– 1 –

ปลายเดือนธันวา อากาศเมืองน่านยามเช้าแตะหลักสิบองศาต้นๆ ผมและเพื่อนร่วมทริปอีกสองคนเดินสะโหลสะเหลลงจากรถทัวร์ มือควานหาเสื้อหนาวกันพัลวัน ควันออกปากตั้งแต่ยังไม่ทันได้จุดบุหรี่สูบ จากสถานีขนส่ง เดินเลาะตัวเมืองราวสิบนาทีก็ถึงที่หมาย ‘บ้านๆ น่านๆ’ บ้านไม้หลังย่อมที่เป็นทั้งห้องสมุด แกลเลอรี และที่พัก เราจะปักหลักอยู่ที่นี่ตั้งแต่บ่ายยันค่ำ เสพศิลปะและบทสนทนากับสองศิลปินที่หาตัวจับไม่ง่าย

ทันทีที่ก้าวพ้นประตู ชายคนหนึ่งเดินงัวเงียออกมาทักทาย ยิ้มมุมปากเขินๆ พลางยกมือลูบหัวเกลี้ยงเกลา ท่าประจำที่กลายเป็นภาพชินตาของเหล่ามิตรสหาย วางสัมภาระ กวาดตาสำรวจพื้นที่รอบกาย เห็นรูปพอร์เทรตของชายคนเดียวกันติดตั้งอยู่รอบอาณาบริเวณ แต่ละรูปบันทึกอิริยาบถหลากหลาย คล้ายมีปาปารัสซีแอบถ่ายทุกกิจกรรมชีวิต ต่างออกไปตรงที่มันไม่ใช่ภาพถ่าย แต่เป็น ‘ลายเส้น’ ที่วาดด้วยมือ บางรูปมีใจความสั้นๆ เขียนประกอบไว้ คุ้นๆ ว่าเคยอ่านจากหนังสือสักเล่ม 

ชายคนนี้เป็นใคร เหตุใดจึงมีรูปตัวเองติดอยู่เต็มแกลเลอรี จิตรกรเจ้าของผลงานเหล่านี้คิดอะไรอยู่ ทำไมจึงดูหมกมุ่นกับการวาดรูปผู้ชายคนหนึ่งที่ไม่มีอะไรโดดเด่น แล้วต้องใช้เวลากี่เดือน กี่ปี จึงจะสามารถตวัดลายเส้นได้คมและแม่นขนาดนี้ หลายคำถามผุดขึ้นมาขณะเดินดูรูปไปเรื่อยๆ ผมเก็บงำความตื่นเต้นระคนสงสัยเอาไว้ คำตอบกำลังจะคลี่คลายในไม่ช้า

– 2 –

ตั้งแต่รู้จักกันมา ผมกับ วรพจน์ พันธุ์พงศ์ เคยตั้งวงสนทนากันนับครั้งไม่ถ้วน ทั้งแบบบังเอิญและตั้งใจ ครอบคลุมทุกเรื่องตั้งแต่ต้นไม้ใบหญ้ายันฝ้าเพดานที่ค่อยๆ ผุพัง ด้วยอายุที่ต่างกันยี่สิบปี ผมนับถือเขาในฐานะของรุ่นพี่ในสนามสื่อมวลชน เป็นต้นแบบของคนที่ทำงานสัมภาษณ์อย่างเอาจริงเอาจัง แต่หลายครั้งเขาก็เปลี่ยนโหมดมาเป็นที่ปรึกษาส่วนตัว ทั้งเรื่องชีวิต การงาน รักๆ ใคร่ๆ   

“อย่าคิดว่ากลัวนะ” ครั้งหนึ่งเขาเปรยขึ้นในวงสุรา เมื่อผมกับเพื่อนนักเขียนไฟแรงเปิดหัวข้อสนทนาว่าด้วยอนาคตหน้าที่การงาน

แน่นอนว่าเขาชื่นชมและพร้อมช่วยผลักดันคนรุ่นใหม่เต็มที่ แต่กับคนทำสื่อวัยสี่สิบปลายๆ อย่างเขา ซึ่งโตมากับสื่อสิ่งพิมพ์ที่เหี่ยวเฉาลงทุกวัน กลับไม่ได้มีท่าทีพะว้าพะวงกับทางตัน ยังยึดมั่นในการลงแรงทำงานหนัก เปิดใจแสวงหาความรู้ใหม่ๆ และย้ำบ่อยครั้งว่าให้มองไกลๆ อย่ามัวไปหลงหรือยึดติดกับอะไรที่ฉาบฉวย

“ยิ่งสภาพบ้านเมืองมันบัดซบแบบนี้ เรายิ่งต้องทำตัวเองให้แข็งแรง” เขาพูดดักคอ ในบางคืนที่คนหนุ่มอย่างผมแสดงออกถึงความทดท้อ “จังหวะนี้ใครแข็งแรงยิ่งได้เปรียบ เพราะคนจะอ่อนแอกันเยอะ ถ้าหลักไม่แน่น ยังไงก็ไม่รอด” 

จากบทสนทนาวันนั้น ผ่านเวลามาไม่ต่ำกว่า 4-5 ปี ผมน่าจะจัดอยู่ในกลุ่มที่รอดมาอย่างหวุดหวิด ส่วนวรพจน์ตัดสินใจโยกย้ายชีวิตไปอยู่จังหวัดน่าน บ่มเพาะพื้นที่พบปะเสวนาสำหรับคนทำงานสร้างสรรค์ ปักฐานทัพอยู่ที่บ้านๆ น่านๆ ฝึกอ่านเขียนพูดภาษาฝรั่งเศสจนคล่อง มีผลงานลงสื่อออนไลน์และออฟไลน์อย่างต่อเนื่อง หาเรื่องทำโปรเจ็กต์แสบๆ คันๆ อยู่เป็นระยะ และยังคงตระเวนพบปะพูดคุยกับผู้คนเป็นกิจวัตร

และหนึ่งในคนที่วรพจน์ได้คลุกคลี ขึ้นเหนือล่องใต้ด้วยกันในช่วงหลายปีมานี้คือ สุมาลี เอกชนนิยม หรือ ‘พี่เจง’ จิตรกรและอาจารย์ศิลปะที่เพิ่งเกษียณอายุราชการมาหมาดๆ

ทั้งสองคนพบกันครั้งแรกตั้งแต่เมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน ตอนที่สุมาลีจัดนิทรรศการแสดงเดี่ยวครั้งแรก วรพจน์ในฐานะสื่อมวลชน เห็นผลงานแล้วรู้สึกว่าเข้าตา นำมาสู่การนัดหมายสัมภาษณ์และพบปะสนทนากันหลายต่อหลายครั้ง จนกลายเป็นกัลยาณมิตรกันในที่สุด

หลังหลุดพ้นจากภาระงานประจำ สุมาลีหมายมั่นปั้นมือว่าจะกลับมารื้อฟื้นทักษะการวาดเขียนอย่างจริงจังอีกครั้ง เริ่มต้นจากการไปตั้งหลักพักกายพักใจที่จังหวัดน่าน ติดสอยห้อยตามวรพจน์ขึ้นเขาลงห้วย พร้อมพกกระดานสเก็ตช์และอุปกรณ์วาดเขียนติดมือไปด้วย

เริ่มจากรูปวิวทิวทัศน์ที่เป็นของถนัด ก่อนขยับมาจับงานที่เคยรู้สึกขยาดอย่างการวาดพอร์เทรต หยิบฉวยคนใกล้ตัวอย่างวรพจน์มาเป็นหุ่น ผ่านไปประมาณสองปีกว่า สุมาลีเขียนรูปวรพจน์นับไม่ถ้วน เขียนแล้วเก็บ อันไหนไม่พอใจก็ปล่อย แยกกองไว้แล้วหยิบกระดาษแผ่นใหม่ รู้ตัวอีกทีนับได้หลักพัน   

นั่นคือจุดเริ่มต้นของนิทรรศการศิลปะและหนังสือที่ชื่อ ‘portrait worapoj’ 

– 3 –

สี่โมงเย็น อากาศเย็นกำลังดี แดดอุ่นสาดทะลุชายคาแผ่ลงบนผืนผ้าใบสีขาวที่แขวนเรียงรายบนฝาไม้ หลายสิบชีวิตนั่งล้อมวง สายตามุ่งตรงไปยังหญิงสูงวัยท่าทางกระฉับกระเฉงที่นั่งอยู่เบื้องหน้า 

“ตอนนั้นเราอยู่ในสภาวะที่ว่างๆ โล่งๆ ไม่รู้จะทำอะไร… คำว่าไม่รู้จะทำอะไร คือรู้ว่าจะทำอะไร ก็คือจะวาดรูป” สุมาลีเท้าความถึงจุดเริ่มต้น 

“ติดกระดาษ ติดสีมา เผื่อว่าจะได้เขียนรูป ก็เขียนดอกไม้ ต้นไม้ แจกัน เขียนไปเรื่อย สักพักมีความรู้สึกว่า อยากเขียนพอร์เทรต เพราะมีเรื่องที่ค้างคาในใจมานานคือ ก่อนเกษียณเคยได้รับโจทย์ให้เขียนรูปพอร์เทรตนักเขียนไทย ซึ่งก็เขียนได้ไม่ค่อยดี พอส่งไป เขาก็เงียบหาย ไม่บอกอะไร การไม่บอกอะไร ก็คือไม่ได้ใช้ เราก็รู้ตัวเองแล้วว่างานของเรายังไม่ดี ย้อนกลับไปดูตอนนี้ รูปมันแย่จริงๆ ดูแข็ง ไม่สวย”  ด้วยความฝังใจจากตอนนั้น สุมาลีเกิดความคิดว่า ถ้ามีเวลาเมื่อไหร่จะต้องหัดเขียนพอร์เทรตให้ได้ ที่สำคัญคือต้องฝึกจนได้ดี

“พอได้มาอยู่กับวรพจน์ เราก็พยายามจดจำท่าทางของเขา รูปทรงของเขา ก็ลองเขียนรูปเขาดู เขียนออกมา เขียนจนรู้สึกว่าใช่ อันนี้ใช้ได้ สะท้อนบุคลิกเขาได้ดี”

“ทุกครั้งที่มีโอกาสมางานที่น่าน เราจะมาเพื่อให้เห็นตัวเป็นๆ พูดคุยแลกเปลี่ยนกัน แล้วถ่ายรูปเก็บไว้ เหมือนคนที่นั่งอยู่ตรงนี้ด้วยกัน ได้พูดคุยกัน เราจะสามารถเขียนรูปเขาได้ได้ดีกว่าคนที่ไม่เคยเห็น ไม่เคยรู้จัก อย่างวรพจน์นี่เขียนมาเรื่อยๆ ซึ่งโดยหลักการแล้ว ยิ่งเขียนมันต้องยิ่งดี”

จากรูปแรกๆ ที่เริ่มวาดช่วงกลางปี 2018 สุมาลีเขียนรูปวรพจน์สะสมมาเรื่อยๆ ไม่มีเป้าหมายว่าจะนำไปจัดแสดงที่ไหน หรือต้องรวบรวมให้เป็นกิจลักษณะอย่างไร มีเพียงความมุ่งมั่นพิสูจน์ตัวเองว่าวันหนึ่งจะต้องเขียนพอร์เทรตให้ได้ดี ภายใต้วิธีคิดที่ว่า ถ้าเขียนวรพจน์ได้ ก็เขียนคนอื่นได้

“ความจริงคือว่า ถ้าไม่มีแพสชันในระดับสูงสุด เราไม่เชื่อว่าใครจะสามารถทำงานต่อเนื่องได้ขนาดนี้ หมายความว่ามันต้องเป็นความชอบด้วยระดับหนึ่ง แล้วที่ต้องเขียนเป็นพันรูป เป้าหมายก็คือว่าเราต้องการเขียนน้อยเส้นที่สุด แล้วยังเหมือน หนึ่งเส้นหมายถึงการลากหนึ่งครั้งโดยไม่ยกดินสอ ไม่ยกมือ ยกมือหนึ่งครั้งคือหนึ่งเส้น 

“เทียบกับพื้นฐานที่เราเรียนกัน การเขียนพอร์เทรตแบบเรียลิสติก จริงๆ เป็นเรื่องง่าย ในแง่ที่เขียนไป ถูไป นั่งเกลี่ยไปเรื่อยๆ แบบนั้นยังไงก็เหมือน ซึ่งเราไม่ชอบ เราชอบน้อยๆ แต่มีพลัง การจะทำวิธีนี้ได้ หมายความว่าต้องเริ่มจากการเขียนภาพเรียลิสติกก่อน เขียนบ่อยๆ จนรู้ว่าเส้นนี้คือเส้นที่บอกบุคลิก บอกรูปร่างหน้าตาของคนๆ นั้น เขียนจนรู้แล้วว่า ถ้าเส้นนี้ไม่มี ก็ยังเหมือน”

กวาดตามองไปยังภาพที่จัดแสดงอยู่บนผนัง ไม่ว่าโฟกัสไปที่ภาพไหน มองปราดเดียวก็รู้ว่าคนคนนี้เป็นใคร และเมื่อเพ่งลงไปในรายละเอียด สุมาลีใช้เส้นไม่เปลืองอย่างที่เธอบอก แต่สามารถสะท้อนบุคลิกวรพจน์ออกมาได้อย่างซื่อตรง มีความหมาย 

ทว่ามีบางภาพเช่นกัน ที่มองแล้วรู้สึกติดขัด ยังไม่ใช่ กระทั่งห่างไกลจากคำว่าสมบูรณ์แบบ ใครบางคนแอบสงสัยเหมือนผมว่าสุมาลีเคยใช้ยางลบบ้างไหม   

“เขียนรูปต้องกล้า อย่ากลัวเสีย ถ้าเสียคือทิ้งไปเลย มีคนถามว่าใช้ยางลบไหม เราไม่ใช้ เขียนแล้วจะลบทำไม มันไม่ใช่เรื่องถูกหรือผิด ไม่ดี ไม่ชอบ แค่ทิ้งไป แล้วเขียนใหม่ แต่หลายรูปเราก็ไม่ทิ้ง ทั้งที่มันไม่ดี มีข้อบกพร่องเยอะแยะ ไม่ทิ้งเพื่อให้รู้ว่ามันไม่ดีตรงไหน 

“ลักษณะของเส้นที่มีแรง มีพลัง เราไม่รู้จะเรียกว่าอะไร นอกจากความกล้าหาญ คุณจะกลัวอะไร มันเป็นรูปของเรา ไม่ดีก็เขียนใหม่ ไม่มีอะไรต้องกังวล” เมื่อถามถึงกระบวนการทำงาน สุมาลีเล่าว่า เมื่อตั้งใจแน่วแน่แล้วว่าจะทำอะไร เธอจะพาตัวเองไปอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ปลอดโปร่ง เตรียมอุปกรณ์ให้พร้อม จากนั้นก็ลงมือ 

“ขอเวลาสักสิบวัน สองวันแรกนี่เผื่อใจไว้เลยว่าเขียนแล้วทิ้ง เขียนเพื่อให้ทิ้ง แล้วงานที่เกิดขึ้นในแปดวันที่เหลือ ส่วนใหญ่จะเป็นงานที่ใช้ได้ เป็นงานที่เราพอใจ เรารู้ว่าต้องเผื่อไว้สองวัน เขียนเพื่อทิ้ง แล้วจะไม่ขัดใจ ไม่ขัดแย้งกับตัวเอง

“ดินสอหมดไปเป็นโหล เวลาซื้อ ซื้อยกโหล สีก็เหมือนกัน ต้องตั้งเป้าไว้ว่า ซื้อสีเซตนี้มา ต้องบีบให้เกลี้ยงทุกหลอด นี่คือหลักการเขียนรูปของเรา ซื้อดินสอโหลนี้มา ต้องเขียนจนหมดทุกแท่ง อย่าไปคิดว่าจะได้กี่รูป เขียนไป เหลาไป ทำจนอุปกรณ์หมดทุกชิ้น ถ้ายังไม่ได้งานที่ดีก็ให้มันรู้ไป”

บทสนทนาดำเนินต่อเนื่องไปราวหนึ่งชั่วโมงกว่า จนตะวันค่อยๆ ลับขอบฟ้า ใครบางคนลูบคลำหนังสือเล่มหนาในมือ จดจ่อกับเรื่องและภาพที่อยู่ตรงหน้าอย่างตั้งใจ

– 4 –

หนังสือ portrait worapoj คือผลผลิตอย่างเป็นรูปธรรมของการลงมือลงแรงในครั้งนี้ หากมองเผินๆ มันคือโฟโต้บุ๊กที่บรรจุรูปพอร์เทรตของวรพจน์ที่วาดโดยสุมาลีเกือบทั้งเล่ม สอดแทรกด้วยถ้อยทัศนะของวรพจน์ที่ตัดตอนมาจากต่างกรรมต่างวาระ 

ไม่ใช่คนใหญ่คนโต ไม่ใช่เจ้าฟ้าข้าแผ่นดิน วรพจน์เป็นใคร ทำไมต้องมานั่งพินิจพิจารณารูปวาดของเขา ใครเล่าจะอินกับหนังสือแบบนี้ นี่คือคำถามที่หลายคนสงสัย บางส่วนจากคำนำสำนักพิมพ์ ไขความกระจ่างไว้เช่นนี้

“ในยุคที่คอมพิวเตอร์มีบทบาทเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ งานทำมือก็ลดลง กระแสโลกในทุกตลาดเป็นไปเช่นนี้ เราไม่ได้อยู่ฝ่ายต่อต้าน หรือปฏิเสธกงล้อแห่งความเคลื่อนย้ายเปลี่ยนแปลง เพียงแต่เราก็ยังนับถือชื่นชม ชื่นใจกับชิ้นงานจากสองมือมนุษย์

 รสมือคือรสนิยมของเรา

 โดยเฉพาะมือที่เคี่ยวกรำ อุทิศทำความรักอย่างต่อเนื่อง เอาจริงเอาจัง

 มือที่เลือกแล้ว เล่นแล้ว ว่ากันแบบถวายหัว

 มือที่ไม่ออมมือ และสองเท้าที่รู้ทิศ ปักธง มั่นคงอยู่บนถนนคนทำงานสร้างสรรค์”

“เราท่านล้วนมีทัศนะแตกต่างกัน มองเห็นความงามคนละแบบ ระหว่างมนุษย์ เราเรียนรู้ทั้งจากความเหมือนและความแตกต่าง ระหว่างการทำงาน เราเทชีวิตออกมาวาง เปลือยและเปิดให้ความแตกต่างสัมผัสไหลเวียนปะทะ และวิพากษ์วิจารณ์กัน เราเชื่อว่านั่นคือขั้นตอนหรือกระบวการแห่งการคิดใคร่ครวญ ที่สุดคือเป็นถนนที่ตัดตรงไปสู่การงอกงามเติบโต”

เมื่อสบโอกาสและเวลา ผมฉวยหนังสือเล่มโตมาพลิกดูทีละหน้า ใช้เวลาเกือบชั่วโมงจึงไล่สายตาจนจบเล่ม

ข้อสังเกตส่วนตัวคือคำว่า ‘portrait worapoj’ นั้นตีความได้หลายแบบ แบบหนึ่งคือคิดแบบตรงๆ ทื่อๆ จะว่าเห็นมันคือหนังสือรวมรูปพอร์เทรตของวรพจน์ แต่เมื่อคิดให้ละเอียดอีกนิด จะเห็นว่าการจัดวางรูป เรื่อง ถ้อยคำ สามารถทำหน้าที่บอกเล่าชีวิตและความคิดของวรพจน์ได้เป็นอย่างดี เหมือนหนังสือชีวประวัติที่มีลายเซ็น-ลายเส้นเฉพาะตัว

เมื่อพิจารณาในแง่ความงาม แน่นอนว่างานของสุมาลีเป็นงานที่ไม่อาจมองข้าม ตรงกันข้ามคือมันเรียกร้องให้เราต้องเดินเข้าไปดูใกล้ๆ ดั้นด้นไปดูต้นฉบับของจริง ยิ่งเมื่อได้สัมผัสบุคลิกและวิธีคิดแบบตัวเป็นๆ ยิ่งเห็นว่าเธอไม่ชอบเลยกับการพาตัวเองไปอยู่ในสปอตไลต์ แต่พร้อมจะเปล่งประกายเต็มที่ในพื้นที่ที่เธอไว้วางใจ กับผู้คนที่อยู่ในระยะใกล้พอ

– 5 –

ผมใช้เวลาอยู่ที่น่านอีกหลายวัน ถือโอกาสพักผ่อนจากความเหนื่อยล้าที่สะสมมาทั้งปี วรพจน์ในฐานะเจ้าบ้านรับหน้าที่โชเฟอร์ พาไปดูน้ำ ดูนา ขึ้นป่าลงเขา ตกดึกก็พากันเผาฟืนผิงไฟพอให้คลายหนาว นึกภาพย้อนไปราวสามปีก่อน เขายังขับรถไม่เป็นด้วยซ้ำ แต่ด้วยความจำเป็น เมื่อย้ายมาอยู่บ้านป่าเมืองไกล รถยนต์คือพาหนะที่จำเป็นต้องใช้ รู้ตัวอีกที เขามีพาหนะคู่ใจ ทำใบขับขี่ครั้งแรกในวัยเกือบห้าสิบปี พร้อมพาตัวเองและแขกที่มาเยือนตะลอนไปทุกที่ที่อยากไปและสุมาลีคือผู้โดยสารคนแรกๆ ของเขา

“ไปเติมน้ำมันให้เต็มถัง แล้วใช้ให้หมด” คือคำที่เธอบอกวรพจน์ในวันที่ยังเงอะๆ งะๆ กับคันเกียร์และพวงมาลัย

“คนที่พูดประโยคแบบนี้ได้ ต้องเป็นคนแบบไหน” ผมคิดในใจตอนวรพจน์เล่าเรื่องนี้ให้ฟัง พยายามสังเกตจังหวะการเข้าโค้งและควบคุมพวงมาลัย กว่าจะมั่นใจแบบนี้ ต้องหมดน้ำมันไปกี่สิบกี่ร้อยถัง

กว่าจะเขียนเส้นได้คมแบบนี้ ต้องหมดดินสอไปกี่โหล เสียกระดาษไปกี่แผ่น…

ประโยคสั้นๆ ของสุมาลีประโยคนั้น ผมเชื่อว่าหลายคนยังจำได้แม่น เราต่างมีไฟ เราต่างมีฝัน เราต่างอยากไปให้ไกล แต่จะมีสักกี่คนเข้าใจว่าทริปนี้จะลุล่วงได้ ต้องใช้น้ำมันกี่ถัง ต้องเอารถเข้าอู่กี่ครั้ง ยังไม่นับการหลงทางหรืออุบัติเหตุที่ไม่คาดคิด

กรณีเลวร้ายที่สุดคือ มัวแต่จมอยู่กับเป้าหมาย หมกมุ่นว่าจะหาทางลัดที่เร็วที่สุดได้อย่างไร

Fact Box

สุมาลี เอกชนนิยม อดีตอาจารย์ประจำคณะศิลปวิจิตร สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ที่ผ่านมา เคยจัดแสดงเดี่ยวมาแล้วหลายครั้ง ตั้งแต่ผลงานชุด ‘มาจากใจ’ ปี 2539 จนถึงชุดล่าสุดคือ ‘portrait worapoj’ ที่กำลังแสดงที่ห้องสมุดบ้านๆ น่านๆ ถนนมณเฑียร ตำบลในเวียง อำเภอเมือง จังหวัดน่าน

Tags: , , ,