วันนี้ (31 พ.ค. 2562) ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ระบุว่า สำนักงานเลขาธิการสภาฯ จะส่งหนังสือเชิญประชุมสภาฯ และประชุมร่วมรัฐสภาในวันที่ 1 มิถุนายน เพื่อเรียกประชุมในวันที่ 5 มิถุนายน ที่อาคารรัฐสภาชั่วคราว หอประชุมใหญ่ทีโอที แจ้งวัฒนะ โดยในเวลา 9.00 น. จะให้ว่าที่ ส.ส. 3 คนที่ยังไม่ได้กล่าวปฏิญาณตน กล่าวปฏิญาณตนต่อที่ประชุมสภาฯ จากนั้นเวลา 11.00 น. จะมีการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาวาระสำคัญ คือ เลือกบุคคลให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
ก่อนหน้านี้ ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ นายชวน หลีกภัย เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรแล้ว และโปรดเกล้าฯ ให้ นายสุชาติ ตันเจริญ เป็นรองประธานรัฐสภาคนที่หนึ่ง และนายศุภชัย โพธิ์สุ เป็นรองประธานรัฐสภาคนที่สอง รวมถึงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ นายพรเพชร วิชิตชลชัย เป็นประธานวุฒิสภา พลเอก สิงห์ศึก สิงห์ไพร เป็นรองประธานวุฒิสภา คนที่หนึ่ง และนายศุภชัย สมเจริญ เป็นรองประธานวุฒิสภาคนที่สอง
สำหรับวิธีการเลือกนายกรัฐมนตรีนั้น จะใช้วิธีการแบบเปิดเผย โดยเลขาธิการจะเรียกชื่อสมาชิกตามลําดับอักษร ให้ออกเสียงลงคะแนนเป็นรายบุคคล โดยกล่าว “เห็นชอบ” “ไม่เห็นชอบ” หรือ “งดออกเสียง” ตามที่กำหนดเอาไว้ในข้อบังคับการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ. 2560 หมวด 5 เรื่องการพิจารณาให้ความเห็นชอบนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ ตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ 2560 ระบุให้ ส.ว.จากการแต่งตั้งร่วมออกเสียงลงคะแนนเลือกนายกฯ ร่วมกับ ส.ส. ด้วย
สำหรับการจับขั้วตั้งรัฐบาลนั้น หลังจากวานนี้ พปชร. เดินทางไปทาบทามพรรคชาติไทยพัฒนาเข้าร่วมรัฐบาล เมื่อช่วงสายวันนี้ ยุทธพล อังกินันทน์ โฆษกพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) แถลงผลการประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคว่า พรรคมีมติเอกฉันท์เข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และจะโหวตนายกฯ ตามที่ พปชร. เสนอ โดยมีเงื่อนไขว่า พรรคพลังประชารัฐยอมรับนโยบายทั้ง 7 ด้านที่พรรคเคยหาเสียงไว้กับประชาชน
ด้าน ราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ระบุผ่านเพจเฟซบุ๊กส่วนตัว ถึงเหตุผลที่พรรคประชาธิปัตย์ยังไม่มีมติร่วมหรือไม่ร่วมรัฐบาลว่า เนื่องจากพรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคการเมืองที่เป็นสถาบันทางการเมืองไม่มีใครสามารถสั่งการชี้นำได้เพียงคนคนเดียว การตัดสินใจจึงเป็นไปตามมติของเสียงส่วนใหญ่ ทั้งนี้ ข้อบังคับพรรคระบุชัดเจนให้การมีมติร่วมหรือไม่ร่วม ต้องเกิดจากมติของที่ประชุมร่วมกันของคณะกรรมการบริหารพรรคและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
นอกจากนี้ ราเมศ ระบุด้วยว่า หลักการทำงานของพรรคประชาธิปัตย์ที่ได้บอกกล่าวพรรคพลังประชารัฐไป ยังไม่ได้มีการตอบกลับมาอย่างเป็นทางการ พร้อมปฏิเสธกรณีที่มีกระแสข่าวว่า มีการต่อรองตำแหน่งรัฐมนตรีกันว่า คงไม่ใช่ถ้อยความจริง เพราะเมื่อยังไม่ได้ตอบรับหลักการต่างๆ ที่กล่าวไป แล้วจะมากำหนดกระทรวงต่างๆ กันได้อย่างไร
Tags: ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ, ชัชชาติ สิทธิพันธุ์, เลือกตั้ง62, จัดตั้งรัฐบาล, ชวน หลีกภัย, ประยุทธ์ จันทร์โอชา