ถ้าให้เลือกระหว่างการแต่งงานกับคนที่พ่อแม่ของเราจัดหาให้กับการแต่งงานกับคนที่เรารัก – เราจะเลือกอะไร? (เชื่อว่าหลายๆ คนตอบว่าเลือกเงิน ฮ่าๆๆ)
คำถามนี้หากนำไปถามคนไทยที่เป็นคนชั้นกลางมีการศึกษาที่มีชีวิตอยู่ในช่วง พ.ศ. 2470 ลงมา พวกเขาจะตอบว่า “ไม่มีอะไรยิ่งใหญ่ไปกว่าความรักที่เราเลือกเองได้”
นวนิยายสุดโรแมนติกเกือบทั้งหมดที่เขียนขึ้นมาในช่วงต้นกำเนิดของนวนิยายไทยล้วนแต่มีแก่นเรื่องที่อยู่การต่อสู้ของตัวเอกกับอำนาจของ ‘ครอบครัว’ เพื่อให้ได้รักกับคนที่เขาหรือเธอรัก
‘ภคินี’ ในนวนิยายเรื่อง แผ่นดินของเรา นั้น โบยบินไปตามหัวใจรักและปรารถนาของเธอด้วยการหนีตามคเชนทร์จนกระทั่งชีวิตพังพินาศ เพราะเขาเป็นแค่ผู้ชายเสเพล ไร้ความรับผิดชอบ สุดท้ายเธอเป็นโสเภณี มีเขาเป็นผัวขี้เมาที่เธอต้องเลี้ยงดู
นิยายเรื่อง ศัตรูของเจ้าหล่อน ของดอกไม้สด ก็เต็มไปด้วยความขัดแย้งของ ความรักสองแบบ คือแบบ ‘คลุมถุงชน’ และแบบ ‘รักโรแมนติก’
ข้างหลังภาพ คุณหญิงกีรติ แต่งงานกับชายแก่ที่เธอไม่ได้รัก (แต่เพื่อความอยู่รอดของครอบครัว) แล้วเธอก็ตรอมตรมจนตาย เพราะโหยหาในความรักโรแมนติกของเธอกับนพพร
กระแสธารแห่งความรักโรแมนติก ความรักที่ย่อมตั้งอยู่บนฐานของเสรีภาพที่จะรัก และเบ่งบานไปในหัวใจของมนุษย์และกลายเป็น ‘ความถูกต้อง’ และเราเห็นว่ามันเป็นเรื่อง ‘ธรรมชาติ’ เสียเหลือเกินนี้
มันไม่ได้เกิดขึ้นด้วยความบังเอิญ
รักโรแมนติก หรือ Free Love เป็น ‘อารมณ์’ พื้นฐานของการก่อตัวของรัฐชาติสมัยใหม่
ถ้าไม่ใช่รัฐชาติสมัยใหม่ เราอยู่ในรัฐแบบไหน?
รัฐก่อนสมัยใหม่หรือรัฐโบราณอยู่ในระบอบศักดินา และในระบอบศักดินานั้น ไม่มีแนวคิดว่าด้วยมนุษย์เป็นเจ้าของชีวิตของตนเอง ผู้ปกครองนั้นคือ อวตารของพระเจ้า เป็นเจ้าของ ‘ที่ดิน’ ทั้งอาณาจักรและเจ้าของ ‘ชีวิต’ ทุก ‘ชีวิต’ ที่อาศัยอยู่ในอาณาจักรนั้น อีกทั้งชะตาชีวิตของมนุษย์ทุกคนถูกกำหนดด้วยบุญ กรรม หรือถูกกำหนดมาแล้วด้วยพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า
ชีวิตของมนุษย์ในยุคก่อนสมัยหรือรัฐโบราณจึงเป็นของพระเจ้า ถัดลงมาก็เป็นของเจ้าผู้ครองนครที่เป็นเจ้าของผืนดินที่เราอยู่อาศัย ถัดลงมาก็เป็นของ ‘มูลนาย’ ของเรา จากมูลนายที่มีลำดับศักดิ์ลดลงมาเรื่อยๆ ก็เป็นของครอบครัวของเรา จนมาถึงการเป็น ‘สมบัติ’ ของคนที่เป็นพ่อเป็นแม่เรา จึงไม่ต้องแปลกใจที่ในสมัยนู้น พ่อแม่สามารถขายลูกทั้งหญิง–ชาย ไปเป็นทาสได้ โดยไม่เห็นว่ามันผิดหรือแปลกที่ตรงไหน
แต่กำเนิดของชนชั้นกลางนั่นเองที่ทำให้รัฐแบบเดิม และความหมายของมนุษย์แบบเดิมเริ่มเปลี่ยนไป – ชนชั้นกลางนี้ก็ไม่เกิดขึ้นอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย ขอเขียนโดยหยาบและโดยกว้างว่า พวกเขาถือกำเนิดมาพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี เช่น การปฏิวัติอุตสาหกรรม การพิมพ์ การศึกษา การค้นพบทางวิทยาศาสตร์ใหม่ๆ ที่ทำให้คนเริ่มเอ๊ะว่า พระเจ้ามีจริงหรือไม่มีจริง การแพร่หลายของหนังสือ การเดินทางที่รวดเร็วขึ้น การค้าที่ทำให้ผู้คนเป็นอิสระจากมูลนายทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ
จากที่มนุษย์คิดว่า อันตัวเรานั้นมีชีวิตที่ถูกกำกับโดย ‘เบื้องบน’ ก็เริ่มเอ๊ะว่า เฮ้ยย หรือชะตากรรมของเรามันย่อมสามารถกำกับได้ด้วยสองมือของเราเอง
ความรักของชนชั้น ชนชั้นของความรัก
คนชั้นสูงแต่งงานแบบคลุมถุงชนเพราะต้องกระชับอำนาจ
คนชั้นล่างแต่งงานตามอำเภอใจแต่ก็ไม่ใช่รักโรแมนติก เพราะชีวิตทำมาหากินย่อมไม่สามารถฟุ้งฝันเพ้อเจ้อ การแต่งงานของพวกเขาแม้เป็นไปโดยอิสระแต่ก็เป็นไปเพราะต้องการแรงงานเพื่อช่วยกันทำมาหากิน
ชนชั้นกลางที่เริ่มไม่แฮปปี้กับการปกครองแบบศักดินา เพราะรู้สึกว่าตัวเองทำมาหากิน ค้าขาย ก็น่าจะได้มีส่วนในการจัดการบริหารบ้านเมือง จากนั้นพวกเขาก็เริ่มมองหาจุดบกพร่องของชนชั้นปกครอง
จุดที่เขาหาเจอคือ โอ้ววว คนกลุ่มนี้ช่างเหลวไหลในชีวิตรัก ชีวิตครอบครัว พวกเขาแต่งงานกันตามหน้าที่แล้วก็ใช้ชีวิตรักที่พ้นจากหน้าที่นั้นอย่างเหลวแหลก
ก่อนการปฏิวัติฝรั่งเศสนั้นว่ากันว่า หนังสือที่จุดประกายการปฏิวัติมากที่สุดหาใช่หนังสือปรัชญาการเมืองใดๆ ไม่ หากเป็นหนังสือโป๊ หรือ pornography ที่เขียนเมาท์เขียนนินทาคนชั้นสูง จริงบ้างไม่จริงบ้าง แต่ใส่สีตีไข่เป็นส่วนใหญ่
เสรีภาพ…ความรักที่ชนชั้นกลางบูชา
นวนิยายที่เพิ่งถือกำเนิดขึ้นมาคือวรรณกรรมที่ตอบสนองการบริโภคของคนชั้นกลาง มันบรรจุเรื่องราวของสามัญชนในเรื่องรักๆ ใคร่ๆ ชีวิตครอบครัว พวกเขาเรียกนวนิยายเหล่านี้ว่า Novel of Sentiment หรือนวนิยาย ‘เพ้อๆ’ และเราเริ่มเห็นร่องรอยของการใช้ความรักเป็นสัญลักษณ์ของ ‘เสรีภาพ’
ทีนี้พอจะเห็นภาพไหมว่า เสรีภาพ กับความรัก และความขัดแย้งในนิยายว่าด้วยความรักที่ตัวเองต้องฝ่าฟันอุปสรรคจากการกีดกันของครอบครัวมันมาอย่างไรไปอย่างไร
นวนิยายเพ้อๆ เหล่านี้อาจเป็นเรื่องของตัวเอกถูกพ่อแม่จับให้แต่งงานกับอีกคนหนึ่ง แต่เขาหรือเธอมีคนที่ตัวเองรักอยู่แล้ว และคนที่ต้องรักอาจเป็นคนที่มาจากครอบครัวที่จนกว่า สถานะทางชาติกำเนิดไม่ทัดเทียมกัน หรือมาจากครอบครัวที่เป็นศัตรูกัน
รักที่ต้องเดินตามหัวใจปรารถนา
รักข้ามชนชั้น
รักบริสุทธิ์ ปราศจากผลประโยชน์
รักที่ต้องรักษาคำมั่นสัญญา
เหล่านี้จึงกลายเป็นความคลั่งไคล้ของชนชั้นกลาง จากนั้นพวกเขาก็ผุดความหมายของความรักไว้กับคุณค่า 3 ประการ อันประกอบไปด้วย
- เสรีภาพ
- อำนาจปกครองตนเอง
- ความเสมอภาค
โอ๊ยยย คุ้นไหมว่านี่คือคุณค่าของอะไร?
รัก…จนน้ำตาไหล คุณค่าความรักในสังคมประชาธิปไตย
สังคมประชาธิปไตยจะเกิดได้ก็ต่อเมื่อเขาสร้างรัฐชาติสมัยใหม่ขึ้นมา เป็นรัฐใหม่ที่บอกว่า อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน ประชาชนต้องปกครองตัวเองสิ เหมือน ลูกๆ ที่ไม่ควรโดนพ่อแม่มากะเกณฑ์ชีวิต มาบังคับต้องประกอบอาชีพตามรอยพ่อแม่ หรือต้องแต่งงานกับคนที่พ่อแม่หาให้ ทุกคนต้องเป็นเจ้าของชีวิตของตนเอง ต้องปกครองตนเองเท่านั้นแหละ ปฏิวัติประชาธิปไตยเอย อะไรเอย ก็ตามมา ในทางประเทศอาณานิคมก็ใช้ความรักนี้เป็นแรงผลักในการต่อสู้เพื่อปลดแอกจากเจ้าอาณานิคม จึงไม่น่าแปลกใจที่นักสู้เพื่อประชาธิปไตยส่วนใหญ่เป็นนักเขียน นักกวี นักแต่งเพลงด้วย
รัฐชาติสมัยใหม่ที่ประชาชนคือศูนย์กลางของรัฐก็แพร่ลามไปทั่วยุโรป แต่ช้าก่อน ไอ้รัฐชาติที่ว่านี้ มันต้องการอะไรมาหล่อเลี้ยงการดำรงอยู่ของมัน (อย่าลืมว่าความเป็นชุมชนทางการเมืองนั้นมันต้องมี ‘ตำนาน’ อะไรสักอย่างมาหล่อเลี้ยงมันอยู่เสมอ) สิ่งที่รัฐชาติต้องดื่มกินเป็นภักษาหารก็คือ ‘ความรัก’ นั่นเอง (ในขณะที่รัฐแบบเดิมใช้ความกลัว)
พลเมืองในรัฐนั้นสัมพันธ์กันอย่างเสมอภาค มีความรัก มีความสามัคคี และทุกคนต้องมีความรักชาติเป็นที่ตั้ง และต้องรักมากพอที่จะสละชีพเพื่อชาติได้ด้วย (รัฐแบบเดิมเกณฑ์ไพร่มาเป็นทหาร แต่รัฐแบบใหม่ต้องทำให้คนอยากเป็นทหารเอง และยอมตายเองอย่างสมัครใจ)
รัฐสมัยใหม่จึงถักทอจินตนาการให้พลเมืองว่า เมื่อทุกคนสัมพันธ์กันอย่างเสมอภาคในฐานะพลเมืองของรัฐ สิ่งที่พึงเกิดขึ้นคือ เราสามารถจะตกหลุมรักใครก็ได้ แต่งงานกับใครก็ได้ นิยายโรแมนซ์ว่าด้วยรักข้ามชนชั้นจึงโรแมนติกอย่างยิ่ง และ หัวใจแห่งความโรแมนติกนี้เองที่รัฐสมัยใหม่ใช้เพื่อหนุนหลังแนวคิดว่าด้วยพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย
นอกจากนี้ครอบครัวยังเป็นบุคลาธิษฐานของชาติ ชาติเหมือนครอบครัวใหญ่สุด รัฐชาติจึงตอกย้ำความสำคัญของสถาบันครอบครัวที่มีศูนย์กลางอยู่ที่ความรัก ทั้งรักของผัว-เมีย ที่รักเดียวใจเดียว (อย่าปันใจให้ชาติอื่น) ความรักของพ่อ แม่ ลูก และแน่นอนว่าบุคลาธิษฐานทั้งหมดนี้วางอยู่บนฐานของความสัมพันธ์หญิง–ชาย เท่านั้น เกย์ถือเป็นความผิดปกติ เพราะมันไม่ใช่ความสัมพันธ์ที่มีประโยชน์ต่อชาติ เพราะไม่อาจสร้างพลเมืองรุ่นใหม่ๆ ให้ชาติได้
ความรักโรแมนติก และความรักที่อย่างน้อยเราเชื่อว่ามัน ‘Free’ หรือเป็นรักที่ไม่มีใครมาบังคับ รักแล้วต้องมีพันธะ หรือ commitment จากนั้นต้องแต่งงาน สร้างครอบครัวที่อบอุ่น และตั้งใจเลี้ยงลูกให้ดี เพราะเด็กฉลาด ชาติจึงเจริญ และที่สำคัญทุกคนต้องมีความรักความภูมิใจในครอบครัว อันหมายถึงความรักในชาติ ความหวงแหนบ้านเกิดเมืองนอน เพราะมันคือปิตุภูมิ มาตุภูมิของเราเหล่านี้มาพร้อมกันเป็น แพ็กเกจเดียวกัน- รัฐชาติและประชาธิปไตยจึงลุ่มหลงในความรักยิ่งนัก และค่อนข้างจะฟูมฟายทางอารมณ์ – เราจึงรักชาติจนน้ำตาไหลได้อยู่เรื่อย เช่นตอนที่ได้ยินเพลงชาติเมื่อนักกีฬาชาติเรากำลังรับเหรียญทองโอลิมปิก
รักที่ถูกบังคับ คือการข่มขืน
ต้องย้ำว่ารักสมัยใหม่ที่บูชารักโรแมนติก หรือรัฐสมัยใหม่ที่เป็นประชาธิปไตย เพราะประเทศที่ถือเอาอุดมการณ์คอมมิวนิสต์เป็นแก่นของรัฐนั้นจะเหมือนรัฐก่อนสมัยใหม่ นั่นคือ ประชาชนไม่ใช่มนุษย์ที่มีอำนาจเหนือตนเองแต่เป็น ‘สมบัติของพรรคฯ’ มีชีวิตอยู่เพื่อพรรคคือเป้าหมายสูงสุดของชีวิต เพราะฉะนั้นการแต่งงานของ ‘สหาย’ ต้องเป็นไปตามที่ ‘พรรคฯ’ จัดการให้เพื่อประโยชน์สูงสุดแก่พรรคฯ และประเทศชาติ
บุคลาธิษฐานเรื่องความรักกับการเมืองยังมีความน่าสนใจ เช่น รักแบบเสรีชนในสังคมประชาธิปไตยย่อมมี consent หรือความยินยอมพร้อมใจเป็นแกนกลาง เช่นเดียวกับการเมืองที่ต้องมี consensus หรือฉันทามติร่วมกัน และฉันทามตินี้จะอิงกับเสียงส่วนใหญ่
การทำลาย consent หรือกระบวนการฟังเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน (ผ่านระบบการเลือกตั้ง) เช่น การรัฐประหารจึงถูกมองว่าเป็นการ ‘ข่มขืน’ ประชาชนเจ้าของอำนาจ
รักแท้หรือ…แค่การเมือง
อย่างไรก็ตาม ในยุคนี้ที่ ‘ชาตินิยม’ แบบศตวรรษที่ 19 หมดหน้าที่ของมันไปแล้ว และประชาธิปไตยก็มีพลวัตไปสู่การยอมรับความหลากหลายของวัฒนธรรม รสนิยม และชาติจะไม่ยืนอยู่บนฐานความสัมพันธ์ของหญิง-ชายเท่านั้น
เทคโนโลยีการอนามัยเจริญพันธุ์ ทำให้รัฐไม่ต้องห่วงเรื่องจะไม่มีพลเมือง การรวมตัวกันของอียู ทำให้คอนเซปต์รัฐชาติแบบเดิมกลายเป็นเรื่อง ‘ใจแคบ’ พร้อมๆ กับที่คติเรื่องความรักก็ไปไกลกว่ารักโรแมนติกที่ต้องมีพันธะ หรือ Commitment
Open Relationship หรือ Modern Family ที่ไม่ใช่ครอบครัวผัวเดียว เมียเดียว เลี้ยงลูก เลี้ยงเต้า แต่เป็นครอบครัวที่หลากหลายจนจัดประเภทไม่ได้ และบรรทัดฐานล่าสุดคือ ‘เราจะไม่พิพากษาใคร’ ในเรื่องรสนิยมเหล่านี้ ไปจนถึงการแต่งงานได้ตามกฎหมายของคนรักเพศเดียวกัน
คือความเปลี่ยนแปลงของคติเรื่องรัฐชาติที่สะท้อนมาในรูปแบบของความรักและครอบครัวที่เปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน ที่เขียนมาทั้งหมดก็เพื่ออยากจะบอกว่าสิ่งที่เราเห็นว่าเป็นเรื่องธรรมชาติที่สุดอย่างความรักนั้นกลับเป็นเรื่องของการเมืองล้วนๆ
อารมณ์รัก ปรารถนา โรแมนติกของเราที่น่าจะเป็นเรื่องธรรมชาติที่สุดก็ล้วนเป็นเรื่องของการเมือง
และเขาว่ากันว่า
ถ้าคุณบูชารักโรแมนติก คุณคือนักชาตินิยม
แต่ถ้าคุณบูชา Free Love ที่มาพร้อมกับ Free Sex คุณคือ Anarchist!!!
Tags: ความรัก, การเมือง, momentum, followup, คำผกา