หากว่ากันตามมาตรฐานสิทธิมนุษยชนสากล ประเทศไทยยังมีข้อบกพร่องหลายอย่าง เช่นเรื่องกฎหมายประหารชีวิต การอุ้มหายหรือบังคับให้สูญหาย การซ้อมทรมาน สิทธิสตรีและเพศทางเลือก และสิทธิของแรงงานข้ามชาติและผู้ลี้ภัย
ในโอกาสที่ประเทศไทยกำลังจะมีการเลือกตั้ง ซึ่งแต่ละพรรคต่างนำเสนอนโยบายสำคัญต่างๆ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ร่วมกับสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล และศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเวทีเสวนาดีเบตภายใต้หัวข้อ “เปิดแนวคิดด้านการเมือง กับนโยบายด้านสิทธิมนุษยชน” เมื่อวันที่ 7 มีนาคม ที่ผ่านมา
พื้นฐานหลักการของการจัดงานครั้งนี้ มองว่า สิทธิมนุษยชนมีความสำคัญสำหรับประเทศที่ต้องการจะพัฒนาศักยภาพให้ทัดเทียมที่จะแข่งขันกับนานาอารยประเทศได้ เป็นการสร้างความมั่นใจให้ประชาคมโลกว่า ประเทศนั้นๆ ปลอดภัย เหมาะแก่การเข้ามาอาศัยหรือลงทุน
แต่ก็หลักสิทธิมนุษยชนก็อาจอยู่รอดได้ยากในยุครัฐบาลทหารนั้น สิทธิหลายๆ ด้านถูกริดรอนลงไป เช่น สิทธิในการแสดงออก สิทธิในการแสดงความเห็น สิทธิในชีวิตและร่างกาย ดังที่ปรากฏกรณีการโดนเรียกเข้าไปในค่ายทหารหรือประชาชนที่โดนจับขึ้นศาลทหารเป็นต้น
เวทีดีเบตครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมจากพรรคการเมืองทั้งหมด 5 พรรค ได้แก่ วัฒนา เมืองสุข จากพรรคเพื่อไทย อลงกรณ์ พลบุตร จากพรรคประชาธิปัตย์ พาลินี งามพริ้ง จากพรรคมหาชน เกรียงศักดิ์ ธีระโกวิทขจร จากพรรคสามัญชน พรรณิการ์ วานิช จากพรรคอนาคตใหม่ ส่วนพรรคพลังประชารัฐ กล่าวปฏิเสธคำเชิญ ไม่ได้มาร่วมดีเบตในครั้งนี้
เริ่มที่เรื่อง ‘สิทธิแรงงานข้ามชาติ’ ซึ่งสถานการณ์ปัจจุบันพบว่า การละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานเกิดขึ้นโดยเจ้าหน้าที่รัฐและผู้ประกอบการ อีกทั้งรัฐบาลไทยก็ไม่รองรับสภานะผู้ลี้ภัย แต่ละพรรคมีความคิดเห็นที่คล้ายกัน อาทิ พรรคอนาคตใหม่ พรรคมหาชน มองเห็นพ้องกันว่า ประเทศไทยต้องลดความหยิ่งทระนงของความเป็นชาติที่มากเกินจนลืมความรักต่อเพื่อนมนุษย์ ด้านพรรคประชาธิปปัตย์เสนอว่า จะจัดตั้งคณะกรรมการบริหารคนเข้าเมืองเข้ามาดูแลเพื่อความรวดเร็วในการทำงาน
อย่างไรก็ตาม ทุกพรรคเห็นพ้องต้องกันว่า จะต้องมีกฎหมายที่รองรับสิทธิของกลุ่มแรงงานข้ามชาติ โดยที่กฎหมายจะต้องตั้งอยู่บนหลักสิทธิมนุษยชน มีการบังคับใช้อย่างเป็นรูปธรรม ที่สำคัญคือ เจ้าหน้าที่รัฐจะต้องเข้าใจถึงหลักการปฏิบัติที่ต้องไม่ละเมิดหลักสิทธิมนุษยชนด้วย
ส่วนเรื่องการรับรองกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยมาเป็นเวลานาน ทุกพรรคเห็นตรงกันว่า กลุ่มชาติพันธุ์ควรจะได้รับการมองเห็นจากภาครัฐ และสามารถเข้าถึงสวัสดิการแห่งรัฐได้
ในประเด็นของความเสมอภาคทางเพศและการไม่เลือกปฏิบัติ ตัวแทนจากพรรคมหาชน พาลินี งามพริ้ง ซึ่งก็เป็นตัวแทนของกลุ่มเพศทางเลือก แสดงความเห็นว่า ควรจะอนุญาตการเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อ ซึ่งทางพรรคอนาคตใหม่และพรรคเพื่อไทยก็มีนโยบายในด้านนี้เช่นกัน
ส่วนเรื่องพ.ร.บ.คู่ชีวิต ทุกพรรคเห็นพ้องต้องกันว่า ควรจะแก้กฎหมายให้คู่สมรสที่รักกันไม่จำเป็นต้องเป็นเพศสภาพหญิงหรือชายเท่านั้น พรรคสามัญชนและพรรคเพื่อไทยมีความเห็นในแนวทางที่คล้ายๆ กันว่าจะช่วยอำนวยความสะดวกให้บุคคลในเพศทางเลือกหากต้องการจะข้ามเพศ ด้านพรรคสามัญชนยังมีการเสนอนโยบายที่ทุกเพศจะต้องได้รับค่าแรงเท่ากันในงานเดียวกันอีกด้วย
ส่วนเรื่องที่อาจจะไม่ถูกพูดถึงมากนักในกระแสหลัก คือเรื่องคดีอุ้มหายหรือถูกบังคับให้สูญหายและการซ้อมทรมาน ซึ่งแม้จะไม่มีเรื่องนี้โผล่ขึ้นมาในสื่อมากนัก แต่ก็ไม่สามารถแย้งได้ว่า เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้น หรือประเทศไทยไม่มีการซ้อมทรมานนักโทษ ทั้งนี้ การอุ้มหายอันนับเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง ซึ่งประเด็นนี้ก็ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นคำถามให้แต่ละพรรคการเมืองตอบในเวทีดีเบตนี้ด้วย โดยแต่ละพรรคแสดงความคิดเห็นในแนวทางเดียวกันอีกเช่นเคย โดยมองเห็นข้อจำกัดในกฎหมาย ที่อย่างน้อยเวลานี้ ควรเปิดให้ครอบครัวของผู้สูญหายต้องดำเนินการได้เอง เพราะบุคคลที่สูญหายไปไม่สามารถมาแสดงตัวเป็นผู้เสียหายได้
ด้านพรรคประชาธิปัตย์ พรรคอนาคตใหม่ เสนอนโยบายที่คล้ายกันในเรื่องของการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐ โดยพรรคประชาธิปัตย์บอกว่า จะต้องลงโทษผู้บังคับบัญชาที่ปล่อยปละละเลยจนเกิดการละเมิดขึ้น
ส่วนทางพรรคอนาคตใหม่ เสนอแนวคิดที่แหวกออกไปว่า เรื่องนี้เกี่ยวพันกับการปฏิรูปกองทัพ โดยไม่ให้มีการเกณฑ์ทหาร เนื่องจากการซ้อมทรมานส่วนใหญ่มักจะเกิดขึ้นในกรมกองทหารเสียเอง
ส่วนพรรคเพื่อไทยให้ความสนใจกับเรื่องนักโทษทางการเมือง ว่าควรแยกออกจากนักโทษอาญาในคดีประเภทอื่น เพราะเรื่องการเมืองเป็นเรื่องของความคิดเห็น ที่พูดว่าใครผิดใครถูกได้ยาก แตกต่างกับคดีอาญา และการขังรวมนั้นอาจจะเพิ่มอันตรายให้กับผู้ถูกคุมขังได้
อีกหนึ่งคำถามที่ร้อนแรงในช่วงนี้คือเรื่องของพ.ร.บ.ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ที่เพิ่งผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติมาสดๆ ร้อนๆ เนื่องจากมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนาหู ว่ากฎหมายฉบับนี้จะลดเสรีภาพในพื้นที่สื่อออนไลน์ของประชาชน อีกทั้งลดความน่าเชื่อถือจากผู้ประกอบการต่างชาติกับประเทศไทย ซึ่งพรรคการเมืองส่วนใหญ่กล่าวชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยกับพ.ร.บ.ฉบับนี้
พรรคมหาชน พรรคสามัญชน พรรคอนาคตใหม่ และพรรคเพื่อไทย กล่าวในทำนองเดียวกันว่า กฎหมายฉบับนี้ลิดรอนสิทธิและเสรีภาพบนโลกออนไลน์ของประชาชนอย่างชัดเจน ก้าวล่วงความเป็นส่วนตัวของประชาชนและลดระดับความมั่นใจต่อนานาอารยะประเทศที่ต้องการเข้ามาในประเทศไทย พรรคเพื่อไทยกล่าวไว้ว่า “กฎหมายฉบับนี้ทำให้ผมนึกถึงหน่วยเกสตาโป” ซึ่งก็คือตำรวจของรัฐในช่วงนาซีเยอรมันที่จะจับบุคคลทีเ่ห็นต่างไปสังหารหรือเข้าค่ายกักกัน
ทางด้านพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้กล่าวคำว่าไม่เห็นด้วยอย่างชัดเจน แต่บอกว่ากฎหมายเกี่ยวกับด้านไซเบอร์นั้นจำเป็นสำหรับทุกประเทศ โดยตัวกฎหมายปัจจุบันอนุญาตให้เจาะข้อมูลได้ก็ต่อเมื่อเป็นภัยร้ายแรงเท่านั้น แต่หากเป็นประเด็นอื่นๆ ก็ยังจำเป็นที่จะต้องขอหมายศาล ดังนั้น ทางพรรคเห็นว่ากฎหมายนี้ควรบังคับใช้กฎหมายกับภัยต่อประเทศเท่านั้น อาทิ แฮกเกอร์จะแฮกระบบโรงพยาบาลให้ดับทั่วประเทศ เป็นต้น
ปัญหาอีกหนึ่งเรื่องคือเรื่องสามจังหวัดชายแดนใต้ ที่ยังคงมีความรุนแรงเกิดขึ้นมาในช่วงหลังๆ และเป็นพื้ที่ที่ใช้กฎหมายพิเศษ อาทิ กฎอัยการศึก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฯลฯ เรื่องนี้ พรรคการเมืองเห็นตรงกัน ว่าการใช้กฎหมายพิเศษจะยิ่งเพิ่มบรรยากาศของความกลัวและความไม่ไว้ใจในพื้นที่ โดยควรยกเลิกกฎหมายพิเศษ แล้วหันมาใช้กฎหมายอาญาที่มีอยู่แทน เพราะกฎหมายพิเศษทำให้เจ้าหน้าที่รัฐได้รับอำนาจเหนือประชาชน อาจทำให้เกิดความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจกันระหว่างเจ้าหน้ารัฐและประชาชนในพื้นที่
ทางด้านพรรคเพื่อไทยให้ความเห็นอีกว่า สงครามไม่สามารถจบได้ด้วยสงคราม ควรนำการเมืองและการเจรจาเข้ามาช่วยเพื่อหาทางออกที่สงบและสันติ ด้านพรรคสามัญชน พรรคอนาคตใหม่ พรรคสามัญชน มองตรงกันในประเด็นของการใช้อำนาจในทางที่มิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐ โดยพรรคสามัญชนกับพรรคอนาคตใหม่ก็มีนโยบายด้านการช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ตกเป็นเหยื่ออีกด้วย
Tags: สิทธิมนุษยชน, แรงงานข้ามชาติ, เลือกตั้ง62, vote62, สามจังหวัดภาคใต้, policy menu