ภาพเมืองไทยโดยทั่วไปที่สังคมไทยพยายามสร้างคือ เราเป็นประเทศที่มีวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงาม เป็นคนอบอุ่น มีน้ำใจงาม เรามีรอยยิ้มสยาม และ ‘รักสงบ’

แต่สิ่งที่สังคมไทยอาจมองข้าม แม้มันจะคงอยู่สังคมไทยมาเนิ่นนานก็คือ ความรุนแรง ไม่ว่าจากประชาชนด้วยกันหรือจากฝ่ายรัฐ โดยเฉพาะเมื่อเป็นความขัดแย้งทางอุดมการณ์หรือความเชื่อไปกระทบต่อบทนิยามความเป็นชาติหรือความมั่นคงของรัฐ เมื่อนั้นถ้อยคำในเพลงชาติที่บอกว่า “แต่ถึงรบไม่ขลาด” จะเป็นภาพสะท้อนตัวตนของคนและรัฐไทย

ความรุนแรงใน ‘ความสงบ’ หลังรัฐประหาร

การรัฐประหารในปี 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้เหตุผลส่วนหนึ่งในการยึดอำนาจว่า เพื่อให้สถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่เข้าสู่สภาวะปกติ ซึ่งวิธีคืน ‘ความสงบ’ ที่คสช. เลือกใช้ คือ การใช้กฎอัยการศึก และบรรดาประกาศและคำสั่งคสช. รวมถึงคำสั่งหัวหน้าคสช. เพื่อเรียกบุคคลไปพบในค่ายทหาร หรือการจับกุมและควบคุมตัวบุคคลโดยเจ้าหน้าที่ทหารไม่น้อยกว่า 902 ครั้ง

จากคำบอกเล่าของผู้ถูกเรียกไปรายงานตัวหรือควบคุมตัว ระบุว่า บางครั้ง ระหว่างถูกพาตัวไปในที่ควบคุมของเจ้าหน้าที่ พวกเขาถูกปิดตา มีการมัดข้อมือ บางครั้งมีการมัดข้อเท้า หลังอยู่ในที่ควบคุมตัว พวกเขาจะถูกสอบถามข้อมูลเป็นระยะเวลานาน บางครั้งถูกข่มขู่หรือทำร้ายร่างกาย ไม่มีโอกาสติดต่อญาติ ไม่มีทนายความ และไม่ทราบสถานที่ควบคุมตัว

แม้ว่าในปีที่ 4 ย่างเข้าปีที่ 5 ของคสช. การเรียกบุคคลไปพบในค่ายทหาร การจับกุมและควบคุมตัวบุคคลจะลดน้อยลง แต่สิ่งที่ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องคือ การจับตาหรือการเข้าไปหาถึงที่พักอาศัยของประชาชน

ยิ่งใกล้เลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในเดือนมีนาคม 2562 ยังมีคนที่ถูกคุกคามและติดตาม เช่น พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ หนึ่งในสมาชิกกลุ่มพลเมืองโต้กลับ ที่ตำรวจเชิญไปพูดคุยไม่ให้ออกมาเคลื่อนไหว หรือ การติดตาม คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แกนนำพรรคเพื่อไทย ระหว่างการลงพื้นที่หาเสียง หรือการไปเยี่ยมบ้าน ประสิทธิ์ชัย หนูนวล แกนนำค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน

‘ดักตี-แอบถ่าย-เผารถ’ การไต่ระดับความรุนแรงในสังคมไทย

แม้วิธีการกดดันหรือคุกคามจากรัฐเพื่อจำกัดการเคลื่อนไหวของประชาชนจะดูน้อยลง แต่ความรุนแรงในรูปแบบอื่นกลับทวีมากขึ้น ที่แย่ยิ่งไปกว่านั้นคือ ลักษณะพิเศษของความรุนแรงแบบนี้ คือมักเป็นเหตุการณ์ที่ไม่สามารถระบุตัวผู้กระทำผิดได้ แต่เห็นแรงจูงใจจากความขัดแย้งทางการเมือง

ยกตัวอย่าง เอกชัย หงส์กังวาน นักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ถูกทำร้ายอย่างน้อย 5 ครั้ง ตั้งแต่ การสาดน้ำปลาร้า การดักทำร้ายร่างกาย การใช้ไม้ทุบตีจนกระดูกมือฝ่ามือแตก เขาคือมนุษยจอมแสบที่เคลื่อนไหวเรื่องความโปร่งใสในการยื่นบัญชีทรัพย์สินของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและรองหัวหน้าคสช. ไม่มีใครรู้ว่าเหตุการณ์เกี่ยวข้องกันหรือไม่ แต่ล่าสุด เขาถูกคนลอบจุดไฟเผารถยนต์ส่วนตัวที่จอดอยู่หน้าบ้าน

หรือ การเผยแพร่คลิปวิดีโอที่บันทึกชีวิตส่วนตัวของ ณัฏฐา มหัทธนา แกนนำและนักกิจกรรมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง กับ วัฒนา เมืองสุข อดีต ส.ส. พรรคเพื่อไทย โดยคลิปวิดีโอมีลักษณะของการติดตามและแอบถ่ายและถูกนำมาใช้เพื่อลดทอนความน่าเชื่อถือในการเคลื่อนไหวทางการเมือง รวมถึงทำให้ผู้ที่อยู่ในคลิปถูกหมิ่นประมาทให้เสียชื่อเสียง

นอกจากนี้ ยังมีกรณีการคุกคาม “พอลลีน งามพริ้ง” หรือ “พินิจ งามพริ้ง” ผู้สมัครพรรคมหาชน อดีตแกนนำกลุ่มเชียร์ไทย เพาเวอร์ และอดีตผู้สมัครชิงตำแหน่งนายกสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในปี 2556 ที่มีคนแอบค้นเอกสารภายในรถ​ แต่ถูกพอลลีนจับได้ก่อนจะหลบหนีไป ซึ่งเจ้าตัวคาดการณ์ว่า น่าจะเป็นเรื่องการเมือง เพราะไม่มีเรื่องอื่น และคนร้ายไม่ได้สนใจทรัพย์สินในรถ

‘อุ้มหาย-คว้านท้อง-ถ่วงน้ำ’ ความรุนแรงระหว่างพรมแดนประเทศ

ที่ผ่านมาความรุนแรงในสังคมไทยไต่ระดับมากขึ้น แต่เหตุการณ์ที่สะเทือนขวัญไมแพ้เรื่องอื่นคือ การพบศพปริศนาบริเวณแม่น้ำโขงในช่วงปลายเดือนธันวาคมทีผ่านมา และมีหลักฐานเพิ่มขึ้นว่า ผู้เสียชีวิตอาจเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมืองของไทย

ก่อนหน้าจะเกิดเหตุคดีสยองขวัญ ผู้ลี้ภัยในประเทศเพื่อนบ้านรายหนึ่งให้ข้อมูลว่า สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ หรือ ‘สุรชัย แซ่ด่าน’ นักเคลื่อนไหวทางการเมืองวัย 75 ปี ซึ่งลี้ภัยในประเทศเพื่อนบ้านเหมือนกัน ได้หายตัวออกจากที่พักพร้อมกับเพื่อนผู้ลี้ภัยอีก 2 คน ตั้งแต่วันที่ 12 ธันวาคม 2561

ต่อมา มีข่าวพบศพชายไทยสองรายไม่ทราบสัญชาติ ลอยอืดโผล่ติดริมตลิ่งริมฝั่งแม่น้ำโขงของจังหวัดนครพนมโดยลักษณะของศพมีการมัดแขน และร่องรอยถูกรัดคอ รวมถึงถูกทุบจนใบหน้าเละ พร้อมทั้งท้องถูกผ่ายัดเสาปูน ผลการตรวจสอบชันสูตรพลิกศพพบว่า ศพรายหนึ่งมีดีเอ็นเอตรงกับบุตรชายของ ‘ภูชนะ’ คนสนิทของสุรชัย แซ่ด่าน ที่หายตัวไป และอีกรายหนึ่งยังรอผลตรวจดีเอนเอเพื่อพิสูจน์ว่าตัวตนว่าเป็น ‘กาสะลอง’ นักเคลื่อนไหวทางการเมืองไทยที่ลี้ภัยไปลาวหรือไม่

อย่างไรก็ดี ผู้ลี้ภัยในประเทศเพื่อนบ้านยังเสี่ยงต่อการเป็นเหยื่ออาชญกรรมอีกหลายรูปแบบ ก่อนหน้านี้ มีผู้ลี้ภัยอย่างน้อย 2 ราย ที่สูญหายโดยไม่มีใครทราบชะตากรรม

แต่ความน่ากลัวที่สุด คือ ท่าที่ของรัฐไทยและสังคมไทย โดยฝ่ายรัฐยังคงไม่มีความคืบหน้าในคดีทั้งหมดที่เกิดขึ้นกับผู้ลี้ภัยชาวไทย ในขณะเดียวกัน ก็มีคนจำนวนหนึ่งที่เห็นดีเห็นงามต่ออาชญากรรมที่เกิดกับคนที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองไม่ตรงกับตนเอง

Tags: , , , ,