อีกแค่หนึ่งเดือนกว่าๆ ปฏิทินก็จะหมุนสู่วันที่ 1 มกราคม 2563 อันเป็นจุดเริ่มต้นที่ห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านค้าปลีกรายใหญ่ 43 รายจะพร้อมใจกันงดแจกถุงพลาสติกหูหิ้วแก่ลูกค้า ตามการประสานขอความร่วมมือโดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.)
ประเด็นนี้ถูกกล่าวถึงอย่างต่อเนื่องเป็นระยะ ทั้งในรูปแบบรายงานข่าว การประชาสัมพันธ์จากผู้ค้าถึงลูกค้าโดยตรง และสื่อออนไลน์ ออฟไลน์ อีกหลายช่องทาง เท่าที่ได้เห็นได้ฟังผ่านหูผ่านตามีจำนวนไม่น้อยที่ระบุว่า เป็นการงดแจก ‘ถุงพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง’ ซึ่งเราไม่ค่อยเห็นด้วยนักกับคำเรียกนี้
แม้ถุงพลาสติกของร้านค้าปลีกและร้านสะดวกซื้อในปัจจุบันมักเป็นแบบเนื้อบาง ต่างจากถุงพลาสติกหูหิ้วของห้างสรรพสินค้าและซูเปอร์มาร์เก็ตซึ่งค่อนข้างเหนียวทนทานกว่า แต่ทั้งคู่ก็ยังสามารถใช้งานซ้ำได้มากกว่าหนึ่งครั้งอย่างแน่นอน ยืนยันได้จากประสบการณ์ตรงของตัวเอง
ถ้าเล่าให้เห็นภาพชัดๆ ก็คงเป็นถุงพลาสติกหูหิ้วจากซูเปอร์มาร์เก็ตที่เราใช้ใส่เสื้อผ้าสะอาดเวลาไปออกกำลัง และเมื่ออาบน้ำเสร็จ หยิบเสื้อผ้าสะอาดไปสวมแล้ว มันก็เปลี่ยนมาทำหน้าที่บรรจุเสื้อกางเกงชื้นเหงื่อแทน พอกลับถึงบ้านเอาชุดออกกำลังไปซัก ก็ล้างถุงพลาสติก ถูสบู่เสียหน่อย เขย่าๆ น้ำ และแขวนตาก รอแห้งเพื่อหยิบใช้ครั้งต่อไป
เรามีถุงพลาสติกหูหิ้วสองใบ (สลับกันใช้) สำหรับกิจกรรมเสียเหงื่อตลอดช่วง 7 เดือนที่ผ่านมา ล่าสุดหนึ่งใบเพิ่งขาดเป็นรูขนาดเหรียญบาท จึงแปะสก๊อตเทปซ่อมแผล แค่นี้ก็ใช้งานต่อได้สบายใจ ตามคอนเซ็ปต์ส่วนตัว…‘พยายามใช้พลาสติกทุกชิ้นที่รับมาให้คุ้มค่า’
ก่อนจะออกนอกเรื่องไปไกล วกกลับมาที่ประเด็นหลักดีกว่า…คนไทยพร้อมสำหรับการไม่แจกถุงพลาสติกหูหิ้วหรือยัง
ถ้ามองจากไทม์ไลน์การดำเนินงานของ ทส. ซึ่งเริ่มโครงการ ‘รวมพลังสร้างวินัย ลดใช้ถุงพลาสติก’ ร่วมกับห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ ฯลฯ งดให้บริการถุงพลาสติกหูหิ้วแก่ลูกค้าในวันที่ 15 ของทุกเดือนตั้งแต่สิงหาคม 2558 จากนั้นจึงขยับความถี่เป็นเดือนละสองวัน (วันที่ 15 กับ 30) และเดือนละสี่วัน (ทุกวันพุธ) ในเดือนเมษายน 2559
นั่นหมายความว่า ประเทศไทยใช้เวลาถึงสี่ปีครึ่งกว่าจะเดินทางถึงจุดงดแจกถุงพลาสติกหูหิ้ว ซึ่งถือว่าประนีประนอมมากแล้วนะ คือให้เวลาเหลือเฟือสำหรับปรับเปลี่ยนพฤติกรรม มันออกจะล่าช้าไปด้วยซ้ำในยุคที่โลกเผชิญปัญหามลพิษพลาสติกรุนแรงสุดนับตั้งแต่พวกเรามีพลาสติกใช้งาน
หากเปรียบเทียบกันในระดับนานาชาติ มีหลายประเทศที่ก้าวนำเราไปไกลแล้วหลายช่วงตัว
เดนมาร์กเป็นประเทศแรกที่ใช้มาตรการภาษีถุงพลาสติกมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2536 ทำให้ค่าเฉลี่ยปริมาณการใช้ถุงพลาสติกของพลเมืองอยู่ที่ปีละ 4 ใบเท่านั้น
ขณะที่บังคลาเทศเป็นประเทศแรกที่ออกกฎหมายห้ามใช้ถุงพลาสติก โดยประกาศแบนตั้งแต่ต้นปี 2545 หลังจากพบว่า มันอุดตันท่อระบายน้ำและเป็นตัวการสำคัญของเหตุการณ์น้ำท่วมที่สร้างความเสียหายครั้งใหญ่ในปี พ.ศ. 2541
ในปี 2545 เช่นกัน ไอร์แลนด์และไต้หวันเริ่มใช้มาตรการภาษีถุงพลาสติก ซึ่งการเรียกเก็บเงินจากลูกค้าในสองประเทศนี้ก็สามารถลดปริมาณการใช้ถุงพลาสติกลงจากเดิมได้ราวร้อยละ 80-90 เลยทีเดียว
หลังจากนั้นก็มีอีกหลายประเทศ เช่น นิวซีแลนด์ แคนาดา สเปน เบลเยียม อังกฤษ และส่วนการปกครองพิเศษฮ่องกง ที่ทยอยประกาศเก็บค่าธรรมเนียมหรือภาษีสิ่งแวดล้อมเพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ถุงพลาสติกในหมู่ผู้บริโภค ทั้งยังมีกลุ่มประเทศแถบแอฟริกา อาทิ แอฟริกาใต้ เอธิโอเปีย เคนยา รวันดา แทนซาเนีย ฯลฯ ที่ใช้ ‘ยาแรง’ ถึงขั้นออกกฎหมายห้ามผลิต ห้ามจำหน่าย และห้ามใช้ถุงพลาสติก เนื่องจากเผชิญปัญหาขยะพลาสติกล้นเมือง
ถึงบรรทัดนี้ เอ๊ะ..นอกจากออกตัวช้า เราใช้ยาเบาเกินไปรึป่าวนะ
จากการสังเกตส่วนตัว กลุ่มผู้บริโภคสายเขียวลงมือพกถุงผ้าและงดรับถุงพลาสติกใหม่กันไปก่อนแล้วอย่างคึกคัก แต่สำหรับประชาชนทั่วไป รวมถึงเพื่อนฝูงบางคน (ซึ่งน่าจะเป็นคนส่วนใหญ่และมีจำนวนมากกว่าสายเขียว) เราได้ยินเสียงโอดครวญและได้เห็นสารพัดถ้อยคำบ่นไปจนถึงก่นด่าในโซเซียลมีเดียด้วยความรู้สึกหงุดหงิดกับสิ่งที่รออยู่ข้างหน้า
ซึ่งก็ไม่แปลกเพราะประเทศอย่างเกาหลีใต้ก็เคยเผชิญสถานการณ์อารมณ์ของประชาชนในลักษณะคล้ายๆ กันนี้ประมาณ 20 ปีที่แล้ว เมื่อซูเปอร์มาร์เก็ตกับร้านสะดวกซื้องดแจกถุงพลาสติกแก่ลูกค้า และเปลี่ยนมาจำหน่ายในราคาใบละ 100 วอน หรือประมาณ 3 บาท โดยไม่ใช้กฎหมายบังคับ
ผลลัพธ์ช่วงแรกคือ ผู้บริโภคแสดงความไม่พอใจอย่างชัดเจนและด่าทอร้านค้า หลายคนไม่แคร์การเก็บค่าถุงพลาสติก เพราะตั้งราคาไว้ถูกมาก ทำให้ปริมาณการใช้ถุงพลาสติกไม่ลดลงสักนิด หลายฝ่ายเริ่มวิเคราะห์กันว่ามาตรการดังกล่าวน่าจะไม่ประสบผลสำเร็จ
แต่เมื่อเวลาผ่านไป การสื่อสารกับสาธารณชนเพื่ออธิบายเหตุผลและความจำเป็นที่ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ความไม่พอใจค่อยๆ เบาบาง ก่อเกิดความเข้าใจในหมู่ผู้บริโภค กระทั่งพัฒนาเป็นค่านิยมใหม่ของชาวเกาหลีใต้ที่เข้มแข็งขึ้นมาในที่สุด
ยากจะคาดเดาว่า สุดท้ายแล้วผู้บริโภคในบ้านเราจะเดินตามรอยเกาหลีใต้หรือไม่ แต่สิ่งหนึ่งที่อยากบอกก็คือ หากเริ่มวันนี้คุณยังมีเวลาพอสำหรับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยเฉพาะการคิดและวางแผนให้มากขึ้นในทุกครั้งที่จะออกไปซื้อของ ซื้ออะไรบ้าง ปริมาณมากน้อยเพียงใด ต้องใช้ถุงขนาดไหนและกี่ใบ จากนั้นก็หยิบถุงผ้าหรือถุงพลาสติกติดมือไปด้วย…ง่ายๆ เท่านี้
บางคนอาจมีความตั้งใจดี แต่ขี้ลืม กว่าจะนึกออกว่าไม่ได้หยิบถุงผ้าหรือถุงพลาสติกมาด้วยก็ตอนถึงซูเปอร์มาร์เก็ตแล้ว ทางแก้ง่ายสุดคือแปะป้ายเตือนไว้บริเวณประตูที่เดินออกจากบ้านหรือใส่ถุงผ้าถุงพลาสติกติดรถไว้ หลังจากซื้อของมาแล้วก็เอากลับไปคืนที่เดิมโดยไม่รอจนข้ามวัน หรือใครไม่มีถุงพลาสติกติดบ้านเลย ช่วงนี้ก็รับถุงพลาสติกใบใหม่เพื่อเก็บไว้ใช้ซ้ำได้นะ
…ใครยังไม่พร้อม เทคนิคพวกนี้น่าจะพอช่วยให้พร้อมขึ้นได้บ้าง
อย่างไรก็ตาม ฝั่งผู้ค้าทั้งหลายควรเตรียมตัวจัดหาทางเลือกสำหรับการไม่แจกถุงพลาสติกด้วย เช่น มีถุงกระดาษหรือถุงพลาสติกจำหน่าย อย่างซูเปอร์มาร์เก็ตในฮ่องกงที่เคยเห็นมา เมื่อชำระเงินกับแคชเชียร์เรียบร้อย เดินต่ออีกไม่กี่ก้าวจะเจอโต๊ะวางเชือก เทปกาว กรรไกร คัตเตอร์ รวมทั้งกล่องหรือลังกระดาษหลากหลายขนาด (ทั้งหมดก็เป็นหีบห่อที่บรรจุของมาวางขายในซูเปอร์มาร์เก็ตนั่นแหละ) ลูกค้าสามารถใช้อุปกรณ์บนโต๊ะเพื่อแพ็กข้าวของให้ตัวเองหิ้วกลับได้ง่ายขึ้น
ไม่แน่ใจว่า ห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านค้าปลีกรายใหญ่วางแผนจะอำนวยความสะดวกลูกค้าอย่างไร เพราะไม่เห็นการประชาสัมพันธ์ในส่วนนี้ ถ้ายังไม่เตรียมการอะไรเลย จัดการตอนนี้ก็ยังทัน และน่าจะบรรเทาความรู้สึกชีวิตยุ่งยากจากนโยบายงดแจกถุงหูหิ้วลงได้
ถ้าทุกฝ่ายตั้งใจเตรียมตัวรับมือความไม่คุ้นชินไปด้วยกัน ระยะปรับตัวแรกๆ อาจขลุกขลักบ้าง แต่หวังว่าผ่านไปสักพักมันน่าจะกลายเป็นสิ่งปกติธรรมดา ก็ขอเอาใจช่วยให้ความพยายามร่วมกันครั้งนี้บรรลุเป้าหมาย กระทั่งสามารถสร้างค่านิยมใหม่ของคนไทยได้สำเร็จในที่สุด
Tags: single-use plastic, พลาสติกใช้ครั้งเดียว, ภาษีถุงพลาสติก