พระสันตะปาปาฟรานซิส ผู้นำทางจิตวิญญาณคนปัจจุบันของผู้นับถือศาสนาคริสต์ นิกายโรมันคาทอลิกกว่า 1.2 พันล้านคนทั่วโลก ได้เปลี่ยนคำสอนของชาวคาทอลิก โดยประกาศอย่างเป็นทางการว่าต่อต้านโทษประหารชีวิตในทุกกรณี
การกำจัดโทษประหารชีวิตเป็นหนึ่งในเป้าหมายลำดับต้นๆ ในการทำงานของพระสันตะปาปาฟรานซิส ควบคู่กับเรื่องสิ่งแวดล้อมและการใส่ใจกับผู้อพยพและผู้ลี้ภัย
ก่อนหน้านี้ในหนังสือคำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก (The Catechism of the Church) ระบุไว้ว่า “มีโทษประหารชีวิตได้ในบางกรณี” ซึ่งในปัจจุบันระบุว่า “ไม่อาจยอมรับ (inadmissible) โทษประหารชีวิตได้ เพราะว่าเป็นการทำลายศักดิ์ศรีของมนุษย์ซึ่งล่วงละเมิดไม่ได้”
ประเด็นสำคัญของความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้อยู่ที่ ‘ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์’ (human dignity) โดยพระสันตะปาปากล่าวว่าไม่ว่าอาชญากรรมจะร้ายแรงเพียงใด บุคคลนั้นจะไม่มีทางสูญเสียศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
โฆษกของวาติกันให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซีเอ็นเอ็นว่า กรณียกเลิกโทษประหารเป็นเรื่องที่มีการพิจารณากันมาตั้งแต่สมัยของพระสันตะปาปาจอห์นปอลที่ 2 โดยคำสอนของคาทอลิกเกี่ยวกับโทษประหารชีวิตค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไป ระหว่างที่พระสันตะปาปาจอห์น ปอลที่ 2 ดำรงตำแหน่งระหว่างปี 1978-2005
โดยเนื้อหาที่เปลี่ยนแปลงในคำสอนพระศาสนจักรคาทอลิกเริ่มแก้ไขโดยพระสันตะปาปาจอห์น ปอลที่ 2 เมื่อตุลาคม 1992 ระบุว่า “โทษประหารชีวิตเป็นการตอบโต้ที่เหมาะสมต่อที่อาชญากรรรมบางประเภทและยอมรับได้ แม้จะรุนแรง แต่ก็เป็นวิธีที่จะปกป้องประโยชน์ของส่วนรวม” และในสาส์นวันคริสต์มาสเมื่อปี 1998 พระสันตะปาปาจอห์น ปอลที่ 2 กล่าวว่า “โลกมีฉันทามติตรงกันในการเรียกร้องให้มีมาตรการที่เร่งด่วนและมากเพียงพอในการยุติโทษประหารชีวิต”
ต่อมา พระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 เผยแพร่เอกสารเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2011 เรียกร้องให้ผู้นำในสังคม “พยายามทุกวิถีทางเพื่อกำจัดโทษประหารชีวิต” และในปี 2015 พระสันตะปาปาฟรานซิสกล่าวสุนทรพจน์ต่อสภาคองเกรส สหรัฐอเมริกาโดยบอกว่า ชีวิตมนุษย์ต้องได้รับการคุ้มครอง “ทุกช่วงชีวิต”
ประเทศส่วนใหญ่ในโลกนี้ รวมทั้งเกือบทุกประเทศในยุโรปและละตินอเมริกาซึ่งมีประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกได้แบนโทษประหารชีวิตแล้ว
ดูเหมือนคำประกาศของพระสันตะปาปาฟรานซิสจะส่งผลต่อหลายรัฐในสหรัฐอเมริกา เพราะยังมี 31 รัฐที่ประชากรส่วนใหญ่นับถือนิกายคาทอลิก และการลงโทษประหารชีวิตยังถูกกฎหมาย โทษประหารชีวิตยังเป็นการลงโทษของรัฐบาลกลางด้วย
โดยเฉพาะทำให้ชีวิตของผู้พิพากษาชาวอเมริกันหลายคนที่นับถือนิกายคาทอลิกซับซ้อนยิ่งขึ้น
เบรตต์ เอม.คาวาเนาจ์ ผู้พิพากษาที่ทรัมป์เสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งศาลสูงสุดนับถือคาทอลิก เช่นเดียวกับผู้ได้รับการเสนอชื่ออีก 4 คน ผู้พิพากษาเอมี โคนีย์ บาเร็ตตี หนึ่งในผู้ที่ถูกเสนอชื่อซึ่งนับถือคาทอลิกได้เคยบทความเมื่อปี 1998 ว่า ผู้พิพากษาควรจะพิจารณาถอนตัวเองออกมาจากการลงโทษประหารชีวิตในกรณีที่อาจจะขัดต่อความเชื่อทางศาสนาของตัวเอง
จากการสำรวจของศูนย์วิจัยพิว (Pew Research Center) เมื่อปี 2015 พบว่า ประมาณ 1 ใน 5 ของชาวอเมริกันบอกว่าตัวเองนับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก สัดส่วนที่เพิ่มขึ้นนี้เป็นผลมาจากการที่มีผู้อพยพเข้าเมืองที่มีเชื้อสายฮิสปานิกเพิ่มมากขึ้น
จากการสำรวจความคิดเห็นของพิวเมื่อฤดูใบไม้ผลิปีนี้ ชาวอเมริกันที่นับถือคาทอลิกส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการประหารชีวิต คิดเป็น 54% ส่วนผู้ที่ไม่เห็นด้วยมี 39%
คารา เอช ดรีแนน อาจารย์ด้านกฎหมายที่มหาวิทยาลัยคาทอลิกแห่งอเมริกาและผู้เชี่ยวชาญการปฏิรูประบบยุติธรรมกล่าวว่า ชาวคาทอลิกควรยอมรับความเปลี่ยนแปลงนี้เพราะว่า “มันสอดคล้องอย่างยิ่งกับคำสอนของคาทอลิกในเรื่องจริยธรรมของชีวิต”
ที่มา:
https://www.bbc.com/news/world-europe-45042130
https://edition.cnn.com/2018/08/02/europe/pope-death-penalty-intl/index.html
https://www.nytimes.com/2018/08/02/world/europe/pope-death-penalty.html