นักรบมุสลิมทางตอนใต้ของฟิลิปปินส์เริ่มส่งมอบอาวุธให้แก่ผู้สังเกตการณ์อิสระชาวต่างชาติตามแผนยุบเลิกกองกำลังแบ่งแยกดินแดนแล้ว ภายใต้ข้อตกลงแบ่งอำนาจกับรัฐบาลมะนิลา ชนชาติโมโรจะได้รับสิทธิปกครองตนเอง

เมื่อวันเสาร์ (7 ก.ย.) ประธานาธิบดี โรดริโก ดูแตร์เต ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีส่งมอบอาวุธของแนวร่วมปลดปล่อยอิสลามโมโร หรือเอ็มไอแอลเอฟ (MILF – Moro Islamic Liberation Front) ที่ค่ายแห่งหนึ่งของกลุ่มกบฏในจังหวัดมาควินดาเนา บนเกาะมินดาเนา ทางตอนใต้ของฟิลิปปินส์

การวางอาวุธของกองกำลังอิสลามบังซาโมโร (BIAF – Bangsamoro Islamic Armed Forces) ครั้งนี้ นับเป็นรอบแรกในกระบวนการยุบเลิกกองกำลังที่มีพลพรรคทั้งหมดราว 40,000 คน ตามข้อตกลงกับรัฐบาล การวางอาวุธจะทยอยทำอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ในช่วงแรก นักรบประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ หรือราว 12,000 คน จะวางอาวุธ

(ภาพ: FERDINANDH CABRERA / AFP)

ในวันเสาร์ที่ผ่านมา นักรบชุดแรกประเดิมวางอาวุธ 1,060 คน มีอาวุธที่ถูกปลด 940 รายการ การวางอาวุธของนักรบ 12,000 คนจะแล้วเสร็จในอีก 8 เดือนข้างหน้า คือช่วงต้นปี 2020 จากนั้นจะเริ่มการปลดอาวุธรอบใหม่ไปเรื่อยๆ จนกระทั่งนักรบทั้งหมด 40,000 คนวางอาวุธอย่างสิ้นเชิงภายในปี 2022

การวางอาวุธเป็นขั้นตอนสำคัญในข้อตกลงสันติภาพ กระบวนการนี้มี ‘การปกครองตนเองของชาวมุสลิมโมโร’ เป็นข้อแลกเปลี่ยน

วางปืน จับจอบเสียม

นักรบเหล่านี้ใช้ชีวิตสู้รบมาโดยตลอด เมื่อจะกลับมาใช้ชีวิตปกติ ย่อมต้องการการรองรับสนับสนุน ดังนั้น รัฐบาลจะให้การนิรโทษกรรมแก่นักรบที่ต้องคดีอาญาสืบเนื่องจากการสู้รบ นักรบที่มีคุณสมบัติเข้าเกณฑ์จะได้เข้ารับการฝึกและบรรจุเป็นทหารและตำรวจของรัฐบาล

ในการกลับมาทำมาหาเลี้ยงชีพ นักรบที่วางอาวุธแล้วทุกคนจะได้รับเงินสด 1 แสนเปโซ หรือประมาณ 60,000 บาท พร้อมความช่วยเหลือด้านการยังชีพต่างๆ ครอบครัวของนักรบจะได้รับความช่วยเหลือด้านที่พักอาศัย ทุนการศึกษา และค่ารักษาพยาบาล เป็นมูลค่า 1 แสนเปโซถึง 1 ล้านเปโซ (60,000 บาท – 5.9 แสนบาท)

การสู้รบระหว่างเอ็มไอแอลเอฟกับรัฐบาลฟิลิปปินส์ ซึ่งดำเนินมานานหลายทศวรรษ คร่าชีวิตผู้คนราว 150,000 คน กำลังจะถึงบทปิดฉาก ด้วยความตกลงร่วมกันที่ว่า ฝ่ายกบฏจะยุติสงครามแบ่งแยกดินแดน ฝ่ายรัฐบาลจะแบ่งอำนาจให้แก่ชาวมุสลิมโมโร

ข้อตกลงที่ว่านี้ไม่ได้บรรลุในชั่วเวลาข้ามคืน ทั้งสองฝ่ายพูดคุยกัน 32 ครั้ง ใช้เวลาเจรจานานถึง 9 ปี โดยมีรัฐบาลมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก จนกระทั่งมีการลงนาม ‘กรอบข้อตกลงว่าด้วยบังซาโมโร’ ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์เมื่อเดือนตุลาคม 2012

ประธานาธิบดีดูแตร์เตของฟิลิปปินส์ ชูสองนิ้วเป็นสัญลักษณ์สันติภาพร่วมกันกลุ่ม MILF ภาพนี้ถ่ายขึ้นเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2019 ในวาระเฉลิมฉลองธรรมนูญบังซาโมโร และปฏิญาณเรื่องการถ่ายโอนอำนาจให้ปกครองตนเอง ที่พระราชวังมาลากานังในกรุงมะนิลา (ภาพโดย Noel CELIS / AFP)

‘คีย์เวิร์ด’ คือ ปกครองตนเอง 

กรอบข้อตกลงที่ว่านี้ ประกอบด้วยข้อตกลงย่อยในรูปของภาคผนวกท้ายเอกสารจำนวนหลายฉบับ ซึ่งทยอยลงนามกันเมื่อช่วงปี 2013-2014 จนกระทั่งประมวลเป็นข้อตกลงฉบับสมบูรณ์ และมีการลงนามที่ทำเนียบประธานาธิบดีฟิลิปปินส์เมื่อเดือนมีนาคม 2014

ข้อตกลงฉบับสมบูรณ์ (The Comprehensive Agreement on the Bangsamoro) กำหนดให้นักรบส่งมอบอาวุธให้แก่ฝ่ายที่สามที่ฝ่ายกบฏกับฝ่ายรัฐบาลจะเห็นพ้องกัน หัวใจของข้อตกลงอยู่ตรงที่ว่า แนวร่วมปลดปล่อยอิสลามโมโรจะยุบกองกำลังอิสลามบังซาโมโร ขณะเดียวกัน รัฐบาลจะแบ่งอำนาจให้ฝ่ายกบฏ ด้วยการจัดตั้งเขตปกครองตนเองบังซาโมโร ทดแทนเขตปกครองตนเองที่มีอยู่เดิมซึ่งไม่เกิดผลในทางปฏิบัติ

(ภาพ: Ferdinandh CABRERA / AFP)

บังซาโมโรเคยเป็นนครรัฐอิสระของมุสลิมในหมู่เกาะมินดาเนาก่อนที่สเปนจะเข้ายึดครองหมู่เกาะฟิลิปปินส์เป็นอาณานิคม ถึงวันนี้ ความมีอิสระในการปกครองตนเองของบังซาโมโรมีกฎหมายรองรับโดยพร้อมสรรพแล้ว ข้อตกลงนี้จะเป็นจริงหรือไม่ ขึ้นกับการยึดมั่นและปฏิบัติตามโดยไม่บิดพลิ้วของแต่ละฝ่าย

สู่ความมีอิสระ

ก่อนไปร่วมพิธีวางอาวุธ ประธานาธิบดีดูแตร์เตบอกเมื่อวันศุกร์ว่า ทุกวันนี้ สาเหตุที่การสู้รบในมินดาเนาเบาบางลง เป็นเพราะสภาออก ‘ธรรมนูญการปกครองบังซาโมโร’ เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมาหลังจากร่างกฎหมายฉบับนี้ผ่านการลงประชามติของประชาชนในพื้นที่ในเดือนเดียวกันนั้น

นอกจากขยายขอบเขตพื้นที่อิสระให้กว้างขวางกว่าเขตปกครองเดิมแล้ว ธรรมนูญที่มีเรียกว่า Bangsamoro Organic Law ฉบับนี้ ยังมอบอำนาจแก่หน่วยงานปกครองตนเองในชื่อเรียกว่า องค์การถ่ายโอนอำนาจบังซาโมโร หรือบีทีเอ (BTA – Bangsamoro Transition Authority) เพิ่มขึ้นด้วย

บีทีเอจะมีอำนาจใน 55 เรื่อง เช่น อำนาจในการบริหารด้านการยุติธรรม อำนาจแก้ไขเปลี่ยนแปลงเขตเทศบาลและหมู่บ้าน อำนาจจัดเก็บรายได้ เป็นต้น

องค์กรซึ่งทำหน้าที่เป็นรัฐบาลชั่วคราวที่ว่านี้จะมีมุขมนตรีเป็นหัวหน้า คาดกันว่า ดูแตร์เตคงไม่แต่งตั้งใครให้ดำรงตำแหน่งนี้นอกเหนือไปจากประธานของเอ็มไอแอลเอฟคนปัจจุบัน คือ มุรัด อิบราฮิม โดยบีทีเอจะมีกรรมการรวม 80 คน ในจำนวนนี้ เอ็มไอแอลเอฟมีอำนาจแต่งตั้ง 41 คน

ดังนั้น ภายใต้ธรรมนูญดังกล่าว อดีตหัวหน้าฝ่ายกบฏและอดีตสหายร่วมรบจะประกอบกันขึ้นเป็นคณะผู้นำชั่วคราวภายในแคว้นปกครองตนเองบังซาโมโรในภูมิภาคมินดาเนาของมุสลิม (BARMM -–Bangsamoro Autonomous Region in Muslim Mindanao)

กระบวนการถ่ายโอนอำนาจจะใช้เวลา 3 ปี เมื่อถึงเดือนพฤษภาคม 2022 แคว้นปกครองตนเองบังซาโมโรจะจัดให้มีการเลือกตั้ง รัฐบาลของภูมิภาคมินดาเนาจะปกครองแว่นแคว้นมุสลิมในประเทศที่คนส่วนใหญ่เป็นชาวคาทอลิกโดยได้รับมอบอาณัติจากเสียงส่วนใหญ่ในพื้นที่

คาดหวังกันว่า นับจากนั้น ไฟใต้ของฟิลิปปินส์ นับเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มโมโร คงมอดดับในที่สุด.

 

อ้างอิง:

ที่มาภาพ: FERDINANDH CABRERA / AFP

Tags: , , , , , , ,