PM 2.5 ได้ปลุกกระแสให้คนไทยตื่นตัวกับปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เมื่อธรรมชาติได้แสดงให้เห็นแล้วว่าผลด้านลบของการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมกำลังส่งผลร้ายแรงกับชีวิตเรามากแค่ไหน ทั้งระยะสั้นและระยะยาว แถมเป็นเรื่องใกล้ตัวกว่าที่คิดไว้มาก

แม้ความเสื่อมโทรมด้านสิ่งแวดล้อมนับวันจะทวีความรุนแรง การบังคับใช้อำนาจรัฐเพื่อคุ้มครองคุณภาพชีวิตของประชาชนยังคงดำเนินไปอย่างล่าช้าและไม่ตรงจุด พระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ พ.ร.บ. อีอีซี ของรัฐบาลชุดปัจจุบันได้แสดงให้เห็นชัดว่า รัฐกำลังใช้อำนาจพิเศษอำนวยความสะดวกให้กับกลุ่มทุนที่เข้ามาสร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจมูลค่ามหาศาล แต่ชาวบ้านในชุมชนกลับไม่มีอำนาจต่อรองในที่ดินทำกิน และผลกระทบในอีกหลายด้าน

ภารกิจสำคัญของรัฐบาลชุดใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งปี 2562 ที่จะต้องแก้ไขปัญหาเร่งด่วนคือด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งในแง่การบริหารจัดการโครงการต่างๆ กฎหมาย นโยบาย ที่ต้องสร้างความมั่นใจให้ประชาชนว่าพวกเขาจะได้เห็นความปลอดภัยภายใต้สภาพแวดล้อมที่ดีขึ้น

The Momentum รวบรวมนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมจากหลายเวทีดีเบต อย่างงานที่จัดโดยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 5 มีนาคม และเวที 10 วัน 1,000 นาที ชี้อนาคตประเทศไทย : ทางเลือกที่สมดุล พัฒนาเศรษฐกิจกับสิ่งแวดล้อม จัดโดยสำนักข่าว TPBS เมื่อวันที่ 7 มีนาคมที่ผ่านมา ให้พิจารณากันว่าแต่ละพรรคมีแนวทางนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมอย่างไรบ้าง

สิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจที่ต้องโตไปด้วยกัน

เกียรติ สิทธีอมร ที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ เผยว่านโยบายการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมนั้นจะพัฒนาไปพร้อมกับเศรษฐกิจซึ่งจะทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ยั่งยืนกว่า โดยยกเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นหนึ่งประเด็นสำคัญในกรอบการลงทุนของโครงการต่างๆ เพื่อที่จะมีมาตรการรองรับผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการลงทุนได้ทันที ทั้งมิติของความเสียหายทางธรรมชาติ และคุณภาพชีวิตของประชาชนที่ได้รับผลกระทบในระยะยาว โดยตั้งเป้าว่าจะปลูกป่าให้มีพื้นที่ป่ามากถึง 50%

พรรคประชาธิปัตย์ยังชูเรื่องการรณรงค์ลดใช้ถุงพลาสติกและการจัดการขยะ ตั้งแต่การเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคให้ใช้ภาชนะที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สนับสนุนให้มีการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง ระบุกระบวนการจัดการขยะอย่างชัดเจน ไปจนถึงการจัดการขยะที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้ เช่น โครงการเปลี่ยนขยะให้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้าซึ่งคาดว่าจะได้ประโยชน์มากกว่าการสร้างโรงงานเผาขยะที่ก่อให้เกิดมลภาวะตกค้างต่างๆ

ด้านปัญหามลภาวะฝุ่นควัน พรรคประชาธิปัตย์เสนอแก้มาตรฐานทางอากาศให้ลดลงมาอยู่ในกรอบของ UN พร้อมให้เงินช่วยเหลือเอกชนส่วนที่เกี่ยวข้องในการปรับตัว และยังเสนอให้เก็บภาษีรถยนต์ที่ใช้พลังงานเชื้อเพลิงประเภทต่างๆ เพื่อลดแรงจูงใจให้คนใช้รถยนต์ส่วนตัวน้อยลง สนับสนุนการใช้น้ำมันไบโอดีเซล พร้อมเปลี่ยนรถเมล์สาธารณะให้เป็นรถไฟฟ้าทั้งรถที่เป็นของ ขสมก. และเอกชน โดยรัฐให้การช่วยเหลือเรื่องค่าใช้จ่าย และปฏิเสธพลังงานไฟฟ้าถ่านหิน

ส่วนภาคอุตสาหกรรมก็แก้ปัญหาด้วยการบังคับใช้มาตรการตรวจจับและห้ามใช้รถยนต์ควันดำซึ่งมีระบุไว้ในกฎหมายอยู่แล้ว พร้อมสนับสนุนให้ใช้เครื่องดักเขม่ากับพาหนะของรัฐเลยทันที และสร้างแรงจูงใจให้ภาคเอกชนติดเครื่องมือดักควันเช่นเดียวกัน

ปฏิวัติเขียวสู่สังคมสีเขียว

ขณะที่พรรคเพื่อไทยก็มีมุมมองด้านสิ่งแวดล้อมไปในทิศทางเดียวกันกล่าวคือปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมควรรีบจัดการทันที โดยปลอดประสพ สุรัสวดี จากพรรคเพื่อไทยยกนโยบาย Green Revolution โดยจะผลักดันให้เกิดพื้นที่ป่า 50 ล้านไร่ทั้งประเทศ พร้อมเปลี่ยนรถเมล์สาธารณะให้เป็นรถพลังงานไฟฟ้าทั้งหมดทันทีหากได้รับเลือกเป็นพรรครัฐบาล

โดยภายในปี 2565 จะสนับสนุนการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) ด้วยนโยบายนำรถเก่าแลกรถไฟฟ้า และลดภาษีรถ EV เพื่อสนับสนุนให้คนทั่วไปเข้าถึงได้ และสนับสนุนให้ใช้น้ำมันไบโอดีเซลโดยมีเป้าหมายที่จะให้น้ำมัน B100 เกิดขึ้นได้จริง ทั้งนี้เพื่อลดการใช้งานเครื่องยนต์ที่ใช้น้ำมันดีเซลซึ่งถือว่าเป็นสาเหตุของมลภาวะทางอากาศถึง 55% และนำกฎหมายมาบังคับใช้กับรถและโรงงานที่ปล่อยควันดำอย่างจริงจัง

คุณภาพชีวิต รักสัตว์ รักษ์ต้นไม้

ด้านพรรคอนาคตใหม่นำเสนอนโยบายที่จะกระจายประโยชน์ให้ทุกฝ่าย โดยเรื่องสิ่งแวดล้อมเน้นการลดใช้พลาสติกและการจัดการขยะให้ได้ภายใน 4 ปี ตั้งแต่การแยกขยะ สู่การสร้างโรงงานผลิตเชื้อเพลิงจากขยะ

ส่วนปัญหาด้านมลพิษ ทางนิติพล ผิวเหมาะ ตัวแทนจากพรรคอนาคตใหม่เสนอ 2 ทางออก สำหรับปัญหาที่ควบไม่ได้ และปัญหาที่ควบคุมได้

อย่างแรกปัญที่เกิดจากสภาวะที่ควบคุมไม่ได้ เช่น สภาพความกดอากาศ โดยจะเน้นเพิ่มพื้นที่สีเขียวผ่านการปลูกกาแฟอาราบิก้าที่ต้องปลูกใต้ต้นไม้ใหญ่ ซึ่งให้ผล 2 ต่อ คือเพิ่มต้นไม้ และเกษตรกรก็มีรายได้เพิ่ม

สองด้านปัจจัยที่ควบคุมได้คือการทำให้ระบบขนส่งสาธารณะถูกลงเพื่อทุกคนจะได้หันมาใช้แทนการใช้รถยนต์ส่วนตัวพร้อมเปลี่ยนป็นรถพลังงานไฟฟ้า โดยสามารถผลิตเองได้ในประเทศ ไม่ต้องสั่งซื้อมาจากจีน พร้อมทบทวนกระบวนการควบคุมมาตรฐานโรงงานและผลกระทบทางธรรมชาติไม่ให้ซ้ำซ้อนและสามารถบังคับใช้กับภาคเอกชนได้จริง

ด้านสวัสดิภาพสัตว์ นำหลักมนุษยธรรมเข้ามาดูแลให้สัตว์มีชีวิตที่ดีขึ้น โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาจัดทำดาต้าเบสเพื่อเอามาวางแผนการดูแลสัตว์ในพื้นที่ต่างๆ การรับซื้ออาหารสัตว์ที่ปลอดภัยจากชาวบ้านสู่การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์

แก้จน เพิ่มคุณภาพชีวิตด้วยสิ่งแวดล้อม

พรรคกรีนประเทศไทย มีจุดมุ่งหมายลดปัญหาความยากจนของประชาชนผ่านต้นไม้ โดยพงศา ชูแนม หัวหน้าพรรค ได้เสนอเปลี่ยนต้นไม้เป็นสินทรัพย์ ให้ต้นไม้ทุกต้นสามารถตีค่าเป็นเงิน และมีมูลค่าเพิ่มขึ้นตามอายุไขซึ่งสามารถใช้เป็นหลักค้ำประกันแทนเงินได้เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนปลูกต้นไม้

พ่วงด้วยนโยบายสนับสนุนให้เกิดที่ดินทำกินอย่างถูกต้องและเป็นธรรมตามกฎหมาย เนื่องจากปัญหานายทุนแย่งที่ดินทำกินของประชาชน หรือการซื้อขายที่ดินอย่างไม่เป็นธรรม ซึ่งปัจจุบันประชากร 1 ใน 4 กำลังเผชิญปัญหาความเหลื่อมล้ำในการทำมาหากินอยู่บนพื้นที่ผิดกฎหมายที่กำลังตัดโอกาสการทำงานในท้องถิ่นของชาวบ้าน และผลักให้คนจากชนบทวิ่งเข้ามาหางานทำในเมืองใหญ่

ด้านปัญหามลพิษ PM 2.5 สุเทพ คงเทศ รองหัวหน้าพรรค มีนโยบายสนับสนุนการใช้น้ำมันไบโอดีเซลหรือน้ำมันปาล์ม แทนน้ำมันดีเซลในปัจจุบัน สาเหตุหลักของปัญหาควันพิษคล้ายกับแนวทางของพรรคเพื่อไทย และประชาธิปัตย์ แต่มองว่าควรเริ่มจาก B10 และ B20 จะเป็นแนวทางที่ทำได้จริงมากกว่า และยังเป็นการช่วยสนับสนุนราคาปาล์มให้กับเกษตรกรด้วย

สุเทพยังเสนอนโยบายสร้างแรงจูงใจในการปลูกป่าของคนเมืองด้วยค่าตอบแทน 50 บาท/ตร.ม. หากสามารถปลูกต้นไม้ใหญ่ได้ 480,000 ต้น ก็สามารถลดฝุ่น 11,100 ตันต่อปี เท่ากับเครื่องกรองอากาศที่ถูกใช้ในประเทศฮ่องกงซึ่งมีราคาต้นทุนที่สูงกว่า

ขยะ หมาจรจัด และการจัดสรรพื้นที่ของคน

สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด หัวหน้าพรรคเกียน มองว่าสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องของคน พื้นที่ และสิ่งรอบตัว แต่คนเมืองกลับเผชิญปัญหาไม่มีพื้นที่ในการใช้ชีวิตนอกบ้านซึ่งก่อให้เกิดมลภาวะทางอารมณ์ได้ จึงเสนอนโยบายเพิ่มพื้นที่สันทนาการ และพื้นที่สีเขียวให้ประชาชนมีพื้นที่ในการปลดปล่อยมากขึ้น

ส่วนการจัดการขยะในพื้นที่เมือง ส่วนหนึ่งมีผลกระทบจากปัญหาหมาจรจัดคุ้ยขยะ ที่สร้างปัญหาขยะมูลฝอยตามแหล่งน้ำธรรมชาติ ไหลลงทะเล และกลับมาสร้างปัญหาต่อคุณภาพชีวิตของคนสารพิษเจือปนในอาหาร ซึ่ง บก.ลายจุดเสนอให้มีการทำหมันหมาเพื่อลดจำนวน

ส่วนเรื่องประเด็น PM 2.5 บก.ลายจุด ชี้ว่าสาเหตุอีกส่วนหนึ่งมาจากไฟป่าที่เกิดจากการลุกลามของการเผาป่าเพื่อปรับหน้าดินของเกษตรกรที่บางกรณีก็ไม่สามารถเลี่ยงได้ ทำให้พื้นที่ภาคเหนือมีปัญหาร้ายแรงมากในช่วงสภาวะอากาศที่แสงแดดส่องไม่ถึง โดยเสนอแนวทางแก้ไขด้วยการทำแนวกันไฟเปียกด้วยกล้วยป่าเพื่อป้องกันการลุกลามของไฟป่า

ลดความเหลื่อมล้ำ ไม่เอาอุตสาหกรรมก่อมลพิษ

ด้านฟากพรรคที่เป็นตัวแทนของกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบในพื้นที่อุตสาหกรรมอย่างพรรคสามัญชน ก็ประกาศชัดเจนว่าจะไม่เอาทุกโครงการที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน และสิทธิชุมชน ที่ทำให้เกิดผลกระทบในเรื่องสุขภาพ และการอยู่อาศัยของชุมชน ปกรณ์ อารีกุล โฆษกพรรคเสนอยกเลิกคำสั่งพิเศษของ คสช. ที่ลดทอนมาตรการเฝ้าระวังผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และเอื้อให้กลุ่มทุนเข้ามาสร้างและดำเนินการอย่างรวดเร็ว สนับสนุนพลังงานสะอาด ไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน

ปลูกต้นไม้ได้เงิน ยกเลิกวิถีเกษตรในที่สูง

ส่วนดำรงค์ พิเดช หัวหน้าพรรคผืนป่าไทยนำเสนอนโยบายให้ปลูกต้นไม้เข้าไปอยู่ในแผนก่อสร้างทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นที่อยู่อาศัย หรือโรงงานอุตสาหกรรม ทั้งนี้ วิสัยทัศน์ของพรรคจะมุ่งแก้ไขมลภาวะฝุ่นควันในเขตพื้นที่ต่างจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากการเผาป่า โดยจะสนับสนุนหยุดอาชีพเกษตรกรรมบนดอย ด้วยการให้ต้นกล้าไม้ป่ากับเกษตรกรไปปลูกเพื่อช่วยให้เรามีรายได้มากกว่าการปลูกข้าวโพด

และแก้ปัญหารุกล้ำเขตป่าสงวน ด้วยการสร้างป่า โดยให้ชาวบ้านเช่าพื้นที่ป่าสงวนในราคาที่จ่ายได้ และนำต้นกล้าไม้ป่าเข้าไปปลูก และรับรายได้จากต้นไม้เหล่านั้นแทน

เมืองกรุงปอดสะอาด

พรรคพลังประชารัฐไม่ได้ส่งตัวแทนเข้าร่วมเวทีดีเบตทั้งสองครั้ง แต่ก็มีแนวทางนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม ขณะลงพื้นที่หาเสียงในกรุงเทพฯ ซึ่งดูเหมือนจะให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมในกรุงเทพฯ มากกว่าที่จะมีนโยบายเป็นภาพใหญ่

นโยบายที่น่าสนใจคือ นโยบาย 50 สวน 50 เขต สร้างพื้นที่สีเขียวไปสู่ชุมชนให้ปอดสะอาด เป็นการสร้างสวนสีเขียวให้เกิดขึ้นทุกเขต เพื่อให้คนกรุงเทพฯ มีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยเบื้องต้นอาจนำร่องในหน่วยงานของรัฐ และเพื่อใช้ประโยชน์ในการท่องเที่ยว

นโยบายพักกรุงเทพฯ 5/2 โดยให้ดำเนินการก่อสร้าง 5 วัน และหยุดก่อสร้าง 2 วัน ซึ่งจะขอความร่วมมือกับผู้รับเหมาในการก่อสร้างขนาดใหญ่ เพราะที่ผ่านมาก่อสร้างกันตลอดทุกวัน จนเกิดวิกฤติสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ก็เพื่อกรุงเทพฯ มีสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้นบ้าง

ขณะที่อีกแนวทางหนึ่งคือจะตรวจจับและกวดขันกับรถยนต์ที่ปล่อยควันดำในเขตเมือง และระยะยาวคือสนับสนับสนุนการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า โดยมีนโยบายเรื่องการลดหย่อนภาษี นำรถเก่ามาแลกเป็นรถ EV รับส่วนลด 100,000 บาททันที

 

อ้างอิง

https://www.youtube.com/watch?v=udmT9hWNax8

https://pprp.or.th/นโยบายกรุงเทพ/

https://www.thairath.co.th/content/1494128

www.youtube.com/watch?v=bpwO9Y1Zxyo

Tags: , , , , ,