หลายเดือนที่ผ่านมา เชียงใหม่เต็มไปด้วยคนไร้บ้านดาษดื่นอยู่ทั่วทุกมุมของคูเมือง เพียงแค่หันหน้ามองข้างทางก็เห็นชีวิตที่ผุพังอยู่ข้างถนนของพวกเขาได้ไม่ยาก 

ม้านั่งบริเวณคูเมืองที่นักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติเคยใช้นั่งพักมองดูความเป็นไปของเชียงใหม่ ถูกคนไร้บ้านจับจองเป็นเตียงนอนแข็งๆ ให้พอเหยียดตัวหลับได้ โดยไม่สนใจว่ากลางวันหรือกลางคืน ปัจจุบัน การมีชีวิตรอดในแต่ละวันของคนไร้บ้านเชียงใหม่ พึ่งพิงอยู่กับการขอข้าววัดเป็นสำคัญ เนื่องจากการตั้งโต๊ะแจกข้าวของผู้คนในเมืองที่เคยมีในช่วงโควิด-19 ระลอกแรกและระลอกสองลดน้อยจนแทบไม่เหลือให้เห็น แม้แต่วัดใหญ่ๆ ที่เคยทำอาหารแจกให้กับคนที่เดือดร้อนจากสถานการณ์โควิด-19 อย่างเปิดเผย มีตารางเวลาเป็นประจำทุกวัน ก็ยังต้องยกเลิกการแจกเช่นนี้ในช่วงโควิด-19 ระลอกสาม เหลือเพียงการแบ่งปันอาหารที่ได้รับจากการบิณฑบาตให้แก่คนที่เดินเข้าไปขอ ซึ่งคนไร้บ้านหลายคนก็ใช้วิธีการนี้เพื่อให้ตัวเองมีข้าวกินในแต่ละวัน

เรื่องราวในชีวิตคนไร้บ้านบริเวณคูเมืองหลายคน สะท้อนให้เห็นว่า สาเหตุที่พวกเขาต้องมานอนตากแดดตากลมอยู่ข้างถนนแบบนี้ เป็นผลพวงจากการบริหารจัดการโควิด-19 ที่ล้มเหลวของรัฐบาล 

ก่อนหน้านี้ คนไร้บ้านมักจะหยิบยกเอาเรื่องความอิสระของชีวิตหรือปัญหาภายในครอบครัวขึ้นมาเป็นคำอธิบายต่อการใช้ชีวิตอยู่ข้างถนนของตัวเอง แต่ปัจจุบัน คำตอบของคนไร้บ้านที่พบบริเวณคูเมืองนั้นต่างออกไป หลายคนไม่ได้เต็มใจที่จะมาเป็นคนไร้บ้าน พวกเขายังต้องการนอนหลับอย่างเป็นสุขอยู่ในห้องเช่าราคาถูก แต่วิกฤตเศรษฐกิจจากโควิด-19 บีบบังคับให้เขาต้องมาอยู่ข้างถนน 

ช่วงระยะเวลา 1 ปี 5 เดือนผ่านมา นับตั้งแต่ประเทศไทยพบผู้ป่วยโควิด-19 รายแรก เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2563 รัฐบาลจมอยู่กับการใช้มาตรการล็อกดาวน์ ควบคุมพื้นที่ ควบคุมกิจการและสถานประกอบการ ห้ามประชาชนใช้ชีวิตปกติมากกว่าจะเร่งหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 มาฉีด เพื่อให้สถานการณ์ภายในประเทศกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยที่บอบช้ำจากการขาดไร้นักท่องเที่ยวต่างชาติตกต่ำลงยิ่งขึ้นไปอีก เมื่อคนในประเทศไม่สามารถทำงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจของตัวเองได้ 

คนไร้บ้านบริเวณคูเมืองหลายคนเคยเป็นคนทำงานหาเช้ากินค่ำที่มีห้องเช่าราคาถูกเป็นบ้าน พวกเขาขับเคลื่อนเมืองด้วยอาชีพเล็กๆ น้อยๆ เช่น พนักงานรักษาความปลอดภัย คนงานก่อสร้าง ลูกจ้างตามร้านขายอาหาร ฯลฯ เมื่อโควิด-19 ระบาด หลายคนตกงานตั้งแต่ระลอกแรกจนถึงปัจจุบัน การไม่มีงานทำติดต่อกันเป็นเวลานาน ทำให้หลายคนไม่สามารถรักษาสถานะผู้เช่าในห้องเช่าราคาถูกของตัวเองไว้ได้ และต้องแบกเป้ออกมานอนข้างถนน

คนไร้บ้านหน้าใหม่หลายคนในตอนนี้ จึงเป็นคนไร้บ้านที่เกิดจากความจำเป็นและจำใจจากภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ฟื้นตัว

1

‘คนแก่ไร้บ้าน’ พบเห็นได้มากขึ้นในเชียงใหม่ 

เวลา 11.50 น. ข้าวกล่องนี้เป็นมื้อแรกของวันของชายสูงอายุผู้นี้ เขาเดินไปขอข้าวจากวัดแห่งหนึ่งบริเวณใกล้กับคูเมือง แล้วมานั่งถอดรองเท้ากินข้าวอยู่ข้างถนนอย่างไม่สนใจใคร 

เขาเป็นคนจังหวัดเชียงรายที่เดินทางเข้ามาทำงานในเชียงใหม่ได้ 10 กว่าปีแล้ว ปีนี้เขาอายุ 52 ก่อนหน้าที่จะเกิดโควิด-19 เขาเคยมีงานทำ หาเงินซื้อข้าวกินเองได้ 

“ก็งานกรรมกรทั่วไปนี่แหละ ถ้ามีงานก็ไม่มาขอข้าววัดหรอก มีงานก็ไปทำงาน ไปทั่วหมด” 

นอกจากนี้ เขายังหยิบบัตรประชาชนขึ้นมาโชว์ เพื่อยืนยันความเป็นคนไทย พร้อมทั้งถามถึงวิธีการที่จะเข้าถึงสวัสดิการและการเยียวยาของรัฐในช่วงโควิด-19 ได้เหมือนคนไทยคนอื่น เขาเองก็อยากได้รับเงินช่วยเหลือและมีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐมาเยียวยาชีวิตตัวเองเช่นกัน

2

ชายเสื้อเขียวที่มีรอยสักรูปดอกไม้เต็มแขนขาผู้นี้เป็น ‘คนไร้บ้านหน้าใหม่’ ที่มานอนอยู่บริเวณคูเมืองได้ไม่ถึง 3 เดือน เขาเป็นตัวอย่างหนึ่งของคนที่ไม่สามารถรักษาห้องเช่าราคาถูกของตัวเองไว้ได้

ก่อนหน้านี้ เขาเป็นชายวัย 40 ต้นๆ ที่ทำงานรับจ้างทั่วไป และเช่าห้องพักราคาเดือนละ 1,500 บาทอยู่เพียงลำพัง แต่ต้องมาตกงานในช่วงโควิด-19 หลังจากที่ไม่ได้ทำงานติดกันนาน 3-4 เดือน เขาเริ่มประสบปัญหาไม่มีเงินจ่ายค่าเช่าห้อง จนต้องพาตัวเองออกมานอนอยู่บนม้านั่งตัวหนึ่งในคูเมือง พร้อมกับถุงดำใบใหญ่ที่ใส่สัมภาระส่วนตัวไว้ ตอนนี้สมบัติของเขามีเพียงเสื้อผ้า 1-2 ชุด ผ้าห่มบางๆ และขวดพลาสติกที่เก็บไว้ขายแลกเงิน

เขานอนบนม้านั่งและอาบน้ำในปั๊มน้ำมันที่อยู่ไม่ไกล หากฝนตกก็จะเดินข้ามถนนไปหลบอยู่หน้าร้านค้าร้านอาหารฝั่งตรงข้ามที่ตอนนี้ปิดกิจการชั่วคราวมาเป็นปีแล้ว

เขาเริ่มชินกับการนอนข้างถนนบ้างแล้ว แต่ก็ยังคงพูดถึงการนอนในพื้นที่สาธารณะเช่นนี้ว่า “มันลำบากอยู่แล้วครับ”

3

ผู้ชายคนนี้นอนอยู่บริเวณคูเมืองมานานนับปี ก่อนหน้านี้เขานอนอยู่บนม้านั่งตัวที่ชายเสื้อเขียวนอน ปัจจุบันย้ายตัวเองมานอนอยู่หน้าร้านอาหารฝั่งตรงข้าม

เขาเป็นคนไร้บ้านที่ไม่ไยดีต่อโลกและเข้าถึงยาก 

ฉันไม่แน่ใจว่าเขาพูดคุยกับคนแปลกหน้าหรือไม่ เนื่องจากเขาไม่พูดกับฉัน คนไร้บ้านคนอื่นก็เตือนว่าอย่าไปยุ่งกับเขา ฉันสังเกตเห็นการมีอยู่ของเขามานานมาก หากไม่พบนอนอยู่บนม้านั่งก็ต้องเห็นข้าวของของเขาวางอยู่ข้างถนน เป็นหลักฐานยืนยันว่าเขายังมีชีวิตอยู่ 

ที่เชียงใหม่ หากคนไร้บ้านเสียชีวิตลง วันถัดมาเราจะไม่เห็นทั้งร่างไร้วิญญาณของเขาและข้าวของที่เคยวางอยู่ตรงนั้น ฉันรับรู้เรื่องนี้จากการหายไปอย่างไร้ร่องรอยราวกับไม่เคยมีตัวตนของคนไร้บ้านแถวประตูเชียงใหม่ ม้านั่งที่เคยเป็นบ้านรกๆ ของเขากลับมาเป็นม้านั่งสะอาดเอี่ยมอีกครั้ง หลังเขาไม่มีชีวิตอยู่แล้ว

4

หัวค่ำวันหนึ่ง บริเวณคูเมือง หญิงวัยกลางคนผู้นี้กำลังยืนป้อนข้าวลูกชายริมทางเท้า เธอใช้ผ้าขาวม้าผูกลูกติดไว้กับตัว อย่างที่คนชาติพันธุ์ในเชียงใหม่มักกระทำกัน

เธอเป็นคนลาหู่ ลูกชายที่ติดอยู่ด้วยกันอายุเกือบ 2 ขวบแล้ว และสิ่งที่เธอป้อนให้ลูกกินก็เป็นต้มจืดอะไรสักอย่างที่มีแต่น้ำ มองไม่เห็นเนื้อสัตว์หรือผักแม้แต่น้อย 

ถัดจากตรงที่เธอยืนอยู่ไม่ไกล มีผู้ชายคนหนึ่งนั่งอยู่บนม้านั่ง และมองมาทางเราตลอดเวลา เธอบอกว่าเขาเป็นสามี ทั้งตัวเธอและสามีตกงานในช่วงโควิด-19 ทั้งคู่เพิ่งย้ายจากห้องเช่าราคาพันกว่าบาทที่เคยอยู่ออกมาเป็นคนไร้บ้านกันทั้งครอบครัว 

เมื่อไม่มีบ้าน ข้าวของต่างๆ ที่เคยหามาได้ก็ต้องยอมทิ้งไป ตอนนี้ครอบครัวเธอเหลือสิ่งของจำเป็นติดตัวเพียงเป้หนึ่งใบที่บรรจุของจนแน่น 

ด้วยความที่มีเด็กเล็ก ที่หลับที่นอนจึงจำเป็นต้องปลอดภัยในระดับหนึ่ง เธอกับสามีไปขออาศัยนอนที่วัดแห่งหนึ่งบริเวณคูเมือง โดยวัดที่เธอเลือกเป็นวัดที่ผู้มีจิตศรัทธาส่วนใหญ่เป็นคนชาติพันธุ์ ซึ่งหลวงพ่อก็อนุญาตให้ครอบครัวนี้มาอาศัยนอนได้ 

ในภาวะที่ไร้ทางเลือกเช่นนี้ การได้นอนที่วัดในเวลากลางคืนและออกมานั่งอยู่ข้างคูเมืองในเวลากลางวัน ก็ยังดีกว่าการที่ต้องหอบลูกมาอยู่ข้างถนนทั้งวันทั้งคืน แต่ชีวิตของเธอและครอบครัวจะดีกว่านี้ หากได้ทำงานและมีเงินจ่ายค่าเช่าห้องพักเหมือนแต่ก่อน

5

เย็นวันหนึ่ง ชัยและแฟนสาวกำลังนั่งดูน้ำพุอยู่บนสนามหญ้าริมคูเมือง มองเผินๆ ทั้งคู่เหมือนคนที่มานั่งเล่นรับลมทั่วไป แต่ความสิ้นหวังที่ติดอยู่ตามเสื้อผ้ายับยู่ยี่ ผมเผ้ารุงรัง และถุงสัมภาระข้างตัว ทำให้รับรู้ได้ทันที่ว่านี่คือคนไร้บ้าน ซึ่งก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ 

ชัยสวมเสื้อยืด กางเกงยีนส์ และรองเท้าผ้าใบ ซึ่งไม่ค่อยเห็นในคนไร้บ้านในเชียงใหม่มากนัก ส่วนใหญ่จะใส่รองเท้าแตะแบบสวม หูหนีบ หรือไม่ก็เดินเท้าเปล่า เมื่อชัยบอกว่าตัวเองเคยเป็นช่างเชื่อมมาก่อน ฉันจึงไม่น่าแปลกใจกับการแต่งตัวทะมัดทะแมงของเขา

ชัยเป็นคนปกาเกอะญอ บ้านเดิมอยู่อำเภอขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน เดินทางเข้ามาทำงานในเชียงใหม่ได้สิบกว่าปีแล้ว ทำมาตั้งแต่สมัยเป็นลูกมือช่าง ได้ค่าแรงวันละ 150 บาท ก่อนจะฝึกฝนตัวเองไต่ระดับขึ้นมาเป็นช่าง ได้ค่าจ้างวันละ 400 บาท แต่ก็ไปไม่รอดต้องมาตกงานช่วงโควิด-19 

ชัยตกงานมาตั้งแต่เดือนมีนาคม ไม่ใช่มีนาคมปีนี้ แต่เป็นมีนาคมที่แล้ว “ผมลำบากมาก จะทำอะไรก็ไม่ได้ ไม่มีงานทำ” ระหว่างที่คุยกัน ชัยพูดคำว่า ‘ลำบาก’ ออกมาจากปากเป็นระยะๆ 

ชัยบอกว่าตอนนี้เขาไม่มีที่นอนประจำ อาศัยนอนไปเรื่อย ขึ้นอยู่กับว่าตอนนั้นอยู่แถวไหน ส่วนข้าวก็ไปขอจากวัด “ถ้าไม่มีข้าวกินจะลำบากกว่านี้ คนไม่ได้ฆ่ากันมันก็จะฆ่ากันตอนนี้แหละ” 

ปัจจุบัน ชัยพยายามหาเงินประทังชีวิตด้วยการงมหอยในคูเมืองขายให้แก่แม่ค้าที่กาดหลวง ในราคากิโลกรัมละ 20 บาท ซึ่งวันหนึ่งงมได้อย่างมากไม่เกิน 5 กิโลกรัม 

“เอาจริงๆ นะ น้ำในคูเมืองนี่ผมไม่อยากลงเลย มันอันตราย น้ำมันลึก และถ้าเช้ามากแล้วเราไม่ได้กินข้าวมามันก็จะหน้ามืด งมที 2-3 ชั่วโมง แล้วต้องเดินเอาไปขายอีก”

ชีวิตข้างถนนของคนไร้บ้านบริเวณคูเมืองเป็นตัวอย่างให้เห็นแล้วว่า ความล้มเหลวจากการรับมือกับโควิด-19 ของรัฐบาลส่งผลต่อชีวิตคนที่มีรายได้น้อยเพียงใด คนจนยิ่งยากจนลง และง่ายมากที่พวกเขาจะหลุดออกมาเป็นคนไร้บ้าน ขณะเดียวกันก็เหนื่อยยากขึ้นเรื่อยๆ หากใครหวังกลับเข้าสู่ระบบที่อยู่อาศัยอีกครั้ง แม้แต่ในห้องเช่าราคาถูกก็ยังต้องการเงินมัดจำ

แล้วบรรดาคนที่ไม่มีต้นทุนทางสังคม ชีวิตพึ่งพิงอยู่กับงานรายได้น้อยเหล่านี้ จะพาตัวเองออกจากข้างถนนได้อย่างไร?

Tags: , , ,