งในนั้นคืองาน Le Grand Verre de Terre Vidre de meravelles  (2016) ของศิลปินชาวสเปน Miquel Barceló ซึ่งเป็นภาพเฟรสโก้บนกระจกใสบานยักษ์ที่ศิลปินได้แรงบันดาลใจมาจากภาพเขียนสีโบราณ และเขาก็สร้างสรรค์งานออกมาโดยยึดเรฟเฟอร์เรนซ์ดังกล่าว หากแต่อยู่บนวัตถุที่สะท้อนยุคสมัยปัจจุบันเช่นกระจกใส 

Miquel Barceló

Claudio Parmiggiani สร้างสรรค์ Cripta (1994) ด้วยการเพ้นท์ผนังและเพดานห้องห้องหนึ่งในพิพิธภัณฑ์ด้วยรอยมือแปะป่ายไปทั่ว ห้องมืดสนิท แต่พอมีความสลัวที่ทำให้เรามองเห็นรอยมือจำนวนนับไม่ถ้วนเหล่านั้น ซึ่งจำลองประสบการณ์ของการเข้าไปในถ้ำเพื่อพบจิตรกรรมไร้อารยะของมนุษย์โบราณ (หรืออาจเป็นหลุมหลบภัยอะไรสักอย่าง ที่ผู้คนที่อยู่ในนั้นเคยกระเสือกกระสนปีนป่ายกันออกมาเพื่อเอาชีวิตรอด) และศิลปินมินิมัลอย่าง Carl Andre มีผลงาน Hearth (1980) ซึ่งประกอบขึ้นจากท่อนไม้ทรงสีเหลี่ยมพื้นผิวเรียบเนียนเรียงต่อกันจนดูเหมือนถ้ำเรขาคณิตสามมิติอันเรียบกริบคงเส้นคงวา   

Claudio Parmiggiani

Carl Andre

Prehistoric Presents

ช่วงท้ายของนิทรรศการเป็นการจัดแสดงผลงานของศิลปินร่วมสมัยที่ไม่ได้มีเส้นเรื่องหรือการแบ่งยุคสมัยมากำหนด คล้ายเป็นการชวนให้เราดูว่าศิลปินในยุคนี้มีมุมมองต่อโลกดึกดำบรรพ์ต่างกรรมต่างวาระเช่นใดบ้าง

อาทิเช่น Snake Circle (1991) ของ Richard Long – แท่นหินที่วางซ้อนกันเป็นวงกลม ราวกับการกำหนดอาณาเขตของพิธีกรรมลึกลับแต่โบราณ, Viewer Small (Climate) (2008) ของ Jean-Pascal Flavien – กล่องสีแดงขนาดใหญ่ที่มีปล่องยื่นออกมา 4 ปล่อง เปิดให้ผู้ชมแหงนคอเข้าไปในปล่องเพื่อฟังเสียงลึกลับ (ที่ศิลปินจินตนาการว่าเป็นเสียงที่บันทึกมาจากโลกยุคดึกดำบรรพ์), Hell Sixty-Five Million Years BC (2004-2005) เป็นประติมากรรมกระดาษคล้ายของเล่นรูปไดโนเสาร์สายพันธุ์ต่างๆ โดย Jeke et Dinos Chapman   

Richard Long

Jeke et Dinos Chapman

  รวมไปถึงภาพยนตร์สั้น Dinosaurs and Family (1983) ของ Wim Wenders หรือภาพยนตร์สั้น Les Mains Negatives (1978) ที่ Marguerite Duras บันทึกวิดีโอท้องถนนในกรุงปารีสพร้อมเสียงประกอบอันเคร่งขรึมราวกับอยู่ในพิธีกรรมทางศาสนา (ซึ่งผู้เขียนจนด้วยเกล้าว่าดูราสเชื่อมโยงกับโลกยุคก่อนประวัติศาสตร์ในแง่ใด) 

Wim Wenders

และหนึ่งในงานที่ผู้เขียนชอบที่สุดคือวิดีโอความยาว 20 นาที ของ Pierre Huyghe ชื่อว่า Untitled (Human Mask) (2014) ศิลปินบันทึกชีวิตของลิงตัวหนึ่งที่อาศัยอยู่ในชุมชนที่ร้างผู้คนของจังหวัดฟุคุชิมะ (อันเกิดจากการอพยพหนีการรั่วไหลของกัมมันตภาพรังสี) ลิงถูกศิลปินจับให้สวมวิกและหน้ากากมนุษย์เพศหญิง และทำกิจวัตรภายในบ้านร้างเพียงลำพัง มันถูกฝึกให้มีกิจวัตรอย่างมนุษย์ (แต่งตัวด้วยชุดคนรับใช้และทำความสะอาดบ้าน, เปิดตู้เย็นหาอาหาร, สางเส้นผม ไปจนถึงการนั่งเหม่อ) คล้ายว่าศิลปินตั้งใจจะครอบความเป็น primitive ของลิง ด้วยมุ้งของความเป็นมนุษย์ 

อย่างพ้องพานราวตั้งใจ หากลิงในเสื้อผ้าและหน้ากากมนุษย์ ก็เป็นภาพกลับของศตวรรษแห่งศิลปะโมเดิร์นที่เป็นหัวใจของนิทรรศการนี้ได้ดี ภาพกลับที่สะท้อนให้เห็นความพยายามของศิลปินที่จะตักตวงความ primitive ในโลกอดีต จำลอง รวมไปถึงทำซ้ำผลงานของมนุษย์ในสังคมก่อนอารยะได้เคยสร้างไว้

ในขณะที่งานของ Pierre Huyghe พาเราไปสำรวจกิจวัตรของลิงที่สวมหน้ากากมนุษย์ นิทรรศการนี้ก็คล้ายพาเราไปชมผลงานศิลปะชั้นเยี่ยมที่สร้างสรรค์โดยเหล่ามนุษย์ผู้พยายามจะสวมหน้ากากลิง 

Pierre Huyghe

ภาพประกอบบทความ: ส่วนหนึ่งโดยจิรัฏฐ์ ประเสิรฐทรัพย์ และส่วนหนึ่งจากแคตตาล็อกนิทรรศการ

Fact Box

  • ในระหว่างทศวรรษ 1840s – 1850s Jacques Boucher der Perthes นักโบราณคดีชาวฝรั่งเศส หนึ่งในผู้ริเริ่มคอนเซปต์การเรียกยุคสมัยที่โลกยังไร้อารยธรรมว่า ‘ยุคก่อนประวัติศาสตร์’ ได้ค้นพบหลุมขุดกรวดที่ภายในเต็มไปด้วยหินโบราณภายในเมืองซอมม์ (Somme) เขารวบรวมก้อนหินเหล่านั้น โดยมองว่ามันเป็นงานประติมากรรมที่รังสรรค์โดยมนุษย์โบราณ (กระนั้นข้อเท็จจริงในกาลต่อมายืนยันว่า หินเหล่านั้นมีรูปทรงเป็นไปตามกาลเวลาและธรรมชาติ หรืออย่างดีที่สุดก็แค่เศษจากหินที่ถูกทิ้งไว้โดยนักแกะสลักโบราณ) ผ่านการตีความอันชวนฝันของเขา อย่างไรก็ตาม ในท้ายที่สุดแวดวงโบราณคดีก็บรรจุทฤษฎีเกี่ยวกับ ‘ศิลปะยุคก่อนประวัติศาสตร์’ ไว้ ซึ่งต่อมาทฤษฎีนี้ก็ได้รับการยืนยัน จากการค้นพบงานศิลปะจริงๆ ที่สร้างสรรค์โดยมนุษย์โบราณ เช่น จิตรกรรมบนผนังถ้ำ หรืองานประติมากรรม เป็นต้น
  • รูปงานศิลปะที่เห็นชัดๆ ในบทความนี้ทั้งหมดนำมาจากหนังสือ Prehistory: Exhibition Album โดย Centre Pompidou ส่วนรูปที่ไม่ค่อยชัด และรูปบรรยากาศที่ถ่ายออกมาเบลอๆ เป็นผลงานจากโทรศัพท์มือถือของผู้เขียนเอง
  • นิทรรศการ Prehistory: A Modern Enigma จัดแสดงที่ Centre Pompidou วันนี้ถึง 16 กันยายน 2019 ข้อมูลเพิ่มเติม https://www.centrepompidou.fr/fr