ขึ้นชื่อว่า ‘แอลกอฮอล์’ แล้วคนส่วนใหญ่ในสังคมไม่ว่าที่ไหนของโลกใบนี้มักไม่เห็นค่าและมองในแง่ลบ เนื่องมาจากผลลัพธ์ของมันภายหลังการดื่ม แม้แต่นักโฆษณา ที่ความจริงอยากได้เงินลูกค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เวลาต้องมาคิดหาแคมเปญให้คนเลิกดื่มสุรา ก็ยังหาไอเดียติดลบให้มันได้อย่างสะใจถึงขั้วว่า “ให้เหล้า เท่ากับแช่ง”

แต่ความจริงก็คือความจริง เพราะฤทธิ์ของแอลกอฮอล์มีผลต่อร่างกายมนุษย์เราจริง ไม่ว่าเบียร์ ไวน์ วิสกี ฯลฯ สามารถทำให้ผู้ดื่มเกิดอารมณ์ความรู้สึกแตกต่างกัน ตั้งแต่ผ่อนคลาย เซ็กซี่ กระชุ่มกระชวย เมื่อยทรุด คลุ้มคลั่ง ป่วย สับสน เคลิ้มสุข จนไปถึงเศร้าโศก

ไม่ว่าจะอย่างไร จากการวิจัยล่าสุดพบว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นสาเหตุของความตายราว 3.3 ล้านกรณี และเป็นสาเหตุของความป่วยไข้หรือบาดเจ็บราว 20 ล้านกรณีต่อปี

ที่แย่และเลวร้ายกว่านั้นยังมี แต่จะขอพักไว้แค่นั้น เพราะเรากำลังจะปลีกไปหาโลกสวย รับรู้เรื่องราวในแง่ดีของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ดูบ้าง และโปรดใช้วิจารณญาณในการอ่านด้วย

 

แอลกอฮอล์ช่วยให้พูดภาษาดีขึ้น?

ใครเคยประสบด้วยตัวเองบ้างไหม? ที่เวลาดื่มของเบียร์เข้าไปสองหรือสามแก้ว แล้วภาษาต่างประเทศมักจะพรั่งพรูออกจากริมฝีปากแบบไม่ติดขัด ทั้งหมดนั้นคือมโนหรือไม่ ตอนนี้มีคนทำวิจัยออกมาให้คำตอบแล้ว

จากกรณีศึกษาของมหาวิทยาลัยมาสทริชต์ นักวิจัยยกตัวอย่างผลลัพธ์ของแอลกอฮอล์ในเรื่องการใช้ภาษาต่างชาติ ภายหลังการดื่มหนึ่งแก้ว มันจะช่วยให้เกิดสภาพคล่องขึ้นจริง ด้วยสำเนียงที่ผิดเพี้ยนน้อยมากด้วย

ฟริตซ์ เรนเนอร์ (Fritz Renner) นักวิจัยทำการทดสอบกับผู้ใช้ภาษาเยอรมันเป็นภาษาแม่จำนวน 50 คน ซึ่งก่อนหน้านั้นเคยเรียนภาษาดัตช์มาก่อนหลายเดือน เริ่มต้นการทดสอบด้วยการให้คนเหล่านี้เลือกดื่มว็อดกา บิตเตอร์ เลมอน หรือน้ำเปล่า จากนั้นให้พวกเขาสนทนากันเป็นภาษาดัตช์ โดยมีผู้ใช้ภาษาดัตช์เป็นภาษาแม่สองคนเป็นผู้ตัดสิน ทั้งการออกเสียง ไวยากรณ์ การใช้ศัพท์ และข้อคิดเห็น ขณะเดียวกันก็ให้ผู้ถูกทดสอบคาดเดาความสามารถในการใช้ภาษาของตนเองด้วย ทั้งนี้ผู้ถูกทดสอบมีแอลกอฮอล์ในเลือดที่ระดับ 0.4 โปรมิลล์ (Promille) ระหว่างการทดสอบ

ความคล่องในการใช้ภาษามาจากพื้นความรู้ของตนเอง เพียงแต่แอลกอฮอล์มีส่วนช่วยให้การพูดลื่นไหลขึ้น

ผลการทดสอบ: ผู้ตัดสินซึ่งใช้ภาษาดัตช์เป็นภาษาแม่ให้ความเห็นว่า ผู้ถูกทดสอบที่ดื่มแอลกอฮอล์นั้นสามารถใช้สำเนียงภาษาได้ดีกว่าผู้ถูกทดสอบที่ดื่มเพียงน้ำเปล่า ส่วนผู้ถูกทดสอบเองออกความเห็นว่า ความคล่องในการใช้ภาษามาจากพื้นความรู้ของตนเอง เพียงแต่แอลกอฮอล์มีส่วนช่วยให้การพูดลื่นไหลขึ้น

หลังจากมีการเผยแผ่รายงานการทดสอบ ฮานส์ รุตแกร์ บอสแคร์ (Hans Rutger Bosker) ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาภาษาของสถาบันมักซ์ พลังค์ ในเมืองไนเมเกน ยังมีความเคลือบแคลงต่อผลลัพธ์ เนื่องจากผู้เข้าร่วมทดสอบมีเพียงคนใช้ภาษาแม่เพียงสองภาษาเท่านั้น อีกทั้งยังเชื่อว่า ผู้ถูกทดสอบจำนวน 25 คนที่ดื่มแอลกอฮอล์มีความสามารถในการพูดภาษาที่ตนเรียนมาได้ชำนาญกว่าคนที่ดื่มน้ำเปล่าอยู่แล้ว

แต่บอสแคร์ให้ข้อสรุปทิ้งท้ายว่า นักวิจัยกับผู้เข้าร่วมการทดสอบน่าจะสนุกสนานในการทำงานร่วมกันครั้งนี้อย่างแน่นอน

 

แอลกอฮอล์ช่วยให้เรียนจบ?

เรื่องนี้เป็นเอฟเฟ็กต์ที่เหลือเชื่อ – จากกรณีศึกษาของ Danish Evaluation Institute (EVA) ในเดนมาร์ก ทำการวิจัยนักศึกษาจำนวนกว่า 14,000 คน ระหว่างเดือนตุลาคม 2016 ถึงมีนาคม 2017 พบว่า การเสพเครื่องดื่มไม่ว่าเบียร์ วิสกี หรือไวน์ในบางโอกาส มีผลให้นักศึกษาเรียนจบหลักสูตรได้ตามกำหนด และการวิจัยนี้ไม่ได้นำเอาปริมาณการดื่มแต่ละครั้งของพวกเขามาเป็นเกณฑ์การวัดผล

กินเหล้าเมายาแต่ก็เรียนจบได้ ฟังดูขัดกับความเป็นจริง ซึ่งถ้าใครทำอย่างไร้สติอย่างนั้นก็คงต้องเรียนซ้ำวิชา หรือไม่ก็หาทางจบไม่เจอ และเป็นอย่างนั้นจริง เพราะเรื่องที่กำลังพูดถึงอยู่นี้ ผลลัพธ์ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะแอลกอฮอล์ หากแต่เกิดจากการมีส่วนร่วมในสังคม

ยกตัวอย่างเช่น นักศึกษาใหม่คนไหนที่ไม่เคยไปโผล่หน้าในงานปาร์ตี้นักศึกษาเลย ก็จะไม่สนิทชิดเชื้อกับใคร นั่นเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้แรงจูงใจในการฮึดเรียนให้จบลดต่ำลง ส่วนใครที่ปาร์ตี้จนเพลิน มีอาการเมาค้างอยู่ตลอดเวลา นักวิจัยบอกว่า นักศึกษาประเภทนี้ก็อาจจะจบก่อนเวลาได้เช่นกัน คนที่เอาตัวรอดได้คือ นักดื่มสมัยใหม่ ที่รู้ตัวว่าดื่มเพื่อสังคม เพื่อความสนุกสนานเท่านั้น

กรณีศึกษานี้ได้รับการเผยแผ่ในเยอรมนีแล้ว เนื่องจากเป็นประเทศที่ยังมีปัญหาว่า ปัจจุบันนักศึกษาหนึ่งในสามมักทิ้งการเรียนลงกลางคัน

 

แอลกอฮอล์ช่วยให้ชีวิตคู่ซาบซ่าขึ้น?

กรณีศึกษาของ ‘The Gerontological Society of America’ ที่ทำการสำรวจคนแต่งงานแล้วและวัยเกิน 50 ปี จำนวน 5,000 คน พบว่า การเสพเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของคู่แต่งงานร่วมกันมีส่วนช่วยให้การใช้ชีวิตคู่ดีขึ้นกว่าคู่ที่ไม่ดื่ม หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งดื่ม

เน้นคำว่า ‘คนวัยเกิน 50 ปี และผ่านการครองคู่มายาวนาน’

เพราะคนในวัยหนุ่ม-สาวที่เพิ่งแต่งงาน ต่างคนต่างมีความเป็นตัวของตัวเองสูง ความอดทนอดกลั้นมีน้อยพอๆ กับประสบการณ์ในการใช้ชีวิตคู่ แล้วไหนจะยังมีภาระทั้งส่วนตัวและครอบครัวให้ต้องรับผิดชอบ ไม่ว่างาน-นอกบ้านในบ้าน เซ็กซ์ นอน และถ้าต้องเมาค้างอีกล่ะ

การเสพเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของคู่แต่งงานร่วมกันมีส่วนช่วยให้การใช้ชีวิตคู่ดีขึ้นกว่าคู่ที่ไม่ดื่ม

ผิดกับคู่สามี-ภรรยาที่อยู่กินกันมาเนิ่นนาน แม้ความชอบส่วนตัวจะไปคนละทางอย่างชัดเจน แต่หากมีเวลาได้นั่งกระดกแก้วด้วยกัน ถึงไม่ต้องดื่มอะไรที่เหมือนกันก็ตาม พวกเขาสามารถทำด้วยความปลอดโปร่ง เพราะมีเรื่องให้กังวลในชีวิตน้อยกว่า ไม่ว่าตู้เย็นจะเสีย ทีวีจะพัง หรือลูกหลานไม่ค่อยโผล่มาเยี่ยม

แต่นั่นก็คือกรณีศึกษาของสังคมอเมริกัน…เข้าใจตรงกันนะ

 

คำถามเรื่องแอลกอฮอล์กับนักวิชาการ

“ยังไม่มีคำยืนยันทางวิชาการว่า การดื่มแอลกอฮอล์หลากชนิดจะมีผลให้เมาเร็วหรือเมาค้าง” อันเดรียส คาลบิตซ์ (Andreas Kalbitz) นักวิชาการชาวเยอรมัน กล่าวไว้

ปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดต่อมิลลิกรัมและอาการเมา มีผลจากปริมาณของแอลกอฮอล์ล้วนๆ ยิ่งดื่มมากเท่าไร ย่อมส่งผลต่อร่างกายตามมาเท่านั้น แม้กระทั่งในวันรุ่งขึ้น หมายความว่า ถ้าเราเมาค้างหรือมีอาการแย่ละก็ ความผิดอยู่ที่ปริมาณที่เราดื่ม ไม่ใช่ความหลากชนิดที่เราดื่มวนไป

เรามักจะเปลี่ยนชนิดเครื่องดื่มต่อเมื่อเราเริ่มรู้สึกเอือมเอียนกับสิ่งที่กำลังดื่มอยู่แล้ว คาลบิตซ์บอก เมื่อถึงจุดนั้นก็เตรียมใจไว้ล่วงหน้าได้เลย “สมมติว่าเราดื่มเบียร์มาตลอด จนถึงจุดหนึ่งที่เราไม่อยากดื่มมันอีกแล้ว หรือดื่มมันได้น้อยลง แต่พอเปลี่ยนไปดื่มอย่างอื่น เราสามารถดื่มต่อได้อีกเรื่อยๆ จนมารู้สึกตัวอีกครั้งก็ตอนสายของวันรุ่งขึ้น”

 

เราต้องคำนึงถึงคุณภาพของเครื่องดื่มหรือไม่?

ถามว่า ว็อดการาคาแพงจากฮิปบาร์กับว็อดการาคาถูกจากร้านสะดวกซื้อ อย่างไหนดื่มแล้วปวดหัวน้อยกว่ากัน “คุณภาพของเครื่องดื่มไม่ได้แตกต่างกันเลย เวลาที่แอลกอฮอล์ซึมเข้าไปในเส้นเลือด” เป็นคำตอบของนักวิชาการ ถึงเหล้าถูกหรือแพงจะไม่ทำให้เรารู้สึกเมาเร็วกว่ากัน แต่เราก็ควรรู้ด้วยว่า เราสั่งอะไรมาดื่ม เพราะการหมักเครื่องดื่มคุณภาพต่ำ (อาจใช้แอลกอฮอล์ชนิดอื่นที่มีโมเลกุลใหญ่กว่าเอธิลแอลกอฮอล์ มีชื่อเรียกรวมๆ ว่า Fusel Alcohol ซึ่งปะปนอยู่ในเหล้า) ทำให้เกิด Fusel Alcohol ขึ้น และมันมีผลให้เกิดอาการเมาค้างได้

 

ดื่มเบียร์แล้วตามด้วยน้ำเปล่าเป็นระยะๆ จะช่วยได้ไหม?

คำตอบคือ แอลกอฮอล์จะคงปริมาณเท่าเดิมที่เราดื่มเข้าไป ไม่ว่าจะตามด้วยน้ำเปล่ามากน้อยแค่ไหน แต่น้ำจะช่วยป้องกันสภาพการขาดน้ำของร่างกาย เนื่องจากแอลกอฮอล์จะดูดซึมน้ำจากร่างกายอย่างที่รู้กัน ดื่มน้ำได้…ไม่เสียหายอะไร

คำเตือนจากนักวิชาการคืออย่ารับประทานยาแก้ปวด เพราะว่าตับของเราถูกแอลกอฮอล์ทำร้ายมาแล้วตลอดคืน

อิ่มท้องก่อนนอน ยังจะเมาค้างอีกไหม?

ทฤษฎีที่เป็นความจริงคือ ใครดื่มขณะท้องยังว่างจะเมาเร็ว เพราะถ้ามีอาหารในกระเพาะ แอลกอฮอล์จะดูดซึมเข้าเส้นเลือดช้าลง และตรงนี้ไม่สำคัญด้วยว่าอาหารที่รับประทานเข้าไปนั้นจะอุดมด้วยไขมันหรือไม่ เพราะความสำคัญอยู่ที่ร่างกายมีอาหารที่พร้อมทำงาน

แต่ทั้งหมดนี้คือต้องรับประทานก่อนการดื่มหรือคั่นกลางระหว่างดื่มเท่านั้น ส่วนประเภทข้าวต้มหรือข้าวมันไก่ตอนตีสาม ไม่ได้ช่วยอะไรเลย…นะ

 

เช้าแล้ว เมาค้าง เยียวยาอย่างไรได้บ้าง?

ให้รับประทานอาหารรสเค็มและน้ำปริมาณมาก เนื่องจากร่างกายสูญเสียแร่ธาตุและน้ำอย่างรุนแรง หรือไม่ก็แนะนำให้รับประทานอาหารที่ไม่ระคายเคืองกระเพาะอาหาร รวมถึงการสูดอากาศสดชื่นเข้าปอดเยอะๆ อาการเมาค้างก็จะค่อยๆ ทุเลาลง

คำเตือนจากนักวิชาการต่อเรื่องนี้คือ อย่ารับประทานยาแก้ปวด เพราะว่าตับของเราถูกแอลกอฮอล์ทำร้ายมาแล้วตลอดคืน

 

 

อ้างอิง:
Medizinischen Fachpublikation BMJ Open
Journal of Psychopharmacology, Maastricht University
Danish Evaluation Institute (EVA)
www.bento.de
www.dw.com
www.stern.de
sz-maganzin.sueddeutsche.de
Spiegel Online

Tags: , , , , , , ,