ฟิลิปปินส์ยกเลิกคำประกาศระงับการสำรวจหาแหล่งก๊าซและน้ำมันในทะเลจีนใต้ ยกเหตุผลความจำเป็นที่จะต้องเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศหลังจากหยุดพักมานาน 6 ปี ยังไม่แน่ชัดว่าจีนซึ่งอ้างกรรมสิทธิ์เหนือแหล่งสำรวจจะยินยอมหรือไม่ ด้วยเงื่อนไขอย่างไร

ข้อขัดแย้งระหว่างจีนกับฟิลิปปินส์ ว่าด้วยเรื่องเขตแดนพิพาทในทะเลจีนใต้ อาจกลับมาปะทุขึ้นอีกครั้ง ถึงแม้ว่าในทางสากล โลกไม่ยอมรับคำกล่าวอ้างของจีน ทว่ารัฐบาลปักกิ่งยงคงยืนกรานที่จะแสวงประโยชน์ในพื้นที่กรรมสิทธิ์ทับซ้อน

เดิมพันของความขัดแย้งนี้ คือ แหล่งพลังงาน แหล่งประมง และเส้นทางเดินเรือที่มีนัยสำคัญทั้งในทางเศรษฐกิจ ความมั่นคง และการเมืองระหว่างประเทศ 

ทะเลจีนใต้จึงนับเป็นจุดร้อนที่ล่อแหลมต่อการกลายเป็นชนวนของความขัดแย้งที่มีการใช้กำลังอาวุธในย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เดินหน้าสัมปทานสำรวจ

เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (16 ..) รัฐมนตรีพลังงานของฟิลิปปินส์ อัลฟองโซ คูซี แถลงผ่านออนไลน์ว่า ประธานาธิบดีโรดริโก ดูแตร์เต ให้ความเห็นชอบข้อเสนอของทางกระทรวงที่จะยกเลิกการพักการสำรวจน้ำมันและก๊าซในทะเลจีนใต้แล้ว 

กระทรวงพลังงานได้แจ้งไปยังบริษัทต่างๆ ที่ได้รับสัญญาสัมปทานในแปลงสำรวจ 3 แห่งนอกชายฝั่งตะวันตกของประเทศ ขอให้กลับเข้าพื้นที่เพื่อเดินหน้าสำรวจต่อไป 

แปลงสำรวจเหล่านี้อยู่ในน่านน้ำที่พิพาทกับจีน เมื่อปี 2011 จีนส่งส่งเรือลาดตระเวนเข้าไปก่อกวนขับไล่แท่นเจาะสำรวจเหล่านั้น โดยเฉพาะในเขตที่มีชื่อเรียกว่า รีดแบงค์ (Reed Bank) ซึ่งประเมินกันว่าอุดมด้วยน้ำมันและก๊าซ ปฏิบัติการของเรือจีนทำให้ฟิลิปปินส์ส่งเครื่องบินมุ่งหน้าไปยังจุดเผชิญหน้า แต่เมื่อไปถึง เรือจีนได้ผละไปแล้ว 

ต่อมาในปี 2012 เรือจีนกับเรือฟิลิปปินส์เผชิญหน้ากันอย่างตึงเครียดในพื้นที่พิพาทอีกจุด ห่างจากรีดแบงค์ขึ้นไปทางเหนือ จุดที่เกิดการคุมเชิงนี้เรียกว่า สันดอนสการ์โบโรห์ (Scarborough Shoal) คราวนี้เรือจีนบุกยึดสันดอนปะการังดังกล่าว ฟิลิปปินส์จึงฟ้องร้องจีนต่อคณะอนุญาโตตุลาการภายใต้สหประชาชาติเมื่อปี 2013

เหตุการณ์ทำนองนี้ทำให้ทุกฝ่ายตระหนักว่า งานสำรวจมีความสุ่มเสี่ยงในเรื่องความปลอดภัย ในการแถลงข่าว รัฐมนตรีพลังงานบอกว่า ในการสำรวจรอบใหม่นี้ ทางการจะจัดให้มีเขตกันชนในระยะห่างจากแท่นเจาะ 500 เมตร หวังว่าจีนจะเคารพแนวกำบังนี้ ซึ่งบ่งเป็นนัยว่า รัฐบาลฟิลิปปินส์อาจจัดให้มีหน่วยคุ้มกัน 

คูซีบอกว่า ฟิลิปินส์จำเป็นต้องสำรวจหาแหล่งพลังงานเพิ่มเติม เพราะก๊าซจากแหล่งมาลัมปายา ซึ่งอยู่นอกฝั่งของจังหวัดปาลาวัน ซึ่งป้อนพลังงานแก่ภูมิภาคลูซอนทางตอนเหนือเป็นสัดส่วนราว 40% กำลังร่อยหรอและอาจหมดไปในอนาคตอันใกล้

มะนิลาอ้างกฎหมายทะเล 

ในช่วงที่ฟ้องร้องจีนและรอฟังคำวินิจฉัยของคณะอนุญาโตตุลาการที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายทะเลของยูเอ็นนั้น เมื่อปี 2014 ฟิลิปปินส์ได้สั่งระงับการสำรวจแหล่งพลังงานทุกแห่งในน่านน้ำพิพาทอย่างไม่มีกำหนด 

ต่อมาเมื่อปี 2016 คณะอนุญาโตมีคำวินิจฉัยว่า ภายใต้สนธิสัญญาว่าด้วยกฎหมายทะเลแห่งสหประชาชาติ คำกล่าวอ้างของจีนที่ว่า น่านน้ำเกือบทั้งหมดในทะเลจีนใต้เป็นของจีนมาแต่ครั้งประวัติศาสตร์นั้น ฟังไม่ขึ้น 

ในคดีนี้ ฟิลิปปินส์ยื่นคำร้องฝ่ายเดียว จีนไม่ได้เข้าร่วมด้วย เมื่อปรากฏผลคำวินิจฉัย จึงเดาได้โดยไม่ต้องบอก ว่า ปักกิ่งไม่ยอมรับ และยังคงยืนยันกรรมสิทธิ์ในพื้นที่ที่ฟิลิปปินส์อ้างว่าเป็นเขตเศรษฐกิจจำเพาะ 200 ไมล์ของตน

ตามสนธิสัญญาดังกล่าว น่านน้ำในระยะห่างที่ว่านี้ ถือเป็นสิทธิของรัฐชายฝั่งที่จะใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในทะเล 

พัฒนาร่วมกันคือทางเลือก

หลายประเทศที่มีข้อพิพาทเขตแดนทางทะเลเลือกที่จะประสานความร่วมมือแทนการขัดแย้งแย่งชิง ด้วยการกำหนดให้พื้นที่อ้างสิทธิ์ทับซ้อนเป็นพื้นที่พัฒนาร่วมกัน’ 

ตัวแบบเช่นนี้มีแนวโน้มประสบความสำเร็จ เพราะผ่านการเจรจาจนบรรลุข้อตกลง มีกฎกติกาเกี่ยวกับการจัดสรรผลประโยชน์ และการระงับข้อพิพาท เป็นเครื่องกำกับพฤติกรรมของแต่ละฝ่าย

ในการแถลงข่าว ฝ่ายฟิลิปปินส์ดูจะไม่ได้ปิดหนทางที่จะร่วมมือกับจีน คูซีบอกว่า การเดินหน้าสำรวจจะไม่กระทบต่อบันทึกความเข้าใจระหว่างมะนิลากับปักกิ่งเกี่ยวกับความเป็นไปได้ของการพัฒนาร่วมกันในน่านน้ำพิพาท

ข้างฝ่ายจีน โฆษกกระทรวงต่างประเทศ จ้าวลี่เจียน กล่าวในการแถลงข่าวประจำวันเมื่อวันศุกร์ ว่า จีนหวังว่าจะสามารถร่วมมือกับฟิลิปปินส์ในการพัฒนาโครงการพลังงานร่วมกัน ทั้งสองฝ่ายได้บรรลุความเห็นพ้องต้องกันในเรื่องการร่วมมือพัฒนาทรัพยากรก๊าซและน้ำมันในทะเลจีนใต้ และได้จัดให้มีกลไกของการปรึกษาหารือกันแล้ว

เขาบอกว่าผมเชื่อว่าทั้งสองฝ่ายจะพบกันครึ่งทาง ส่งเสริมการพัฒนาร่วมกัน และสร้างความคืบหน้าในทางบวก” 

ฟังสุ้มเสียงอย่างนี้แล้ว ประตูของการพูดจาทำความตกลงดูจะยังเปิดกว้าง ที่เหลือก็คือ ขึ้นโต๊ะเจรจาสร้างกฎกติการ่วมกัน

อ้างอิง:

AP, 15 October 2020

AFP via Channel News Asia, 15 October 2020

Reuters, 16 October 2020

Tags: ,