พงศ์สิริ เหตระกูล เป็นเจ้าของสื่อหัวนอกอย่าง Nylon (ไนลอน) และไทม์เอาท์แบงค็อก (Time Out Bangkok) แต่ไม่ใช่แค่การบริหารธุรกิจสื่อเท่านั้น เขาสนุกกับการคิดนอกกรอบสร้างคอนเทนต์บางอย่างให้กับกรุงเทพฯ ก่อนหน้าไม่นานเพิ่งมีโปรเจ็กต์ Awakening Bangkok: A Festival of Lights ที่เจริญกรุง สร้างสีสันส่องไฟให้กับย่านนั้น และล่าสุด เขาจะปิดสยามสแควร์เปลี่ยนแหล่งช้อปปิ้งใจกลางเมืองให้เป็นเทศกาลดนตรี Siam Music Festival ที่จะจัดขึ้นในวันเสาร์และอาทิตย์ที่ 15-16 ธันวาคมนี้
เรามีเวลาคุยกับเขาก่อนหน้าที่เทศกาลดนตรีจะเริ่มแค่ไม่กี่วัน ถือเป็นการคิดการใหญ่ของผู้ชายคนนี้ที่ต้องการสร้างซีนดนตรีใหญ่ในกรุงเทพฯ หมายมั่นปั้นมืออยากให้เป็นฟันเฟืองผลักดันกรุงเทพฯ สู่เมืองแห่งดนตรี (Music City)
งานใหญ่ ศิลปินดี เข้าฟรี และใจกลางเมือง
อาจไม่บ่อยนักที่เราจะเห็นสยามสแควร์ แหล่งช้อปปิ้งของวัยรุ่นกลายเป็นเวทีของศิลปิน เพราะงานนี้มีถึง 4 เวทีกระจายตัวอยู่ทั่วสยามสแควร์ ตั้งแต่ลานฮาร์ดร็อก หน้าร้านอาหารสีฟ้า สยามสแควร์ซอย 3 และ สยามสแควร์วัน แบ่งเวทีตามประเภทดนตรี ร็อก ป๊อป ฮิปฮอป และอินดี้ มีศิลปินมากกว่า 50 วง
เช่น Moderndog, Tattoo Colour, Greasy Café, Paradox,Thaitanium, Scrubb, อิ๊งค์-วรันธร และ อิมเมจ-สุธิตา เป็นต้น
“ถ้าเราพูดถึงมิวสิกเฟสติวัลทั่วโลก ในต่างประเทศจะมีงานเด่นๆ อยู่สองงาน งานแรกเกิดขึ้นนอกเมือง และงานที่สองเกิดขึ้นในเมือง ผมว่าเมืองไทย เรามีงานเด่นๆ ที่อยู่นอกเมืองแล้ว แต่ในกรุงเทพฯ มันยังถกเถียง หรืออาจจะยังไม่มีด้วยซ้ำว่ามันคืองานไหน”
“เราคิดจากความเข้าใจง่ายไม่ซับซ้อน ด้วยสเกลงานขนาดนี้ ค่าบัตรก็ฟรี คนดูจะเป็นกลุ่มไหนก็ได้ และอยู่ใจกลางสยามสแควร์ที่เดินทางสะดวกสบายสุดๆ ไม่จำเป็นต้องขับรถมา ห้องน้ำก็มีในห้างที่อยู่รอบๆ ร้านอาหารก็มี ผมว่าสิ่งอำนวยความสะดวกมันครบที่สุดแล้ว”
พงศ์สิริย้ำว่า Siam Music Festival ไม่เหมือนเทศกาลดนตรีงานไหน คือเลิกไม่ดึก เพราะเริ่มตอนบ่ายสามโมงครึ่งและจบสี่ทุ่มทั้งสองวัน แค่ความยากในการจัดเทศกาลดนตรีที่เป็นงานฟรีคือต้องสร้างประสบการณ์ที่ดีให้คนดูให้รู้สึกสนุกงานที่สุด
“งานอื่นจะบิ้วอารมณ์คนดูไปจนถึงพีคสุดแล้วค่อยๆ เบาลง แต่ของเราคือบิ้วไปถึงพีคสุดแล้วแยกย้ายกลับบ้านเลย”
สร้างซีนดนตรีสู่การเป็น Music City
Siam Music Festival จะเป็นส่วนหนึ่งที่อยากให้กรุงเทพฯ มีคอนเทนต์การท่องเที่ยวด้านดนตรี (Music Tourism) ที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติเหมือนเมืองใหญ่อื่นๆ
“เราว่ากรุงเทพฯ มีทุกอย่างที่พร้อมจะเป็น Music City เช่นเดียวกับโตเกียว ลอนดอน นิวยอร์ก ยกตัวอย่างเมืองออสตินในรัฐเทกซัส ที่ตอนนี้เรียกตัวเองว่าเป็น Live Music Capital of The World สมัยก่อนเป็นเมืองเล็กๆ ที่แทบไม่มีอะไรน่าดึงดูด เคยมีคนพูดว่า วัฒนธรรมที่เป็นเทรนด์ในเมืองอื่นๆ อีกหกเดือน กว่าจะมาถึงออสติน แต่หลังจากออสตินมีงาน South by Southwest ที่ตอนนี้เป็นมากกว่าแค่เทศกาลดนตรี กลายเป็นว่า อะไรที่เกิดในงานนี้แล้วดัง อีก 6 เดือนมันจะดังทั่วโลก”
“ถ้ากรุงเทพฯ เป็น Music City จริงๆ เราจะมีย่านของดนตรีเฉพาะและชัดเจนกว่านี้ แล้วเศรษฐกิจก็จะไม่กระจุกตัวอยู่ในห้าง คนจะเดินถนนมากขึ้น ผมว่าน่าเสียดายที่กรุงเทพฯ มีคนเดินถนนน้อยลง แน่นอนมันร้อน แต่เราไม่ได้บอกว่าให้เดินตอนเที่ยงตรง ช่วงเย็นหรือกลางคืนก็ได้ สิ่งที่น่าเสียดายตอนนี้คือคอนเทนต์ข้างถนนหายไป ร้านข้างทางที่สมัยก่อนเราเดินเจอแล้วมันเพลินๆ สมัยนี้ไปกระจุกอยู่ในห้างกันหมด”
“ตอนนี้เรายังไม่มองถึงการดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติ มองแค่คนไทย เพราะมีแต่ศิลปินไทยด้วย แต่อนาคตถ้านึกถึงเทศกาลดนตรีในเมืองไทย ก็ให้นึกถึงเรา อาจมีการปรับโซนใหม่ มีการเก็บค่าบัตรหรือโซนบัตรฟรีแยกกัน แต่สุดท้ายอยากให้เป็นเทศกาลดนตรีกลางเมืองเหมือน Summer Sonic ของญี่ปุ่น” พงศ์สิริกล่าวทิ้งท้าย
Fact Box
- พงศ์สิริ จบการศึกษาปริญญาโท มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เริ่มต้นการทำงานในธุรกิจของครอบครัวด้วยการนำ Nylon สื่อแฟชั่นจากนิวยอร์ก และ Time Out Bangkok สื่อชั้นนำของโลกการกิน-ดื่ม-เที่ยวเข้ามาในประเทศไทย เขายังเป็นมือเพอร์คัสชันให้กับวงดนตรี อย่าง The Paradise Bangkok Molam International Band ด้วย
- Coca-Cola presents Siam Music Festival ที่เนรมิตสยามสแควร์ให้กลายเป็นเทศกาลดนตรีขนาดยักษ์ใจกลางกรุงแบบที่ไม่เคยมีใครกล้าทำมาก่อน ฟรีคอนเสิร์ตของ 50 ศิลปินบน 4 เวทีกับ 4 แนวดนตรีแบบไม่จำกัดค่ายถึงสองวันเต็ม พร้อมกิจกรรมสุดเอ็กซ์คลูซีฟในวันเสาร์และอาทิตย์ที่ 15-16 ธันวาคมนี้